เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ภาณุรุจ พงษ์วะสา

อุทยานใต้น้ำ-ฝันของชาวพะงัน วันที่โครงเหล็กเป็นบ้านปลา

อุทยานใต้น้ำ-ฝันของชาวพะงัน วันที่โครงเหล็กเป็นบ้านปลา

คลื่นลมดังพอกับเสียงน้ำเค็มสาดกระทบเรือใหญ่

คล้ายเสียงธรรมชาติแข่งกันเล่าเรื่องสนุกให้ผู้มาเยือนฟังระหว่างเส้นทางจากท่าเรือดอนสักมุ่งหน้าสู่ “เกาะพะงัน” ที่โอบล้อมด้วยผืนน้ำสีฟ้าใสในอ่าวไทย

หลายปีก่อน มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เข้าสำรวจชุมชนบ้านโฉลกหลำ ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างศูนย์เรียนรู้ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์พร้อมสนับสนุนการศึกษาและทุนวิจัยสร้างงานวิชาการด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

วันหนึ่งรู้ความเดือดร้อนที่มีเรืออวนลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ทำลายปะการัง-แหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล จึงเกิดแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินกิจกรรม “จัดวางปะการังเทียม” ฟื้นความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องทะเลพะงันตั้งแต่ปี ๒๕๕๖

วันนั้นชุมชนยังไม่กล้าฝันไกลว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นใต้สมุทร

upark pangan01 upark pangan02upark pangan03upark pangan04

:: เสียงร้องของลูกทะเล ::

ฝนพรำในเย็นวันหนึ่งของกลางเดือนสิงหาคม

เป็นปรกติของเมืองชุ่มฉ่ำทางภาคใต้ที่ชาวชุมชนคุ้นสภาพ “ฝนแปดแดดสี่” จึงไม่มีใครต้องหลบใต้ชายคาหากฝนไม่ตกหนักต่อเนื่องนานเกินไป หน้าหาดโฉลกหลำทิศเหนือของเกาะที่โค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมด้วยระยะทางยาวเพียง ๑ กิโลเมตร จึงมีเด็กน้อยออกมาก่อทราย-เล่นน้ำเค็มตามประสา

ที่นี่เป็นถิ่นอาศัยของชาวชุมชนประมงชายฝั่งและที่มาของโครงการปะการังเทียม

“ชาวเกาะพะงันมีอาชีพหลักคือทำสวนและประมง มีเรือพื้นบ้านอยู่ ๓๐๐ ลำ เรือพาณิชย์ ๑๐ ลำ โดยทั่วไปสัตว์น้ำเขตพะงันค่อนข้างสมบูรณ์ แต่มีปัญหาการรุกล้ำชายฝั่งของเรือประมงผิดกฎหมายซึ่ง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ที่อวนลากขึ้นมา ๑ ตัน คือลูกปลาที่ยังขายไม่ได้ ทั้งที่อีก ๗-๘ เดือน ก็สร้างรายได้แล้ว”

ประเสริฐ คงขน ประมงอำเภอเกาะพะงัน สะท้อนว่าที่ผ่านมาสัตว์เล็กหายไปเฉลี่ยวันละ ๑๐ ตัน

“ชาวบ้านจึงทำ ‘ซั้งกอ’ บ้างนำ ‘คอนกรีต’ มาทำปะการังเทียม แต่วัสดุเหล่านั้นมีอายุใช้งานสั้น กรมประมงเคยรับซื้อ ‘ซากเรืออวนรุน’ ๑๙ ลำ มาวางใต้ท้องทะเล ปลาที่เคยหายจากถิ่นก็กลับมา ปลาที่มีอยู่อย่างปลาทู จะละเม็ด หมอทะเล ช่อนทะเล ก็เพิ่มขึ้น แต่ปะการังเทียมที่พวกเราทำก็ยังเล็กเมื่อเทียบกับพื้นที่ทะเล อยากได้โครงสร้างที่ใหญ่ คงทน และมีน้ำหนักมากพอจะขวางเรืออวนลากไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่ง”

ถึงอย่างนั้นหากจะมีวัสดุใดๆ เข้าสู่พื้นที่ชาวบ้านก็อยากแน่ใจว่าจะปลอดภัยในระยะยาว

“มั่นใจได้ว่าการจะพัฒนากิจการสำรวจและผลิตให้ก้าวหน้าอย่างไร้อุปสรรค เราคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจให้ชาวชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ”

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย แลกเปลี่ยนมุมคิดและชี้แจงที่มาของกิจกรรมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดประโยชน์สาธารณะต่อชุมชน

“โดยปรกติแท่นผลิตจะตั้งอยู่ห่างฝั่งมากถึง ๑๕๐ กิโลเมตร ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านไปไม่ถึง มีเพียงเรือใหญ่ที่ได้เห็นจึงคุ้นเคยว่าแท่นผลิตไม่ได้ทำให้ปลาสูญหาย กลับเป็นที่ให้ปลาซ่อนตัวไม่ให้ถูกจับ แต่เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีมานี้มีแหล่งปิโตรเลียมเข้าใกล้ฝั่งมากขึ้นและเกิดไม่เข้าใจกันระหว่างประมงพื้นบ้านในชุมชนที่เกรงว่าแท่นขุดเจาะจะทำให้น้ำเสีย ปลาตาย ระบบนิเวศสูญหาย จึงต้องให้ความรู้ว่ากิจการปิโตรเลียมมีมาตรฐานสูง จะขุดเจาะแต่ละครั้งต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าใจแต่ก็มีบางกลุ่มเรียกร้องประโยชน์ว่าเราได้น้ำมันแล้วคนพื้นที่ได้อะไร”

