เรื่อง สุภัชญา เตชะชูเชิด
ภาพ สิริพงศ์ ลี้วุฒิกุล

จุดรวมทิ้งเศษผักของตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งแต่ละวันกลายเป็นขยะจำนวนมาก

เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะเย็นวันนั้นแท้ ๆ …ฉันยังจำได้ดี

ฉันทิ้งร่างอ่อนแรงลงบนโซฟาหลังจากทำงานหนักมาทั้งวัน ฉันเหนื่อยเสียจนไม่อยากจะทำอะไร…คุณเองก็น่าจะเคยผ่านความรู้สึกนี้มาบ้างเช่นกัน

พอร่างกายได้พัก น้ำย่อยในกระเพาะกลับเริ่มทำงาน แต่เวลานั้นฉันไม่มีกะจิตกะใจจะหาอาหารอร่อย ๆ มาป้อนกระเพาะที่หิวโซ ทำได้เพียงคุ้ยหาอาหารที่มีเพื่อประทังชีวิตให้ผ่านพ้นวันนี้ไปได้

ภายในตู้เย็นยัดแน่นด้วยขวดน้ำและถุงพลาสติก

ผักที่เหลือจากเมนูผัดผักเมื่อสุดสัปดาห์เริ่มเหลืองหมดแล้ว

มะม่วงที่เก็บไว้นานจนลืม ช้ำจนเละเป็นน้ำอยู่ในถุง

ถ้วยแกงเมื่อ ๒ วันก่อนที่ยังกินไม่หมด มีไขลอยอยู่เต็มหน้า

ขนมปังไส้กรอกกับแฮมแผ่นก็เพิ่งหมดอายุไปเมื่อวานนี้

ฉันรื้อดูถุงพลาสติกทีละถุงและจับมันโยนลงถังขยะถุงแล้วถุงเล่า

สุดท้ายฉันก็ต้องกลับไปตายรังกับอาหารสำเร็จรูปราคาประหยัดที่คุณก็น่าจะเดาออก…

การเดินทางของอาหารที่ไม่ได้กินถังขยะให้ทิ้งเศษผักในตลาดก่อนรวบรวมออกไป

ระหว่างซดน้ำซุปหยดสุดท้ายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฉันก็ยังไม่หายหัวเสียกับขยะอาหารกองใหญ่ที่เพิ่งรื้อออกมา แถมยังต้องรีบเอาไปทิ้งก่อนมันจะส่งกลิ่นเหม็น เรียกมด หนู แมลงสาบมาสร้างปัญหามากกว่านี้

“นี่บ้านของฉันอยู่กันแค่สามคนยังมีขยะอาหารเยอะขนาดนี้ ถ้าทั้งประเทศจะขนาดไหนนะเนี่ย ?” ฉันเกิดคำถามขึ้นในใจ ก่อนจะเอานิ้วรูดไปบนหน้าจอโทรศัพท์เพื่อหาคำตอบและประวิงเวลาล้างจาน

“๒๖.๗๗ ล้านตัน”

“โอ้พระเจ้า !” ฉันอุทานกับตัวเลขเหล่านั้น ประเทศไทยของเราสร้างขยะมูลฝอยปีละ ๒๖.๗๗ ล้านตัน หรือน้ำหนักเท่ากับเครื่องบิน ๙๗,๐๐๐ ลำเลยทีเดียว ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นขยะอาหาร เมื่อนำตัวเลขไปเทียบกับปริมาณอาหารที่ผลิตจะพบว่าเรากินกันจริง ๆ เพียงสองส่วนเท่านั้น ที่เหลืออีกหนึ่งส่วนจะกลายเป็นขยะ เรียกได้ว่าเราเป็นสังคมแห่งการ “กินทิ้งกินขว้าง” อย่างแท้จริง

ฉันจุก…ไม่รู้ว่าเพราะเส้นบะหมี่ในกระเพาะเริ่มอืด หรือว่าข้อมูลที่น่ากลัวนี้กันแน่

ฉันจึงกลายเป็นเจ้าหนูจำไม…คอยตั้งคำถามเกี่ยวกับชะตากรรมของอาหารที่ไม่ได้กิน

………………………………………………………………………….

“ป้า ๆ เศษอาหารป้าเอาไปไหนอะ” ฉันถามป้าศรี ร้านขายอาหารตามสั่งเจ้าประจำ

“ก็ทิ้งสิ ถามได้” ป้าตอบอย่างตรงไปตรงมา

ฉันจึงพยายามอธิบาย และได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น

“เศษอาหารก็เอาตะกร้าพลาสติกกรองก่อน น้ำเทลงท่อไป ส่วนเศษอาหารก็ใส่ถุงไปทิ้งตามถังขยะทั่วไปนี่แหละ แต่ก่อนมีถังข้าวหมูให้ใส่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว”

“ถังข้าวหมู ?” ฉันสงสัยเพราะเกิดและเติบโตในละแวกนี้มาโดยตลอด แต่ถังข้าวหมูกลับไม่เคยอยู่ในความทรงจำเลย

ป้าศรีอธิบายให้ฉันฟังว่าสมัยก่อนฟาร์มเลี้ยงหมูจะมาตั้งถังรับเศษอาหารในชุมชน ชาวบ้านก็จะเอาเศษอาหารในครัวเรือนไปทิ้งรวมกัน แล้วเขาจะนำไปเป็นอาหารเลี้ยงหมู แต่ต่อมาทางราชการเห็นว่าถังข้าวหมูทำให้พื้นที่รอบ ๆ สกปรก ดูไม่งามตา จึงสั่งห้ามนำมาตั้ง แต่ละบ้านจึงต้องหาทางจัดการเศษอาหารของตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

………………………………………………………………………….

“ทิ้งอย่างเดียวเลยค่ะ” เป็นคำตอบที่ฉันได้จากแนน (นามสมมติ) ผู้จัดการร้านสะดวกซื้อชื่อดังแห่งหนึ่ง

“เที่ยงคืนก่อนวันหมดอายุ เราจะเก็บสินค้าลงจากชั้นวาง มาทำลายทิ้งค่ะ โดยการฉีกทิ้งต่อหน้ากล้องวงจรปิด และใส่ถุงดำออกไปทิ้งข้างนอก พนักงานจะไม่สามารถทานหรือเอากลับไปได้ ถ้าเป็นของเหลวก็เทลงท่อหมด”

แนนอธิบายให้ฉันเข้าใจถึงกระบวนการจัดการสินค้าหมดอายุ เพราะหากสินค้าเหล่านี้หลุดรอดออกไปก็อาจมีคนหัวใสนำไปขายต่อและทำให้แบรนด์สินค้าเสียชื่อเสียงได้ เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของธุรกิจ

อาหารบางประเภทที่มีอายุยาวกว่า เช่น ขนมอบกรอบ หรือของแห้งต่าง ๆ ก่อนช่วงวันหมดอายุประมาณ ๑ เดือนก็จะนำมาจัดโปรโมชัน ปรับลดราคา เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

ยิ่งกว่านั้นอายุของอาหารสดบางประเภท เช่น ซาลาเปา หรือไส้กรอก เรียกได้ว่านับถอยหลังกันเป็นรายชั่วโมงเลยทีเดียว

“อย่างซาลาเปาจะอยู่ในตู้นึ่งได้ไม่เกิน ๘ ชั่วโมง ถ้าเลยเวลาที่กำหนดแป้งก็จะเสียสภาพ เริ่มยุ่ย ทำให้รสชาติไม่เหมือนเดิม หรือไส้กรอกที่อยู่บนถาดกลิ้งนานก็จะเหี่ยว เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่โชว์เยอะ” แนนเล่าต่อและบอกให้ฉันสังเกตว่าแต่ละร้านจะมีอาหารประเภทนี้วางให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เมื่อถามถึงประโยชน์ของอาหารเหลือเหล่านี้ แนนเหมือนจะเข้าใจสิ่งที่ฉันต้องการจะสื่อ เธอเงียบไปครู่ก่อนตอบเราว่า “จริง ๆ สำหรับคนอื่น อาหารเหล่านี้ก็มีประโยชน์แหละ แต่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราเอาออกไปโดยที่ไม่ได้ซื้อก็จะถือว่าเราทุจริตทันที ทางบริษัทมีกฎระเบียบควบคุมไว้ทุกอย่าง”

ตอนท้ายเธอย้ำกับเราว่า “สินค้าเหลือไม่มากหรอก เพราะว่าจะต้องดูจากยอดขาย ทุกอย่างเป็นเม็ดเงินทั้งหมด วันหนึ่ง ๆ ก็จะมีของเหลือนิดหน่อย หรือแทบไม่เหลือเลย”

………………………………………………………………………….

