เรื่อง ธันยพร วงศ์ธิติโรจน์
ภาพ จิตราภา บำรุงใจ

ถาม : โลกใบนี้มีทั้งหมดกี่ปาก ?
ตอบ : หากไม่รวมปากของเหล่ามวลสัตว์แล้ว โลกใบนี้มีปากกว่า ๗,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ (เจ็ดพันหกร้อยล้าน) ปากมนุษย์

สถิติล่าสุดจากเว็บไซต์รายงานประชากรโลก www.worldometers.com

มันคือปาก…ที่รอคอยจะกัดกินอาหารอยู่ทุกวัน ซึ่งตามหลักมาตรฐานสากลแล้วมนุษย์ควรกินอาหารวันละสามมื้อ

หากลองคิดเป็นจำนวนตัวเลขคร่าว ๆ เท่ากับว่าอาหารกว่า ๗,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐x๓ = ๒๒,๘๐๐,๐๐๐,๐๐๐ (สองหมื่นสองพันแปดร้อยล้าน) จานขึ้นไปจะถูกจัดสรรปรุงแต่งขึ้นใหม่ทุกวันเพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงปากท้องของประชากรทั้งโลก

อาหารแต่ละจานเป็นอย่างไร ? ขึ้นอยู่กับชนิดของปาก

๑. ปากจัด : ปากยอดฮิตของคนไทย

ปากชนิดนี้จะมีความรู้สึกแซ่บถึงทรวงทุกครั้งที่ได้ลิ้มรสอาหารจำพวกจัดจ้าน : เปรี้ยวจัด/เค็มจัด/หวานจัด/เผ็ดจัด “ยิ่งจัดยิ่งดี” จนลิ้นติดเป็นนิสัย หากรสชาติยังจัดไม่พอใจ ปากจะเริ่มทำการบ่นจัดรัว ๆ มือคว้าช้อนหมับ ควักเอาเครื่องปรุงสาดใส่อย่างสะใจ

ผลกรรมของคนปากจัด : ต้องใช้ชีวิตบนเส้นด้ายแห่งความเสี่ยงต่อการเกิดสารพัดโรคจากเครื่องปรุง ผงชูรส เช่น โรคไต เบาหวาน เป็นต้น

๒. ปากมันแผล็บ : ปากบอก “ยิ่งแผล็บยิ่งมัน”

ปากชนิดนี้จะมีลักษณะมันเงางามทุกครั้งที่ได้กระทบกับของมัน ๆ น้ำมันจะหล่อเลี้ยงไหลลื่นให้สนุก กินได้ไม่หยุด รู้ตัวอีกทีปากก็มันแผล็บ ๆ ยากที่จะใช้กระดาษทิชชูเช็ดปาดออก
ผลกรรมของคนปากมันแผล็บ : ของทอดของมันจะทำให้น้ำมันฝังแน่นลึกอยู่ทุกอณู อันตรายต่อหัวใจและทำให้เกิดโรคอ้วน สิวอุดตัน เป็นต้น

๓. ปากไว : เน้นเร็วเน้นไว หิวเมื่อไร…ก็แวะมา

ปากชนิดนี้จะไม่ค่อยมีเวลา ไม่สนใจว่าสิ่งที่กำลังจะเอาเข้าปากคืออะไร ขอเน้นเร็วไวไว้ก่อน
ผลกรรมของคนปากไว : เป็นทาสการตลาดของวงการอุตสาหกรรมอาหาร ต้องเสียเงินกับอาหารแช่แข็งที่กัดแซะสุขภาพ อีกทั้งยังต้องเสี่ยงต่อการกลืนกินอาหารที่มีสารเคมีสูง

นี่เป็นตัวอย่างของปากที่พบเห็นได้บ่อยบนโลกใบนี้ เส้นทางการกินของโลกทุกวันนี้ทำให้หลายคนต้องเร่งหลีกหนีจากสิ่งที่เป็นอยู่เพื่อไปสู่จุดที่ดีกว่า…

เปลี่ยนได้เพราะปาก คนปากดีกับรถชำเปลี่ยนโลกภายในรถชำเปลี่ยนโลกเต็มแน่นด้วยเครื่องปรุงรสปราศจากสารเคมีแต่ละบรรจุภัณฑ์ล้วนเดินทางมาจากต่างถิ่นกำเนิด

คนปากดี
“กินทุกวัน เปลี่ยนโลกทุกวัน”

ประโยคนี้ช่างเตะนัยน์ตาจริง (เกิดคำถามในใจ…จึงอ่านต่อ…)

“กินเพื่อเปลี่ยนสุขภาพร่างกายจิตใจให้แข็งแรง
กินเพื่อเปลี่ยนสู่ความหลากหลายทางพันธุกรรมและรักษาระบบนิเวศ
กินเพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์ให้เกื้อกูลเท่าเทียม สร้างความเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อาหาร
กินเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก”

สองตากวาดอ่านประโยคที่เขียนไว้และพยายามขบคิดตามด้วยความตั้งใจ

“กินอย่างไรโลกก็เป็นอย่างนั้น… แล้วก็เป็นโรคอย่างนั้นด้วย !”