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจึงร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนจัดกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หนึ่งในนั้นคือ “โครงการปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก” ให้ชาวชุมชนมั่นใจว่านอกจากไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมยังมีประโยชน์ด้านการฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับคืน เพิ่มแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำแก่อาชีพประมงพื้นบ้าน และได้ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในชุมชน

โดยนำร่องที่บ้านโฉลกหลำ ชุมชนชาวประมงอันแสนสงบงามของเกาะพะงัน

upark pangan05 upark pangan06

:: จากโครงสร้างเหล็ก สู่ปะการังเทียม ::

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของชาวชุมชน และการประเมินผลนิเวศวิทยา

การจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กจึงจำลองรูปลักษณ์ของขาแท่นปิโตรเลียมเป็นต้นแบบจำนวน ๔ แท่น ใช้โครงสร้างเหล็กคาร์บอนของใหม่ทั้งหมด ย่อส่วนเหลือขนาด ๑๒ x ๑๒ x ๘ เมตร หนัก ๕๐-๗๕ ตัน มีการส่งชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กนั้นไปตรวจหาค่าการผุกร่อนที่สถาบันแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเพื่อรับรองว่าโลหะเหล็กมีอายุใช้งานได้นานนับร้อยปี และเป็นไปได้น้อยจนไม่มีนัยสำคัญให้ต้องกังวลเรื่องผุกร่อน ค่อยนำมาวางบริเวณอ่าวโฉลกหลำ ทิศเหนือของเกาะพะงัน ที่ระดับความลึก ๑๘-๒๐ เมตร ห่างชายฝั่ง ๑ กิโลเมตร จัดวางสองจุด จุดละ ๒ แท่น คะเนว่าใช้พื้นที่กว้างเกือบสนามฟุตบอล

“ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายจะใช้วิธีไล่ล่า จัดเรือตรวจลาดตระเวน ใช้กฎหมายบังคับ แต่สารพัดวิธีที่ใช้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะกำลังของเจ้าหน้าที่มีน้อยเกินเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ และอุปกรณ์ป้องกันรักษาของเราก็สู้กับเครื่องมือที่ทำผิดกฎหมายของเขาไม่ได้ ชาวบ้านจึงช่วยนำวัสดุต่างๆ ไปทำปะการังเทียมเพื่อเป็นขวากหนามขวางเส้นทางเรือใหญ่ไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่ง”

ไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เหตุผลว่าทำไมโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่จึงเป็นที่พอใจของชุมชน

“เพราะมันตอบโจทย์ที่ชาวบ้านพยายามทำมาตลอดอย่างได้ผล ต่อให้เรืออวนลากขนาด ๑๐ กว่าตันก็ยังลากผ่านไม่ได้ ซึ่งหากเป็นปะการังเทียมวัสดุอื่นอาจต้องใช้จำนวนมากถึง ๒๐ กว่ากองถึงจะได้ผลเทียบเท่า และถ้าเป็นปะการังเทียมขนาดเล็ก วางห่างกันก็ยิ่งมีระยะให้เรือลอดหลบได้อีก”

เมื่อไม่มีสิ่งรบกวนธรรมชาติ ผลดีที่ตามมาคือได้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแหล่งใหม่

“พอใต้ท้องน้ำเวิ้งว้างมีโครงสร้างใหญ่มาทำให้เกิดร่มเงา แพลงก์ตอนจะเริ่มมายึดเกาะอาศัย สัตว์หน้าดินอย่างเพรียง หอย ไส้เดือน ปลิง แมลงต่างๆ ก็ตามมา นำพาปลาตัวน้อยมาหากิน ชักจูงสัตว์ใหญ่ตามมา รวมถึงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่างก็ได้ใช้พื้นที่ปลอดภัยเป็นที่วางไข่”

สอดรับกับผลศึกษาของสถาบันคอร์ซี (COREsea) ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจากเยอรมนี ตั้งอยู่อ่าวโฉลกหลำเพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะพะงัน ปี ๒๕๖๐ บันทึกปลาที่พบไว้ได้ ๒๔ ชนิด อย่างปลาโนรา ปลากะพง ปลาเก๋า ปลาอินทรี ปลาหูช้าง ปลาค้างคาว ปลากบ ฯลฯ

“นานทีจะมีโอกาสเจอปลากบ กลุ่มนักดำน้ำในพื้นที่ก็ยังบอกว่านานมากแล้วที่ไม่เคยเจอ รวมถึงปลาอีกหลายชนิดที่เคยมีและหายไปก็ได้เจออีกครั้งบริเวณปะการังเทียมนี้”

