เรื่องและภาพ : ทีมเกี่ยวก้อยร้อยใจ ค่ายนักเล่าความสุข

“สุขสัมผัสได้” ที่บึงแก่นนคร

“หนึ่ง สอง สาม สี่”

เสียงพูดให้จังหวะเต้นของครูสาวสอนเต้นแอโรบิกวัย 25 ปี ประกอบเสียงเพลงที่เร่งเร้าให้ขยับแข้งขยับขา เข้าจังหวะเพลง สลับกับเสียงกรี๊ดของสาวๆ เป็นระยะภายในลานกีฬา ๒๐๐ ปี

ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มาเต้นออกกำลังกาย

ผมได้ “สูดดม” กลิ่นน้ำหอมที่เหล่าสาวๆ เดินผ่านไปมา ราวกับว่าเธอคงอาบน้ำหอมมาหลากหลายกลิ่น จึงสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่ของผู้มาเต้นแอโรบิกนั้น เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

เวลานั้นผมคิดเข้าข้างตัวเองว่า”ผมเปรียบเสมือนผึ้งน้อยที่บินอยู่ท่ามกลางหมู่มวลมาลี”

แต่คิดอีกมุมหนึ่งก็รู้สึกเหมือนกับคำถามที่ว่า “อะไรเอ่ยไม่เข้าพวก”

……………………

อากาศเย็นยามเช้ากับไออุ่นของแสงแดดอ่อนๆ

ลมเย็นๆ พัดผ่านผิวกายให้สดชื่น คลายความร้อนและง่วงเหงาหาวนอนจนลืมความเมื่อยล้า

ผมเงยหน้าไปทางเสียงที่ “ได้ยิน” – เสียงร้องของฝูงนกบินเป็นกลุ่มๆ บินล้อเล่นลมไปมา

เสียงนกนานาชนิดร้องเรียกดัง เบา แหลมบ้าง ทุ้มบ้าง เหมือนนักร้องมาประสานเสียงกันอยู่รอบๆ บึง

ปลุกฮอร์โมนความสุขของทุกชีวิตในบึงแก่นนคร

วัคซีนความสุขที่บึงแก่นนคร

วัคซีนความสุขที่บึงแก่นนคร

เต้นแอโรบิค

เต้นแอโรบิค

ปักหมุดบึงแก่นนคร ขอนแก่น

ปักหมุดบึงแก่นนคร ขอนแก่น

>

บึงแก่นนครมีพื้นที่ 603 ไร่ เป็นที่ลุ่มรับน้ำของเมืองขอนแก่น

ผมได้ยินเสียงผู้คนกำลังเดินสลับกับการวิ่งและเสียงปั่นจักรยาน ผมเดินตามเสียงนั้นไปสะพานข้ามบึงซึ่งเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ชมวิวกลางบึงแก่นนคร

สะพานข้ามบึงนี้สร้างเมื่อปี 2560 หนุ่มสาวหน้าตายิ้มแย้มสดใสมักมาถ่ายเซลฟี่กันบนสะพานชมวิวแห่งนี้

ผม “รู้สึก” ปลอดภัยเมื่อเดินอยู่บนสะพานคอนกรีตเพราะมีราวเหล็กกั้นทั้งสองข้างของสะพาน

ขณะเดินชมก็จะมีเสียงปลาที่กระโดดลอยขึ้นมาตกกระทบผิวน้ำดัง “ตุ๋ม” ทำให้ผมหันหน้าไปตามเสียงนั้น

ปลาส่วนใหญ่เป็นปลานิลซึ่งอยู่ในบึงมานานพอที่พวกมันจะลอยคอส่งเสียงให้ผมและผู้คนที่เดินผ่าน เหมือนจะแปลความหมายว่า

”ยู้ฮู ขอขนมปังโยนมาให้ฉันกินหน่อย”

ใกล้ๆ กับสะพานมีแม่ค้ามานั่งขายขนมปังเลี้ยงปลาและอาหารนก ปลาและนกในบึงเป็นลูกค้าตัวจริงของแม่ค้าที่ช่วยเพิ่มความสุข เพิ่มชีวิตชีวาระหว่างคนกับสัตว์ได้ดี

