เรื่องและภาพ : ทีมลั (ร) ยิ้ม ค่ายนักเล่าความสุข

มะเร็ง...โรคร้ายที่สร้างสุข

ความหวัง – โลกใบนี้กว้างใหญ่เกินกว่าจะมาโฟกัสอยู่ที่ความทุกข์

“หมอเจอเนื้อร้ายในลำไส้ใหญ่ของคนไข้นะคะ เดี๋ยวหมอขอทำซีทีสแกนเพิ่มก่อนแล้วจะมาแจ้งคนไข้อีกทีนะคะ”

ประโยคสั้นๆ และเสียงนุ่มๆ ของคุณหมอผ่านสายโทรศัพท์หลังจากฉันออกจากห้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง

ฉันพยายามประมวลผลด้วยสมองอันน้อยนิดที่กำลังเบลอๆ เพราะฤทธิ์ยาสลบ

เมื่อตั้งสติได้แล้วจึงคิดว่าฟังไม่ผิดแน่ๆ (อืม…แย่แล้วสิ ฉันจะบอกครอบครัวยังไงดี)

ต้นเหตุที่ฉันต้องมาโรงพยาบาลก็ด้วยอาการปวดท้องจนนอนไม่ได้ติดต่อกันหลายคืน

คุณหมอแนะนำให้ฉันตรวจลำไส้แบบส่องกล้องเพื่อหาสาเหตุของโรคให้ชัดเจน และผลการตรวจก็ออกมาอย่างนั้น

คุณหมอเจอเนื้อร้ายที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ห่างจากรูทวารเพียงแค่ 7 เซนติเมตร

ฉันดูภาพถ่ายส่วนเนื้อร้าย ลักษณะเหมือนก้อนหินขรุขระบนผิวถนน ซึ่งตามธรรมชาตินั้นลำไส้ของคนเราควรมีผิวเรียบไม่มีติ่งเนื้อแบบนี้

ส่วนการรักษานั้นต้องผ่าตัดส่วนเนื้อร้ายออกแล้วติดถุงทวารเทียม แปลว่าฉันต้องติดถุงอุจจาระไว้ตรงหน้าท้องด้านนอก แต่ยังดีที่คุณหมอแนะนำฉันให้ลองปรึกษาหมออีกโรงพยาบาลหนึ่งซึ่งสามารถผ่าตัดแล้วต่อลำไส้ให้ติดกับส่วนเดิมได้

เมื่อหมอแนะนำมาแบบนี้ มีหรือฉันจะไม่ไป

ก็แน่ละสิเล่นติดถุงตั้งแต่อายุ 30 ภาพที่ฉันจินตนาการไว้มันไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ฉันจึงตัดสินใจไปพบคุณหมอท่านนั้นเพื่อทำการรักษา

ระหว่างนั้น ฉันลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งเพิ่มเติม พบข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2561 ระบุว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 18.1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 9.6 ล้านคน และปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ

โรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพราะอาหาร ขณะที่ประเทศไทยผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาจากข้อมูลของสถาบันมะเรงแห่งชาติในปี 2561 พบว่าอันดับหนึ่งในเพศชายคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตามมาด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี อันดับสามคือมะเร็งปอดสำหรับเพศหญิงอันดับหนึ่งคือมะเร็งเต้านม อันดับสองคือมะเร็งปากมดลูก และอันดับสามคือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นผู้ป่วยมักมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย บางครั้งถ่ายไม่สุดหรืออาจถ่ายเป็นเลือด ปวดท้อง และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนสาเหตุไม่อาจระบุได้แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง กากใยน้อย ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น

นอกจากนี้อาจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกจากพันธุกรรมหากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่สำหรับกรณีของฉันหมอไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามาจากสาเหตุใดเนื่องจากเจอตอนอายุยังน้อย แต่หมอเล่าให้ฟังว่าเคยเจอคนไข้โรคเดียวกับฉันอายุเพียงยี่สิบต้นๆ เท่านั้น (นี่ฉันควรจะดีใจหรือเปล่านะที่มีเพื่อนอายุน้อยกว่าเป็นโรคเดียวกัน)

…………….