Mr.Stefan Follows หนึ่งในผู้ติดตามโครงการตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ชวนดูภาพหลักฐานใต้ทะเลที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม และวัดขนาดโครงสร้างเหล็กไว้ว่ามีเส้นรอบวงเท่าไรเพื่อสังเกตการเติบโตว่าเส้นรอบวงใหญ่ขึ้นอีกเท่าไรเมื่อสิ่งมีชีวิตมาเกาะอาศัย ก็ได้เห็นว่าจากกิ่งขนาด ๒-๓ นิ้ว ขยายเป็น ๕-๑๐ นิ้ว

“ปีที่แล้วผมลงไปดูพบสิ่งมีชีวิตเกาะเต็มจนมองไม่เห็นโครงสร้างเหล็กอีกแล้ว อ้อ! ตัวที่เปลือกสีเขียวๆ เท่าฝ่ามือนั่นคือหอยแมลงภู่นะครับ เป็นหนึ่งในสิ่งชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ที่น่าภูมิใจ”

เพราะเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในทะเลพะงันแห่งนี้

upark pangan09 upark pangan07

:: ฟื้นความสมบูรณ์ให้ท้องทะเล คืนคุณภาพชีวิตชาวชุมชน ::

ฝนที่ตกหนักตลอดคืน ทำให้ชาวประมงงดออกจากฝั่ง

เช้าตรู่วันถัดมาจึงมีโอกาสได้สัมผัสวิถีของหมู่บ้านชาวเลบริเวณอ่าววกตุ่ม ทางทิศตะวันตกของเกาะพะงัน บางคนได้ถือโอกาสพักกายตื่นสายบ้าง ขณะที่บางคนตรวจตราเรือ-ซ่อมแซมอุปกรณ์ประมง

เสน่ห์ของที่นี่คือความเป็นอ่าวน้ำตื้น จึงมีหาดหินกองที่ถูกแยกออกจากบริเวณปากแม่น้ำ ทำให้มีลักษณะคล้ายแบ่งเป็นสองชายหาด ห่างชายหาดไปเพียง ๓๐๐ เมตร จะมีแนวปะการังให้สามารถดำน้ำตื้นชมความงามแบบธรรมชาติรังสรรค์ได้ในช่วงฤดูหนาว

แม้สภาพอากาศเมื่อคืนจะไม่เอื้อให้ได้เห็นภาพชาวเรือยิ้มกว้างเมื่อกลับถึงฝั่งยามรุ่งอรุณพร้อมสัตว์ทะเลนานา แต่ยังมีโอกาสพบความล้นเหลือของสินทรัพย์ใต้น้ำจากพ่อค้าแม่ขายที่ตลาดสดในละแวก

น่ายินดีกว่าคือได้รู้ว่าไม่ใช่เพียงประมงพื้นบ้านที่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรอันก่ายกอง

“พะงันเป็นแหล่งดำน้ำอันดับต้นของประเทศ ยิ่งมีปะการังให้ปลามารวมตัวมากยิ่งสร้างศักยภาพท่องเที่ยว ปะการังที่เพิ่มยังได้ช่วยลดความแออัดของนักดำน้ำให้ออกจากเกาะเต่า เกาะสมุย ผ่อนความเสียหายของกิ่งปะการังที่เปราะบางจากการสัมผัส ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องปลาแต่ก็ได้เห็นว่าเดี๋ยวนี้มีฉลามหรือวาฬบรูด้าผ่านเข้ามาในท้องทะเลเราบ่อยขึ้น หอยมือเสือและเต่าก็เพิ่มจำนวนด้วย”

ภัทรชัย เรืองศรี ประธานกลุ่มดอกไม้ทะเลเพื่อการอนุรักษ์เกาะพงัน สะท้อนข้อดีเมื่อมีสัตว์ทะเลน้อยใหญ่เข้ามาหาถึงถิ่นก็ได้กระจายความยั่งยืนสู่อาชีพอื่นในชุมชน

นอกจากคนตัวโตจะไม่ต้องออกหากินไกลบ้าน คนตัวเล็กก็ได้มีรากฐานชีวิตมั่นคง

“เมื่อปากท้องไม่อดอยากขาดแคลนก็ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเด็กๆ เยาวชนที่นี่ได้ทุนให้ฝึกอบรมจากโรงเรียนสอนดำน้ำเพื่อศึกษาเรื่องปะการัง ทำต่อเนื่องมาสองรุ่นแล้ว รุ่นละ ๒๐ คน เพื่อวันหนึ่งเขาจะได้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำนักท่องเที่ยวชมทรัพยากรงดงามหน้าบ้านตนเอง”

พงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโฉลกหลำ เสริมประโยชน์ของปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก

“มาถึงตอนนี้ผมแอบหวังให้บ้านเราเป็นอุทยานใต้ท้องทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเลยด้วยซ้ำ”

ครั้งหนึ่ง ชาวชุมชนยังไม่กล้าฝันไกลว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นใต้สมุทร

แต่วันนี้ ธรรมชาติอันดกดื่นที่ปรากฏ ช่วยยืนยันแล้วว่าฝันนั้นจะเป็นจริง