เสียงเด็กๆ วิ่งเล่นหยอกล้อกัน เสียงหัวเราะสนุกสนานกับเครื่องเล่นกลางแจ้ง

บ้างก็มีพ่อแม่จูงลูกจูงหลานเดินกันไปที่สนามเด็กเล่น

หนุ่มสาวออกกำลังกาย ตามลานเครื่องออกกำลังกายยืดเหยียด และคนสูงวัยก็นั่งจับกลุ่มคุยกัน

ผม “สัมผัส” บรรยากาศเหล่านี้ได้ทั่วไปในบึงแก่นนคร

โฮงมูนมัง มรดกขอนแก่น

โฮงมูนมัง มรดกขอนแก่น

พระนครศรีบริรักษ์ร้อยเรียงลาวไทย

พระนครศรีบริรักษ์ร้อยเรียงลาวไทย

หนานหนิงไทยมิตรภาพเบ่งบาน

หนานหนิงไทยมิตรภาพเบ่งบาน

>>

ผม “เดิน” มาแวะเยี่ยมชมโฮงมูนมัง มรดกขอนแก่น

“โฮงมูนมัง”สำหรับคนแปลกถิ่นแล้ว คำนี้ใครได้ยินก็คงสะดุดหูและสงสัยว่าหมายถึงอะไร

ภาณุพันธุ์ พันธุ์ใต้ ผู้ช่วยนักประชาสัมพันธ์ได้อธิบายกับผมว่า

“โฮงมูนมังเป็นภาษาท้องถิ่นอีสาน โฮง แปลว่าห้องโถงใหญ่ ส่วนมูนมังคือมรดก รวมกันก็คือห้องเก็บมรดก”

ผมยืนอยู่ที่ขอนแก่นก็เลยถึง “บางอ้อ” ทันที

เขาบอกว่าโฮงมูนมังเปิดบริการให้เข้าชมเมื่อปี 2546 เปิดทุกวันเวลา 9.00 น.ถึง 17.00 น. หยุดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์

เริ่มจุดแรกผมเข้าไปดูโซนที่หนึ่ง แนะนำผ้าไหมโบราณของอำเภอชนบทที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดขอนแก่น มีลวดลายการทอผ้าไหมที่สวยงามและหลากหลาย ผ้าทอมือที่มีชื่อเสียงของอำเภอชนบทคือผ้าไหมมัดหมี่ลายหมี่กง ลายขันหมากเบ็ง ลายเชิงเทียน ซึ่งเป็นการทอแบบสามตะกอ ทำให้เนื้อผ้าแน่น สีผ้าด้านหนึ่งจะทึบมากกว่าอีกด้าน สีเอกลักษณ์คือแดง เขียว ม่วงและ สีเม็ดมะขาม

โซนที่สองเป็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณ จัดแสดงฟอสซิลไดโนเสาร์จำลอง เป็นก้อนกระดูกสี่เหลี่ยมหลายๆ ชิ้นฝังอยู่บนพื้นทราย พบที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2519 มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า”ฟอสซิลไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน”เป็นไดโนเสาร์กินพืชคอยาว

มุมถัดไปมีจำลองตั้งศาลปู่ตาซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านและจัดทำบุญทุกปี

ผมได้สัมผัส “โฮงฮด” ที่ใช้ในพิธี”ฮดสรง” คือพิธีสรงน้ำพระที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์

“โฮงฮด” รูปร่างเป็นรางไม้ยาวฉลุลายเป็นตัวพญานาค รางใช้เป็นทางให้น้ำไหลจากส่วนหางที่ยกสูงลงไปทางส่วนหัวของพญานาค ซึ่งเป็นที่พระผู้ใหญ่มานั่งรดน้ำอบน้ำหอม จากรูที่เจาะไว้ใต้คางพญานาคน้ำจะไหลลงรดบ่าของพระที่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์พอดี