ตามหา - ค้นเท่าไหร่ก็ไม่มีทางพบ ถ้าใจไม่สงบก็ไม่ทีทางที่จะพบความสุขได้

ตามหา – ค้นเท่าไหร่ก็ไม่มีทางพบ ถ้าใจไม่สงบก็ไม่ทีทางที่จะพบความสุขได้

ฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าคนทั่วไปหากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งแล้วจะเกิดอาการอย่างไร ส่วนตัวฉันเมื่อทราบข่าวในแว่บแรกก็ไม่กลัวสักเท่าไหร่ หรืออาจเพราะกำลังอยู่ในฤทธิ์ยาหลังการสลบ

แต่คิดแล้วอาจเพราะพักหลังฉันเริ่มเข้าหาธรรมมะบ้าง (ต้องขอบคุณความผิดหวังที่เข้ามาหาฉันบ่อย ๆ ซะแล้วสิ)

ฉันเริ่มสนใจเรื่องความไม่แน่นอนในชีวิต และการได้พูดคุยกับพ่อ ชายผู้พอเพียงที่สุดในโลก ทำให้ฉันค่อยๆ ซึมซับความพึงพอใจในชีวิตของตัวเองมากขึ้น

ใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร แต่ก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง จนบางครั้งฉันแอบสงสัยตัวเองอยู่เบา ๆ ว่า “นี่เราเป็นคนมีความพึงพอใจต่ำไปหรือเปล่านะ”
เพราะนิสัยแบบนี้แหละฉันจึงรู้สึกสนุกนิดๆ เมื่อโทรศัพท์ไปบอกเพื่อนสนิทว่าฉันเป็นมะเร็ง

ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่าฉันป่วยจริงๆ เพื่อนยังคิดว่าฉันอำเสียด้วยซ้ำ จนต้องยืนยันจริงจังว่าฉันป่วยจริง พวกเขาถึงจะยอมเชื่อ

สิ่งที่ฉันกลับกังวลมากกว่า คือจะบอกครอบครัวอย่างไรดี เพราะแม่ของฉันก็จากไปด้วยโรคมะเร็งตับ ฉันจึงไม่มั่นใจเลยว่าถ้าบอกครอบครัวแล้วจะเป็นอย่างไร

คิดอยู่นานจนเมื่อบอกออกไปแล้ว ก็พบว่าทุกคนพร้อมให้กำลังใจฉัน ไม่ใช่เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น ยังมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่รู้ข่าวก็ต่างพากันให้กำลังใจไม่ขาดสาย

ฉันมองว่าการเจ็บป่วยครั้งนี้สอนให้รู้ว่า “บางครั้งความสุขก็เกิดขึ้นเมื่อเจอความทุกข์”

นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้สบตากับความตาย

แต่สิ่งที่ฉันมองเห็นกลับไม่ใช่ความตาย ฉันเห็นความห่วงใยที่ทุกคนมอบให้

ฉันสัมผัสถึงความรักของคนในครอบครัวอย่างแท้จริง ฉันพบเจอมิตรภาพจากเพื่อนฝูงที่มาให้กำลังใจ รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้รับความปรารถนาดีมากมายถึงเพียงนี้

เพราะฉะนั้นแล้วฉันจึงยิ้มให้กับความตายตรงหน้าและพูดออกไปว่า “ยังไม่ใช่วันนี้”

ฉันค้นพบเหตุผลที่ฉันจะมีชีวิตต่อ

ฉันจะต้องอยู่เพื่อคนที่ฉันรักและรักฉัน

ฉันรู้ว่าถ้าไม่มีฉันพวกเขาคงเศร้าเสียใจแน่ๆ ดังนั้นฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกว่าความตายจะกลับมาหาฉันอีกครั้ง

……………….

