ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ช้างสามเศียร - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 18

เทวดาอีกองค์หนึ่งที่มีถิ่นพำนักอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย ทว่ามิได้นับอยู่ใน “คณะสามสิบสาม” (คสส.) ก็คือเอราวัณเทพบุตร

ต้นทางของเรื่องนี้ย่อมต้องย้อนกลับไปที่เทวประวัติของมฆะมาณพ แกนนำ คสส. อีกครั้งหนึ่ง

อย่างที่เล่ามาแล้วว่า สมัยเมื่อเขายังมีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่บนโลก นายมฆะได้รวบรวมสมัครพรรคพวกจำนวน ๓๒ คนกระทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ อยู่เสมอ ผู้ใหญ่บ้านชักเขม่นก็เลยไปฟ้องพระราชาว่าพวกนี้สุมหัวกันจะก่อกบฏ ฝ่ายพระราชาก็ไม่สอบสวนทวนความอะไรเลย กลับพิพากษาให้จับตัวนายมฆะกับพวกมาลงโทษประหารชีวิต ให้ช้างเพชฌฆาตกระทืบตายทั้งสิ้น แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร ช้างก็ไม่ยอมเฉียดกรายเข้าใกล้นายมฆะกับเพื่อนๆ สุดท้ายพระราชาจึงทรงนึกเอะใจ สั่งให้ซักไซ้สอบถามที่มาที่ไป เมื่อทรงทราบความจริงจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะสามสิบสาม (คสส.) ให้ปกครองหมู่บ้านนั้นแทนผู้ใหญ่บ้านคนเดิม พร้อมกับยกช้างเพชฌฆาตเชือกนั้นแถมให้ไปด้วย

ฝ่ายช้างเชือกนั้นก็แสนรู้เต็มที จึงได้เข้าร่วมการกุศลต่างๆ นานากับ คสส. เสมอ เช่นเมื่อเขาสร้างศาลากันเสร็จแล้ว ช้างเชือกนี้ก็จะมารอคอยเฝ้าดูว่า เวลามีคนเข้ามานั่งลงในศาลา เขาหย่อนก้นนั่งลงบนกระดานแผ่นที่มีสัญลักษณ์ของสมาชิก คสส. คนไหน ก็จะรีบพาผู้มาเยือนท่านนั้นไปยังบ้านของเจ้าของกระดาน ให้เลี้ยงดูปูเสื่อจนอิ่มหนำสำราญ เป็นต้น

ด้วยผลบุญกุศลนี้เอง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่าเมื่อช้างเชือกนั้นล้ม (ตาย) แล้ว “ได้ไปบังเกิดเป็นเอราวัณเทพบุตร” ดุจเดียวกับสมาชิกแกนนำของ คสส. ทุกคน

ถ้าพระอินทร์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลของดาวดึงส์ต้องกรอกเอกสารยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน ช่องที่ระบุเรื่องยานพาหนะในความครอบครองคงมีอยู่สองรายการ อย่างหนึ่งคือเวชยันต์ราชรถ อันมีมาตุลีเป็นสารถี อีกอย่างหนึ่งก็คือช้างทรง แต่เนื่องจากบนสวรรค์ย่อมไม่มีที่อยู่สำหรับสัตว์เดรัจฉาน ดังนั้นเวลาพระอินทร์ประสงค์จะทรงช้างเหาะเหินไปที่ใด เอราวัณเทพบุตรผู้เคยเป็นช้างมาก่อน ก็จะแปลงกายกลับไปเป็นช้างพาหนะชื่อ “เอราวัณ” ให้พระอินทร์ขึ้นขี่เหาะไปมา

ในคัมภีร์ “ไตรภูมิกถา” เล่าถึงขนาดอันมโหฬารของเอราวัณไว้ว่า มีถึง ๓๓ เศียร แต่ละเศียรมี ๗ งา แต่ละงามีสระน้ำ ๗ สระ แต่ละสระมีดอกบัว ๗ กอ แต่ละกอมีบัว ๗ ดอก แต่ละดอกมี ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดา ๗ องค์ และแต่ละองค์ยังมีนางฟ้าเป็นบริวารอีกองค์ละ ๗ นาง ในตำราวิชาเลขแบบโบราณของไทยถึงกับใช้คำพรรณนาช้างเอราวัณเป็นโจทย์ฝึกหัดการคูณเลข

ใครจะลองคำนวณเล่นดูบ้างก็ได้ ว่ามีนางฟ้ากี่องค์อยู่บนร่างของเอราวัณ

ในเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนหนึ่ง อินทรชิต โอรสของทศกัณฐ์ แปลงตน “คอสเพลย์” เป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แห่แหนกันมาเป็นขบวน พร้อมนางฟ้าเทวดาปลอมๆ ร่ายรำล่อหลอกให้พระลักษมณ์และพลทหารลิงตะลึงดูจนเคลิบเคลิ้ม อินทรชิตได้ทีจึงแผลงศรพรหมาสตร์สังหารหมู่ทั้งกองทัพ เหลือรอดแต่เพียงหนุมานผู้เดียวที่เหาะขึ้นไปต่อสู้ จับคอช้างเอราวัณปลอมบิดหมุนจนขาด แต่ก็ถูกอินทรชิตใช้คันศรกระหน่ำฟาดจนหนุมานตกลงมาสลบพับกับพื้นดินอยู่ข้างเศียรช้าง

เรื่องตอนนี้ที่เรียกกันว่า “หนุมานหักคอช้างเอราวัณ” นิยมนำไปแสดงกันทั้งในรูปแบบหนังใหญ่และโขน

ในเชิงช่าง การแสดงภาพช้าง ๓๓ เศียรนั้น ทำให้สวยให้งามได้ยาก เพราะดูรกรุงรัง ยุ่บยั่บไปหมด เหมือนเอากล้วยทั้งเครือไปต่อขาวางไว้ ช่างตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างช่างขอมที่สลักภาพทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จึงลดรูปช้าง ๓๓ เศียรให้เหลือเพียงสามเศียร คือมีเศียรตรงกลาง กับซ้ายขวาด้านละเศียร ซึ่งดูสง่างามดีกว่า

ช่างไทยก็ยังคงรักษาขนบนี้สืบมา ถ้าเมื่อใดที่เราเห็นรูปวาดรูปปั้นที่หน้าบันอุโบสถวิหาร หรือแม้แต่ช้างในการแสดงโขน ทำเป็นช้างสามเศียร นั่นก็ย่อมหมายถึงช้างเอราวัณ และย่อมหมายความว่าเทพเจ้าที่ประทับอยู่ที่คอช้างนั้นคือองค์อมรินทราธิราชนั่นเอง