ทันใดนั้นก็มีเสียงใสของผู้หญิงวัยกลางคนลอยแทรกขึ้นมา

ผู้หญิงคนนี้เป็นหนึ่งในคนปากดีที่ใช้ปากของเธอขับเคลื่อนเขย่าวงการอาหาร ชื่อของเธอคือ ศศิธร คำฤทธิ์ (แอน) สาวเชียงใหม่ผิวสีน้ำผึ้งป่า อายุย่างเข้า ๔๔ ปี ปากของเธอแลดูมีสุขภาพดี ไม่เหมือนปากจัด ปากมันแผล็บ หรือปากไวทั่วไป มันคือปากที่พร้อมแจกพลังแห่งรอยยิ้มให้แก่ทุกคนและเป็นปากที่อยากเปิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสิ่งที่เธอหลงใหลได้ทุกเมื่อ นั่นคือบทสนทนาเกี่ยวกับอาหารปลอดสารพิษ ไร้สารเคมี

แอนเป็นที่รู้จักในวงกว้างท่ามกลางหมู่คนขายพืชผัก ณ ตลาดชุมชนเชียงใหม่อาหารปลอดภัย (จริงใจมาร์เก็ต) ย่านถนนคำเที่ยง จังหวัดเชียงใหม่ สังเกตได้จากการทักทายอย่างเป็นกันเอง ตั้งแต่เจ้าของร้านขายผักพื้นเมืองไปจนถึงร้านกาแฟออร์แกนิกของชาวปกาเกอะญอ มือซ้ายถือตะกร้าสานใบใหญ่ มือขวาหยิบผักท้องถิ่นใส่ในตะกร้า ไม่มีที่ว่างเหลือพอสำหรับการชอปปิงอย่างอื่นเลยนอกเสียจากวัตถุดิบไร้สารพิษ…ที่เอาไว้ทำอาหาร

“แต่ก่อนสะสมหุ่น (puppet)… เดี๋ยวนี้สะสมตะกร้าแทน” แอนกล่าวพร้อมโชว์ตะกร้าสานผักตบชวาใบใหญ่ทรงกว้าง

อันที่จริง…แอนเป็นผู้หญิงที่มีสองปาก

ปากที่ ๑ : ปากคัดเลือก

ปากชนิดนี้จะทำหน้าที่กรองสิ่งที่เหมาะสมต่อร่างกาย ตรวจจับสารพิษก่อนจะอนุญาตให้อาหารดำเนินเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารต่อไป หากสิ่งไหนแปลกปลอมลิ้นของเธอจะสามารถดักจับรับรู้ได้ทันทีและจะมีปฏิกิริยาต่อต้านกลับอย่างรุนแรงมาก เธอเคยอาเจียนออกมาไม่หยุดหลังจากได้รับสารเคมีเข้าไป ลิ้นเป็นขุยเป็นรู นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายกำลังปฏิเสธสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตนเองอยู่

“โชคดีที่เกิดมาแล้วพ่อแม่ทำอาหารอร่อยและพิถีพิถัน แม่กินอย่างไรลูกก็จะกินอย่างนั้นด้วย”

แอนได้รับการหล่อหลอมลิ้นให้ชินกับรสอาหารที่ใส่ใจด้วยฝีมือของแม่มาตั้งแต่เด็ก ช่วง ๕ ปีให้หลังนี้เธอบอกลาอาหารที่ผ่านกระบวนการสารเคมีอย่างสิ้นเชิง ทำอาหารกินเองเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้รู้ตัวว่ากำลังกินอะไรอยู่ ก่อให้เกิดโหมดสั่งการแบบอัตโนมัติ “มันรู้เลยนะว่ามันไม่ใช่… เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก”

ในทางกลับกันหากปากรับประทานอาหารที่มีสารเคมีแล้วไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย นั่นไม่ได้หมายความว่าร่างกายแข็งแรงแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะร่างกายเคยชินกับสิ่งที่ไม่ใช่ของจริงไปแล้วต่างหาก…ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า

“เคยทดสอบลิ้นหรือเปล่า ?” แอนถาม

เธอเล่าถึงแบบทดสอบความชอบของลิ้นผ่านการให้เหล่าอาสาสมัครชิมน้ำปลาจากหลายที่ ผลทดสอบพบว่าคนจำนวนมากชอบน้ำปลาตามห้างที่มีผงชูรสในปริมาณมาก ชอบยิ่งกว่าน้ำปลาออร์แกนิกที่ใช้เวลาหมักบ่มจากปลาจริง ๆ เสียอีก… นี่ลิ้นของผู้คนส่วนใหญ่เป็นอะไรไปแล้ว ! ทั้งนี้แอนปลอบใจอย่างมีความหวังว่า

“ฝึกว่ายน้ำตอนแก่ยังได้เลย… ลิ้นฝึกตอนแก่ก็ต้องได้”

rodchum03ในโรงงานผลิตซีอิ๊วขาวและเต้าเจี้ยว อบอวลด้วยกลิ่นหมักของถั่วเหลืองอินทรีย์ที่คนทั่วไปอาจบอกว่าเหม็น แต่แอนบอกว่าหอมเพราะไม่มีสารเคมีใด ๆ ปนเปื้อน