“ช้าหน่อยนะ วันนี้วันพระ” หลวงพ่อบอกขณะมารับบิณฑบาตที่บ้านเหมือนอย่างเคย ตามมาด้วยลูกศิษย์อีกสามคนที่หอบของพะรุงพะรังอยู่เต็มสองแขน

เห็นอย่างนี้แล้วฉันก็ไม่วายเอ่ยปากถาม “หลวงพ่อคะ อาหารเยอะขนาดนี้ ถ้าพระฉันไม่หมดแล้วทิ้งเหรอคะ”

“ไม่ต้องห่วง ๆ ที่วัดมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะเลย ชาวบ้านเขาก็มารอรับกันอีก พระก็แบ่งไปให้เขา เราก็ได้ทำบุญอีกต่อหนึ่งน่ะ ไม่มีทิ้งหรอก”

พระครูปลัดฐิติวัฒน์ รองเจ้าอาวาสวัดพระยายัง เล่าให้ฉันฟังด้วยความเบิกบานว่า อาหารเหล่านี้จะถูกแบ่งไว้สำหรับฉันเพล ที่เหลือจะส่งต่อให้ชาวบ้านในละแวกวัดที่มารอรับ

หลวงพ่ออธิบายต่อว่า ส่วนอาหารแห้งหรือน้ำบรรจุขวดที่เก็บไว้ได้นานก็จะแยกไว้สำหรับส่งต่อไปยังวัดตามต่างจังหวัด หรือสถานที่ที่ยื่นจดหมายมาขอความอนุเคราะห์ เช่น โรงเรียน หรือชุมชนต่าง ๆ เป็นต้น

อาหารเหลือทิ้งจริง ๆ จะมีก็แต่เศษอาหารก้นบาตรหรือเศษอาหารติดจานเท่านั้นก็นำไปเลี้ยงสุนัข หรือถ้าเป็นวัดที่อยู่ติดแม่น้ำก็จะให้ทานเป็นอาหารปลา

garbagejourney02ถังขยะให้ทิ้งเศษผักในตลาดก่อนรวบรวมออกไป

garbagejourney03แม่ค้าลอกกาบใบแก่ของกะหล่ำปลีทิ้งเพราะเป็นส่วนที่ไม่ต้องการ

มูลค่าของเศษอาหาร

เราเดินทางมาถึงสุนทรพัฒนาฟาร์ม จังหวัดอ่างทอง ที่นี่มีบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่สองบ่อและเล้าคอนกรีตเลี้ยงหมูอยู่ริม

บ่อปลาทั้งสองด้าน ต้นไม้รอบ ๆ พลิ้วไหวเล็กน้อยตามสายลมที่พัดอ่อน ๆ แต่ยังไม่ทันที่ฉันจะก้าวลงจากรถ กลิ่นเหม็นเปรี้ยวแรง ๆ ก็ปะทะเข้าจมูกอย่างจัง ต้นทางของกลิ่นคือเศษอาหารที่บรรจุอยู่ในถังสีฟ้าตั้งเรียงรายเต็มรถกระบะ

มณฑิตา สุขสง่า หรือ อุ้ม สาววัยรุ่นผู้สืบทอดกิจการของครอบครัวในการรับซื้อ-ขายเศษอาหาร ต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง เธอเล่าให้ฟังถึงจุดกำเนิดธุรกิจนี้ว่า

“จริง ๆ แล้วที่บ้านอุ้มทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ค่ะ ทำมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่แล้ว ปู่ก็เลี้ยงหมู ปลา และไก่ สำหรับธุรกิจรับซื้อเศษอาหาร คุณปู่เริ่มมาจากการเก็บเศษอาหารจากวัด บางวันมีคนมาทำบุญเยอะมาก พระท่านก็จะเรียกชาวบ้านมาเก็บอาหารเหลือเอาไปเลี้ยงสัตว์ของตัวเอง บางทีเราได้มาเยอะใช้ไม่หมดก็แบ่งให้คนอื่นไป มันก็พัฒนามาจนทุกวันนี้”

เศษอาหารแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภค และเศษอาหารที่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น เศษขนมปัง เส้นหมี่หัก ๆ รวมถึงเศษอาหารจากอุตสาหกรรมของสด เช่น ไส้ไก่ เศษเนื้อจากการตัดแต่งแฮม รวมไปถึงสินค้าตกเกรด เช่น ปลาแผ่นที่ตัดไม่ได้ขนาด หรือปูอัดที่ขึ้นรูปไม่สวย เป็นต้น

แน่นอนว่าเศษอาหารแต่ละประเภทย่อมมีราคาแตกต่างกัน ธุรกิจของอุ้มเน้นการประมูลเหมาเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทาน ซึ่งมีราคาถูกที่สุด คือกิโลกรัมละ ๓ บาท เพื่อจำหน่ายต่อให้แก่เกษตรกรรายย่อย
การซื้อขายเศษอาหารยังมีรายละเอียดมากกว่าที่ฉันคิดเอาไว้มาก เพราะเศษอาหารจากสถานที่ต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกัน

และต้องมีการจัดการที่รวดเร็วก่อนจะเน่าบูด ยังไม่รวมถึงบรรจุภัณฑ์และกระบวนการขนส่งที่ครอบคลุมถึงสามจังหวัด คือกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

“อาหารในโรงพยาบาลมักจะเป็นข้าวต้ม โจ๊ก หรือซุป เศษอาหารจากโรงพยาบาลจึงมักจะมีน้ำเยอะ เวลาขายจะต้องมากรองน้ำออกก่อน หรือเติมเนื้อเข้าไป แต่ถ้าเป็นเศษอาหารจากโรงงานหรือเรือนจำ เขาจะเรียกว่า ‘อาหารสวย’ คือมีน้ำน้อย แบบนี้เราก็สามารถขายได้เลย”

อุ้มอธิบายขณะคุมคนงานใช้ตะขอเกี่ยวถังเศษอาหารเทลงในบ่อ ฝูงปลาสวายว่ายมาแย่งกันกินจนแน่นขนัด

อาหารกว่า ๑๐ ถังหายไปในพริบตา เหลือเพียงเศษขยะที่ลอยขึ้นมาเท่านั้น

“โดยปรกติแต่ละที่ก็จะคัดแยกเศษขยะมาแล้วระดับหนึ่ง นอกจากบางครั้งถ้าเราเห็นว่าในเศษอาหารมีขยะปนเยอะเราก็จะหยิบออกก่อน หรือถ้ามีขยะสะสมในบ่อปลามากก็จะทำให้น้ำเสียได้” เธอเสริมพลางชี้ให้ดูกระชอนที่ใช้ตักเศษขยะออกจากบ่อ

ฉันถามอุ้มถึงความรู้สึกของคนที่ทำงานกับขยะ ของเหลือที่ไม่มีใครต้องการ หญิงสาวยิ้มน้อย ๆ ก่อนจะบอกว่าเธอทำธุรกิจนี้ด้วยพื้นฐานของความช่วยเหลือเกื้อกูล มิใช่บนพื้นฐานของกำไรเพียงอย่างเดียว

“มันเป็นลักษณะการช่วยกำจัดด้วยนะ ถ้าไม่มีอาชีพตรงนี้ เศษอาหารจะไปไหน บางคนถึงกับขอร้องให้ช่วยมาเก็บไปที เขายกให้ฟรี ๆ …เหมือนเราเป็นคนทำความสะอาดประเทศเลยนะ” (หัวเราะ)

หากนึกถึงภาพระบบนิเวศที่เคยเรียนสมัยมัธยมฯ ฉันคิดว่าธุรกิจรับซื้อขายเศษอาหารก็เปรียบเสมือน “ผู้ย่อยสลาย” ที่คอยย่อยซากพืชซากสัตว์ต่าง ๆ ให้กลายเป็นสารอาหารสำหรับผู้ผลิต ในขณะที่เรามักให้ความสนใจกับผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ที่จริงแล้ว ผู้ย่อยสลายที่เราหลงลืมไปต่างหากที่ทำให้การหมุนเวียนสารอาหารในห่วงโซ่นั้นสมบูรณ์

garbagejourney04

garbagejourney05เศษอาหารที่คนกินเหลือตามศูนย์อาหาร ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ เช่นหมูหรือปลา ตามฟาร์มเลี้ยงต่างๆ

