วันนี้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว…9 ธันวาคม 2462

คือวันสิ้นพระชนม์ของพระโอรสพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์คือใคร? ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์?

ทรงได้รับคำสอนจาก “พ่อ” พระมหากษัตริย์อันที่รักยิ่งแห่งปวงชนชาวสยามเช่นไร

แม้เอ่ยพระนามก็อาจมีคนจำนวนไม่มากนักที่คุ้นเคย

พระประวัติ พระกรณียกิจ ยิ่งมีบันทึกเผยแพร่น้อยมาก

กาลเวลาผ่านไป 100 ปี

หนังสือ รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี พ.ศ. 2418-2462

คือเรื่องราวชีวิตของพระองค์ที่ได้รับการย้อนทวนให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง

คือผลงานแห่งความรักและความเพียรของผู้สืบเชื้อสายแห่งราชสกุล “ประวิตร” ถัดต่อมาอีกสามรุ่น

100 ปี จากเหลนแด่ทวด กรมหลวงปราจิณกิติบดี

1. “ทวด” หนึ่งในสี่พระโอรสที่เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ยุโรปในปี 2428

ปี 2428 “ทวด” ขณะนั้นพระชันษาย่าง 11 ปี พระองค์ประสูติเมื่อ 27 พฤษภาคม 2418 เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 15 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแช่ม

ก่อนหน้าจะเสด็จไปศึกษาต่อ “ทวด” และพระโอรสองค์โตอีกสามพระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ได้เข้าพระราชพิธีโสกันต์ และทรงผนวชอยู่ 15 วัน

พระโอรสทรงลาผนวชวันที่ 23 พฤษภาคม ถัดมาอีกเพียงเดือนเศษ วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2428 พระโอรสสี่พระองค์ซึ่งมีชันษาเพียง 11-12 ปี ก็ต้องลงเรือจากแผ่นดินเกิดไปถึงยุโรป โดยไม่มีพระองค์ใดล่วงรู้ว่าจะได้กลับสยามเมื่อใด

“การส่งคนไปเรียนเมืองนอกเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยนั้นที่ประเทศชาติจะต้องพัฒนาให้ทันกับประเทศยุโรป และด้วยมีพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 เพียง 4 พระองค์ คงจะช่วยงานได้ไม่พอเพียง โดยเฉพาะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องการมือไม้เพิ่มเติมเพื่อช่วยบริหารและพัฒนาประเทศ จึงทรงส่งลูกขุนนางไปเรียนเมืองนอกด้วยเช่นกัน โดยทรงคำนึงถึงเรื่องความสามารถของแต่ละคนที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงได้มีการจัดทำรายงานถวายเป็นระยะๆ เพื่อทรงใช้ปรึกษาในหมู่คณะปกครองประเทศว่า ใครมีแนวที่จะไปด้านใดและทรงต้องการคนมาปฏิบัติงานด้านใดบ้าง จะทรงเลือกแต่ละคนให้เรียนไปในด้านต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน”

100th chula01 1

(จากซ้ายไปขวา) พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ “ทวด” พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช และพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

2. คำสอนของพ่อ

ก่อนวันลงเรือหนึ่งวัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งคำสอนเป็นจดหมายคำสั่งแก่พระโอรสให้ประพฤติตามโอวาท ความบางตอนว่า

“การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด”

“อย่าได้ถือตัวว่าตัวเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรงข่มเหงผู้ใดเขาก็คงจะมีความเกรงใจพ่อไม่ต่อสู้ หรือไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ทีเดียว เพราะความปรารถนาของพ่อไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่าเมื่อรักลูกเกินไป ปล่อยให้ไม่กลัวใครและประพฤติการชั่วดังนั้น คงจะเป็นโทษแก่ตัวลูกนั้นเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

“เงินทองที่จะใช้สอยในค่ากินอยู่นุ่งห่มหรือใช้สอยเบ็ดเสร็จทั้งปวง จงเขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่อนุญาตให้ใช้ อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่าย โดยถือตัวว่าเป็นเจ้านายมั่งมีมาก”

