เรื่อง : วรรณณิภา ทองหน่อหล้า
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

“ชาตินี้มีกรรมน้องตามมา ชาติหน้าพี่ยาตามน้องไป”

เนื้อเพลงแปลงจากบทละครรถเสนที่อาจคุ้นเคยผ่านสื่อโทรทัศน์ ในฉากที่นางเมรีกล่าวคำผูกเวรผูกกรรม หลังจากที่พระรถเสนหนีนางไป ซึ่งทำให้ทั้งสองมาเจอกันในชาติภพใหม่ ในชื่อ “พระสุธน-มโนราห์” เรื่องราวการเดินทางของพระสุธนที่ต้องกลายเป็นฝ่ายตามมโนราห์บ้าง ซึ่ง “คิดบวกสิปป์” กลุ่มผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยร่วมสมัย เคยได้จัดกิจกรรมศิลปะบำรุงธรรมครั้งที่ ๑ ที่วัดปราสาท จ.นนทบุรี สมทบทุนสร้างโบสถ์สมัยอยุธยาอายุ ๔๐๐ ปี ในชื่อการแสดง “โขนสมมุติอยุธยา ตอน สำมนักขาหาคู่”

โอกาสนี้ กิจกรรมศิลปะบำรุงธรรมครั้งที่ ๒ คิดบวกสิปป์ ได้หยิบยกเรื่องราว “พระสุธน-มโนราห์” มาถักทอผ่าน “โนรา” วัฒนธรรมถิ่นใต้ ในชื่อ “ละครมโนราห์ อโยธยานิมิต” ณ วัดชมภูเวก จ. นนทบุรี ในวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา เพื่อสมทบทุนจิตศรัทธา ถวายแด่วัดชมภูเวก วัดศิลปะแบบชาวมอญตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่มีอายุมากว่า ๒๐๐ ปี

ทีมงานคิดบวกสิปป์ร่วมบอกเล่าผ่านการแสดงละครชาตรีที่มีตัวละครเพียง ๓ คน นำโดย “ครูเอ็ม-ยุทธนา​ อัครเดชานัฏ” ผู้นำทีมงาน ผู้กำกับ และรับบทพระสุธน โดยมี “ครูอั๋น-กล้ากูล อัครเดชานัฏ” รับบทนางมโนราห์ และที่สำคัญได้ “ครูเติ้ง-อนุชา สุมามาลย์” นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร มารับบทบาทตัวเบ็ดเตล็ดผู้ร่วมสร้างสีสันตลอดการแสดง

คิดบวกสิปป์ - สิปป์สืบศิลป์

จินตนาการสู่จินตลีลา ประสาคนนาฏศิลป์

“พระปราบพหลพยุหะมาระเมลืองมลายสูญ”

จากภาพจิตรกรรมฝาผนังพระแม่ธรณีบีบมวยผม ณ วัดชมภูเวก ถูกถ่ายทอดผ่านละครเงา ที่ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของคิดบวกสิปป์ โดยมีศิลปินคุณ “ปุ้ย-ดวงพร พงศ์ผาสุก” เจ้าของเสียงเพลงหวานอย่าง “ลาวดวงเดือน” และ “ลาวคำหอม” ปัจจุบันเป็นครูสอนขับร้อง ศิลปินอิสระ และวิทยากรพิเศษในให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ในโอกาสนี้คุณปุ้ย-ดวงพรได้มาขับร้องบทเพลงทำนองสรภัญญะ “ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุทธ” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บอกเล่าการเอาชนะมารของพระพุทธเจ้า โดยมีพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นพยานการบำเพ็ญบารมี ทำให้ฉากเปิดเรื่องในบรรยากาศยามค่ำเคล้าคู่ไปกับการแสดงละครเงา บรรเลงผ่านเสียงเพลงหวาน ประสานรับความอ่อนช้อยของผู้แสดง ตราตรึงสายตาของผู้ชม ราวกับว่าได้ชมจิตรกรรมอันมีชีวิต

sippsilp02

“ครูสอนให้ทรงกำไล ใส่แขนซ้าย ย้ายแขนขวา”

นายโรง หรือพระสุธนกำลังกล่าวคำไหว้ครู กลองทับ หรือโทนโนราบรรเลงประกอบจังหวะคำร้อง หลังจากนั้นนายโรงก็เข้าบทบาทพระสุธน ปี่ชวาเริ่มบรรเลงเป็นทำนองเสน่ห์โนรา ประกอบการร่ายรำ ดนตรีเร่งจังหวะให้ตื่นเต้นขึ้น เปิดทางให้ฉากพรานบุญวาดบ่วงบาศจับนางมโนราห์ เพื่อดำเนินละครต่อไป ถึงแม้ตลอดการแสดงจะมีตัวละครเพียง ๓ คน ทว่าผู้ชมก็เพลิดเพลินไปกับลีลา และบทร้องร่วมสมัยได้ไม่ยาก

