ทีมปิยธรรมรงค์
เรื่อง : อภิวดี ปิยธรรมรงค์
ภาพ : อธิป ปิยธรรมรงค์

ผู้ป่วย ตราบลมหายใจสุดท้าย

“ขอเชิญญาติคนไข้ค่ะ”

หลังจากรอแม่นานกว่า ๓ ชั่วโมง น้องเอิร์ธพุ่งตัวไปข้างหน้าอย่างเร็วเมื่อได้ยินเสียงพยาบาลเรียก แล้วชะงักหันมามองพี่ซีที่กำลังเก็บของขึ้นรถเข็นพับได้ที่เตรียมมารับแม่ออกจากโรงพยาบาลอย่างชุลมุน

“เอิร์ธรีบไปก่อนเลยเดี๋ยวพี่เอารถเข็นตามไป”

เมื่อเดินเข้าไปในศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ภาพที่ฉันเห็นคือแผ่นหลังของน้องชายที่ดูไร้เรี่ยวแรงและท่าทางของคุณหมอที่กำลังๆพูดเบาๆ ยังไม่มีเตียงหรือรถเข็นที่มีแม่ออกมา สายตาคุณหมอบ่งบอกข่าวร้าย ฉันแข็งใจเดินเข้าไปฟังเงียบๆ

จากการไม่อยากอาหาร ซึ่งเป็นอาการของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน แม่มีถ่ายท้องบ่อยร่วมด้วย คุณหมอด้านเคมีบำบัดหรือที่เราเรียกคีโม พยายามสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการพร้อมปรับยาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ทุเลา จึงต้องส่งตัวมาตรวจทางเดินอาหารหาสาเหตุ

ฉันจับใจความได้เลาๆ ว่าพบก้อนเนื้อในกระเพาะอาหาร ลักษณะคล้ายมะเร็งที่พบในตับอ่อน การที่อวัยวะอยู่ใกล้ชิดกันมาก มะเร็งอาจลามหากันได้ และนี่อาจเป็นสาเหตุทำให้การย่อยอาหารและขับถ่ายแปรปรวน หมอจึงตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ และแม่มีเลือดออกพอควร ตอนนี้นอนพักอยู่ข้างใน

น้องชายยืนนิ่งเนิ่นนาน มองไปที่คลินิกซึ่งมีแต่พยาบาลและประตูโปร่งแสงบานใหญ่ปิดกั้นไม่สามารถมองเห็นห้องที่ผู้ป่วยพักฟื้นได้ ฉันยืนอยู่ท่ามกลางความเงียบ สติจดจ่อกับเสียงลมหายใจตัวเองครู่หนึ่ง ก่อนเดินไปเรียกน้องชายให้มานั่ง

“อย่าเพิ่งบอกแม่นะ มันไม่มีประโยชน์ ยังไงก็ต้องรอผลตรวจชิ้นเนื้ออย่างน้อย ๒ สัปดาห์”

lastbreath02 1
lastbreath03 1
lastbreath04 1

ย้อนกลับไปเกือบ ๒ ปีก่อน ครอบครัวเราพบว่าแม่เป็นมะเร็งตับอ่อนระยะที่ ๓ หลังจากทนทุกข์ทรมานราว ๔ เดือน เริ่มจากปวดเมื่อยหลัง ร้าวใต้ราวนม อาการปวดรุนแรงขึ้นและเสียดแทงไปทั้งแผ่นหลังในเดือนเมษายน ๒๕๖๕ ครอบครัวเราวิ่งวุ่นพาแม่หาหมอหลายที่เพื่อหาสาเหตุ หาทางรักษา ลดอาการปวดของแม่ ทั้งทรวงอก กล้ามเนื้อหลัง กระดูกไขสันหลัง ระบบประสาท ฯลฯ แม่ปวดจนเปรยกับฉันว่า

“แม่คิดว่า…คงไม่รอดแล้วล่ะ มันปวดมาก ปวดจริงๆ”

ต่อมาเมื่อพบคุณหมอศัลยกรรมเฉพาะทางด้านมะเร็งตับอ่อนและเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ CT scan ก็พบว่าแม่เป็นมะเร็งตับอ่อนที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เพราะก้อนมะเร็งเกาะล้อมเส้นเลือดใหญ่ที่พาดผ่านตับอ่อนซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ทำให้ไม่มีโอกาสรักษาหาย เว้นแต่ก้อนมะเร็งจะตอบสนองดีกับการรักษาด้วยคีโม โดยหดตัวจนมีระยะห่างจากเส้นเลือดมากพอที่จะผ่าตัด แม่จึงจะมีโอกาสรักษาให้หายได้

