เรื่องและภาพ : ทีมคลุกดินกินฝุ่น ค่ายนักเล่าความสุข

ไตรโกล : ศึกลูกหนังสามแดน

ลูกเปิดกลางสนามในทุกครั้งของการเริ่มเกม แต่ละทีมจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันเล่นลูกเปิด

ตุบๆๆ…

เสียงเตะลูกบอลในยามสามทุ่มจากกลุ่มคนหกคน ดังก้องไปทั่วสนามฟุตซอลของ เดอะ สตรีท อารีน่า สนามกีฬาในร่มที่ตั้งบนอาคารจอดรถชั้น ๕ ของห้างสรรพสินค้า เดอะ สตรีท รัชดา ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยไม่ไกลนัก

“เราดีลกันแล้วนิ”

หนึ่งในผู้เล่นทีมสีแดงบอกกับทีมสีน้ำเงินเพื่อให้ร่วมมือกันรุมทีมสีเหลือง เนื่องจากทีมสีเหลืองมีคะแนนนำอยู่ในตอนนี้

สิ้นเสียงพูดได้ไม่นานแมตช์ฟุตบอลที่มีเพียงบอลหนึ่งลูก กับทีมผู้เล่น “สาม” ทีมก็ดำเนินต่อ

ต๊อก-เฉลิมเกียรติ เลาหัตถพงษ์ภูริ ผู้คิดค้นกีฬาไตรโกล และจัดตั้งชมรมไตรโกลแห่งประเทศไทยขึ้น สาธิตวิธีการนับคะแนนให้ดูก่อนเริ่มการแข่งขัน

ต๊อก-เฉลิมเกียรติ เลาหัตถพงษ์ภูริ ผู้คิดค้นกีฬาไตรโกล และจัดตั้งชมรมไตรโกลแห่งประเทศไทยขึ้น สาธิตวิธีการนับคะแนนให้ดูก่อนเริ่มการแข่งขัน

สถานที่ตั้งของสนามกีฬาไตรโกลอยู่ที่ลาดจอดรถชั้นบนสุดของห้างสรรพสินค้า เดอะ สตรีท รัชดา มีจำนวนสองสนาม ใช้ตาข่ายขนาดใหญ่กั้นแบ่งสนาม และขีดเส้นแบ่งเขตแดนซ้อนทับกับสนามฟุตซอล

สถานที่ตั้งของสนามกีฬาไตรโกลอยู่ที่ลาดจอดรถชั้นบนสุดของห้างสรรพสินค้า เดอะ สตรีท รัชดา มีจำนวนสองสนาม ใช้ตาข่ายขนาดใหญ่กั้นแบ่งสนาม และขีดเส้นแบ่งเขตแดนซ้อนทับกับสนามฟุตซอล

กำเนิด

กรกฎาคมปีที่แล้ว สถานที่แห่งนี้ได้จัดแข่งขันฟุตบอล เดอะ สตรีท ไตรโกล ชาเลนจ์ ครั้งที่ ๑ โดย “ต๊อก-เฉลิมเกียรติ เลาหัตถพงษ์ภูริ” ชายหน้าตาตี๋วัย ๕๐ ผู้ก่อตั้งสนามแข่งขันไตรโกล ณ ที่นี่ รวมถึงตั้งชมรมไตรโกลแห่งประเทศไทย

แม้จะเป็นครั้งที่ ๑ แต่ก่อนจะมาเป็นสนามสามเหลี่ยมด้านเท่า (ตัดมุม) กว้างประมาณครึ่งหนึ่งของสนามฟุตซอล จริงๆ ไตรโกลเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในไทยมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๖

“จุดแรกเริ่มมาจากการที่พี่ชอบฟุตบอลแล้วพี่ก็ชอบสามก๊ก เลยคิดเอาฟุตบอลกับสามก๊กมารวมกัน วาดสนามมั่วๆ บนกระดาษเป็นสามเหลี่ยม ทุกอย่างเกิดจากความมั่วทั้งนั้น” ต๊อกกล่าวปนหัวเราะ