เหลือของเธอ อิ่มของฉัน

จากหนังสั้น คุณค่าที่แท้จริง ซึ่งนำแสดงโดยคู่ขวัญอย่างญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ และ หมาก-ปริญ สุภารัตน์ เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่คิดพัฒนาแอปพลิเคชันให้ผู้คนนำอาหารเหลือของตนเองไปส่งต่อให้แก่ผู้ยากไร้ อันมีชื่อตรงตัวว่า “Food Giving” ภาพความสุขที่เกิดจากการแบ่งปันอาหารเหล่านี้ทำให้ฉันไม่รีรอที่จะติดต่อกับ สุทัศน์ รงรอง หรือ พี่เล้ง นักพัฒนานวัตกรรม ผู้ก่อตั้งบริษัทดูอินไทย และเจ้าของเรื่องบันดาลใจในคลิปวิดีโอเรื่องนี้

พี่เล้งเล่าให้ฉันฟังว่า จริง ๆ แล้วเริ่มต้นทำแอปพลิเคชันการส่งต่ออาหารที่ประเทศเคนยา

ใช่แล้ว ! คุณอ่านไม่ผิดหรอก เคนยาจริง ๆ

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาและกลุ่มเพื่อนได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่จับคู่ความต้องการของคนสองคนในเชิงธุรกิจขึ้น

ชื่อว่า “ป๊อปโปะ” แม้ว่าแอปพลิเคชันนี้จะชนะการประกวด แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้จริง จนวันหนึ่งเขาและเพื่อนได้ดูสารคดีเกี่ยวกับความขาดแคลนในชนบทของเคนยาและอาหารเหลือในเมืองที่ห่างไกลกัน เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจและปัดฝุ่น “ป๊อปโปะ” ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการจับคู่ผู้ทิ้งอาหารและผู้ที่ต้องการอาหาร โดยอาศัยอาสาสมัครช่วยส่งต่ออาหารจากต้นทางไปยังปากท้องที่หิวโหย

garbagejourney06ส่วนหนึ่งของกิจกรรมนำอาหารที่เราไม่ได้กินส่งต่อให้ผู้อื่นได้กินอิ่มท้องแทนที่จะทิ้งเสียเปล่า

“อาหารที่เคนยาเขาขาดแคลนจริง ๆ ในขณะที่บ้านเรามีเกินพอ ผมไม่คิดว่าสังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้มีการอดตายเพราะเรื่องขาดอาหาร จะมาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้” ชายหนุ่มผู้มุ่งมั่นอธิบายเหตุผลของการเริ่มต้นโครงการที่กระโดดข้ามไปทำไกลถึงเคนยาให้ฉันเข้าใจ

แม้เมืองไทยจะไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะส่วนเกินที่กลายเป็นขยะจนทำให้กรุงเทพมหานครครองแชมป์อันดับที่ ๔ จาก ๒๒ เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียที่สร้างขยะอาหารมากที่สุด

พี่เล้งเห็นปัญหาของขยะไร้ค่าเหล่านี้ จึงตัดสินใจพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ขึ้นในประเทศไทยบ้าง

ฉันคุยกับพี่เล้งพักใหญ่ก็เริ่มเห็นภาพว่าจริง ๆ แล้วร้านอาหารต่าง ๆ ไม่ได้มีของเหลือมากมายนัก เนื่องจากมีระบบการวิเคราะห์เพื่อลดต้นทุนและระบบการจัดการเศษอาหารที่ดี อีกทั้งยังมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่ขยะอาหารจากครัวเรือน (เช่น

ขยะจากตู้เย็นบ้านฉัน) อาจจะมีมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ฉันจึงอดเอ่ยปากถามเรื่องนี้ไม่ได้

