ทีม Cherbida
เรื่อง : สุนันทา ผดุงทักษิน
ภาพ : สิรินุช ผดุงทักษิน

หมวกหลายใบของเจนตนา หญิงวัยเกษียณที่ไม่ยอมเกษียณ
ผลิตผลจากการทำเกษตรโคกหนองนากำลังเบ่งบาน แม้มีผู้บุกรุกมาขโมยกล้วยเครืออวบๆ บ้าง แต่เจ้าของสวนก็ยังยิ้มได้

ศาสตราจารย์ซอนยา ลูย์โบมีร์สกี แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของระดับความสุขในชีวิตคนเราถูกกำหนดโดยพันธุกรรม ขณะที่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์เกิดจากความพยายามริเริ่มส่วนบุคคล และอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์สุดท้ายมาจากเหตุการณ์แวดล้อม

ฉันไม่แน่ใจนักว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์แรกของต้นกำเนิดความสุขที่มาจากกรรมพันธุ์นั้นจริงเท็จแค่ไหน แต่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์กับระดับความสุขที่เกิดจากความพยายามริเริ่มส่วนบุคคลและเหตุการณ์แวดล้อม ทำให้ฉันนึกถึงใครคนหนึ่งที่มักสร้างความสุขให้ตัวเองด้วยหลักการง่ายๆ

“ถ้าสุขทำ ถ้าทุกข์ไม่ต้องทำ”

jentana07
บทบาทของผู้บริหารและครูสถาบันสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ ดูกระฉับกระเฉง เกินกว่าจะเชื่อว่าเธออายุครบวัยเกษียณแล้ว
jentana08
ภาพเก่าๆ ระหว่างคุณครูเจนตนากับลูกศิษย์ชาวต่างชาติในบรรยายกาศสบายๆ
jentana09
เอกสารประกอบการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ บ่งบอกความยาวนานของอาชีพครูที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความสุขและความทุกข์

ณ สถาบันสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ

ฉันยังจำไม่ลืมถึงวินาทีแรกที่ได้รู้จัก “แอ๊ด” เจนตนา งามเขียว เธอกล่าวสวัสดีและแนะนำตัวชัดถ้อยชัดคำชนิดที่คนฟังอย่างฉันไม่ทันตั้งตัว แถมด้วยรอยยิ้มกว้างบนดวงหน้าสะอาดสะอ้านตัดกับกรอบแว่นสีดำที่เลนส์สายตาเปลี่ยนสีได้เมื่อออกแดด ดูโดดเด่นภายใต้ผ้าขาวม้าที่พันมิดชิดตั้งแต่ศีรษะจดลำคอ สวมทับด้วยงอบชาวนา

ผิดกับวันนี้ หญิงวัยกลางคนที่เพิ่งฉลองอายุครบ ๖๐ ปีหมาดๆ อยู่ในชุดเดรสสีแดงอมชมพูยาวคลุมเข่า สวมรองเท้าส้นสูงสีดำ ผมซอยสั้นรับใบหน้า บ่งบอกความมั่นใจ สดใส และกระฉับกระเฉง

ภาพลักษณ์ที่เห็นดูราวกับคนละคนจากในวันแรกพบ แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือรอยยิ้มเห็นฟันอย่างจริงใจ เธอรอเราอยู่หน้าอาคารสถาบันสอนภาษาที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ของถนนสุขุมวิทซอย ๓๑

“พี่ไม่เกษียณค่ะ” เจ้าของรอยยิ้มกว้างพูดเสียงหนักแน่นอยู่ในห้องทำงานเล็กๆ ของเธอ

แม้เข้าสู่วัยเกษียณ แต่แอ๊ดยังดำรงหลายบทบาท ทั้งผู้บริหารและครูสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สถาบัน Jentana & Associates Thai Language School เกษตรกรโคกหนองนาพาร์ตไทม์ และล่าสุดอยากเป็น YouTuber และ Tiktoker ด้วย

“พี่ยังแฮปปี้กับการทำงาน มาโรงเรียนก็มีความสุข ได้คุยกับนักเรียน ได้เม้าท์กับเพื่อนร่วมงานที่เหมือนครอบครัว พอมีเวลาหน่อยก็ทำเกษตร นี่เพิ่งไปแปลงมาเมื่อวาน วันนี้คิดถึงแล้ว” เธอพูดยิ้มๆ ดวงตาเปล่งประกาย วินาทีต่อมาก็ระเบิดเสียงหัวเราะดังแบบไม่มีกั๊กเมื่อเอ่ยถึงบทบาทใหม่ในฐานะ YouTuber ที่เธอบอกว่าทำสนุกๆ เพราะอยากดังและมีตัวตนในโซเชียลฯ บ้าง

