ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


heavenly bloom

ต้นไม้ที่น่าจะมีความสำคัญที่สุดประจำสวรรค์ชั้นดาวดึงส์คือปาริกชาติ หรือปาริชาต (ท่านแปลว่าเป็นต้นทองหลาง) ดังเรื่องที่ว่า ทุกปี พวกเทวดาหน้าเดิมซึ่งถูกคณะสามสิบสาม (คสส.) ทำรัฐประหารจับโยนลงจากสวรรค์ไป จนต้องกลายสภาพเป็น “อสูร” อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ พอถึงหน้าเมื่อดอกแคฝอยประจำพิภพอสูรบาน ก็จะหวนระลึกได้ว่า “อ้าว! ต้นนี้ไม่ใช่ปาริชาตเหรอ ถ้าอย่างนั้น ที่นี่ก็ไม่ใช่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์น่ะสิ!” ว่าแล้วก็เกิด “สำนึกทางประวัติศาสตร์” กันขึ้นมา ยกทัพไปรบกับเทวดา ก่อนจะแตกพ่ายซ้ำซากไปไม่รู้จักจบจักสิ้น

ดอกปาริชาตจึงน่าจะถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่แท้จริง

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่าเหล่าเทวดาจะช่วยกันสังเกตต้นปาริชาต ว่าเมื่อใดใบเริ่มแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก็รู้ว่าจวนถึงเวลาแล้วที่ต้นปาริชาตจะผลัดใบและออกดอก “เทพยดาทั้งปวงก็ยินดีปรีดา…ว่าทีนี้เราจะได้เล่นดอกปาริชาตให้สนุกจงหนักหนา”

เมื่อถึงฤดูที่ดอกปาริชาตผลิบานก็เกิดรัศมีรุ่งเรืองแผ่ไปโดยรอบต้น และส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรตลบไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ แล้วเหล่าเทวดาก็จะชักชวนกันมาเที่ยวเล่นชมดอกไม้ คงคล้ายๆ คนญี่ปุ่นมีเทศกาลฮานามิไว้นั่งชื่นชมดูดอกซากุระบาน

“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าดอกปาริชาตนี้ ๑๐๐ ปีจึงจะบานครั้งหนึ่ง

เวลาบรรดาเทวดามาเที่ยวแล้วอยากได้ดอกปาริชาตไปถือดมเล่น หรือเอาผ้าห่อ หรือเก็บใส่ผอบ ก็ไม่ต้องโน้มกิ่งลงมา หรือปีนขึ้นไปเขย่าต้นให้ดอกไม้ร่วงหล่นแบบที่นักท่องเที่ยวไทยเคยประกอบวีรกรรมไว้ ณ เทศกาลซากุระบานในญี่ปุ่น เพราะคุณก็รู้ว่าที่นี่คือสวรรค์ ดังนั้นหากเทวดาต้องการดอกไม้สวรรค์ ก็จะมีลมพัดตัดขั้วดอกให้ขาดร่วงลงมา หรือถ้าเทวดารับพลาด ก็ยังมีกระแสลมอีกสายหนึ่งคอยพัดช้อนดอกปาริชาตไว้ให้ลอยเรี่ยๆ กลางอากาศแต่ไม่ตกถึงพื้น รอให้เทวดามาเก็บไปดอมดม

นอกจากนั้นแล้ว ใกล้ๆ กับต้นปาริชาตยังมีศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ทำนองเป็นหอประชุมเทวดา ชื่อ “สุธรรมาเทพยสภาคยศาลา” ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยบุญกุศลของนางสุธรรมา ชายาองค์หนึ่งของพระอินทร์ ตลอดฤดูกาลชมดอกปาริชาตที่ยาวนานถึงสี่เดือนจะมีลมพัดให้ดอกปาริชาตขาดจากต้นแล้วปลิวไปโปรยปรายบนพื้นศาลา ลมอีกสายหนึ่งเที่ยวเอาดอกไม้ไปตั้งวางประดับไว้เหนือบัลลังก์ที่นั่งของพระอินทร์และเหล่าเทพยดา รวมถึงเมื่อใดที่ดอกไม้เหี่ยวเฉาลงก็จะมีลมอีกสายหนึ่งคอยพัดเอาออกไปทิ้ง เป็นอัตโนมัติอยู่ตลอดเวลา

มีความเชื่อหนึ่งว่า กลิ่นของดอกปาริชาตยังมีอานุภาพทำให้ระลึกย้อนกลับไปในอดีตชาติได้ด้วย ดังในเรื่อง “กามนิต” ที่ท่าน “เสฐียรโกเศศ” (พระยาอนุมานราชธน) และ “นาคะประทีบ” (พระสารประเสริฐ) ร่วมกันถอดความจากวรรณกรรมภาษาอังกฤษเรื่อง “Pilgrim Kamanita” ของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวเดนมาร์ค แล้วรจนาเป็นภาษาไทยอันไพเราะลุ่มลึก ความนั้นยังส่งอิทธิพลมาให้แก่บทเพลงไทยสากลร่วมสมัย เช่นเพลง “ปาริชาต” ของคณะสุนทราภรณ์ด้วย

“กลิ่นล่องลมมา หอมปาริชาตสวรรค์ กลิ่นเจ้าเท่านั้น สัมพันธ์ชาติที่ผ่าน
ดอกเจ้าก็งาม สมนามเขากล่าวขาน สีแดงงามตระการ พิศเพียงแก้วประพาฬ ดอกไม้วิมานสุขาวดี”

แต่ดูเหมือนในคัมภีร์โลกศาสตร์ฝ่ายไทยจะมิได้กล่าวถึงอานุภาพเช่นนี้ของดอกปาริชาตในอุทยานสวรรค์ ณ ดาวดึงส์พิภพไว้เลย ตรงกันข้าม เรื่องนี้กลับไปปรากฏในตำนานเทพฮินดูของทางฝ่ายอินเดียมากกว่า

มิหนำซ้ำตามที่รับรู้กันทั่วไปในอินเดียปัจจุบัน เช่นหากใครลอง “กูเกิล” ดูคำว่า parijata flower จะพบแต่รูปดอกไม้ที่คนไทยเราเรียกว่า “กรรณิการ์” ดอกหอม กลีบขาว โคนสีส้ม ไม่ยักใช่ดอกทองหลางสีแดงสด

เรื่องนี้จึงยังคงต้องค้นคว้ากันต่อไปว่าเป็นมาอย่างไร หรือความไปเลื่อนเปลี่ยนกันตรงไหนแน่