ปากที่ ๒ : ปากกระจายเสียง

ปากชนิดนี้จะทำหน้าที่สื่อสารให้คนหันมากินดีเพื่อสุขภาพ ใส่ใจถึงแหล่งที่มา รับรู้ถึงความหลากหลาย และตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหาร

ก่อนจะบอกคนอื่นได้ก็ต้องทำเองก่อน หลังจากที่สร้างบ้านเสร็จ ครัวของแอนก็กลายเป็นอาณาจักรไปแล้ว “รู้ตัวอีกทีใช้เวลาวันหยุดอยู่แต่ในห้องครัว” แอนกล่าวจากความหลงใหลด้านการกินสู่การสรรค์สร้างสั่งสมประสบการณ์

แอนเริ่มต้นจากการเป็นนักละครเพื่อการพัฒนา สอนเยาวชนให้เข้าใจถึงระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน บุกเข้าไปในครัวโรงเรียนเพื่อสื่อสารให้ความรู้ในแบบที่เข้าใจง่ายที่สุดโดยนำเสนอผ่านหุ่นมือ (puppet) เธอยังเคยเป็นพิธีกรรายการ “เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิชีววิถี (BioThai) รายการนี้ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอสในปี ๒๕๕๘ นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้แอนได้ชิมอาหารจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นทั่วประเทศไทยกับเหล่าเชฟน้อยประจำถิ่น ได้เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนจากชาวบ้าน เกษตรกร ชาวประมง และที่สำคัญจากเด็ก ๆ ที่อยู่ในป่าชุมชน ตัวอย่างสถานที่ เช่น ระบบนิเวศ “โหนดนาเล” ซึ่งมีต้นตาลโตนด นา และทะเลอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ใกล้กับคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา แอนเล่าถึงความหลังด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย

ตอนนี้…ปากของแอนก็บอกว่าพร้อมจะเดินทางก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งแล้ว…

กระบะเดินทาง : รถชำเปลี่ยนโลก

เวลาขับรถนอกจากต้องรู้จุดหมายปลายทางแล้วเส้นทางก็สำคัญ ข้างหน้าเป็นอย่างไร จะเลี้ยวไปทางไหนดี ?

การกินก็เช่นเดียวกัน บนเส้นทางของการกินที่หลากหลายล้วนขึ้นอยู่กับผู้กินว่าจะเลือกเส้นทางใด ทั้งนี้ทุกการตัดสินใจล้วนมีผลต่อการไปสู่จุดหมายปลายทาง

สำหรับแอน… แม้ระหว่างทางอาจดูริบหรี่ เห็นทางบ้างมืดมิดบ้าง แต่ความมุ่งมั่นในใจเธอชัดเจนเป็นที่สุด เธอกินเพื่อเปลี่ยนโลกและคิดว่าการกินอย่างเดียวอาจเปลี่ยนได้ไม่ทันใจพอ ต้องลงมือทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกด้วย

“ไม่มีที่ดินไว้ตั้งร้านอาหารขายอย่างใครเขา ตัวเราก็เลยเอารถละกัน”

เธอได้รับแรงบันดาลใจจากละครเร่ที่เปลี่ยนสถานที่แสดงไปเรื่อย ๆ และเชื่อว่ารถชำฯ คันนี้จะสามารถขับเคลื่อนความฝันของเธอให้เป็นจริงโดยมีคันเร่งเป็นการร่วมด้วยช่วยกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และชุมชนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้จะขับเคลื่อนไปได้ก็ต้องอาศัย “พลังเครือข่ายของผู้บริโภค”

พาหนะคู่ใจในการไปสู่จุดหมายของแอนเป็นรถกระบะที่คล้ายรถเปิดท้ายขายอาหาร (food truck) มีดีไซน์โดดเด่นไม่เหมือนใคร สามารถสะกดทุกสายตาบนท้องถนน

รถคันนี้มีชื่อว่า “รถชำเปลี่ยนโลก”

rodchum02รถชำเปลี่ยนโลกช่วยเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิตให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดสารเคมี และช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อโลก

นอกกระบะ (exterior)

รถกระบะมุงหลังคาเหล็กสูงราว ๒ เมตร มีสมรรถนะแข็งแกร่งทนทานดีเยี่ยม มากด้วยพลัง จะขับไปทางไหนมั่นใจว่าใครก็ต้องเห็น ด้านข้างและด้านหลังรถเขียนประโยคเดียวกันว่า

“กินทุกวันเปลี่ยนโลกทุกวัน”

เพื่อตอกย้ำให้ผู้พบเห็นฉุกคิดจากประโยคนี้

นอกจากนี้ยังมีตัวการ์ตูนเต่าน้อยยิ้มสะท้านโลกยืนอยู่บนฉากพื้นหลังสีน้ำทะเล ในมือของเต่าโอบอุ้มตะกร้าผักสารพัดชนิด ตั้งแต่สาหร่ายทะเลสีแดงไปจนเห็ดสดภูเขา รอบตัวเต่ารายล้อมด้วยซีอิ๊ว กะปิ พริก เกลือ หากลองมองดี ๆ จะเห็นว่าเต่ามีลักษณะผิดเพี้ยนไปบ้างเพราะมันไม่มีขา… แต่มีล้อ !