“อะไรที่ทำให้เรามีความสุขก็ทำไปเถอะ แต่เสริมนิดนึงว่า ต้องไม่ทำให้คนอื่นทุกข์ด้วย”

เจนตนาผู้สวมหมวกหลายใบเผยหลักการใช้ชีวิต ก่อนขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น

“วันก่อนที่เราไปสวน พี่มีความสุขทั้งวัน แต่สามีพี่ไม่มีความสุขเพราะเขารอเรามากินข้าวเย็นด้วย พอแบบนี้ก็ไม่โอเคแล้ว แต่เราต้องหาวิธีแก้สถานการณ์ รีบกลับบ้าน นั่งทานข้าวกับเขาทั้งๆ ที่เรากินมาแล้วก็ตาม”

นี่คงเป็นข้อพิสูจน์ของความพยายามสร้างความสุขตามแบบฉบับของแอ๊ดที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เธอบอกอีกว่า การจะหนีทุกข์ได้ คือต้องรู้จักหาวิธีแก้ปัญหา

ย้อนความหลังสมัยเป็นเฟรชชีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แอ๊ดเป็นนักเรียนเพียงคนเดียวจากโรงเรียนระดับอำเภอในจังหวัดแพร่ที่สอบติดที่นี่ บวกกับความเป็นเด็กบ้านนอกที่ไม่มีความมั่นใจ จึงไม่มีเพื่อน รวมถึงไม่รู้จักใครในคณะ ถ้ามองอารมณ์ของวัยรุ่นตอนนั้น ก็คือความทุกข์ดีๆ นี่เอง แต่สิ่งที่เธอทำคือ คิดวิธีว่าจะหาเพื่อนได้ที่ไหน สุดท้ายก็พบเพื่อนสนิทที่แสนดีจากการเข้าชมรมดนตรีไทยสากล

“ต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่จมอยู่กับที่แล้วเป็นทุกข์ ทุกคนไม่ได้เกิดมามีพร้อมเหมือนกันหมด”

อดีตนักศึกษาไร้เพื่อนย้ำเรื่องการจัดการความทุกข์ พลางเหลือบมองออกไปนอกห้องสี่เหลี่ยมคล้ายพยายามคิดบางอย่าง

“คนเราไม่ต้องแสวงหาความสุขหรอก แค่หนีให้ไกลจากความทุกข์ก็พอ”

เสียงเอื้อนเอ่ยประโยคฝังใจที่เธอยึดเหนี่ยวมานานจนลืมไปแล้วว่า ต้นต่อของวรรคทองนี้มาจากไหน ถูกส่งผ่านให้ฉันคิดตาม

jentana02
ท่ามกลางแสงแดดแผดเผา แปลงโคกหนองนากลับอุดมด้วยความฉ่ำเย็นจากบ่อน้ำรอบพื้นที่ และร่มเงาต้นกล้วยนับร้อยกอ
jentana03
YouTuber บอกเล่าเกษตรสไตล์ป้าแอ๊ดที่มีความสุขเป็นพื้นฐานของการลงมือทำ
jentana04
ถึงจะมีสารพัดงานหนักและเหนื่อยในสวนเกษตร แต่ก็เป็นพื้นที่ความสุขได้เสมอ

ณ สวนเกษตร จังหวัดเพชรบุรี

รถแล่นด้วยความเร็วเกือบ ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิวสองข้างทางเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากงานก่อสร้างถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม ๒ กลายเป็นผืนนาเขียวขจีแซมด้วยต้นตาลสูงชะลูด บางช่วงเป็นทิวต้นสักร่มรื่นเพราะได้หยาดฝนโปรยปราย แต่คงผลัดใบร่วงหล่นเมื่อฤดูหนาวมาถึง

เรากำลังมุ่งสู่แปลงโคกหนองนาขนาดเกือบ ๓ ไร่ของแอ๊ดที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อ ๒ ปีก่อน โดยความช่วยเหลือของครูอาจารย์และเพื่อนๆ สายกสิกรรมธรรมชาติ ที่ต่างแวะเวียนมาให้กำลังใจ บ้างออกแรงช่วยจนเป็นแปลงเกษตรที่เริ่มเห็นความอุดมสมบูรณ์ มีพืชผักปลอดสารพิษไว้รับประทานสมดังที่ตั้งเป้าหมายไว้

“ตอนเด็กๆ เวลาทะเลาะกับแม่ พี่ชอบหนีเข้าป่าข้างบ้าน หรือไม่ก็ไปยกยอ คุยกับตัวเอง คุยกับปลา แล้วก็กลับมาด้วยความสบาย ใจ ที่นี่พี่ก็เลยจะมีที่ยกยอ มีที่นั่งดีๆ มียอดีๆ มันได้สมาธิ แล้วเพลินมากนะ” แอ๊ดเล่าแผนแปลงเกษตรในฝัน