“เราอยากทำงานศิลปวัฒนธรรมกับสถาปัตยกรรม มันน่าจะบูรณาการ และสามารถเชื่อมโยงกันได้ เราเห็นคุณค่าในหลายด้าน ทั้งศิลปะการแสดง ทั้งสถาปัตยกรรม สองคือเราอยากทำสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น เรามีร่างกาย การร้องการรำนี้ จะตอบแทนผืนแผ่นดินได้อย่างไรบ้าง สามคือเราได้แชร์กับชุมชน ผู้ชมได้มาชม มาทำนุบำรุงศาสนา ทั้งศิลปะ ทั้งสถาปัตยกรรม ให้ลูกหลานของเราได้ชื่นชมต่อไปในอนาคต”

ครูเอ็ม ยุทธนากล่าวถึงจุดประสงค์ในการริเริ่มทำศิลปะบำรุงธรรม ที่ได้เริ่มแรกที่วัดปราสาท จนมาถึงวาระการแสดงที่วัดชมภูเวกในครั้งนี้

ทำไมต้อง “มโนราห์”

จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง อย่างภาพแรกพระแม่ธรณีบีบมวยผม สวยมาก แต่พอได้ดูภาพละครชาดกทั้งหมด เห็นภาพกินรี และเห็นพรานกำลังจับพญานาค ซึ่งไม่เกี่ยวกับมโนราห์ แต่ในแรงบันดาลใจของผู้จัดทำ เรานึกถึงมโนราห์ในครั้งแรก”

ครูอั๋นกล่าวถึงการเลือกทำเรื่องราวพระสุธน มโนราห์ พร้อมเสริมถึงการลำดับเรื่องราวอีกว่า

“แปลบทสวดพาหุงมหากา ในรัชกาลที่ ๖ ทำให้นึกถึงตอนที่ท่านชนะมาร มีพระแม่ธรณีขึ้นมา ที่นับเป็นคุณอันใหญ่หลวง หลังจากนั้นมโนราห์ก็ตามมา พร้อมทั้งแนวคิดที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้นิมิตเหมือน อโยธยา”

ทำให้ทราบได้ว่าฉากเปิดเรื่องได้แรงบันดาลใจจากภาพจิตรกรรมพระแม่ธรณี บรรเลงไปกับเพลงทำนองสรภัญญะ ซึ่งเนื้อเรื่องหลักอย่างมโนราห์ก็ได้มาจากจิตรกรรมชาดก ระหว่างนี้ครูเอ็มได้กล่าวถึงแนวคิด จากความต้องการทำละครย้อนอดีต ทำให้นึกถึงละครนอก เนื่องจากเป็นละครโบราณมาตั้งแต่สมัยช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา การร่ายรำกระชับฉับไว คำร้องก็เป็นคำตลาดทั่วไป เพราะเล่นร้องให้แก่ชาวบ้านฟัง

“ละครที่โบราณที่สุด ก็จะเป็นละครชาตรี ละครมโนราห์ หรือโนราทางใต้ ที่มีตัวละครเพียงนายโรง ตัวนางเอก และตัวเบ็ดเตล็ด ทั้งสามตัวต้องเล่นให้มันเกิดเรื่องราวขึ้นมา ในเรื่องนี้เราจะทำให้เป็นโบราณมากที่สุด ก็คือตัวนายโรง ตัวนางเอกจะไม่เปลี่ยนแครักเตอร์ เปลี่ยนแค่ตัวเบ็ดเตล็ด”

พร้อมกล่าวอีกว่าการแสดงในวันนี้ไม่ใช่โบราณทั้งหมด เพียงแต่หยิบวัสดุในอดีตมาประกอบสร้างผลงานร่วมสมัยขึ้นมา จะเห็นได้ว่าคำร้องบางฉากมีการหยอกล้อกับมุกตลกของกระแสละครในปัจจุบัน

“ตัวผม และครูอั๋นได้มีโอกาสไปเรียนกับ ‘คุณครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์’ ศิลปินแห่งชาติโนรา เราก็ได้วิชามานิดหน่อย” ระหว่างนั้นครูอั๋นก็เสริมทันทีว่า “เล็บที่เอามา อาจารย์ส่งมาให้ เสื่อคล้าตัวนี้ ศิลปินแห่งชาติส่งมาให้ เพราะท่านอยากให้กำลังใจ และอยากเห็นงานว่าจะเป็นอย่างไร”

แม้จะเป็นการแสดงโนราจากถิ่นใต้ แต่เพลงร้อง เนื้อร้องก็เป็นภาษากลางทั้งสิ้น นักแสดงจึงอธิบายว่า

“เพลงที่เราใช้เป็นเพลงพื้นบ้านโบราณ เพลงเตาะแตะในฉากพรานบุญร้อง และเพลงเทพทองในฉากนางมโนราห์ร้อง ซึ่งมีหลักฐานว่าเพลงนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยาแล้ว”