อบอุ่น - รักที่โอบล้อม เหมือนยาใจขจัดความกลัว

อบอุ่น – รักที่โอบล้อม เหมือนยาใจขจัดความกลัว

การผ่าตัดของฉันผ่านไปได้ด้วยดี ฉันกลับมาพักฟื้นที่บ้านเกือบหนึ่งเดือน จนร่างกายเริ่มแข็งแรงก็กลับไปหาคุณหมออีกครั้งเพื่อฟังผลการตรวจชิ้นเนื้อ

คุณหมอบอกกับฉันว่าระหว่างการผ่าตัดหมอเจอน้ำในช่องท้องและได้ดูดน้ำออกไปตรวจ ผลการตรวจพบว่ามีค่ามะเร็งอยู่ในนั้น เท่ากับว่าฉันยังมีเชื้อมะเร็งอยู่ในร่างกาย

ฉันจึงถามหมอด้วยความสงสัยว่า สรุปแล้วอาการป่วยของฉันนั้นอยู่ในระยะไหน

หมอตอบว่าประเมินไว้ระยะที่ 4 (อืม…ระยะที่ 4 นี้คือระยะสุดท้ายหรือเปล่านะ ฉันได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ)

จากนั้นหมอก็พูดคุยเกี่ยวกับการรักษาขั้นต่อไป ซึ่งฉันต้องรับยาคีโมแบบฉีด คือการรับยาผ่านทางเส้นเลือดทั้งหมด 8 ครั้งควบคู่ไปกับการกินยา (หมอบอกว่ายิ่งเจอมะเร็งตอนอายุน้อยเชื้อจะยิ่งดุ)

รับยาฉีดหนึ่งวันแล้วกินยาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จากนั้นก็พักยาหนึ่งอาทิตย์แล้วค่อยกลับมารับยาฉีดใหม่ เมื่อครบ 3 เดือนหมอจะซีทีสแกนเพื่อดูว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมแล้วใช้เวลารักษาประมาณ 6 เดือน

หมอให้คำแนะนำกับฉันว่าการรักษาช่วงนี้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมาก

ตอนนั้นฉันยังมองไม่เห็นว่ากำลังใจจะสำคัญอย่างไร เพราะฉันเชื่อมั่นว่าตัวเองมีพลังใจเหลือล้น แถมยังมีครอบครัวเป็นกำลังสำคัญ ฉันมั่นใจมากว่าตัวเองจะต้องผ่านไปได้แน่ ๆ

จนกระทั่งการได้รับยาฉีดเข็มที่สามผ่านไปได้ไม่นาน เมื่อร่างกายได้รับยามากขึ้น ความทรมานจากผลข้างเคียงของยาก็เริ่มถาโถมเข้ามา

ทั้งอาการเจ็บปลายประสาททุกส่วนของร่างกาย อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว อ่อนเพลีย ไม่สามารถขยับร่างกายได้อย่างที่ใจคิด พอร่างกายกำลังฟื้นตัวก็ต้องกลับไปรับยาอีกรอบ

สถานการณ์ตอนนั้นหมุนวนราวกับไม่มีวันจบ พลังใจที่คิดว่าเคยมีมากมายก็ค่อยๆ ลดลง

ลดลงไปเรื่อยๆ จนแทบไม่เหลือ

แต่ฉันก็ไม่อาจแสดงความท้อแท้ออกไปได้ เพราะไม่ต้องการให้ใครเป็นห่วง ฉันทำได้เพียงภาวนาให้ความเข้มแข็งของตัวเองกลับมาให้ทันก่อนจะรับยารอบต่อไป