“ส่วนต้นไม้พี่ปลูกอย่างที่ไปอบรมมาว่าต้องมีกล้วยเป็นพี่เลี้ยง ก็ปลูกเลย ๒๐๐ ต้น จากนั้นก็สะเปะสะปะ อยากกินอะไรก็ปลูก อยากได้ไม้ดอกมีสีสันก็ซื้อ ตรงนู้นเป็นไผ่หวาน ไผ่ข้าวหลาม ผักเสี้ยวหรือผักชงโค ผักเฮือด ผักหวานป่า ต้นแคบ้าน พวกนี้สมัยเด็กๆ กินบ่อย เอาหน่อ ยอดใบอ่อนหรือดอก กินกับน้ำพริกหรือแกง อร่อยทั้งนั้น”

เสียงเจื้อยแจ้วเจือสุขของเจ้าของสวนดังตลอดเวลาที่พาเราทัวร์รอบพื้นที่ แต่แล้วก็ชะงักเมื่อพบร่องรอยผู้บุกรุก

“มาตัดอีกแล้ว และก็ทิ้งต้นไว้ให้เราเจ็บปวดใจเหมือนเดิม”

ฉันมองตามมีดอีโต้ในมือแอ๊ดที่ชี้ขึ้นด้านบนเหนือกอกล้วย ตรงก้านเครือไม่มีกล้วยหวีใดๆ เหลืออยู่ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลผลิตในสวนถูกขโมย

“ทำใจ” เสียงปลงๆ ของเธอไร้วี่แววประชดประชัน

“แว่บแรกโกรธนะ แต่พอรู้ว่าเป็นใคร ทั้งๆ ที่มีรั้วรอบขอบชิด ก็พยายามเข้าใจเขาว่าอาจขายเอาเงินไปใช้หนี้หรือใช้จ่าย พี่เลยคิดว่าทำบุญ เราจะได้สบายใจ ไว้มาอยู่ในแปลงถาวร ค่อยว่ากันอีกที”

เกษตรกรมือใหม่วัยเกษียณในชุดทะมัดทะแมงหันกลับไปฟันต้นกล้วยที่เจ้าขโมยทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าอย่างคล่องแคล่วแข็งแรงจนคนหนุ่มสาวยังอาย

“ปีแรกที่ทำโคกหนองนา ปรากฏว่าน้ำท่วม เราก็บ่นให้พี่ๆ ในกลุ่มเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติฟัง ก็มีพี่คนหนึ่งบอกแปลงเขาไม่มีน้ำ แถมขุดดินลงไปเจอแต่หิน พอได้ยินพี่เลิกบ่นเลย อ้อ…การที่คิดว่าเรามีอุปสรรคจะแย่แล้ว บางทีอาจมีคนแย่กว่าเราอีกนะ ทำให้พี่เห็นชัดว่าอะไรก็ตามบนโลกนี้ เราคุมได้บางอย่าง ยิ่งถ้าไหว้วานคนอื่นให้ช่วยหรือยืมจมูกคนอื่นหายใจ เรายิ่งต้องยืดหยุ่น จะหักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นงานเราไม่เสร็จ”

ถึงแม้จะมีอุปสรรคและบทเรียนจากธรรมชาติผ่านเข้ามาทดสอบเรื่อยๆ แต่แอ๊ดยังยกให้ที่นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ความสุข

“ก็คิดนะว่า เราทำเกษตรทำไม เหนื่อยก็เหนื่อย ร้อนก็ร้อน คนที่บ้านก็ไม่เอาด้วย แต่คนเราต้องมีความฝัน แม้จะเป็นฝันกลางวันก็ตาม เพราะแค่คิดว่าเราจะมีผักปลอดสารพิษไว้ทาน หรือต้นไม้ที่เราปลูกออกดอกออกผลให้ชื่นชม แค่นี้ก็สุขแล้ว ส่วนจะเป็นจริงหรือเปล่าเป็นเรื่องอนาคต วันนี้สุขที่จะได้ทำก็ทำ วันไหนทำแล้วเหนื่อยหมดสุข ก็ขับรถกลับกรุงเทพฯ เพราะเรานิยามตัวเองชัดเจนว่า เราเป็นโคกหนองนาพาร์ตไทม์ ไม่ต้องการเป็นเกษตรกรเต็มเวลา คิดได้แบบนี้ก็สบายใจ” เกษตรกรพาร์ตไทม์เผยความลับการปลูกความสุข

jentana05
ผักกูดเริ่มแตกยอดใหม่ หลังนำมาปลูกไม่กี่สัปดาห์ สร้างความสุขและกำลังใจแก่เจ้าของสวน
jentana06
เฉดสีจากธรรมชาติกำลังแต้มแต่งสีสันให้ชีวิตเกษตรกรพาร์ตไทม์ดูสดใสอยู่เสมอ