จริง ๆ เขาบอกจะให้มาเล่นมโนราห์” คำกล่าวของครูเติ้ง เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสนุก สีสันของเรื่องราวในวันนี้ ต้องยกความดีความชอบให้บทบาทตัวเบ็ดเตล็ดของครูเติ้ง

“ผู้กำกับค่อนข้างให้อิสระ ในการลองค้นหาว่าแต่ละบทนั้น จะเอามันออกมาอย่างไร โดยไม่ทิ้งความเป็นตัวเองไป”

อาจถือได้ว่าการทำงานตรงนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ตัวละครมีความโดดเด่น และเข้าถึงเรื่องราวได้อย่างดี เพราะการทำงานที่สอดคล้อง และมีความเข้าใจกันและกัน ทำให้นักแสดงสามารถเข้าใจในตัวละคร และแสดงออกมาโดยไม่ทิ้งเสน่ห์ความเป็นตัวเองไป

อีกหนึ่งความสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ “ครูธัชกร นันทรัตนชัย” อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง ผู้เขียนบทร้อง และรับหน้าที่ร้องลูกคู่ตลอดการแสดง และอีกหนึ่งท่านคืออาจารย์​ขรรค์ชัย​ หอมจันทร์ ผู้ออกแบบ​ศิราภรณ์​ (เทริด)​ และ​หางมโนราห์ ซึ่งอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างหัวโขน​ และศิราภรณ์​ โดยชิ้นงานครั้งนี้ ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงพระพุทธรูปวัดหน้าพระเมรุ​ จ.พระนครศรีอยุธยา

sippsilp09

สิปป์ฝากศิลป์ บำรุงธรรม

ก่อนจะส่งท้าย คุณปุ้ย-ดวงพร พงศ์ผาสุก ได้ร่วมสมทบทุนศิลปะบำรุงธรรมทั้งหมดจากแผ่นวีซีดีเพลง โดยไม่เก็บรายได้ใด ระหว่างนี้ครูเอ็มได้กล่าวส่งท้ายก่อนปิดงานไว้ว่า “ได้มีโอกาสไปบรรยายที่ราชภัฏเพชรบุรี และได้ไปวัดใหญ่สุวรรณารามที่นั่นมีศาลาไม้ เป็นศาลาของน้องพระเจ้าเสือ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถวายแด่พระเจ้าแตงโมนำมาที่เมืองเพชร หลังจากเสียกรุงไป ศาลาไม้จึงเป็นสิ่งที่ยังเหลืออยู่”

เนื่องจากงบประมาณของกรมศิลปากรที่ต้องดูแลสถาปัตยกรรม และศิลปะอื่น ๆ ทั่วประเทศ ทำให้มีงบไม่เพียงพอ คิดบวกสิปป์จึงขอเป็นแรงสนับสนุนอีกแรง เพื่อร่วมบูรณะสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่ พร้อมเชิญชวนทุกท่านว่าในปีหน้าที่จะถึงนี้ จะได้ร่วมแสดงกับละครชาตรีเมืองเพชร โดยจะเล่นสองภพชาติคือพระรถเสน เมรี และพระสุธน มโนราห์ ผู้ชมทุกท่านจะได้เห็นละครชาตรีเมืองเพชรจริง ๆ ใน “ศิลปะบำรุงธรรมครั้งที่ ๓ ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร เพชรบุรี” โดยผู้สนใจสามารถติดตามกำหนดการในอนาคต ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “คิดบวกสิปป์” หรือเบอร์โทรศัพท์ ๐๘๓ ๘๒๖ ๕๕๖๒

sippsilp10

หลังจากกิจกรรมการแสดงจบลง ก่อนจากลาได้มีโอกาสได้เข้าชมจิตรกรรมภายในโบสถ์วัดชมภูเวก ภาพเขียนสีสวยงามเจือจางลงไปบ้างแล้ว แต่ภาพบนประตูทางออกพระแม่ธรณีบีบมวยผมยังคงสวยงาม ไม่จางหาย ก่อนที่เราจะเห็นภาพกินรี และภาพพรานดังคำบอกเล่าของนักแสดง จึงอดชื่นชมการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ไม่ได้ เพราะความรักในศิลปวัฒนธรรมของศิลปินโดยแท้ เราจึงได้เห็นผลงานร่วมสมัยอันงดงามนี้ไม่จางหาย

“จงเรียนรู้ ดูละครให้ย้อนคิด ใช้ชีวิตตามครรลองให้ผ่องใส”

“บำรุงรักษ์ศิลป์ศาสตร์ของชาติไทย ขอผลบุญหนุนให้เป็นสุขเถิด”

สิ้นเสียงปี่ชวา เสียงกลองโทนโนราแล้ว จบการแสดง