ต๊อกไม่ต่างจากผู้ชายส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบการเล่นฟุตบอล ส่วนเหตุผลที่เขาชอบสามก๊กนั้นมาจากการได้ฟังวิเคราะห์เรื่องราวสามก๊กของ “เจริญ วรรธนะสิน” ผู้เขียนหนังสือ สามก๊ก ฉบับนักบริหาร ซึ่งเกี่ยวกับการใช้สมองวางกลยุทธ์ในการสู้รบ

เมื่อได้ลองวาดเป็นสนามรูปสามเหลี่ยมก็เห็นถึงความสวยงามที่จะเกิดขึ้นหากทำได้จริง จึงไปเช่าสนามฮอกกี้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมขอให้รุ่นน้องมาช่วยทดลองทำสนามไตรโกล เพื่อคิดค้นกติกาที่จะให้ความสนุกและก่อเกิดเป็นฟุตบอลรูปแบบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

เขาได้พัฒนาไตรโกลมาเรื่อยๆ จนในปี ๒๕๕๐ สามารถจดลิขสิทธิ์ไตรโกล รวมถึงจัดตั้งสนามไตรโกลที่พร้อมให้วัยรุ่นและผู้ที่สนใจมาเล่น ณ อาคารจอดรถชั้น ๑๐ ของห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ และได้รับผลตอบรับดีจนมีชาวต่างชาติมาเล่นอยู่บ่อยครั้ง

ต๊อกบอกเหตุผลในการตั้งไตรโกลที่สยามเซ็นเตอร์ว่า

“เมื่อก่อนบริษัทอยู่แถวนั้น เลยเห็นว่าอาคารจอดรถสยามเซ็นเตอร์ใช้ได้ กลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น พวกเด็ก ม.ปลาย นี่ของโปรดเขาเลย พอฟิชโช่เห็นก็มาเป็นสปอนเซอร์หลักให้”

ไตรโกลใน ๒-๓ ปีแรกได้รับความนิยมจนถึงขนาดที่ต๊อกสามารถจัดการแข่งขัน ฟิชโช่ ไตรโกล ไฮสคูล ลีก ในปี ๒๕๕๓ มีทีมลงแข่งขันจากโรงเรียนชายล้วนชั้นนำต่างๆ เช่น สวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ เทพศิรินทร์ เป็นต้น

แต่หลังจากนั้นไตรโกลก็เริ่มซบเซาลงเรื่อยๆ จนเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมาสนามที่สยามเซ็นเตอร์ก็มีอันต้องหายไป เนื่องด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยน ไม่มีวัยรุ่นหรือกลุ่มผู้ชื่นชอบมาเล่นเหมือนแต่ก่อน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของห้างส่วนใหญ่กลายเป็นสาววัยรุ่นถึงช่วงเริ่มต้นทำงานที่เน้นซื้อสินค้าแฟชั่นมากกว่า

ปัจจุบันสนามไตรโกลมีแค่ที่ เดอะ สตรีท รัชดา เท่านั้น ทางห้างฯ ให้ต๊อกเข้ามาตีเส้นสนามไตรโกลทับซ้อนกับสนามฟุตซอลเดิมบนอาคารจอดรถชั้น ๕

ถึงแม้คำกล่าวของ “อั๋น-พงศธร ทองสุข” เจ้าหน้าที่ดูแล เดอะ สตรีท อารีน่า จะบอกว่าส่วนใหญ่คนมักมาเล่นฟุตซอลธรรมดาๆ มากกว่าไตรโกล

แต่ต๊อกก็บอกว่าในปีนี้กำลังวางแผนจัด เดอะ สตรีท ไตรโกล ชาเลนจ์ ครั้งที่ ๒ ร่วมกับทางห้างอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งในการสร้างกระแสให้ไตรโกลเป็นที่นิยมมากขึ้น

เกมดำเนินไปอย่างดุเดือด เนื่องจากสนามมีขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้แต้มไหลอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยสติและไหวพริบของนักกีฬาอย่างมาก

เกมดำเนินไปอย่างดุเดือด เนื่องจากสนามมีขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้แต้มไหลอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยสติและไหวพริบของนักกีฬาอย่างมาก

ระหว่างการแข่งขันสิ่งที่เรามักพบอยู่เสมอ คือรอยยิ้มของนักกีฬา

ระหว่างการแข่งขันสิ่งที่เรามักพบอยู่เสมอ คือรอยยิ้มของนักกีฬา

กติกา

การเล่นไตรโกลแบ่งออกเป็นสามทีม ทีมละ ๓ คน เล่นบนสนามสามเหลี่ยมด้านเท่าที่มีความกว้าง ๑๗ เมตร โดยกติกาส่วนใหญ่คล้ายกับฟุตบอล จะมีกฎกติกาบางอย่างที่ปรับให้เล่นพร้อมกัน ๓ ทีม คือแบ่งเวลาเล่นออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนละ ๘ นาที แทนการแบ่งพักครึ่งแรกครึ่งหลัง เพื่อให้ทั้งสามทีมได้ผลัดกันเขี่ยบอล

กรณีลูกออก ไตรโกลระบุให้ทีมที่สัมผัสลูกก่อนหน้าทีมที่ทำออกเป็นผู้ได้ลูก และทีมที่ไม่ได้ลูกต้องอยู่ห่างจากจุดตั้งเตะอย่างน้อย ๑ เมตร ยกเว้นกรณีที่จุดตั้งเตะอยู่ห่างจากประตูไม่ถึง ๑ เมตร

แต่ก็ไม่ได้มีเพียงกฎทั่วไปๆ เท่านั้น ไตรโกลยังมีกฏพิเศษข้อหนึ่ง ซึ่งต๊อกเล่าว่าเป็นหัวใจหลักของความสนุกในการเล่นไตรโกลโดยเฉพาะ

“ไตรโกลมมีกฎอยู่อันหนึ่ง คือทีมไหนโดนยิงประตู ถ้าทีมเราไม่ได้ยิง ทีมเราก็จะได้แต้มขึ้นด้วย”

“สมมุติเราเป็นทีมซี ถ้าทีมเอกับบียิงกัน เราอยู่เฉยๆ ยังไงเราก็แต้มขึ้น เพราะฉะนั้นทีมที่โดนรุมตอนแรกมักจะกลับมาชนะตอนหลัง จังหวะที่อีกสองทีมสู้กัน ยิงไปกันมา อีกทีมแต้มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว”

ต๊อกอธิบายกฏเหล่านี้ให้เราฟังถึงสามรอบถึงจะเข้าใจ

“โห จริงหรือครับ” ผมกล่าวตกใจและหัวเราะลั่น

“นี่คือสามก๊ก คือหลบถอยมาให้เขาสู้กัน ยุให้เขาสู้กัน พอเข้าสู้กันเราก็แต้มขึ้น นี่คือความมันส์ของไตรโกล” ต๊อกกล่าวตอบกลับคำตกใจของผมอย่างรวดเร็ว

กฎดังกล่าวได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไตรโกลขึ้นมา นั่นคือการสร้างพันธมิตรกับทีมหนึ่งเพื่อรุมอีกทีมหนึ่ง

เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ไตรโกลแตกต่างจากฟุตบอล

แต่ก็มีกฎห้ามการวางแผนรุมทีมที่มีคะแนนต่ำที่สุดไว้ เพื่อป้องกันการล้มบอล โดยทีมที่ฝ่าฝืนทั้ง ๒ ทีมจะถูกตัดให้เหลือผู้เล่นเพียงคนเดียวจนหมดเวลาการแข่งขัน

 นอกจากฝีมือการเตะบอลจะดีแล้ว วาทะศิลป์ยั่วยุให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานกันเอง คือจุดแข็งของทีมสีแดงจึงทำให้เป็นฝ่ายชนะคะแนนเกมการแข่งขันนี้ไปอย่างสูสี

นอกจากฝีมือการเตะบอลจะดีแล้ว วาทะศิลป์ยั่วยุให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานกันเอง คือจุดแข็งของทีมสีแดงจึงทำให้เป็นฝ่ายชนะคะแนนเกมการแข่งขันนี้ไปอย่างสูสี