เมื่อความอ่อนไหวมาเยือน ความตายจึงกลับมาสบตาฉันอีกครั้ง

ฉันแทบจะร้องขอให้ความตายพาฉันไปด้วย เพราะคงจะดีกว่าความทนทรมานแบบนี้

แต่ทุกวันฉันยังตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองยังมีลมหายใจอยู่ ฉันจึงค่อยๆ ตั้งสติและกลับมาถามตัวเองใหม่อีกครั้งว่า ฉันควรจัดการชีวิตตัวเองอย่างไรดี

ฉันครุ่นคิดและตั้งสติอยู่หลายวันจนเข้าใจถึงความเป็นปรกติ ความเจ็บปวดจากการรักษาโรคเกิดขึ้นและบรรเทาลง จากนั้นก็จะกลับมาเจ็บปวดอีก

ฉันมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น ความสบาย ความเจ็บป่วย ความสุข ความทุกข์ ล้วนเป็นของคู่กัน มาด้วยกัน

……………….

สติ - ทุกข์ สุข ทุกข์ สุข เกิดและดับได้ด้วยจิตกำหนด

สติ – ทุกข์ สุข ทุกข์ สุข เกิดและดับได้ด้วยจิตกำหนด

ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นหมอเกี่ยวกับโรคภัยที่ตัวเองเป็นอยู่ ถึงเธอจะไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางที่รักษาด้านนี้โดยตรง

คำบอกเล่าของเธอทำให้ฉันมองเห็นอีกด้านหนึ่งของการรักษา

เธอเล่าว่าการแจ้งข่าวร้ายกับผู้ป่วยนั้นเป็นสิ่งที่เธอต้องเรียนสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ เธอเคยเจอคนไข้มะเร็งสมัยที่เธอจบใหม่ ๆ ตอนที่ต้องแจ้งข่าวร้ายกับผู้ป่วยนั้น เธอต้องดูก่อนว่าผู้ป่วยมีสติครบถ้วนดี เธอจะแจ้งกับผู้ป่วยโดยตรงเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของคนไข้ที่พึงมี แต่ก็มีบางกรณีที่ญาติไม่ต้องการให้ผู้ป่วยรับรู้ เพราะผู้ป่วยอาจอายุมากและมีจิตใจอ่อนไหว ทั้งนี้ก็ต้องดูบริบทอื่นๆ ด้วย

ตอนนั้นเธอก็หวั่นใจอยู่เหมือนกัน กลัวคนไข้จะรับไม่ได้ แต่โชคดีที่เธอยังไม่เคยเจอคนไข้ร้องไห้ต่อหน้า

ฉันถามต่อว่าเธอคิดอย่างไรกับโรคมะเร็ง

เธอตอบว่า คำว่ามะเร็งไม่ได้แปลว่าตายหรือหาย มันเป็นไปได้หมด ในฐานะหมอเธอรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใจของคนไข้ หากคนไข้มีสุขภาพจิตที่ดีจะทำให้ภูมิคุ้มกันดีไปด้วย

การได้คุยกับเพื่อนทำให้ฉันคิดว่าโรคมะเร็งอาจดูน่ากลัวสำหรับบางคน แต่ปัจจุบันการรักษาโรคได้พัฒนาไปมาก สามารถรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยก็ต้องให้ความร่วมมือในการรักษาด้วย

การป่วยของฉันทำให้ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ฉันเริ่มเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น ก่อนจะล้มป่วยฉันเปิดร้านอาหารเช้าอยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันและความชอบส่วนตัวในการทำอาหารและเบเกอร์รี แต่ช่วงที่ฉันรักษาโรคมะเร็งทำให้ต้องหยุดทำงานทุกอย่างที่ชอบ

เมื่อร่างกายเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ฉันจึงลองจับมีดอีกครั้ง หวังจะสัมผัสความสุขจากการทำอาหาร ปรากฏว่าปลายมือของฉันชาจนแม้แต่จะซอยผักยังไม่มีแรง (น่าสงสารตัวเองจริงๆ)