อย่างไรก็ดีการรักษาด้วยคีโมกับผู้สูงอายุวัย ๗๐ กว่าก็มีความเสี่ยงที่สภาพร่างกายจะอ่อนแอมากอาจเข้าขั้นวิกฤต แม่และพวกเราจึงเห็นตรงกันที่จะรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) หมายความว่าครอบครัวเราจะอยู่ร่วมกับมะเร็งก้อนนี้ และรักษาเพียงเพื่อไม่ให้มะเร็งทำร้ายแม่จนเกินไป

เป้าหมายของพวกเราชัดเจน คืออยากให้แม่กินได้ กินอร่อย นอนหลับ มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกับพวกเรา ภายใต้เวลาจำกัดที่เหลืออยู่ ซึ่งคุณหมอให้กรอบเวลาราว ๑ ปีเท่านั้น

หนึ่งปี…มี ๕๒ สัปดาห์

อะไรๆ ที่ยังไม่ได้ทำร่วมกับแม่ พ่อและน้องชาย ช่างมากมายเหลือเกิน

“แต่เราก็ร่วมฟันฝ่ามาได้ ๑ ปีเต็มแล้วนะแม่” ฉันนึกในใจ

ช่วงวัยที่ลูกๆ ของพ่อแม่มีภาระงานหนักขึ้น พวกเรากลายเป็นครอบครัวที่ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตร่วมกัน หลังพบว่าแม่ป่วย ชีวิตพวกเราก็เปลี่ยนไป เราหาโอกาสอยู่ด้วยกันบ่อยขึ้น น้องชายทุ่มเทดูแลแม่ทั้งวันและแทบทุกวัน ช่วงแรกๆ พี่ซีช่วยดูเรื่องอาหารการกิน ทำกับข้าวบ้าง พาออกไปกินอะไรแปลกใหม่ข้างนอกบ้าง ทำให้แม่ปลื้มปริ่มที่ได้ชิมฝีมือลูกสาวซึ่งไม่เคยได้กินนัก

ช่วงต้นของการรับมอร์ฟีนและคีโมครั้งแรก แม่ยังมีแรงมากอยู่ นานๆ ทีเราก็หอบหิ้วกันทั้งครอบครัวไปไหว้พระที่วัดบางนมโค สักการะหลวงพ่อปาน ทำบุญที่วัดบางพลีใหญ่ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดจีนเล่งเน่ยยี่ เวียนเทียนรอบพระอุโบสถวัดพระแก้ว เตร็ดเตร่ชมหน้าตึกพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยที่ปัจจุบันให้เข้าไปถึงหน้าโถงได้ ถวายสังฆทานที่วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง และกราบพระพุทธรูปหลวงพ่อโตในปางอุ้มบาตรขนาดใหญ่ ที่นี่แม่เน้นแปะทองที่เล็บเท้าของพระประธาน เพราะอยากให้เล็บแม่ที่ดำคล้ำจากผลข้างเคียงของการทำคีโมกลับมาชมพูสดใสดังเดิม

ปัญหาเมื่อตอนเริ่มต้นของโรคนี้คืออาการปวดร้าวไปที่หลัง ซึ่งคุณหมอก็ให้มอร์ฟีน ระงับปวด แน่นอนว่าคนธรรมดาที่รับมอร์ฟีนมากและต่อเนื่องยาวนานอาจดูเป็นเรื่องผิดปรกติ แต่สำหรับแม่ นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ แม้คุณหมอศัลยกรรมเคยพยายามจะพิจารณาการทำ celiac plexus block เพื่อขัดขวางการทำงานของเส้นประสาทที่สร้างความเจ็บปวด แต่แพทย์เฉพาะทางก็ให้ความเห็นว่าอันตรายและเสี่ยงเกินไปสำหรับคนวัยท่าน

การรักษาโรคมีหลายปัจจัยที่ต่างกันขึ้นกับสภาพผู้ป่วยแต่ละรายจริงๆ

การให้คีโมในกรณีของแม่ คือนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือด คล้ายให้น้ำเกลือ ร่างกายของแม่ต้องต่อสู้กับสารเคมีที่ตั้งใจจะยับยั้งมะเร็งไม่ให้ลุกลาม จนเยื่อบุผนังในปากพุพอง ทำให้ไม่อยากอาหาร เม็ดเลือดขาวต่ำ แม่จึงติดเชื้อง่ายและเหนื่อยหอบ เครื่องทำออกซิเจนถูกจัดหามาด้วยความจำเป็น โดยเฉพาะหลังทำคีโม ๒-๓ วันแรกที่แม่มักต้องใช้ นอกจากนี้ยังมีอาการขาดโปรตีน เนื่องจากร่างกายต้องการโปรตีนจำนวนมากไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