“เต่าติดล้อ” แอนกล่าวพร้อมหัวเราะ ยังมีตุ๊กตาเต่าติดล้อที่ทำท่าเหมือนเป็นนางกวักมือทอง แอนออกแบบขึ้นมาเอง “เอาไว้เรียกลูกค้า ให้คนหันมากินดี”

เธอไม่ต้องการความร่ำรวยจากรถชำฯ ด้วยปณิธานของแอนคือต้องการสื่อสารให้คนได้รู้ถึงกระบวนการอาหาร

เธอเล่าต่อว่าเต่าแทนสัญลักษณ์ของการกินอาหารแบบสโลว์ฟู้ด (slow food) ไม่ได้หมายถึงท่าทางเชื่องช้า หากแต่เป็นการกินอย่างตระหนักถึงที่มาของอาหารและกระบวนการผลิตที่บรรจงปรุงแต่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีกลวิธีในการผลิตอาหารแตกต่างกันคือเวลา หากผลิตเร็ว มีการใช้สารเคมี ใส่ปุ๋ยเร่งให้โต พ่นฉีดสเปรย์สารพัดชนิดปกคลุมผักใบทุกตารางเซนติเมตร เพื่อให้ได้มาซึ่งผักสวยแต่รูปจูบไม่หอม คุณค่าทางอาหารลดลง ในวงการอาหารฟาสต์ฟู้ด (fast food) มีการปลอมแปลงแต่งกลิ่นสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อลดทอนเวลาอันมีค่าในการทำเงิน ส่วนสโลว์ฟู้ดเน้นช้าแต่ชัวร์…

“เราอยู่บนถนนคนละฝั่งกับฟาสต์ฟู้ด ไม่ได้วิ่งแข่งกับเขา เหมือนเป็นคู่ขนานที่สวนทางกัน” แอนกล่าว

rodchum04

การได้รับอาหารที่ดีผ่านปากเข้าสู่ร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีบางคนคิดว่าอาหารออร์แกนิกมีราคาแพง แต่เมื่อเทียบกับค่าหมอรักษาโรคภายหลังถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่ากว่ากันมาก

ในกระบะ (interior)

ที่นั่งด้านหน้ารถเป็นพื้นที่แคบ มีสองที่นั่งแต่สามารถจุคนได้สูงสุดถึงสามคน เมื่อได้นั่งเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นและหอมกรุ่นด้วยป็อปคอร์น (ข้าวโพดคั่ว) ที่แอนให้ลองชิม

ป็อปคอร์นในภาพจำคือตอนไปดูหนัง มีลักษณะพอง เบา สีขาวหยัก ราวกับกำลังเคี้ยวก้อนโฟมหอมมัน… เวลากินเคี้ยวเพลินแต่มักติดซอกฟัน ส่วนที่เป็นเมล็ดกลมแข็งจนกัดไม่ลง… ป็อปคอร์นที่แอนคั่วเองเป็นข้าวโพดสายพันธุ์ข้าวเหนียว แม้เมล็ดจะไม่พองเป็นก้อนขาวใหญ่แต่ก็ปริแง้มให้เห็นถึงสีขาวด้านใน เคี้ยวกัดได้ทั้งเมล็ด สนุกมันทั้งปาก กรุบ ๆ กรอบมัน แถมไม่แข็งติดฟันเลย…ทำไมป็อปคอร์นโรงหนังติดฟัน… แต่อันนี้ไม่ ?

“ป็อปคอร์นมีแบบเดียวที่ไหนกัน” แอนตอบ

เวลาเด็ก ๆ วาดรูประบายสีก็มักจะระบายแต่ข้าวโพดสีเหลือง แต่ในความเป็นจริงมีทั้งข้าวโพดแดง ข้าวโพดดำ ข้าวโพดพันธุ์ข้าวเหนียว ฯลฯ

“ความหลากหลายพวกนี้ยังต้องการพื้นที่ในการส่งต่อ”

ระหว่างทางขณะที่รถขับเคลื่อนไปจะได้ยินเสียงกุก ๆ กัก ๆ จากสิ่งที่อยู่ด้านหลังราวกับกำลังเรียกร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า… “อยากออกไปเฉิดฉาย…สู่สายตาชาวโลกแล้ว !”

ทันทีที่จอดรถหน้าข่วงเกษตรอินทรีย์ ถนนริมคลองชลประทาน จังหวัดเชียงใหม่ ด้านท้ายและด้านข้างตัวรถถูกเปิดออก กลิ่นของน้ำปลาเล็ดลอดออกมาต้อนรับทักทายก่อนใครเพื่อน เชิญชวนให้น้ำลายสอ…

สินค้าในรถชำฯ ส่วนใหญ่จะเน้นเครื่องปรุงเป็นหลัก แอนได้เห็นกระบวนการผลิตมาแล้วด้วยตัวเองว่าไม่ใช้สารเคมีในการผลิตจริง ๆ จึงกล้ารับประกันนำมาขาย เธอคิดว่าตามท้องตลาดมีผักผลไม้ออร์แกนิกจำหน่ายเยอะแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางเดียวกันหลายคนกลับมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จำเป็นในทุกห้องครัว นั่นคือ “เครื่องปรุงรส” ที่จะเสริมสร้างให้อาหารทุกมื้อมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น เพิ่มสรรพรสให้กลมกล่อม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกบ้านทุกครัวตั้งแต่ครัวโรงเรียนไปจนครัวโรงแรมระดับห้าดาวต้องมีติดไว้

ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตเครื่องปรุงก็ยังหนีไม่พ้นการนำสารเคมีเข้ามาแทรก จะเห็นได้จากข้างฉลากที่มีศัพท์แปลกทางวิทยาศาสตร์ ยากที่คนทั่วไปจะจินตนาการถูกว่ามันคืออะไร ตัวอย่างเช่น

rodchum05

สิ่งเหล่านี้คืออะไรไม่รู้ รู้เพียงแต่…แค่หยดเดียวในทุกวัน…ก็คงไม่ต่างจากน้ำที่ค่อย ๆ กัดกร่อนหิน…ให้ผุพังลง…

“จริง ๆ ผู้ผลิตเหล่านั้นแฟร์นะที่เขียนระบุไว้”

แอนบอกว่าไม่ได้ห้ามกินผงชูรสหรืออาหารที่อยู่ในซูเปอร์มาร์เกต แต่อยากให้รู้ว่าเรากินอะไรลงไป ไม่ใช่ถูกหลอกให้กิน

เธอเชื่อว่าถ้าผู้บริโภคหรือเจ้าของร้านอาหารได้รับข้อมูลมากเพียงพอ “ใครเล่าจะอยากเอาน้ำปลาปลอมมาเสิร์ฟให้ลูกค้าตัวเอง” แอนเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังพร้อมเอื้อมมือหยิบขวดเครื่องปรุงบนรถชำฯ ค่อย ๆ นำมาจัดเรียงวางอย่างเป็นระเบียบ

ปรุงรสปากแบบรถชำเปลี่ยนโลก

เปรี้ยว
ปากอยากเปรี้ยว : มะนาว/น้ำส้มสายชู

ปากเปรี้ยวแบบรถชำฯ : น้ำส้มสายชูหมักสารพัดสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกล้วย ลูกพลับที่แอนเพิ่งพาเด็ก ๆ ไปทัวร์เก็บมาจากสวนบ้านห้วยขมิ้น จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม คือต้องนึ่งสุกก่อนที่จะนำมาหมักใหม่อีกครั้งเพื่อให้ได้รสชาติเปรี้ยวแบบธรรมชาติ กำลังปรี๊ดดี…

หวาน
ปากอยากหวาน : น้ำตาลทรายขาว/น้ำตาลทรายแดง

ปากหวานแบบรถชำฯ : น้ำตาลอ้อยบ้านไร่ ใช้วิธีเคี่ยวแบบโบราณให้นานจนตกผลึก/น้ำตาลโตนดที่มาจากต้นโหนด อาศัยเทคนิคปีนขึ้นต้นตาล ต้นโหนดให้ปลอดภัยโดยภูมิปัญญาพื้นบ้าน

“หากเราไม่กินต่อ การสืบทอดเหล่านี้ก็จะหมดไป เด็กรุ่นใหม่จะกินอะไรนอกเสียจาก…น้ำตาลทราย”

มัน
ปากอยากมัน : น้ำมันสีเหลือง/เนยจากธัญพืช

ปากมันแบบรถชำฯ : น้ำมันมะพร้าวกะทิใสไร้สารเคมี/น้ำมันงาขี้ม่อนบริสุทธิ์ ผ่านการตำหรือบดเมล็ดงาในครกดินเผาและสกัดน้ำมันงาออกมาโดยใช้เครื่องหีบน้ำมันแบบโบราณ

“น้ำมันพวกนี้หืนเร็ว… แต่หืนเร็วสิถึงดี !” แอนกล่าว

เค็ม
ปากอยากเค็ม : เกลือ/น้ำปลา

ปากเค็มแบบรถชำฯ : เกลือสินเธาว์บ่อเกลือ ๒,๐๐๐ ปี/ดอกเกลือทะเล ซึ่งเป็นเกลือที่ลอยอยู่บนผิวน้ำเกลือ ต้องตื่นเช้าเท่านั้นถึงจะตักเก็บได้ รสชาติไม่เค็มจัด ชาวนาเกลือจะใช้ดอกเกลือแทนผงชูรสเพราะมีแร่ธาตุอาหารสูงกว่าเกลือปรกติ/น้ำปลาจากปลาทะเลและปลาน้ำจืดที่ไม่ใส่ผงชูรสในการผลิต

เผ็ด
ปากอยากเผ็ด : พริก

ปากเผ็ดแบบรถชำฯ : น้ำพริก/พริกกะเหรี่ยงจากไร่หมุนเวียนปลูกแบบออร์แกนิก ความพิเศษอยู่ตรงที่นำมาทำน้ำพริกจะเกิดเขม่าควันผสม เวลากินจึงรู้สึกว่ามีกลิ่นหอมรมควัน

“ในเมื่อมันหาซื้อไม่ได้…ก็เลยเอามารวบรวมไว้ซะเลย” แอนพูดเชิงติดตลก

แอนรวบรวมเครื่องปรุงจากแหล่งต่าง ๆ มาบรรจงใส่บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว บางอย่างก็นำมาแปรรูปใหม่เอง เปลี่ยนโฉมสร้างตราสินค้าให้ดูทันสมัย น่าเข้าถึง ภายใต้โลโก้รูปเต่าแบรนด์ “กินเปลี่ยนโลก” พร้อมระบุส่วนผสมและแหล่งที่มาไว้ที่ฉลากอย่างชัดเจน…

“เมื่อกินแล้วถ้ารู้ที่มาว่ามีแหล่งผลิตที่ไหนก็จะรู้สึกถึงคุณค่า”

เธอสามารถจำรายละเอียดตำบล อำเภอที่มาของเครื่องปรุงกว่า ๑๐๐ ชนิดบนรถได้ครบถ้วน

ย้อนถามตัวเองบ้างว่าน้ำปลาที่บ้านมาจากไหน ?

คำตอบเป็นได้เพียง…จากซูเปอร์มาร์เกต !!!

rodchum06

เดิมผลิตภัณฑ์จากทั่วทุกภูมิภาคไม่มีหน้าตาดึงดูดใจเท่าผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาด แอนจึงช่วยออกแบบแปลงโฉมให้มันใหม่

หมุนล้อทั้งสี่ : หมุนปากเปลี่ยนโลก

ล้อที่ ๑ ขับเคลื่อนสุขภาพ

การได้รับอาหารที่ดีผ่านปากเข้าสู่ร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมี ให้ระบบในร่างกายมีโอกาสปรับสภาพคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง บางคนคิดว่าอาหารออร์แกนิกมีราคาแพง แต่เมื่อเทียบกับเงินที่อาจต้องจ่ายเป็นค่าหมอรักษาโรคภายหลัง ถือเป็นการลงทุนในระยะยาวที่คุ้มค่ากว่ากันมาก

มีผลการวิจัยของ The Soil Foundation ประเทศอังกฤษ รายงานว่า ผลิตผลทางเกษตรอินทรีย์มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าทางเคมีมาก เช่น แคลเซียมสูงกว่า ๖๘ เปอร์เซ็นต์ แมกนีเซียมสูงกว่า ๑๑๘ เปอร์เซ็นต์ ธาตุเหล็กสูงกว่า ๗๘ เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ

รถชำเปลี่ยนโลกจึงเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้ผู้คนสามารถได้รับสารอาหารที่ดีอย่างเต็มที่ และเข้าถึงแหล่งสารอาหารที่ผลิตอย่างไร้สารเคมี

ในส่วนของสุขภาพคนผลิตก็เช่นเดียวกัน… ไม่ต้องใส่เสื้อที่มีปลอกแขนป้องกันสารเคมี ไม่ต้องเอาผ้าคลุมปิดหน้า ทำสวนไปมีความสุขไปเพราะสูดอากาศได้เต็มปอด

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่แอนนำเต้าเจี้ยวมาบรรจุขายบนรถชำเปลี่ยนโลกก็เคยประสบปัญหาการเจ็บป่วยจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ถึงเวลาปฏิรูปรวมใจกันทำเต้าเจี้ยวออร์แกนิก ควบคุมตั้งแต่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ไปจนถึงการแปรรูปถั่วเป็นเต้าเจี้ยวที่ใช้แต่กลวิธีอินทรีย์ล้วน

แอนยังเล่าถึงความพิเศษของกลุ่มแม่บ้านนี้ว่าสามารถผลิตซีอิ๊วขาวได้ “เวอร์จิน” สุด ๆ เพราะบริสุทธิ์จริง ๆ

ทุกหยดจะค่อย ๆ กลั่นออกมาจากความตั้งใจของผู้ผลิต ใช้ถุงผ้ากรองน้ำเต้าเจี้ยวที่ต้มแล้วหยดลงมา

ทีละติ๋ง…ติ๋ง…ติ๋ง… ผ่านไปเป็นวันกว่าจะได้เป็นซีอิ๊วขาวเวอร์จิน

“อร่อยได้โดยการกลั่นออกมาอย่างตั้งใจ ไม่เห็นต้องใส่เคมีอะไรเลย…”

ล้อที่ ๒ : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จ่ายเงินใส่กระเป๋าสตางค์ให้ถูกคน… รถชำฯ เป็นแรงขับเคลื่อนให้เงินไม่ไปกระจุกตัวอยู่เพียงห้างสรรพสินค้า หรือพ่อค้าคนกลาง แต่กระจายรายได้ไปสู่ผู้ผลิตอย่างแท้จริง

“เราอยากให้เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่ได้จริงเหมือนที่ห้างใหญ่ ๆ อยู่ได้”

แอนซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ในราคาที่ผู้ผลิตพึงพอใจขาย แล้วมาทำการตลาดเพื่อสร้างอีกหนึ่งช่องทางรายได้ให้ผู้ผลิตที่รักและใส่ใจผู้กิน

พฤติกรรมการเปิดรับอาหารที่หลากหลายจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนฟื้นคืนชีพภูมิปัญญาพื้นบ้านและอาชีพที่เคยห่างหายไปให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“มากกว่าแค่คำว่าพอเพียง…คือต้องทำให้ยั่งยืน” แอนลั่นวาจาอย่างมุ่งมั่น