“ใช่ครับ” เขายอมรับ ก่อนพูดต่อว่า “การกักตุนอาหารภาคครัวเรือนเป็นของเสียมากกว่าร้านอาหาร เราอยากสร้างระบบการประเมินแผนการลงทุนแบบที่เราทำกับภาคธุรกิจให้เกิดขึ้นกับทุกคนด้วย สิ่งที่เราซื้อเข้ามา เราจะจัดการกับการบริโภคของตัวเองอย่างไรบ้าง เราเป็นมนุษย์ ผมยอมรับว่าต้องมีการสร้างของเสียอยู่แล้วแหละ แต่ทำยังไงให้เราสูญเสียน้อยที่สุด”

garbagejourney07ความคิดว่า เผื่อไว้ก่อน ดีกว่าขาดทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ซื้ออาหารมาเก็บตุนไว้เกินความจำเป็น

วันหมดอายุของเราไม่เท่ากัน

ฉันสังเกตว่าอาหารสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะระบุ “วันหมดอายุ” (expiry date) แต่อาหารอีกหลายชนิดก็ใช้คำว่า “ควรบริโภคก่อน” (best before/best by) และฉันยังสังเกตต่อไปอีกว่าแทบไม่มีอาหารชิ้นไหนหมดอายุตามวันที่ระบุไว้จริง ๆ สักครั้งเดียว…คุณคงเริ่มสงสัยเหมือนฉันแล้วสิ

“จริง ๆ แล้วทั้งสองคำนี่มันต่างกันยังไง และวันหมดอายุที่แท้จริงคือเมื่อไรกันล่ะเนี่ย ?”

จันจิรา ประภากรณ์ หรือ พี่ยุ้ย นักกำหนดอาหารสาวมาด คุณหมอ ประจำหน่วยโภชนศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รอให้คำตอบอยู่แล้ว

“วันหมดอายุจริง หรือ expiry date หมายความว่าอาหารไม่สามารถที่จะทานได้หลังจากวันที่กำหนดแล้ว แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่าควรบริโภคก่อน ถ้าถึงวันที่ระบุแล้วจะยังไม่หมดอายุหรอก เพียงแต่ว่าลักษณะของอาหารชนิดนั้นอาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีหรือกลิ่นเปลี่ยน ขนมจากที่กรอบอาจจะไม่กรอบแล้ว แต่ถามว่าหมดอายุไหม มันยังไม่หมดอายุ” พี่ยุ้ยชี้แจงความแตกต่างระหว่างคำที่ระบุไว้

แต่เมื่อฉันยืนกรานกับเธอว่า พอถึงวันหมดอายุ อาหารก็ไม่เห็นจะเคยเสียจริง ๆ สักที พี่ยุ้ยจึงยอมเผยเรื่องทางเทคนิคให้ฉันฟังว่าการกำหนดวันหมดอายุจะกำหนดล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ค่าความปลอดภัย (safety factor) หากผู้ผลิตถูกสุ่มตรวจก็จะมีความเสี่ยงน้อยที่จะเจออาหารเสียก่อนวันหมดอายุ และการกำหนดวันไว้ล่วงหน้ายังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันหมดอายุสินค้าไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว เพราะสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน

“อย่างนมก็มีหลายแบบ นมพาสเชอไรซ์จะใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อน้อย ๆ จะเห็นว่านมพาสเชอไรซ์ต้องแช่เย็นตลอด

แบบนี้จะยังมีคุณค่าทางอาหารมาก แต่เมื่อถึงวันหมดอายุปุ๊บเราไม่ควรกินต่อเลย เพราะมันไม่ได้ถูกฆ่าเชื้อมาทั้งหมด แต่ถ้าเป็นนมยูเอชที จะเห็นว่าไม่ต้องแช่ตู้เย็น เก็บที่อุณหภูมิปรกติได้ เพราะว่าความร้อนฆ่าเชื้อมาระดับหนึ่งแล้ว ถ้าหมดอายุประมาณ ๑-๒ วันก็ยังกินต่อได้” ผู้เชี่ยวชาญอธิบายเรื่องวันหมดอายุที่สัมพันธ์กับกระบวนการผลิตให้ฉันฟังอย่างง่าย ๆ