คงเป็นเพราะผลข้างเคียงจากยาคีโมที่ฉันได้รับ

ฉันลองปรึกษาคุณหมอว่าอาการชาจะสามารถหายได้หรือไม่ คุณหมอบอกว่าตอบไม่ได้ เพราะคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่อาการชามีโอกาสอยู่ถึงหกเดือนถึงสองปี หากนานกว่านี้แล้วยังรู้สึกชา อาการก็จะคงอยู่ตลอดไป

วินาทีนั้นฉันตระหนักทันทีเลยว่า ฉันคงไม่สามารถกลับไปเดินตามความฝันได้อีกแน่นอน

หากเป็นเมื่อก่อน ฉันคงรู้สึกเหมือนสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไป คงจะทิ้งตัวเองกับความสิ้นหวัง

แต่สำหรับฉันตอนนี้ คนที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความเจ็บป่วย ฉันเพียงแค่ยอมรับในสภาพร่างกายของตัวเองและทำสิ่งที่ยังพอทำได้

ฉันค่อยๆ ลองกลับมาทำอาหารทำขนมทีละเล็กละน้อย ถึงจะไม่อาจกลับไปเปิดร้านได้เหมือนเดิม แต่ฉันก็ยังทำอาหารทำขนมให้คนในครอบครัวได้ชิมบ้างเป็นครั้งคราว

อย่างน้อยฉันได้เห็นคนที่ฉันรักได้กินอาหารอย่างมีความสุขก็เพียงพอแล้ว

ฉันมองว่านี่เป็นโอกาสที่ฉันจะได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำดูบ้าง บางทีอาจจะมีสิ่งดีๆ รออยู่

ถึงจะน่าเสียดายที่ไม่อาจทำในสิ่งที่ฝันไว้ แต่ฉันก็ยอมรับว่าเราไม่สามารถได้ทุกอย่างที่ใจคิด แค่ปรับลดความคาดหวังลงมาสักเล็กน้อย ปรับมุมมองอีกสักหน่อยก็อาจเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ในนั้น

สิ่งที่ฉันได้มีโอกาสเรียนรู้อีกหนึ่งอย่าง คือ “ธรรมมะ”

สำหรับคนป่วยแล้วการศึกษาธรรมะนับเป็นเรื่องปรกติจริงๆ ฉันสังเกตเห็นหนังสือธรรมมะในห้องที่ไปรับยาคีโมมากมาย และหลายคนที่มาเยี่ยมฉันก็แนะนำให้ฉันลองสวดมนต์ ฝึกสมาธิ หรือลองไปปฏิบัติธรรมที่วัด ฉันอาจไม่ได้ปฏิบัติครบทุกอย่างตามที่ทุกคนแนะนำมา แต่ฉันก็ได้ฝึกนั่งสมาธิบ้าง สวดมนต์บ้าง อย่างน้อยก็ช่วยให้จิตใจที่ว้าวุ่นสงบลงบ้าง

ฉันค้นพบว่าการเรียนรู้ธรรมมะในช่วงที่เจ็บป่วย ทำให้เรามี “สติ” สามารถรับมือกับเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามากระทบได้ดีขึ้น

ในวันที่ฉันรู้สึกอ่อนแอ ฉันระลึกเสมอว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป (หรือฉันควรขอบคุณโรคร้ายนี้ที่ทำให้ฉันเข้าใจธรรมมะมากขึ้นดีนะ)

………..