ค่าเม็ดเลือดขาวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยคีโมอย่างต่อเนื่องได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิงที่ชอบกินผักกินปลา แต่ต้องมากินไข่ต้มหรือไข่ทอดสุกวันละสี่ถึงหกฟอง กินเนื้อสัตว์และอาหารเสริมโปรตีน

บทเรียนนี้สอนลูกๆ ว่า ถึงเราจะเข้าใจว่าอะไรดีและจำเป็นต่อร่างกายของแม่ แต่การฝืนใจเรื่องอาหารการกิน ก็เป็นเรื่องยากมาก ทำอย่างไรให้อาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งที่แม่อยากกิน กลายเป็นโจทย์สำคัญในทุกๆ วัน

เมื่อรับอาหารได้น้อยลง ค่าเลือดที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้รักษาด้วยคีโมต่อเนื่องไม่ได้… …มะเร็งจะลุกลามหรือไม่?

lastbreath05 1
lastbreath06

หลังจบคีโมรอบแรกเราพบว่าก้อนมะเร็งตอบสนองต่อคีโมต่ำ…การบำบัดในแนวทางประคับประคอง คือให้ยาอ่อนๆ ไม่เพียงพอจะลดขนาดก้อนเนื้อให้รักษาขั้นต่อไปได้ การให้คีโมที่ต้องใช้ยาแรงขึ้นก็ทำทันทีไม่ได้เช่นกัน การฉายแสงจึงเป็นคำตอบ

กระบวนการฉายแสงคือทำต่อเนื่องครั้งละ ๕ วัน แม่จะได้พักเสาร์-อาทิตย์แล้วกลับมาฉายแสงใหม่ ตลอดระยะเวลาร่วม ๓๕ วัน การเดินทางจากบ้านสู่โรงพยาบาลในช่วงเช้าไม่ใช่เรื่องสะดวกสบายสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเมื่อแม่อ่อนเพลียจากการมีเลือดน้อย รับมอร์ฟีนที่ช่วยให้ง่วงซึม การไม่อยากอาหาร ส่งผลให้แม่เริ่มมีปัญหาการเดิน

พ่อ น้องเอิร์ธ และพี่ซี ตระเวนหาที่พักใกล้โรงพยาบาลเพื่อให้แม่ได้นอนพักเยอะที่สุด เราจึงเช่าโรงแรมและขนข้าวของจำเป็นรวมทั้งเครื่องช่วยหายใจมาไว้ที่นี่

โชคดีจริงๆ ที่เรามาเช่าโรงแรมเพราะการฉายแสงทำให้แม่เพลียหนักกว่าทำคีโมในรอบแรก แม่กินอะไรไม่ลง ซึม ทุกครั้งที่กลับถึงโรงแรมแม่จะนอนหลับไปพร้อมสายออกซิเจน

พี่ซีตระเวนหาของอร่อยแปลกใหม่รอบโรงแรม น้องเอิร์ธก็สั่ง delivery ร้าน Michelin guide มาให้ลิ้มลอง เพราะแม่ไม่มีแรงจะออกไปกินตามร้านอาหารแล้ว พอแม่ตื่นลูกๆ จะชวนคุยชวนขำด้วยเรื่องต่างๆ ความสุขใหม่อย่างหนึ่งของแม่คือพี่ซีทำเพลย์ลิสต์เพลงยุค 50-60s ในแอปพลิเคชัน Spotify เช่น “Put Your Head on My Shoulder” ของ พอล แองกา หรือ “If I Give My Heart to You” ของ ดอริส เดย์ ให้แม่ได้ร้องคลอ ทดแทนที่แม่ไม่อาจออกไปร้องเพลงกับเพื่อนๆ ได้เหมือนก่อน

แถมทุกๆ วันช่วงค่ำขณะพี่ซีจะกลับบ้าน แม่จะมายืนรอพี่ซีขึ้นรถที่ระเบียง และทำมือเป็นรูปหัวใจส่งให้กันตามสไตล์เกาหลี บางครั้งพี่ซีก็จะหมุนตัวแบบเต้นบัลเลต์ให้แม่บันเทิงใจก่อนจบวัน

แม่-ลูก ต่างยิ้มแก้มปริท่ามกลางความมืด

lastbreath07
lastbreath08

หลังจบการฉายแสง แม่ได้พักฟื้นและเริ่มอยากกินเมนูหลากหลาย แม่ดูผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น

แต่ความสุขก็อยู่กับเราไม่นานเมื่อผล CT scan ออกมาว่ามะเร็งที่ตับอ่อนกระจายตัวอีก ๐.๕ เซนติเมตร และพบเนื้อร้ายในกระเพาะอาหารเพิ่ม