นอกจากนี้วันหมดอายุของอาหารยังขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรักษา ความถี่ของการเปิดกิน หรือหีบห่อที่เราเก็บอีกด้วย ถ้าเปิดกินบ่อยหรือเก็บในที่อุณหภูมิสูง อาหารจะบูดเน่าเร็วกว่า เรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งหมดที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

และวันหมดอายุของอาหารยังขึ้นอยู่กับ “ร่างกายของเรา” อีกด้วย ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงหรือท้องเสียบ่อย ๆ อาหารที่มีเชื้อโรคน้อยนิดก็อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเพราะสุขภาพที่ต่างกัน วันหมดอายุที่แท้จริงของอาหารสำหรับแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน

garbagejourney08ถังขยะเศษผักที่มีทั้งผักไม่สวยแต่กินได้ และกาบใบของผักที่ถูกลอกทิ้งในตลาดสี่มุมเมือง

นักล่าอาหารเหลือ

เมื่อวันเวลาล่วงเลยกว่าตัวเลขที่ถูกประทับตราไว้ อาหารก็กลายร่างเป็นขยะ คุณค่าทางโภชนาการกลับกลายเป็นภาระที่ต้องกำจัด อาหารสภาพดีจำนวนมากนอนรอการกำจัดอยู่ในถุงดำและถังขยะ

ภาพผู้ชายที่โผล่ออกมาจากถังขยะพร้อมอาหารจำนวนมากในภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง Just Eat It ทำให้ฉันประหลาดใจ เพราะเขาไม่ได้ยากจน ไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน แต่กลับดำรงชีวิตด้วย “อาหารหมดอายุทางการตลาด” ซึ่งยังมีคุณภาพดี…เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มฟรีแกน (Freegan)

Freegan มาจากการรวมกันของคำว่า free และ vegan (มังสวิรัติ) โดยมีแนวคิดต่อต้านระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด อันรวมถึงพฤติกรรมการตามล่าและดำรงชีวิตด้วยขยะอาหารสภาพดีเหล่านี้ด้วย แนวคิดนี้เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา และแพร่หลายไปยังยุโรปและแอฟริกาใต้

ฉันเคยถาม ร็อบ กรีนฟิลด์ (Rob Greenfield) ฟรีแกนและนักสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ถึงความรู้สึกตอนมุดลงไปในกองขยะ

เขายอมรับอย่างจริงใจว่า “ตอนแรกผมอายมากเลยนะ ผมไม่อยากให้ใครเห็น กลัวว่าพวกเขาจะตัดสินผมอย่างนั้น แต่ผมก็อยากลองดู เพราะว่าผมเคยเห็นคนอื่นมุดลงไปแล้วกลับออกมาพร้อมอาหารที่มีสภาพดีมาก แรก ๆ ผมก็แอบทำเงียบ ๆ แต่หลังจาก ๑ เดือนผ่านไป ผมคิดว่าต้องบอกคนทั้งโลกให้รู้ในสิ่งที่ผมเห็น-ในถังขยะอันอุดมสมบูรณ์”

ขณะที่ฟรีแกนคุ้ยเขี่ยถังขยะเพื่อหาอาหาร คนยากไร้ในประเทศไทยก็มีวิถีชีวิตไม่ต่างกัน เพียงแต่กลุ่มหนึ่งทำเพื่อต่อต้าน

การบริโภคอย่างเหลือล้น แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกมากนัก พวกเขาดำรงชีวิตด้วยอาหารเหลือจากวัด หรือด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิต่าง ๆ บางกลุ่มเก็บเศษผักจากตลาดสดมาผัดกินและแจกจ่ายกันเอง หลายคนอยากติดต่อขออาหารเหลือจากซูเปอร์มาร์เกตหรือร้านสะดวกซื้อ แต่พวกเขาก็ดูมอมแมมเกินไปและไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใครได้

ในสังคมแห่งการกินทิ้งกินขว้างนี้ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันหวนนึกถึงคำพูดของมหาตมะคานธีที่กล่าวไว้ว่า

“ทรัพยากรในโลกมีพอสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่ไม่พอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว”

………………………………………………………………………….

garbagejourney09ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยขาดความรู้ความเข้าใจว่า “วันหมดอายุ” บนบรรจุภัณฑ์นั้นมีความหมายว่าอย่างไร

garbagejourney10ส่วนเกินที่กลายเป็นขยะทำให้กรุงเทพมหานครครองแชมป์อันดับที่ ๔ จาก ๒๒ เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียที่สร้างขยะอาหารมากที่สุด

แม้ฉันไม่อาจนำขยะในวันนั้นกลับมากินได้อีก แต่วันนี้ตู้เย็นของฉันไม่ได้อัดแน่นเหมือนอย่างเคย ฉันจะต้องตรวจดูของที่เหลือก่อนจะออกไปซื้อมาเพิ่มเติม

ก่อนออกจากบ้าน ฉันต้องทำรายการของที่จะซื้อ นี่ทำให้ฉันแน่วแน่มากขึ้นในการจับจ่ายท่ามกลางสินค้าละลานตาในซูเปอร์มาร์เกต

แต่แล้วฉันก็สะดุดตากับป้าย “ซื้อ ๑ แถม ๑” ตัวหนังสือสีแดงบนพื้นหลังสีเหลืองมองเห็นแต่ไกล ขนมห่อใหญ่ยี่ห้อหนึ่งกำลังลดราคา ปรกติฉันไม่ชอบกินขนมจุบจิบ แต่ราคานี้ก็น่าชวนให้ลองชิมอะไรใหม่ ๆ ฉันหยิบใส่รถเข็น เดินชั่งใจอยู่สองรอบก่อนนำมาวางคืน…ถ้ากินไม่หมดฉันจะไม่ซื้อ

ฉันหิ้วถุงกลับมาถึงบ้านพร้อมจัดของใส่ตู้เย็น เนื้อหมูไว้ในช่องแข็ง ผักใส่ถุงซิปล็อกไว้อย่างดี ซอสส่วนใหญ่ฉันก็ใส่ไว้ในตู้เย็นเพื่อยืดอายุ วัตถุดิบเหล่านี้น่าจะเพียงพอให้ฉันทำอาหารและอยู่ไปได้ทั้งสัปดาห์

“เออ แกว่าไง” ฉันตอบรับสายเรียกเข้าที่ดังขึ้นหลังจากจัดข้าวของได้ไม่นาน
“ไปกี่วัน ?” ฉันถาม

“อาทิตย์นึงเลยเหรอ…นี่ฉันเพิ่งซื้อของเข้าบ้านเลยเนี่ยแก…เออ ๆ ก็ได้ ๆ พรุ่งนี้เจอกัน ต้องรีบจัดกระเป๋าละ”

ฉันเดินออกไปหาป้าศรี

“ป้าคะ หนูเอาอาหารมาไว้ให้ป้าทำกับข้าวนะ เดี๋ยวหนูต้องไปต่างจังหวัดอีกหลายวัน” ป้าดูจะงง ๆ เล็กน้อย “ป้าเอาไปเลย หนูไม่คิดเงิน ไว้กลับมาค่อยมากินข้าวฟรีแล้วกันค่ะ”

ฉันสูญเสียของที่เพิ่งจะซื้อมา แต่ฉันกลับไม่เสียดายเลยแม้แต่น้อย

อ้างอิง

  • กรมควบคุมมลพิษ (๒๕๕๖). รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี
    ๒๕๕๕. กรุงเทพฯ : กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
    และสิ่งแวดล้อม.
  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ (๒๕๕๘). “ขยะวิทยา.” Way, ฉบับที่ ๘๔, เมษายน.
    ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ (๒๕๕๕). “ฉลากอาหารกับความเข้าใจของผู้บริโภค.”
    ฉลาดซื้อ, ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๑๓๔.
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (๒๕๕๗). “การแสดงฉลากของอาหาร
    ในภาชนะบรรจุ.” คําชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓๖๗).
  • http://www.thaihealth.or.th/Content/26546

ขอขอบคุณ

  • คุณมณฑิตา สุขสง่า คุณสุนทร สุขสง่า คุณสุทัศน์ รงรอง
  • คุณจันจิรา ประภากรณ์ คุณพิพัฒน์ชัย กุศลทรามาส Rob Greenfield และ
  • ทีมงานค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๒