“เงินที่พ่อได้หรือลูกได้นั้นก็เพราะอาศัยที่พ่อเป็นผู้ทำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง และราษฎรผู้เจ้าของทรัพย์นั้นเก็บเฉลี่ยเรี่ยไรกันมาให้ เพื่อจะให้เป็นกำลังที่จะหาความสุขคุ้มกับค่าที่เหน็ดเหนื่อยที่ต้องรับการในตำแหน่งอันสูง คือเป็นผู้รักษาความสุขของเขาทั้งปวง”

“ที่ต้องการนั้นต้องการให้กลับแปลภาษาต่างประเทศลงเป็นภาษาไทยได้ แปลภาษาไทยออกเป็นภาษาต่างประเทศได้ จึงจะนับว่าเป็นประโยชน์”

ทรงลงลายพระหัตถ์ตอนท้ายว่า “พ่อผู้มีความรักและมุ่งจะให้ความเจริญเป็นนิจ”

 

 

100th chula02

3. งานของ “ทวด”

ระหว่างอยู่ยุโรป ทรงศึกษาด้านภาษาเพื่อมาช่วยงานด้านอักษรแก่พระราชบิดา โดยทรงศึกษาที่อังกฤษ และศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส และเยอรมนีด้วย

ปี 2439 หลังจากบ้านเกิดเมืองนอนไป 11 ปี “ทวด” ก็เสด็จกลับสยามและเข้าทรงงานที่กรมราชเลขาธิการ ต่อมาทรงเป็นสภานายกกรรมสัมปาทิก หอพระสมุดวชิรญาณ เป็นราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และเลขานุการคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ด้วยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี 2453 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์สืบต่อ “ทวด” ก็ทรงเป็นองค์มนตรีและราชเลขานุการในรัชกาลที่ 6

“ทวด” ทรงงานอยู่ด้านหลังฉากตลอดพระชนม์ชีพ เรียกว่าพระองค์เองทรงไม่เด่น แต่มีพระภารกิจในที่เด่น ทั้งงานเลขานุการพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีนาถ งานเขียนงานแปลระดับอินเตอร์ ซึ่งเป็นงานสำคัญในห้วงเวลาแห่งการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ งานเลขาฯ คณะรีเยนต์หรือคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน องคมนตรี จนถึงส่งของและสั่งตัดเย็บเสื้อผ้าของพระเจ้าแผ่นดิน

เป็นงานที่หลากหลาย แต่ก็ทรงงานหนักและเต็มที่

ตลอดเวลาที่ทรงดำรงชีวิตอยู่ ทรงอุทิศเวลาให้แก่งานราชการเป็นหนึ่งเหนือสิ่งอื่นใด

ปี 2462 ทรงพระประชวรด้วยโรคไต แต่ก็มิได้บอกใครเพราะเกรงว่าจะทรงเป็นภาระ

วันที่ 9 ธันวาคม 2462 ทรงสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน ณ วังเชิงสะพานเทเวศรนฤมิตร ถนนลูกหลวง สิริพระชันษาได้ 44 ปี 6 เดือน 13 วัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิพนธ์ว่า”

“พอข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า กรมหลวงปราจิณกิติบดีได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว, รู้สึกตัวชาและนั่งตลึงอยู่เปนครู่ใหญ่. ทั้งนี้เปนเพราะข่าวอันนั้นได้มาถึงโดยมิได้คาดหมายเลยว่าจะมีมา, นับว่าเปนของปัจจุบันทันด่วนอย่างยิ่ง.”