ถึงแม้ในสนามจะยุยงกันพียงใด แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาคือมิตรภาพอันแสนอบอุ่น

ถึงแม้ในสนามจะยุยงกันพียงใด แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาคือมิตรภาพอันแสนอบอุ่น

เท้ากับปาก

ฟังอย่างเดียวอาจทำให้เข้าใจได้ไม่เท่ากับลองเล่นไตรโกลจริงๆ

พวกเราจึงแบ่งเป็นทีมละสองคน มีทีมสีน้ำเงิน ทีมสีแดง และทีมสีเหลืองซึ่งมีสมาชิกจากทีมงานของต๊อก ผู้มาช่วยอธิบายและร่วมเล่นบอลหนึ่งลูกสามทีม

เกมเริ่มขึ้นโดยทีมสีแดงได้เขี่ยก่อน ๘ นาทีแรกแต่ละทีมยังเล่นรับส่งกับทีมตัวเองเป็นส่วนมาก แต่พอเริ่มเกมที่สอง ก็เริ่มมีคำนี้ปรากฏ

“เราดีลกันแล้วนิ” ประโยคจากบอลทีมสีแดงบอกกับผมทีมสีน้ำเงิน เพื่อให้รุมยิงทีมสีเหลืองซึ่งมีคะแนนมากที่สุด

พอเล่นจริงจึงเข้าใจถึงกฎสามก๊กที่ต๊อกกล่าวทันที เพราะทีมสีเหลืองมีคะแนนนำ ถ้าทีมสีแดงและน้ำเงินยิงกันเอง โดยปล่อยให้ทีมสีเหลืองยืนเฉยๆ ทีมสีเหลืองก็จะได้คะแนนไปโดยไม่ต้องทำอะไร ทำให้เกิดการร่วมมือกันเป็นพันธมิตร เกิดภาพทีมสีแดงส่งลูกให้ทีมศัตรูอย่างสีน้ำเงินซึ่งไม่ปรากฏในฟุตบอลทั่วไป

แต่พันธมิตรก็อยู่ได้ไม่นานเมื่อทั้งสองทีมต่างจ้องจะยิงกันเองเมื่อเห็นว่าอีกทีมพลาดจนมีโอกาส

กลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างระแวงกันไปมา พลางผลัดกันตะโกนกล่าวคำล่อล่วงให้ยิงทีมอื่นแทนการใช้แรงขาเพียงอย่างเดียว

ไม่ต่างกับสมรภูมิรบที่แม่ทัพต้องสร้างแผนการรบในหัวก่อนออกทำศึก เพราะหากใช้พละกำลังเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจสู้กับทัพที่วางแผนมาดีได้

หลังเล่นจบครบสามเกม เพื่อน ๆ ที่ไม่เคยเล่นได้กล่าวกับผมว่า

”เกมนี้สร้างสมาธิ สอนให้รู้จักไหวพริบ…ถ้ามีในที่ต่างจังหวัด เด็กเล็กๆ เล่นกันน่าจะดี”

“ไม่เหมือนบอล เหมือนบอร์ดเกม ต้องอ่านกันตลอด” ผู้ใช้คำล่อลวงและเอาชัยชนะไปได้กล่าว

ส่วนผมเองรู้สึกว่าไตรโกลเป็นกีฬาที่ดี เพราะช่วยละลายพฤติกรรมและกระชับมิตรผู้เล่นทั้งหมดให้สนิทสนมกันมากขึ้น

……………….

ไตรโกลเป็นฟุตบอลที่สร้างความแปลกใหม่ และมีแค่ในไทยแห่งเดียว

ชาวต่างชาติที่มาเล่นไตรโกลที่สยามเซ็นเตอร์เคยบอกกับต๊อกว่ามันเป็นเอกลักษณ์ที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว

ส่วนต๊อกเองหวังว่าสักวันหนึ่งอยากให้ไตรโกลเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะมันคือสิ่งที่เขารักและภูมิใจในการได้เห็นสามเหลี่ยมจากกระดาษที่เขาวาดกลายเป็น “ไตรโกล” ฟุตบอลที่สามารถสนุกและมีความสุขไปได้พร้อมกันสามทีม