ใกล้ๆ กันเป็นบ้านทรงไทยอีสาน ยกพื้นสูงเป็นใต้ถุน และมีบันไดพาดเป็นทางขึ้นลงบ้าน มีตุ่มน้ำไว้ล้างเท้า ข้างบนบ้านแบ่งเป็นห้องแรกจากซ้ายไปขวาเรียกว่า “เปิง” คือห้องพระ ถัดไปเป็นห้องของพ่อแม่ และห้องสุดท้ายของลูกสาวอยู่ เรียกว่า “ซ่วม” ส่วนห้องน้ำห้องส้วมจะไม่มีในบ้าน ก็ต้องเข้าป่าหรืออาบน้ำในลำคลอง ห้องครัวจะอยู่ตรงชานบ้าน

ผมพบผังของพระธาตุขามแก่นจำลอง “ได้สัมผัส” องค์พระธาตุทรงสูงยาวเรียวคล้ายดอกบัวบนฐานสี่เหลี่ยม มีกำแพงกั้นอาณาเขตสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นสถานที่เคารพสักการะของชาวขอนแก่น

ถัดไปเป็นหมอชาวบ้านมีสมุนไพรและอุปกรณ์ต้มยา บดยา ซึ่งมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าควรเก็บยาในวันอังคาร

และขณะเก็บสมุนไพรต้องหันหน้าไปทิศเหนือ อย่าเหยียบเงาจะทำให้ยาเสื่อม

“เดิน” ต่อไปอีกถึงโซนที่สาม

ความเป็นมาของเมืองขอนแก่นที่เริ่มตั้งเมืองมาตั้งแต่ 200 กว่าปีก่อน ท้าวเพียเมืองแพนอพยพจากลาวมาตั้งถิ่นฐานที่ขอนแก่น เมื่อมีสงครามหรือกันดารก็จะย้ายเมืองไปมาหลายครั้ง เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งนางคำแว่นเป็นพระสนมซึ่งนางเป็นพี่น้องกับท้าวเพียเมืองแพน จึงทรงแต่งตั้งท้าวเพียเมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรกด้วย ปัจจุบันยังมีอนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ ตั้งอยู่ที่ริมบึงแก่นนคร
ถัดไปเป็นพิธีเชิญช้างเผือกบอกเจ้าป่าเจ้าเขา ”บือบ้าน” คือหลักบ้าน เป็นเสาสูง ๒ เมตรมีลวดลายที่หัวเสา สมัยโบราณเวลาจะตั้งชุมชนก็ต้องมี “บือบ้าน” ตั้งปักหลักไว้ “บือบ้าน” ที่ตั้งไว้นี้ได้มาจากจังหวัดมหาสารคาม

โซนที่สี่

เป็นวิถีชีวิตคนขอนแก่น มีหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้ามาค้าขาย ภายในตลาดจำลองมีแผงขายพืชผักผลไม้ ร้านกาแฟโบราณ เกวียนเทียมโคสองตัวเป็นพาหนะขนย้ายคนและสิ่งของ

เกวียนไม้มีที่นั่งทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขอบรั้วกั้นคนหรือสิ่งของตกไว้สามด้าน ด้านไม่มีขอบรั้วเป็นที่นั่งของคนบังคับโคเทียมเกวียน ข้างหน้าคนบังคับมีคานไม้เทียมโคซ้ายและขวา มีสลักไม้และเชือกสนตะพายโค เกวียนมีล้อไม้วงกลมสองข้างหมุนด้วยแกนเพลาไม้ซึ่งอยู่ใต้ที่นั่งของเกวียน

“เดิน” ถัดไปเป็นเรื่องประเพณี “ฮีตสิบสองคลองสิบสี่”

ฮีตสิบสอง คือประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน

คลองสิบสี่ คือแนววิถีที่ควรต้องปฏิบัติ 14 ประการ เปรียบได้กับกฎหมายที่ต้องทำตามอย่างเข้มงวด ซึ่งมีทั้งพิธีของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ พระภิกษุสงฆ์และประชาชนทั่วไป
“ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่” จึงเป็นภูมิปัญญา มรดกอันล้ำค่าของอีสาน ได้แก่

ฮีต บุญเข้ากรรม (บุญเดือนอ้าย) หรือเดือนเจียง ประกอบพิธีบุญเข้ากรรมให้พระสงฆ์สารภาพการกระทำผิดต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องและมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ชาวบ้านก็จะทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ

ฮีต บุญคูณลาน เดือนยี่ (เดือนสอง) ในฤดูหลังการเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน โดยนิมนต์พระสวดมนต์เย็นเพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน

ฮีต บุญข้าวจี่ (เดือนสาม) ในมื้อเพ็งหรือวันเพ็ญเดือน ๓ ปั้นข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อยไปจี่บนไฟอ่อน แล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระในตอนเช้า

ฮีต บุญเผวสหรือบุญมหาชาติ (เดือนสี่) งานทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ และถวาย “กัณฑ์หลอน” หรือถ้าถวายเจาะจงเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์ก็เรียกว่า “กัณฑ์จอบ” เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อนว่าใช่พระรูปที่จะถวายเฉพาะเจาะจงหรือไม่

ฮีต บุญสงกรานต์ (บุญเดือนห้า) เดือนห้า ประเพณีตรุษสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำหรือบุญเดือนห้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทย สรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยน้ำอบน้ำหอมเพื่อขอขมาและขอพรตลอดจนทำบุญถวายทาน

ฮีตบุญบั้งไฟ (บุญเดือนหก)และบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟขอฝนพร้อมกับงานบวชนาค เป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านเจ้าภาพจะจัดอาหารเหล้ายามาเลี้ยง มีขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้

ด้วยความสนุกสนานซึ่งแสดงออกไปทางเรื่องเพศแต่จะไม่คิดเป็นเรื่องหยาบคายแต่อย่างใด

ฮีตบุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด) ทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ เซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

ฮีตบุญเข้าพรรษา (เดือนแปด) การจัดงานคล้ายกับภาคอื่นๆ ตอนบ่ายจะหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดพรรษา มีขบวนแห่ฟ้อนรำนำไปถวายวัดเพื่อความคึกคักสนุกสนาน

ฮีตบุญข้าวประดับดิน (เดือนเก้า) นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับและผีไร้ญาติ การจัดอาหารถวายเพลประกอบด้วยข้าว ของหวาน หมากพลู บุหรี่ห่อด้วยใบตองกล้วยร้อยเป็นพวง บางแห่งอาจนำห่อข้าวน้อย เหล้า บุหรี่ ไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ กล่าวเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับมารับส่วนกุศลครั้งนี้

ฮีตบุญข้าวสาก (เดือนสิบ) หรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๐ ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของกิน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ

ฮีตสิบเอ็ด (เดือนสิบเอ็ด) บุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน ๑๑ พระสงฆ์จะแสดงอาบัติทำการปวารณา เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน ตกกลางคืนจะจุดประทีปโคมไฟไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด จึงเรียกอีกอย่างว่า “บุญจุดประทีป” ในจังหวัดนครพนมจะมีประเพณีการไหลเรือไฟสวยงามกลางลำน้ำโขง และหลายจังหวัดจะจัดงานแห่ปราสาทผึ้ง

ฮีตสิบสอง (เดือนสิบสอง) บุญกฐิน เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าซึ่งจะทำบุญกองกฐิน เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ แต่ชาวอีสานสมัยก่อนนิยมเริ่มทำบุญกันตั้งแต่ข้างขึ้นเดือน ๑๒ จึงมักเรียกว่า “บุญเดือนสิบสอง” สำหรับประชาชนตามริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล จะจัด “ส่วงเฮือ” (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึงอุสุพญานาค บางแห่งจะทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าห่มกันหนาวถวายพระเณร มีการจุดพลุตะไล และบางแห่งจะทำบุญโกนจุกลูกสาวซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน

แล้วผมก็เดินมาถึงโซนที่ห้า ขอนแก่นวันนี้

เกี่ยวกับบุคคลสำคัญทางศาสนา – สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาบ) วัดศรีจันทร์ บุคคลสำคัญทางการเมือง – จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาหมอลำ – นายแคน ดาหลา ศิลปินผ้ามัดหมี่ไทย – นายสงคราม งามยิ่ง ศิลปินหมอลำซิ่ง – ราตรี ศรีวิไล

