เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


Run-of-River เขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน จากปากมูลสู่ไซยะบุรี

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ ๓๐,๖๒๕ ไร่ ตามความยาว ๙๐ กิโลเมตรขึ้นไปตามลำน้ำโขง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

 

Run-of-River หรือ “น้ำไหลผ่าน” เป็นชื่อเรียกเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลและเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนสองแห่งที่มีอายุห่างกันประมาณ ๒๕ ปี

เขื่อนปากมูลสร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๗ กั้นแม่น้ำมูนที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จในปีนี้ (๒๕๖๒) กั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว นับเป็นเขื่อนแห่งแรกในลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงสายประธาน (mainstream) หรือสายหลักได้สำเร็จ

ในฐานะ “โรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ” เขื่อนไซยะบุรีมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Mekong mainstream Run-of-River hydropower” ถ้าเช่นนั้นเขื่อนปากมูลก็น่าจะเรียกว่า “Pakmun mainstream Run-of-River hydropower” เนื่องจากเป็นเขื่อนแบบ Run-of-River สำหรับผลิตไฟฟ้าเหมือนกัน

ที่ผ่านมา นักออกแบบเขื่อน Run-of-River มักมีคำอธิบายว่าเขื่อนประเภทนี้แตกต่างจากเขื่อนทั่วไป คือ ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

runofriver04

เขื่อนปากมูลสร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๗ เป็นเขื่อนเป็นน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) ทำให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมเหนือเขื่อนประมาณ ๗๓,๑๒๕ ไร่ มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คน (ภาพ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)

เอกสาร โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่แถมมากับหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ระบุว่าเขื่อนไซยะบุรีมีลักษณะเป็น “ฝายทดน้ำ” ขนาดใหญ่ อาศัยการไหลของน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างตามปริมาณน้ำที่ไหลอยู่ในแม่น้ำตามธรรมชาติ ยกระดับน้ำขึ้นเพียงครั้งเดียวตลอดอายุการใช้งานในช่วงเริ่มต้น โดยยกระดับน้ำให้สูงขึ้นประมาณ ๓๐ เมตร เป็นความสูงเท่าที่เคยเกิดขึ้นในฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ ผลของการยกระดับน้ำ จะทำให้ระดับน้ำหน้าโรงไฟฟ้าสูง ๒๗๕ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีระดับน้ำสูงขึ้นเป็นแนวสโลปยกขึ้นทั้งลำน้ำไปทางเหนือ ที่เมืองหลวงพระบางมีระดับน้ำตามธรรมชาติอยู่ที่ ๒๗๘ เมตร แล้วใช้การไหลเข้ามาของสายน้ำผลิตไฟฟ้า

คล้ายการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูล เขื่อนรุ่นพ่อที่มีอายุห่างกันประมาณ ๒๕ ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้รายละเอียดโครงการนี้ว่า “เขื่อนปากมูลมีลักษณะเป็นเขื่อนทดน้ำไม่ใช่เขื่อนเก็บกักน้ำ ด้วยความสูงเพียง ๑๗ เมตร เมื่อกักน้ำไว้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะสูงขึ้นในสภาพน้ำเต็มตลิ่งเป็นการใช้ความจุของลำน้ำเดิมเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม หลังสร้างเขื่อนปากมูล กฟผ.สรุปว่ามีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วม ๒๔๘ หลังคาเรือน คิดเป็น ๙๐๓ ราย

ขณะที่มีรายงานว่าเขื่อนปากมูลทำให้เกิดน้ำท่วมมากกว่านั้น กล่าวคือเขื่อนกักเก็บน้ำ ๖๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมมากกว่า ๑๑๗ ตารางกิโลเมตร ประชาชนประมาณ ๓,๐๐๐ ครอบครัวต้องอพยพ มีผู้ได้รับผลกระทบจากพื้นที่เกษตร ป่าบุ่งป่าทามถูกน้ำท่วมมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คน จนชาวบ้านรวมกลุ่มกันก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนบริเวณสันเขื่อนปากมูลเรียกร้องให้ทางการแก้ปัญหา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสมัชชาคนจนในเวลาต่อมา

สำหรับเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่เริ่มสร้างประเมินว่ามีชาวบ้านต้องอพยพจากพื้นที่หัวงานเขื่อนทันที ๔๐๐ คน หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมมีบ้านห้วยซุย ๒,๐๐๐ คน บ้านปากเนิน ๔๕๐ คน และคาดว่ามีอีกอย่างน้อย ๑,๑๐๐ คน ต้องย้ายออกระหว่างการก่อสร้าง

