หนึ่งในหลักฐานบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงในการกำหนดสีตามกำลังวัน คือสิ่งอันเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ผู้ทรงมีพระประสูติกาลในวันอังคาร
อย่างที่เล่ามาแล้วว่าแต่เดิม สีกายของพระอังคารตามคติมหาทักษา ดูเหมือนจะมีระบุไว้แตกต่างกัน เช่นเป็นสีทองแดงบ้าง สีลูกหว้า คือสีม่วงบ้าง ส่วนวิมานของพระอังคาร ซึ่งตามปกติมักต้องเป็นสีเดียวกับสีกายของเทพผู้เป็นเจ้าของ ในบางตำราก็ว่าเป็นสีทับทิม คือสีแดงเข้มไปเสียอีก

ลงมาจนถึงใน “สวัสดิรักษา” ของสุนทรภู่ ก็ยังระบุว่าเสื้อผ้าประจำวันอังคารนั้น “อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน
เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี” คือให้ใช้สีม่วงผสมคราม ซึ่งดูจะเป็นสีม่วงอมน้ำเงินด้วยซ้ำ
แต่เมื่อถึงในรัชกาลที่ ๕ นับแต่ช่วงต้นรัชกาลกลับปรากฏการใช้ “สีชมพู” ในความหมายของสีประจำพระชนมวารวันอังคารแล้ว
เช่นเมื่อคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๑๖ มีการสถาปนา “เครื่องราชอิสริยยศจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล” (ภายหลังเรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า) อันกำหนดให้มีสายสะพายและแพรแถบเป็นสีชมพูอ่อน
รวมทั้งเรือพระที่นั่ง “อเนกชาติภุชงค์” ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลนี้ เมื่อปี ๒๔๒๖ “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๖” ระบุว่า “สลักลายนาคทั่วไปทั้งลำ พื้นกระจกขาวลายนาคนั้นเป็นทอง พื้นท้องทาสีชมพู”
หมายความว่าสีชมพู ในฐานะสีของวันอังคาร ได้รับการยอมรับนับถือในฐานะเป็นสีประจำพระองค์
สิ่งใดๆ อันเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมักใช้สีชมพู เช่นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยามขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติยศแด่รัชกาลที่ ๕ คือจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สีประจำมหาวิทยาลัยย่อมเป็นสีชมพู
ในเพลงประจำมหาวิทยาลัย “มหาจุฬาลงกรณ์” อันเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๙ มีคำร้อง (ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และนายสุภร ผลชีวิน) ยังขึ้นต้นท่อนแรกว่า
“น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์”
จนถึงเดี๋ยวนี้ หากผู้ศรัทธาจะสักการะเซ่นสรวง “เสด็จพ่อ ร.๕” เครื่องสังเวยมักประกอบไปด้วยสุราต่างประเทศ เช่นบรั่นดี หรือวิสกี้ ซิการ์ และดอกกุหลาบสีชมพู
เคยพบเห็นวัดหลายแห่งที่กล่าวอ้างว่ามีประวัติอันเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเคยเสด็จผ่านมา หรือมีเรื่องราวอันเท้าความกลับไปถึงเหตุการณ์ในรัชสมัย หรือแม้กระทั่งว่าท่านเจ้าอาวาสมีวัตถุประสงค์ต้องการเทิดพระเกียรติเป็นกรณีพิเศษ มีทั้งการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังพระราชกรณียกิจ ตลอดจนทาสีอุโบสถวิหารให้เป็นสีชมพูไปทั่วทั้งวัด