เดินถัดไปจะมีแสดงโกศไม้แกะสลักทรงสูง แสดงถึงฐานะของเจ้าของโกศ

กวนอิมสงบสุขแด่จีนไทย

กวนอิมสงบสุขแด่จีนไทย

วัดเสาเดียว เกลียวสัมพันธ์เวียดนามไทย

วัดเสาเดียว เกลียวสัมพันธ์เวียดนามไทย

เจ้าแม่สองนาง ตำนานลาวไทย

เจ้าแม่สองนาง ตำนานลาวไทย

>>>

เดินชมโฮงมูนมังเสร็จแล้วผมก็ได้ออกมาเดินชม “สวนหนานหนิงและศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน”

เทศบาลนครขอนแก่น กับเทศบาลนครหนานหนิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เปิดศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน และสวนมิตรภาพเชื่อมสัมพันธ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเมื่อปี 2561

นครหนานหนิงนั้นอยู่ในมณฑลกวางสีมีอาณาเขตติดกับประเทศเวียดนาม

คุณธนวัฒน์ ภัณฑรักษ์หนุ่มได้พาผมนำชมวัตถุโบราณ

เริ่มต้นจากกลองมโหระทึกซึ่งหน้ากลองทำจากทองแดงมีลายรูปสัตว์สามชนิด คือ ม้า เต่า กบ เชื่อว่าจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ถัดไปมีลูกจ้วงหกลูก แต่ละลูกมีพู่ห้าพู่ ผู้หญิงใช้โยนเสี่ยงทายเลือกคู่ ชายใดรับได้ก็จะได้แต่งงาน ภาพวาดลายเส้นพู่กันจีนรูปไก่ นกอินทรีย์บนกระดาษสา รูปปั้นนักรบจำลองจากสุสานจิ๋นซี

ของแปลกพิเศษ คือใบไม้สีเขียวคล้ายใบต้นตะขบ ซึ่งแม้ใบจะร่วงหล่นลงพื้นดินแล้วก็ยังเขียวตลอดไป มีเฉพาะที่หนานหนิง

จากนั้นผมได้เดินขึ้นไปชมชั้นสองของอาคาร

มีรูปปั้นเสือทองคู่กับมังกรใช้เป็นสัญลักษณ์ของการออกรบ เรือสำเภาจีน ตะกร้าไม้จักสานมีฝาทรงกลมปิดมีด้ามไว้หาบด้วยคาน รูปปั้นกวนอูเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ เจดีย์ทองเจ็ดชั้นใช้กักขังสิ่งอัปมงคล สุดท้ายคือแจกันใบใหญ่ลายโป๊ยเซียน ลวดลายงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน

แล้วผมก็ออกมาเดินในสวนหนานหนิง

“เงยหน้า” ขึ้นไปทางใบหน้าของรูปปั้นองค์เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งหันพระพักตร์ไปทางบึงและอยู่ตรงข้ามกับเจดีย์เก้าชั้นของวัดหนองแวง พระอารามหลวง

ผมยืนไหว้ สวดมนต์ และอธิษฐาน

จิตใจรู้สึกสงบสุข

“รอยยิ้ม” ของเจ้าแม่กวนอิมทำให้ผมรู้สึกถึงความเมตตาที่มีแก่ผม และผู้คนที่นั่งพักผ่อนบนเก้าอี้หินเรียงรายบริเวณด้านหน้าองค์ท่าน

เจ้าแม่กวนอิมองค์นี้สร้างเมื่อปี 2545 โดยสมาคมปึงเฒ่ากง-ม่า ขอนแก่น

องค์เจ้าแม่กวนอิมแกะสลักด้วยหินสีเหลืองทรายทอง แกนในมาจากภูเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี

จากนั้นผมเดินไปชมวัดเสาเดียว เกลียวสัมพันธ์เวียดนามไทยที่เทศบาลนครขอนแก่นร่วมกับกงสุลเวียดนาม และชาวไทยเชื้อสายเวียดนามร่วมทุนสร้าง

รูปแบบสถาปัตยกรรมของ เก๋งจีน ตั้งบนเสาต้นเดียวคล้ายรูปดอกบัว จำลองมาจาก “วัดเสาเดียว” ประเทศเวียดนาม ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม เพื่อให้ประชาชนสักการะกราบไหว้และขอพร
จุดหมายต่อไปคือการไปสักการะบูชาศาลเจ้าแม่สองนาง ตำนานลาวไทย

เล่ากันว่าเจ้าแม่สองนางเป็นสองพี่น้อง ธิดาของกษัตริย์แห่งลาว มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นว่า “บัวบน” (พี่) กับ“บัวบาน” (น้อง) ทั้งคู่อพยพหนีภัยสงครามมาตามลำน้ำโขงและประสบอุบัติเหตุเรือล่มเสียชีวิต เพราะถูกพญานาคพาไปเป็นเมีย หลังจากนั้นทั้งคู่ก็กลายเป็นพญานาคี ทำหน้าที่คอยปกปักรักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขง

ผมเข้าไปกราบไหว้เจ้าแม่สองนางเพื่อขอพรให้การเดินทางของผม ราบรื่น และปลอดภัย ตลอดไป

ห้องสมุดเด็กสวนดอกคูน

ห้องสมุดเด็กสวนดอกคูน

kaennakorn13

>>>>

ออกจากศาลเจ้าแม่สองนาง ผมเดินข้ามสะพานไปยัง “ห้องสมุดเด็กสวนดอกคูน” ซึ่งอยู่ในสวนดอกคูณอันร่มรื่น เน้นบรรยากาศที่ปลอดโปร่งท่ามกลางธรรมชาติ
นายพีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้กล่าวไว้ว่า

“ห้องสมุดทั่วไป พบว่าเป็นห้องสมุดที่มีตู้หนังสือเรียงราย โดยส่วนใหญ่จะเน้นให้บริการแก่วัยผู้ใหญ่เป็นหลัก แต่กลับไม่ได้เน้นหรือเอื้อกับเด็กเท่าที่ควร อีกทั้งการจัดการและสภาพแวดล้อมในห้องสมุดส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก”

ด้วยเหตุนี้ห้องสมุดเด็กสวนดอกคูนแห่งนี้จึงสร้างเป็นศาลาพักผ่อนสองหลัง เชื่อมกันด้วยลานไม้ เป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้และสร้างจินตนาการของเด็กด้วย
คุณณัฐจิตตา เจ้าหน้าที่คนสวย เสียงดังฟังชัดประจำห้องสมุด ได้พาผมชมห้องสมุดที่เน้นสภาพแวดล้อมเป็นธรรมชาติ อากาศปลอดโปร่ง มีทั้งหนังสือเด็กและหนังสือทั่วไปจำนวน 30,000 กว่าเล่ม ให้บริการแก่สมาชิกยืมได้ครั้งละสี่เล่มต่อสัปดาห์ ถ้าเป็นสมาชิกวีไอดีจะยืมได้ ๑๐ เล่มต่อสัปดาห์ ค่าสมาชิก เด็ก 50 บาท/ปี ผู้ใหญ่ 100 บาท/ปี วีไอพี 500 บาท/ปี เปิดเวลา 08.30 น.ถึง 17.00 น.วันอังคารถึงวันอาทิตย์หยุดวันจันทร์”

………………….

เดินจากห้องสมุดสวนดอกคูณจะผ่านลานลีลาศ

ส่วนมากผู้มาเต้นลีลาศจะเป็นกลุ่มสอวอทั้งชายและหญิ

ผมคิดว่าเป็นการออกกำลังกายที่เพลิดเพลินดีเหมือนกัน

ขณะเดินผ่านผม “ร้อง” คลอเพลงเบาๆ ไปกับเสียงดนตรีในสวนจนถึงตลาดสีเขียว

ที่นี่ผม “สัมผัส” กลิ่นหอมของขนมครก ขนมดอกบัวและขนมถั่วแปบ

ผม “จัดเต็ม” อย่างอิ่มอร่อย เพื่อเพิ่มพลังให้กับตัวเองก่อนกลับบ้าน

ได้มาออกกำลังกาย เต้นแอโรบิก เดิน วิ่ง และแวะชมสถานที่ต่างๆ รอบบึงแก่นนคร

แม้จะมีเหงื่อซึมออกมาคลายร้อน แต่สารเอ็นดอร์ฟินก็ได้หลั่งออกมาทั่วร่างกาย

ผม – “อำนาจ Blind พิราบขาวกลางกรุง” รู้สึกถึง “ความสุขที่สัมผัสได้ในบึงแก่นนคร” แล้วเด้อ