ล้อที่ ๓ : ขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม

“อยากได้อะไรก็มาตักเอาไป”

นอกจากเครื่องปรุงที่อยู่ในขวดแก้วแล้ว รถชำเปลี่ยนโลกยังมีนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติกโดยใช้ถุงกระดาษสีน้ำตาลใส่ของแทน เวลาใครซื้ออะไรก็ใส่รวมในถุงใหญ่ใบเดียว

ข้างรถชำฯ วางแกลลอนขนาดใหญ่เป็นน้ำยาอเนกประสงค์ชีวภาพที่แอนทำเองจากพืชตามฤดูกาลเช่นมะกรูด ผู้ซื้อสามารถนำขวดมาเติม แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้คนในละแวกที่รถชำเปลี่ยนโลกไปจอดได้ร่วมเป็นฮีโร่ลดใช้พลาสติก…

“จะใช้พลาสติกทั้งที…ก็ใช้ให้มันคุ้มหน่อย”

ล้อที่ ๔ : ขับเคลื่อนอนาคต

ทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนจะมีเด็กสองคนในวัยตัวสูงประมาณเอวผู้ใหญ่ คือเด็กชายโชติพัทธิ์และเด็กหญิงชุติญา ลูกของคนขายผักพื้นบ้าน ณ ข่วงเกษตรอินทรีย์ เตรียมมารอคลุกคลีเป็นขาประจำที่รถชำฯ ของแอนอย่างใจจดใจจ่อ

ตอนแรกมาเพราะหลงรักเต่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั้งสองก็ใคร่รู้เกี่ยวกับเครื่องปรุงอาหารที่แอนนำมาจัดวางบนรถชำฯ มากขึ้น พร้อมซึมซับความรู้ที่แอนพยายามสอดแทรกเกี่ยวกับการกินที่ถูกต้องให้

“เราอายุเท่านี้แล้ว… ถ้าเราไม่ส่งต่อมรดกทางลิ้น ภูมิปัญญาที่มีก็จะหายไป… ลูกหลานของเราเขาจะไม่มีวันรู้ว่าข้าวโพดมันมีที่ต่างกัน !” แอนเตือนสติ

ข้างรถชำฯ จะมีโซนหนังสือเกี่ยวกับอาหารกว่า ๑๐ เรื่องตั้งวางขายเพื่อให้ผู้ผ่านไปมาเลือกซื้อหรือลองหยิบอ่านดู…

“หนูชอบเล่มนี้”

ชุติญาสะกิดหลังและยื่นหนังสือ ผักแถวพื้น : แกงแถวบ้าน ให้ดู

“ทำไมถึงชอบล่ะคะ ?”

“เพราะว่าดอกนี้มันสวยดี มีแต่ผักแปลก ๆ เยอะมาก”

ใช่แล้ว… พืชผลอนาคตจะเป็นอย่างไร…ขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะเติบโต…

ปากต่อปาก พลังแห่งการสื่อสาร

ของสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยบนรถชำเปลี่ยนโลกคือลำโพงขนาดใหญ่และไมโครโฟนคู่ใจพร้อมไปทุกที่

แอนเชื่อในพลังแห่งการสื่อสาร ต้องกระจายเสียงให้ก้องกังวานเพื่อให้คนรับรู้ เธอย้ำว่า “หน้าที่ของเราคือต้องบอกต่อ เป็นผู้สื่อสารข้อมูล เพราะถ้าเราไม่กินมันก็จะหายไป”

จากการสำรวจข้อมูลของ www.getambassador.com ระบุว่า มากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคซื้อสินค้าเพราะการบอกต่อ “ปากต่อปาก”

จริง ๆ แล้ว…ปากของเราก็มีพลังมากกว่าที่เราคิดนะ

แอนเล่าว่าเรื่องที่ทำให้มีความสุขที่สุดคือการที่คนมาคุยเรื่องกินด้วยกัน เหมือนครอบครัวเดียวกันที่รักและห่วงสุขภาพกันและกัน อย่างในวันก่อนลูกค้าแอบนำสูตรลับมาบอกว่า “ปั่นเสาวรสอย่างเดียวไม่อร่อยต้องใส่กล้วยน้ำว้าด้วยนะ” พอลองทำตามก็ “อร่อยจริงแบบไม่ต้องใส่น้ำตาล” เกิดสังคมการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันซึ่งเป็นภาพที่น่ารักดี

rodchum07
ฉลากติดบรรจุภัณฑ์เพื่อบอกผู้บริโภคให้ทราบถึงที่มาของผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง

ปากเปลี่ยน : กระจกสะท้อนพฤติกรรมการกิน

ที่ร้านอาหารนอกบ้าน บทสนทนาสั้น ๆ กับแม่ครัวร้านข้าวแกง (ที่ทำให้เกิดการตื่นรู้)

“วันนี้มีแกงเห็ดกับหัวบุกนะเจ้า” เจ้าของร้านข้าวแกงสกายคาเฟ่ (Sky Cafe) ที่ไปกินเป็นประจำแถวตำบลช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวพร้อมยิ้มต้อนรับ

แกงร้อน ๆ หอมกรุ่นเสิร์ฟตรงหน้า ซู้ด…หื้อ…กลมกล่อมละมุนลิ้น

“คุณแม่คะ ! อร่อยมาก ๆ ๆ ๆ ๆ”

“แม่เห็นแล้ว ดีใจ… ใส่น้ำปลาหนูนะเนี่ย !”