หนังสือ นิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง จากแก่งคุดคู้ถึงผาชันในกระแสการเปลี่ยนแปลง จัดพิมพ์โดยเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต พิมพ์ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๕๘ ระบุถึงสาเหตุที่ต้องอพยพคนจำนวนมากเพราะเขื่อนไซยะบุรี มีความจุอ่างเก็บน้ำ ๗๒๖.๐๒ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ผิวอ่างเก็บน้ำ ๔๙ ตารางกิโลเมตร หรือ ๓๐,๖๒๕ ไร่ ขนาดอ่างเก็บน้ำมีความยาว ๙๐ กิโลเมตรขึ้นไปตามแม่น้ำโขง

แม้แต่ศาลพ่อปู่ผาแดงสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านบริเวณนั้นก็ยังถูกน้ำท่วม ต้องอัญเชิญขึ้นมาจากน้ำ

เอกสาร โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ให้รายละเอียดของการอพยพ “คนท้องถิ่นริมน้ำโขง” ว่า “Village Group” แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑ ได้รับผลกระทบโดยตรง โยกย้ายถิ่นฐานทั้งหมด ชาวบ้านจะได้รับที่ดินจัดสรรและสร้างบ้านให้ ๑ หลังในเนื้อที่ ๖๐๐ ตารางเมตร พร้อมที่ทำกินเท่าเทียมกัน
กลุ่มที่ ๒ หยับย้ายบางส่วน เป็นหมู่บ้านที่จะมีน้ำท่วมบางส่วน สูญเสียไม่มาก ทำมาหากินได้ ที่เรียกว่า “หยับย้าย” คือขยับบ้านจากที่ลุ่มขึ้นมาให้พ้นเขตน้ำท่วม โดยชดเชยและมอบที่ทำกินให้
กลุ่มที่ ๓ ไม่ได้โยกย้ายหรือหยับย้ายที่อยู่อาศัย แต่พื้นที่ทำกินได้รับความเสียหายจากการยกระดับน้ำ รัฐบาลจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่กับชาวบ้านจากหัวน้ำถึงท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบ

และกลุ่มที่ ๔ ได้รับผลกระทบเล็กน้อยในช่วงก่อสร้าง เช่น เสียง ฝุ่น ถนนชำรุด ทางโครงการแก้ปัญหาระยะสั้นให้

ก่อนที่จะสรุปว่า “ด้วยจุดเด่นของ Run-of-River ที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นี่เอง จึงมีชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงระหว่างแขวงไซยะบุรีและแขวงหลวงพระบางได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ต้องทำการโยกย้าย หยับย้ายไปสู่ที่จัดสรรโดยรัฐบาลลาวเพียง ๑๕ หมู่บ้าน”

ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก หรือ In flow = Out flow เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งของเขื่อนแบบ Run-of-River ที่เจ้าของเขื่อนระบุว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก น้ำผ่านมาแค่ไหนก็ปล่อยผ่านแค่นั้น
แต่กรณีเขื่อนปากมูลกลับมีข่าวชาวบ้านเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดประตูระบายน้ำ แทนที่จะปิดประตูกั้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ผลิตไฟฟ้า หลังพบว่าส่งผลกระทบต่อการทำประมง

สำหรับ In flow = Out flow ของเขื่อนไซยะบุรี เอกสาร โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่แถมมากับหนังสือพิมพ์มติชน ไม่ได้เปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าระหว่างเขื่อนไซยะบุรีกับเขื่อนปากมูล แต่เปรียบเทียบกับเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบุว่า “ต้นแบบของโรงไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่านในประเทศไทย อยากชวนให้นึกถึงภาพเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อันเป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีประตูระบายน้ำ และไม่ได้กักเก็บน้ำมากมายมหาศาลคล้ายกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี”

เขื่อนเจ้าพระยามีสันเขื่อนยาว ๒๓๗ เมตร สูง ๑๖.๕ เมตร เป็นเขื่อนทดน้ำเพื่อการเกษตร ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ๖ เมกกะวัตต์จำนวน ๒ เครื่อง ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีมีความยาว ๘๐๐ เมตร เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า ๑,๒๘๕ เมกกะวัตต์

หนังสือ นิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง จากแก่งคุดคู้ถึงผาชันในกระแสการเปลี่ยนแปลง ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำว่า

“จากเอกสารสาระสำคัญสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีระบุว่า เขื่อนไซยะบุรีต้องส่งไฟฟ้าให้ กฟผ.ไม่ต่ำกว่าวันละ ๘ ชั่วโมง รวมทั้งปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๐ ชั่วโมง โดยไม่รวมวันอาทิตย์ และในฤดูแล้งเขื่อนจะต้องปิดประตูระบายน้ำทุกบาน เพื่อเก็บกักน้ำไว้เป็นเวลา ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน สำหรับปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.เป็นเวลา ๘ ชั่วโมงต่อวัน

“ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรีเกิดความผันผวน โดยจะมีความเปลี่ยนแปลงแบบวันต่อวัน หรือแม้แต่ชั่วโมงต่อชั่วโมงได้มากถึง ๕ เมตรในหนึ่งวัน ซึ่งจะเกิดกับชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ท้ายเขื่อนในระยะ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร ภายใน ๑-๒ ชั่วโมง ซึ่งยังคงอยู่ในเขต สปป.ลาว ระดับน้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงในระยะทางดังกล่าวภายใน ๑-๒ ชั่วโมง และการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างจะส่งผลให้ช่วงรอยต่อของฤดูกาลตามระบบนิเวศจะสูญเสียไปอย่างสิ้นเชิง (SEA, October 2010 หน้า ๗๔-๗๕/SEA-ไทย, ๒๕๕๓, หน้า ๒๓)

“ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เมื่อเขื่อนไซยะบุรีต้องเก็บกักน้ำ ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน ระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรีจะลดระดับลง และแห้งลงเป็นระยะทางประมาณ ๒๕๘ กิโลเมตร ซึ่งจะเข้าเขตไทย-ลาว ผ่านอำเภอเชียงคาน ไปถึงอำเภอปากชม จังหวัดเลย ผลเช่นนี้อาจทำให้ระดับน้ำที่อำเภอเชียงคานเปลี่ยนแปลงได้ระดับสูงสุดที่ ๑-๒ เมตร และในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำโขงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระดับ ๐.๕ เมตรต่อวัน”

เขื่อนไซยะบุรียังถูกออกแบบให้มีการระบายตะกอนทรายในช่วงฤดูแล้งในอัตรา ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็นเวลา ๖ ชั่วโมงต่อวัน หรือ ๑๔๐-๗๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในเวลากลางคืน

runofriver02

แม่น้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรีเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

รายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ หน้า ๗๔-๗๕ วิเคราะห์ผลกระทบต่อประชาชนท้ายเขื่อนไซยะบุรีในเขตประเทศลาว พบว่าประชาชนประมาณ ๕,๐๐๐ คนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำโขงระยะ ๑๐๐ กิโลเมตร จะได้รับผลกระทบจากความผันแปรของระดับแม่น้ำโขงแบบรายวัน

ถ้าเป็นเช่นนั้น คำว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก น้ำผ่านมาแค่ไหนก็ปล่อยผ่านแค่นั้น หรือ In flow = Out flow มีหลักการคำนวณอย่างไร เขื่อนกักน้ำไว้นานแค่ไหนก่อนจะปล่อยออก

“เมื่อผู้สร้างเขื่อนไซยะบุรียืนยันว่าเขื่อนไม่มีความจำเป็นต้องกักน้ำ ระบุว่า “หลังจากยกระดับน้ำได้ head ตอนน้ำหลาก เดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๑ จากนั้นกระแสน้ำที่ไหลเข้ามาตามลำน้ำก็ไหลออกไป คล้ายๆ กับฝายที่น้ำถึงระดับ น้ำที่ไหลเข้ามาก็ไหลออกไป แทนที่จะไหลล้นไป มันก็แค่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าแค่นั้น ไม่มีความจำเป็นต้องกักปล่อย กักปล่อยเลย”

เมื่อประมาณ ๒๕ ปีก่อน หลังจาก กฟผ. สร้างเขื่อนปากมูลสำเร็จ ก่อนที่จะเริ่มตกแต่งบริเวณสันเขื่อนให้เป็นสวนหย่อมและบ้านพักตากอากาศ ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนที่บ้านเรือนและที่ทำกินถูกน้ำท่วมได้เข้ายึดพื้นที่ตั้งเป็นหมู่บ้าน ชื่อว่าหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

ขณะที่ชาวบ้านริมเขื่อนไซยะบุรีนี้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดทำเช่นนั้นทั้งเขื่อนปากมูลและเขื่อนไซยะบุรีต่างเป็น Run-of-River hydropower เหมือนกัน เพียงแต่กั้นแม่น้ำคนละสาย

ส่วนจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตอย่างไร จะเหมือนเขื่อนปากมูลหรือไม่ อีกไม่นานคงมีคำตอบ