พอใจ - กายทุกข์ ใจสุขก็ยิ้มได้

พอใจ – กายทุกข์ ใจสุขก็ยิ้มได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ คือการปรับตัวให้อยู่กับโรคมะเร็งอย่างเป็นสุข

จริงๆ ถึงจะบอกว่าเป็นความสุข ก็อาจไม่ใช่สุขแบบอิ่มเอมหรือยิ้มจนแก้มปริ หากเป็นการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง แต่ไม่หวาดระแวง

ฉันค่อยๆ เรียนรู้และอยู่กับโรคนี้ราวกับมันเป็นเพื่อนที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน (แน่ล่ะสิ เพราะยังไงก็คงอยู่ด้วยกันอีกนาน)

ฉันไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะหายสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะรู้ว่ามีโอกาสสูงที่โรคนี้จะกลับมาอีก แต่ฉันก็ไม่ได้รู้สึกท้อแท้หรือปล่อยตัวเองจมหายไปกับความทุกข์

ยิ่งรู้ว่าตัวเองมีเวลาจำกัดมากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งรีบทำในสิ่งที่อยากทำเร็วขึ้น เพราะไม่อยากรู้สึกเสียดายหากไม่มีโอกาสได้ทำ
ทุกวันนี้ฉันใช้ชีวิตตามปรกติ กินอาหารที่อยากกิน (ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอลเพราะคุณหมอสั่งห้ามไว้) ไปเที่ยวในที่อยากไป (แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่ดูแลตัวเองสม่ำเสมอ) ออกกำลังกายบ้างเล็กน้อยตามสภาพร่างกาย รวมถึงจัดการสิ่งต่างๆ รอบตัว ข้าวของเครื่องใช้ เพื่อไม่ให้คนใกล้ตัวลำบากหากถึงเวลาที่ต้องจากกันจริงๆ

สำหรับตัวฉันไม่คิดว่าความตายเป็นสิ่งน่ากลัวนัก เพราะฉันกลัวทรมานจากความเจ็บป่วยมากกว่า แต่ก็ไม่ได้กลัวถึงขนาดไม่กล้าทำอะไรเลย

ฉันมองว่าการใช้ชีวิตนั้นเป็นธรรมดาที่ต้องเจอกับอุปสรรคหรือความหวาดกลัว แต่คนเรามีชีวิตอยู่ด้วยกันแค่ประมาณ 20,000 วัน แล้วยิ่งรู้ตัวว่าอาจจะอยู่ไม่ถึงตามโควตาแล้ว ยิ่งต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่าด้วยความไม่ประมาท

ถึงฉันจะพูดว่าใช้ “จงใช้เวลาให้คุ้มค่าเถอะ” แต่ฉันก็ไม่คิดว่าจะต้องไปแสวงหาหรือแย่งชิงความสุขมาจากที่ไหน เพราะฉันพบว่าเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของตัวเอง เช่น การได้กินอาหารอร่อยๆ การท่องโลกอินเทอร์เน็ต การอ่านหนังสือ การฟังเพลง การอยู่กับคนในครอบครัว การได้พูดคุยกับเพื่อนฝูง ก็ทำให้เกิดความสุขได้เหมือนกัน

และฉันก็ไม่พลาดที่จะเติมความสุขด้วยการออกไปสัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ เพราะบางเรื่องราวที่ฉันได้พบเจอนั้นทำให้เกิดพลังบวกในการขับเคลื่อนชีวิต

หากวันหนึ่งฉันจะต้องกลับมาเจอกับมะเร็งเพื่อนยากอีกครั้ง ฉันก็พร้อมจะต่อสู้กับมัน (ถึงจะไม่อยากสู้ เพราะอยู่ด้วยกันมาหลายปี)

เรื่องราวของฉันนั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เกิดจากมุมมองของคนที่ผ่านความทุกข์ทรมาน จนเข้าใจความเรียบง่ายที่นำไปสู่ความสุข

หากเรามีความพอใจในปัจจุบันแล้ว เราก็จะเกิดความสุขภายในใจ

ต่อให้เจอเรื่องราวยากกว่านี้ ฉันคิดว่าจะสามารถผ่านมันไปได้เหมือนทุกครั้ง

และเมื่อเรามีความสุขกับตัวเองแล้ว ฉันเชื่อว่าเราก็พร้อมจะส่งต่อความสุขนั้นให้ผู้อื่นเช่นกัน