 

100th chula03

 

พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม ทรงยืนที่ 8 ด้านขวา

4. งานของ “เหลน”

สรวิช ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัทพิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด สืบเชื้อสายจาก “ทวด” พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี ตรงจากทางแม่ ท่านผู้หญิงเหมือนจิต ภิรมย์ภักดี (หม่อมราชวงศ์หญิงเหมือนจิต ประวิตร) ซึ่งเป็นธิดาคนเล็กสุดในหม่อมเจ้าจิตรปรีดี ประวิตร กับหม่อมหลวงหญิงเหมือนจันทร์ ดารากร โดยหม่อมเจ้าจิตรปรีดีเป็นพระโอรสองค์ที่สองของ “ทวด” กับหม่อมชิ้น

สรวิชจึงสนใจใครรู้เรื่องราวของ “ทวด” ผู้เป็นต้นสายราชสกุลประวิตร และต้องสิ้นพระชนม์เมื่ออายุยังน้อย เขาติดตามสืบค้นหาเอกสารเก่าและรูปเก่าจากแหล่งต่างๆ เช่น หอจดหมายเหตุแห่งชาติ บ้านเก่าของบรรพบุรุษ ญาติพี่น้องและมิตรสหาย หรือแม้แต่ตลาดจตุจักร โดยเฉพาะพระรูปของเสด็จทวด เอกสารพระราชหัตถเลขาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระองค์เจ้าประวิตรฯ สมัยที่ทรงเป็นราชเลขานุการคณะผู้สำเร็จราชการภายใต้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก และเอกสารสำคัญอีกมากมายมาประกอบในหนังสือ รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวดฯ ที่เขาประพันธ์ขึ้น

“เอกสารเก่าและภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้มีกว่า 340 ภาพ ซึ่งครึ่งหนึ่งน่าจะไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อน” ผู้เขียนกล่าวด้วยความภูมิใจในความเพียรพยายามที่เก็บสะสมมาหลายปี

ภายใต้หนังสือปกแข็งจัดพิมพ์อย่างงดงามยิ่งในวาระพิเศษ 100 ปีวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าประวิตรฯ เล่มนี้ สำหรับผู้เขียนมีสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญ

“ประการแรกคือ พระประวัติของพระองค์เจ้าประวิตรฯ ที่ไม่ค่อยจะมีใครพูดถึง รองลงมาคือคำสอนของรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อลูกซึ่งผมได้ต้นฉบับดั้งเดิมมา

“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเอกสารพินัยกรรมของรัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานให้กับเจ้าจอมมารดาและครอบครัวของท่าน ซึ่งทำให้เราได้เห็นเรื่องราวในอดีตว่านอกจากพระองค์ท่านจะทรงดูแลประชาชน ดูแลประเทศ และยังดูแลลูกหลานของท่านได้อย่างครบถ้วน

“นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวของไทยในสมัยก่อนว่าเป็นอย่างไร ทำให้เรารู้ว่าเรามีพระมหากษัตริย์ที่สุดยอดมากๆ พระองค์หนึ่งในโลก และผมหวังว่าจะสื่อสาระสำคัญนี้ถึงผู้อ่านได้”

100th chula04

100th chula07 100th chula06

5. “รฦกแห่งที่รัก” ลายพระหัตถ์บนปกหนังสือ

“ผมดึงลายพระหัตถ์จากเอกสารที่ผมมีออกมาทีละตัว แล้วมาผสมกันเป็นคำตามชื่อหนังสือ เพราะฉะนั้นลายมือบนปกนี่มาจากลายพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประวิตรฯ”

หนังสือ รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี พ.ศ. 2418-2462 จัดพิมพ์โดยบริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด ขนาดหนังสือ 20.5×27.5 ซม. หนา 312 หน้า กระดาษอาร์ตอย่างดี พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม

“ศึกษาเกี่ยวกับพระองค์มาระยะหนึ่งแล้วครับ มีความเข้าใจในพระองค์ทั้งความรู้สึกและมุมมองจากการอ่านเอกสารต่างๆ และต้องบอกว่าตัวเองมีความคล้ายทวดองค์นี้มากด้วย ดูเป็นคนเงียบๆ ให้เวลากับงานเยอะมาก อยู่ข้างหลังฉากเสียเยอะ ไม่ได้ดังอะไร แต่มีส่วนร่วมกับเรื่องสำคัญก็มากอยู่

“คิดว่าระลึกถึงพระองค์ด้วยการเขียนหนังสือ เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับเหลนที่จะทำถวายทวด”

 

100th chula005 1