ณ ร้านอาหารสไตล์อีสาน

เราหมดเวลากับการเดินชมสวนและช่วยเจ้าของแปลงดึงหญ้าออกจากคลองไส้ไก่ ล่วงถึงบ่าย ๓ โมงจึงตัดสินใจไปหาอะไรรับประทานแถวตัวเมืองเพชรบุรีก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นร้านอาหารสไตล์อีสานไม่ไกลจากแปลงเกษตรในฝัน ใช้เวลาขับรถเพียง ๑๐ นาที

ภายในร้านบรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่อวลกลิ่นหอมดอกลีลาวดีจางๆ

“เรื่องมันทำอะไรไม่ได้แล้ว เราก็ปล่อย จะเก็บมาคิดเล็กคิดน้อยก็ไม่เกิดประโยชน์ รังแต่ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวเปล่าๆ”

แอ๊ดให้เหตุผลเมื่อฉันตั้งข้อสังเกตที่เธอพูดคำว่า “ไม่เป็นไร” กับเหตุการณ์ไม่คาดฝันบ่อยๆ

“Life is move on, Don’t worry” คุณครูเจนตนาพูดสำเนียงฝรั่งฟังง่าย

“พี่บอกลูกสาวด้วยประโยคนี้เสมอ อดีตคืออดีต คุณไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ปัจจุบันและอนาคตต่างหากที่ทำให้ถูกต้องได้”

ผู้มีประสบการณ์กว่าเล่าเสริมประเด็นนี้ว่า ช่วงที่เธอออกมาสอนภาษาไทยชาวต่างชาติแบบไร้สังกัดนั้นงานสอนดำเนินไปดีมาก เธอจึงเทรนครูใหม่มาช่วยสอน เพื่อจะมีรายได้เพิ่มขึ้น หลังเทรนเสร็จก็ส่งงานสอนให้ต่อเนื่อง กระทั่งวันหนึ่งครูคนนั้นขอลาออกด้วยเหตุผลว่าไม่ชอบทำงานกับเธอ เพราะไม่เคยมาดูแลสารทุกข์สุกดิบ ในฐานะเจ้านายและเพื่อนร่วมงานเลย ทำให้เธอรู้สึกผิดมาก

แต่เธอใช้หลักคิด “ไม่เป็นไร แล้วไปต่อ” พร้อมปรับปรุงตัวเองเพื่อรับมือกับครูในสังกัดคนอื่นๆ ซึ่งความสัมพันธ์ครั้งใหม่เป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข

“ยอมรับความจริง แล้วหันกลับมาดูตัวเองว่า ทำอะไรได้อีกไหม อย่างคนเป็นหนี้ รู้ตัวเองว่าเป็นหนี้ ก็ไม่ใช่ยอมรับแล้วปล่อยหรือใช้ชีวิตแบบเดิมๆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Champagne taste คือ หาเงินแค่พอซื้อเหล้าขาว ๓๕ ดีกรี แต่กลับไปเลือกซื้อแชมเปญ อันนี้ไม่เรียกว่าความสุขหรอก ทำให้คนรอบข้างเป็นทุกข์ต่างหาก” แอ๊ดพูดปิดท้าย แล้วพวกเราก็คว้าอาวุธเล็กๆ ในมือตักอาหารเข้าปากอย่างเอร็ดอร่อย

……

เกือบ ๖ โมงเย็น ฉันบอกลาแอ๊ด ณ จุดเดิมหน้าสถาบันสอนภาษา รอยยิ้มคุ้นตาส่งลา แถมด้วยข้อคิดการใช้ชีวิตให้มีสุขที่เธอแบ่งปันผ่านเรื่องราวต่างๆ

ฉันคิดทบทวนขณะยืนรอขบวนรถไฟฟ้าบนชานชลา บางทีความสุขอาจเป็นเหมือนรถไฟฟ้าที่มีจังหวะวิ่งของตัวเอง อยู่ที่เราจะเลือกนั่งขบวนไหน เช่นเดียวกับหญิงวัยเกษียณที่ไม่ยอมเกษียณนาม “แอ๊ด-เจนตนา งามเขียว” ที่ริเริ่มความสุขในแบบที่ไม่ก่อความทุกข์ให้ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

สูงวัย #โคกหนองนา #วัยเกษียณ # #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส