ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


nantawan garden

“ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่าบนสวรรค์ดาวดึงส์มีอุทยานทิพย์ที่งดงามร่มรื่นอยู่ในทิศทั้งสี่ ได้แก่

“นันทนวนุทยาน” หรือ สวนนันทวัน แปลว่า สวนอันเป็นที่ยินดีมีทั้งไม้ดอกไม้ผล ตั้งอยู่ทางบุรพทิศ (ตะวันออก)

“สวนขวัญนั้นสนุกนิพ้นประมาณ แลมีสมบัติแลสรรพต้นไม้สรรพลูกไม้สรรพดอกไม้อันประเสริฐแลอุดม”

ฝ่ายทักษิณ (ใต้) มี “ผารุสกวัน” หรือ ปารุสกวัน แปลว่า สวนมะปราง

“ไม้อันมีในสวนนั้นอ่อนน้อมค้อมงามนักหนาดังแสร้งดัดไว้”

ฝ่ายปัจฉิมทิศ (ตะวันตก) มี “จิตรลดาวัน” แปลว่า สวนที่มีไม้เถาสีต่าง ๆ

“ฝูงไม้แลฝูงเชือกเขาอันเป็นในสวนนั้นดูงามดังแสร้งประดับนิ”

ฝ่ายอุดรทิศ (เหนือ) มีสวนอุทยานใหญ่ชื่อ “มิสสกวัน” แปลว่า สวนผสม

“มีไม้แลเชือกเขาทั้งหลายงามดุจแสร้งแต่ง”

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พรรณนาในรายละเอียดลงไปอีกว่า สวนนันทนะวันอุทยาน หรือสวนนันทวัน “เป็นที่โลมจิตแห่งเทพนิกรเทเวศร์ ให้ระงับดับโศกแสนโศกาลัย” ถึงขนาดที่ว่าเมื่อเทวดาองค์ใด เริ่มเห็น “มรณะนิมิต” ว่าตนเองหมดบุญ ถึงกำหนดต้อง “จุติ” แล้ว (คำนี้ไม่ได้แปลว่า “เกิด” หากแต่แปลว่า “ตาย” ในความหมายว่าตายไปจากทิพยสภาวะ) เกิดตกใจ วิตกทุกข์ร้อน ร้องไห้ร้องห่ม พระอินทร์ก็จะมาปลอบโยน แล้วให้เทวดาองค์อื่นๆ จับแขน พาเดินไปเที่ยวสวนนันทวัน

“มาตรแม้ว่าความโศกครอบงำจิตสันดานเห็นปานฉะนี้ ครั้นเข้าไปในนันทนะวันอุทยาน ได้เห็นสมบัติมหัศจรรย์ก็ลืมโศกลืมตาย กลับมีความชื่นชมโสมนัส ปรีดาปราโมทย์ ก็เที่ยวเล่นโดยอันควรแก่อัชฌาสัย ครั้นจุติจิตบังเกิด ร่างกายแห่งเทวดานั้นก็อันตรธานหายไป เปรียบประดุจหยาดน้ำค้างอันต้องร้อนแลแห้งหายไปด้วยแสงพระสุริยะเทพบุตร มิฉะนั้น เปรียบเหมือนเปลวประทีปอันต้องลมพายุพัด แลดับสูญหายไปในขณะบัดเดี๋ยวใจนั้น”

ดูเป็นการลับลาง่ายๆ อย่างนั้นเองหนอ

อุทยานสวรรค์แต่ละแห่งล้วนมีสระน้ำใหญ่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่นในสวนนันทวัน มีสระใหญ่คือนันทาโบกขรณี กับจุลนันทา ซึ่งตามท้องเรื่องก็อธิบายไว้ว่า “นันทาโบกขรณี” เกิดแต่ผลบุญกุศลที่นางสุนันทา หนึ่งในสี่ภริยาของมฆะมาณพ ให้ขุดสระน้ำเป็นสาธารณประโยชน์

สระนี้เองคือ “สถานที่เกิดเหตุ” เมื่อพระอินทร์ยกนางสุชาดาที่กลับชาติไปเกิดเป็นนางนกกระยางขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นๆ มาปล่อยไว้ แล้วดันเจอะแก๊งเมียๆ อีกสามนางที่ได้เกิดใหม่เป็นนางเทพธิดาบนสวรรค์มารุมเย้ยหยัน

“สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พรรณนาสระนันทาโบกขรณีไว้ว่าเป็นประดุจ “สวนน้ำ” ที่เที่ยวเล่นแสนสนุกของเหล่าเทวดา จะเล่นน้ำก็ได้ หรืออยากเล่นเรือก็มีเรือจอดเทียบไว้ให้

“แต่นามนันทวันโบกขรณี              เป็นพื้นที่สนานสนุกแห่งเทวัญ
ระเบียบสระทั้งสี่วารีทิพ                       เหมือนจะหยิบเสาวรสให้ทรงสรรค์
มีโกสุมปทุมซ้อนสลับกัน                     ทั้งชั้นสัตวาจงกลบาน
กว้างยาวร้อยโยชน์จตุรัส                      ให้โสมนัสในท่าสินธุสนาน
แม้นจิตถวิลว่าจะลงไปสรงธาร             ก็บันดาลพุ่งฟุ้งมายังองค์
มีขนานนาวาเป็นคู่คู่                             ลอยชูกิ่งแก้วอันระหง
พระที่นั่งบุษบกบัลลังก์ทรง                 อลงกตด้วยโฉมสุรางค์นาง”

ชื่อสวนสวรรค์บนดาวดึงส์เหล่านี้คงถือกันว่าเป็นประดุจสัญลักษณ์แห่งความรื่นรมย์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังขึ้นในสวนทางฝั่งธนบุรี พระราชทานนามว่า “วังนันทอุทยาน” ตามสวนนันทวัน วังนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมัยทรงพระเยาว์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ และฐานทัพเรือกรุงเทพฯ