ทันใดนั้นในสมองเกิดกระบวนการตื่นรู้ฉับพลันโดยทันที (immediate enlightenment) จากประโยคของแม่ครัวร้านข้าวแกงและการได้ซดแกงเห็ดชามร้อนนี้

รีบมองไปรอบ ๆ ร้าน เห็นลูกค้าหลายคนสั่งเมนูแกงเห็ดกับหัวบุกแทบทุกโต๊ะ ขณะเดียวกันแม่ครัวก็กำลังตักแกงเห็ดใส่ถุงให้ลูกค้าขาจรที่ต้องการซุปร้อน ๆ ไปซดในวันฝนตก
แกงเห็ดกับหัวบุกนี้ไม่ได้พิเศษแต่อย่างใด

…เป็นเพียงแค่แกงเห็ดธรรมดา ๆ…

ที่ใส่น้ำปลาปลาสร้อยยี่ห้อเด็ดดวง ที่ผ่านกระบวนการหมักแบบไร้สารเคมีเป็นเวลา ๒ ปี

ที่แอนนำมาจากแหล่งผลิต ตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

ที่ถูกนำมาจัดวางขายบนรถชำเปลี่ยนโลกที่เรามีโอกาสไปซื้อมา

ที่ได้มอบส่งต่อให้แก่ร้านขายข้าวแกงที่กินเป็นประจำทุกเช้า…

ที่แม่ครัวเลิกใช้น้ำปลาที่มีอยู่แล้วเปลี่ยนมาใช้น้ำปลาไร้สารปรุงแต่งที่ให้ไปจริง ๆ เป็นความปลื้มปริ่มลึก ๆ

ที่อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้วันนั้นมีปากอีกหลายปากไม่ต้องกินสารปรุงแต่งไปอีกมื้อ

…และได้ลิ้มรสน้ำปลาบริสุทธิ์จากจิตใจของคนทำที่บริสุทธิ์

กลับมาที่ปากเรา… แต่ก่อนกินอย่างไร…ตอนนี้เข้าใจแล้ว

เหมือนได้เห็นกระจกสะท้อนถึงพฤติกรรมการกินของเราแต่ก่อน และสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตจิตใจของแอนและรถชำเปลี่ยนโลกของเธอ…ที่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น…

ตัวคุณเอง…ก็เปลี่ยนโลกได้
เดินหน้าเต็มกำลังปฏิรูปการกินด้วยการ “เปลี่ยนอวัยวะ !”

เปลี่ยนลิ้น เปิดลิ้นกินอาหารใหม่ ๆ ไม่ติดรสชาติเดิม

สนุกกับการกินอาหารที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นเมืองหรือพืชผักตามฤดูกาล

ลิ้นของคนโดยทั่วไปมีตุ่มรับรสกว่า ๒,๐๐๐-๘,๐๐๐ ตุ่ม หากกินแต่อะไรเดิม ๆ คงน่าเสียดาย

เปลี่ยนตา เลิกมองที่รูปลักษณ์หน้าตา แต่ปรับมามองที่ฉลาก

ตรวจสอบส่วนประกอบและแหล่งผลิตว่ามาจากไหน อย่าหลงกลตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต

เปลี่ยนมือ หยิบยื่นเม็ดเงินที่จ่ายไปส่งต่อให้ถึงมือของผู้ผลิตอินทรีย์อย่างแท้จริง

อุดหนุนพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยเพื่อให้เกษตรกรอินทรีย์สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

เปลี่ยนเท้า ไม่ต้องคิดเดินออกไปไหน ตรงดิ่งไปที่ห้องครัว

สสส. ชี้ปัจจุบันคนกินอาหารนอกบ้าน อาหารสำเร็จรูปมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายค่าอาหาร

ทั้งหมดถึงเวลาแล้วที่ต้องจับตะหลิว เสกเมนูอาหารที่ดีเพื่อให้รางวัลแก่สุขภาพร่างกายของเรา

เปลี่ยนปาก จะเป็นอย่างไรหากปาก ๗,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ (เจ็ดพันหกร้อยล้าน) กว่าปากบนโลกใบนี้พร้อมใจกัน…ที่จะ “เปลี่ยน”

สุขสันต์วันครบรอบ ๑ ปีนะ “รถชำเปลี่ยนโลก”

ข้อมูลเพิ่มเติม :

พบกับรถชำเปลี่ยนโลกได้ทุกวันพฤหัสบดีที่ ๓ ของเดือน
ณ ข่วงเกษตรอินทรีย์ ถนนริมคลองชลประทาน จังหวัดเชียงใหม่
เวลา ๑๔.๐๐-๑๘.๐๐ น.
Facebook : รถชำเปลี่ยนโลก และ www.food4change.in.th