คีโมรอบ ๒ เริ่มพร้อมการเตรียมรับมือ “ผลที่จะตามมา” จากการให้ยาซึ่งมีฤทธิ์แรงขึ้น รอบนี้แม่ต้องนอนให้คีโมที่โรงพยาบาลคราวละ ๓ วัน ซึ่งลูกๆ ไม่อาจอยู่เฝ้าไข้นานๆ หรือนอนค้างคืนได้ เพราะมีเพียงห้องรวม ประกอบกับระหว่างคีโมผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่ำลงกว่าปรกติ อาจเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อแก่ผู้ป่วย แม่ต้องดูแลตัวเอง และมีช่วงเวลาแยกจากลูกๆ

“แม่อยู่ได้สบายมาก

พยาบาลเขาก็ดูแลแม่ดี ไม่ต้องห่วงหรอก มะรืนก็กลับบ้านได้แล้ว” คำพูดติดปากของแม่เพื่อให้ลูกๆ คลายกังวล

คีโมรอบนี้แรงกว่าครั้งแรก เนื่องจากแม่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมากมาต่อเนื่อง ลูกๆ จึงได้หน้าที่เพิ่มอีกอย่าง คือฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวหลังให้คีโม ๒๔ ชั่วโมงทุกครั้ง และทำต่อเนื่อง ๓-๕ วัน พี่ซียกมืออาสาเมื่อพยาบาลบอกว่าญาติฉีดให้คนไข้เองได้ แต่ทั้งแม่และน้องเอิร์ธกุมมือกันพลางส่ายหน้า

“ไปให้พี่พยาบาลฉีดที่โรงพยาบาลดีกว่านะ” แม่บอก

“ทำไมพี่ซีถึงกล้าขันอาสาล่ะ ไม่กลัวแม่เจ็บเหรอ” แม่พูดด้วยสีหน้ากึ่งขำกึ่งกลัว จนพวกเราอดหัวเราะไม่ได้

“เอ้า! ทำไมจะไม่กล้าล่ะแม่ หนูทำนี่แหละ แม่จะได้ไม่เจ็บ พี่พยาบาลสอนแล้วหนูทำได้”

แม่ปฏิเสธด้วยแววตาและสีหน้าปูเลี่ยนๆ ทำเอาพวกเราขำอีกรอบ

การคีโมทุก ๒ สัปดาห์ การพักฟื้นที่ต้องประคับประคองอย่างยิ่งในช่วง ๓-๕ วันแรกหลังคีโม เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ ๒ พอแม่เริ่มมีแรง วันนัดคุณหมอเพื่อเตรียมคีโมก็เวียนมาถึงอีกรอบ

ความรับรู้ถึงการกระจายตัวของมะเร็งทำให้แม่ตระเตรียมข้าวของเพื่อจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ของชำร่วยที่แม่ถักทอด้วยมือถูกทำขึ้นทุกๆ วันที่พอมีแรง แม้จะมีอาการนิ้วล็อกจนต้องฉีดยาแก้อักเสบมาหนึ่งรอบ แต่แม่ก็ยังพยายามถักแผ่นรองแก้วโครเชต์ “เพราะรักจึงถักมาฝาก” แม่บอก…

นอกจากนี้ แม่ยังให้น้องเอิร์ธเตรียมเครื่องถวายพระสงฆ์ในงานพิธี จัดทำหนังสือจิ๋วที่ระลึกโดยนำบทความบอกเล่าเรื่องราวช่วงต้นของการทำความรู้จักกับมะเร็งของแม่ซึ่งเขียนโดยพี่โสภาวรรณ รุ่นพี่ที่เคารพรักของพี่ซี ผ่านโครงการสุขหมุนรอบตัวเรารุ่นที่ ๓ สุขต่างวัย โดยนิตยสารสารคดี และสนับสนุนโดย สสส. มาใช้ รวมถึงมีเหรียญโปรยทานที่แม่ห่อเองทุกชิ้น ชุด ผ้าคลุมหน้า และอื่นๆ อีกมากมายที่แม่ฝากฝังลูกทั้งสองดำเนินการเมื่อถึงวาระ

แม้การเตรียมตัวนี้จะเป็นเรื่องใหม่และแปลกสำหรับคนทั่วไป แต่มันเป็นความสุข สงบ ที่แม่ตั้งมั่นจิตใจและไม่ประมาทในทุกวัน

การกระทำของแม่เป็นดั่งน้ำมนต์ให้ความร่มเย็นแก่ลูกได้ครองสติอย่างมั่นคง ท่ามกลางกระแสธารแห่งธรรมชาติและทุกข์จากมะเร็งตับอ่อน ครอบครัวเรายังวางใจที่จะสร้างสุขแก่กันตลอดการเดินทางนี้

#แม่ #มะเร็ง #คีโม #ฉายแสง #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส