ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


chulamani 01

นอกจากสถานที่บรมสุขแสนสนุกสนานนานาแล้ว บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังมี “ปูชนียสถาน” อีกแห่งหนึ่งอยู่นอกเมืองออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ “พระจุฬามณีเจดีย์”

“ไตรภูมิพระร่วง” พรรณนาว่าพระจุฬามณีเจดีย์มีความสูงถึง ๘๐,๐๐๐ วา องค์เจดีย์เป็นแก้วอินทนิล ส่วนตั้งแต่กลางองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงยอดเป็นทองคำประดับด้วยแก้วเจ็ดประการ พระเจดีย์ล้อมรอบด้วยกำแพงทอง ปักธงและฉัตรสีต่างๆ เป็นเงินเป็นทองก็มี หรือสีดำ แดง เหลือง ขาว เขียว ตามแต่สีของแก้วที่ผูกไว้ บรรดาเทวดาทั้งหลายจะนำเอาเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่ามาบรรเลงบูชาถวายพระเจดีย์ไม่เว้นวัน รวมถึงพระอินทร์พร้อมด้วยเหล่าเทพยดานางฟ้าบริวาร ก็จะเสด็จไปนมัสการพระเจดีย์ทุกวัน และนำข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอม ประทีป ไปบูชา รวมถึงกระทำประทักษิณรอบพระเจดีย์เสมอ

ในจักรวาลของพุทธศาสนาเถรวาท พระจุฬามณีเจดีย์มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นที่ประดิษฐาน “พระธาตุ” อันแท้จริงถึงสองรายการ

คำรบหนึ่งคือเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ทรงเห็นว่าพระเมาลี (มวยผมอันเป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นสูง) ไม่เหมาะควรแก่ความเป็นสมณะ จึงทรงใช้พระขรรค์ตัดเมาลีออกแล้วโยนขึ้นไป ประกาศเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่าแม้นหากพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอให้มวยผมนี้ลอยค้างอยู่ในอากาศ แต่ถ้าจะมิได้เป็นดังประสงค์ ก็ขอให้ตกลงสู่พื้นดิน ปรากฏว่ามวยผมกำนั้นกระทำปาฏิหาริย์ ลอยไปได้ไกลราว ๑ โยชน์ แล้วประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้น

ครั้นแล้วพระอินทร์จึงเอาผอบแก้วมาอัญเชิญพระเมาลีกำนั้นไปสถาปนาเป็นพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหตุนั้นคนไทยรุ่นเก่าๆ จึงเรียกอย่างเพราะพริ้งว่า “พระเกศแก้วจุฬามณี”

อีกคราวหนึ่งคือภายหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มีการถวายพระเพลิงพุทธสรีระตามแบบอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ นำไปสู่การแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ (เถ้าถ่านกระดูก) ระหว่างบ้านเมืองทั้งหลายที่ต่างก็เคารพสักการะพระพุทธองค์ ปรากฏว่าโทณะพราหมณ์ ซึ่งอาสามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการตวงแบ่งพระธาตุให้แก่ราชาจากแคว้นต่างๆ อย่างยุติธรรม ลักลอบฉวยเอาพระเขี้ยวแก้วข้างขวา (ฟันเขี้ยวบนข้างขวา) เหน็บซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะเพื่อหวังจะเอาไปบูชาเป็นส่วนตัว (ในภาพจิตรกรรมบางทีก็วาดเป็นพราหมณ์ ไว้ผมมวย แล้วเอาพระเขี้ยวแก้วซ่อนในมวยผม)

พระอินทร์เล็งเห็นว่าการกระทำของโทณะพราหมณ์นี้ไม่เหมาะควร เพราะพระเขี้ยวแก้วเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นของสูงค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ไม่สมควรจะตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง จึงเหาะไปแอบ “ขมาย” (คำไทยสมัยเก่าหมายถึงการลักจากคนที่ไปขโมยเขามาอีกทอดหนึ่ง) แล้วอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วใส่ผอบทองคำ นำไปประดิษฐานรวมไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์

“สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงพรรณนาไว้ว่า

         ๏ หนึ่งเจดีย์พระจุฬามณีสถิต       อันไพจิตรด้วยฤทธิ์สุเรนทร์ถวาย
สูงร้อยโยชน์โชติช่วงประกายพราย      ยิ่งแสงสายอสุนีในอัมพร
เชิญเขี้ยวขวาเบื้องบนพระทนต์ธาตุ      ทรงวิลาศไปด้วยสีประภัสสร
แทนสมเด็จพระสรรเพชญ์ชิเนนทร      สถาวรไว้ในห้องพระเจดีย์
ประดิษฐ์บนพระมหาจุฬารัตน์              เป็นที่แสนโสมนัสแห่งโกสีย์
กับสุราสุรเทพนารี                                ดั่งจะชี้ศิวโมกข์ให้เทวัญ”

คนไทยโบราณนับถือกันว่าพระจุฬามณีเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุอันแท้จริง จึงมีคติกันว่าให้คนเจ็บหนักใกล้ตาย ตลอดจนเมื่อแต่งตัวศพ ให้พนมมือถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนติดตัวไว้ เพื่อจะได้ไปนมัสการพระจุฬามณีบนสวรรค์ดาวดึงส์ยามเมื่อล่วงลับ

ธรรมเนียมนี้ถือปฏิบัติกันทั้งในฝ่ายราชสำนัก อย่างที่เรียกว่าเป็นธรรมเนียมหลวง กับทั้งชาวบ้านชาวช่องที่เป็นราษฎรทั่วไป