Special Scene – #SAVE นักพิทักษ์ “ปอด” วันที่ผืนป่าหายใจเป็นเปลวเพลิง
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์

ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, เพียงตะวัน พุทธา

สถานการณ์ที่ผู้คนตื่นโรคอุบัติใหม่ COVID-19 ทำลายปอด

บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการติดแฮชแทค #SAVE ชีวิต

อีกมุม เปลวเพลิงกำลังผลาญป่าทำลาย “ปอดของประเทศ”

และเจ้าหน้าที่ยังดับไฟโดยขาดแคลนอุปกรณ์ #SAVE ชีวิต

ชวนคุยกับ นิคม พุทธา เผื่อปัญหาไฟป่าจะสำคัญเท่าไวรัส

:: วันที่ผืนป่าหายใจเป็นเปลวเพลิง ::

ปลายเดือนมีนาคมเกิดวิกฤตไฟป่า “ดอยสุเทพ-ปุย”

เหตุจากไฟไหม้เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๓ เจ้าหน้าที่พบชายสัญชาติพม่าบริเวณใกล้ด้านหลังน้ำตกมณฑาธารในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ้างว่าแอบเข้าป่าเพื่อนอนพักแล้วจุดธูปเทียนไล่ยุง แม้จะดับสนิทแล้วแต่เช้าวันต่อมาก็เกิดไฟปะทุไหม้พื้นที่ป่าอีกครั้งบริเวณด้านหลังน้ำตกมณฑาธาร คราวนี้แม้มีบางจุดดับลงแต่กลับปะทุขึ้นใหม่อีกหลายรอบ จนวันนี้เจ้าหน้าที่ในเชียงใหม่ทั้งทหารจากมณฑลทหารบกที่ ๓๓ กองบิน ๔๑ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อาสาสมัครจะระดมกำลังดับไฟทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ทั้งภาคพื้นดินและนำเฮลิคอปเตอร์ขนน้ำจากอ่างแก้วในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปโปรยก็ไม่อาจดับไฟได้หมดเพราะภูเขาสูงชัน กระทั่งไฟป่าลุกประชิดข้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ มีเสียงปะทุของไฟและกิ่งไม้ดังกึกก้อง คราด จอบ เสียม เท่าที่จะหาได้ถูกนำไปช่วยสกัดไฟ รถดับเพลิงของเทศบาลตำบลก็เร่งฉีดน้ำจนควบคุมไฟได้ในที่สุด แต่เพลิงที่โหมอยู่บนดอยสุเทพ-ปุยยังคงดำเนินต่อ ท่ามกลางความเสียหายไปกว่า ๒,๔๐๐ ไร่ กระทบต่อคุณภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่เป็นค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงถึง ๑,๐๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“อยากไปช่วยดับไฟที่ดอยสุเทพ แต่ก็ต้องอยู่เฝ้าระวังที่ดอยหลวงเชียงดาว”

นิคม พุทธา ส่งข้อความขึ้นเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๓

savefire01

เขาว่าช่วงนี้ดอยหลวงเชียงดาวก็เกิดไฟป่า ทั้งเจ้าหน้าที่และชาวหมู่ ๕ บ้านถ้ำ ในตำบลเชียงดาวต่างช่วยกันดับไฟจนดึกดื่น ด้วยเกรงว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หนักเหมือนช่วงมีนาคม-เมษายนปีที่แล้ว

“โดยเฉพาะช่วงวันที่ ๒๗-๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ จำได้ว่าเกิดไฟป่าและหมอกควันรุนแรงมาก ผมอยู่บ้านเปิดหน้าต่างนอนไม่ได้เลย ถ้าเปิดก็กลายเป็นนอนรมควัน คืนวันที่ ๓๐ ผมเห็นไฟไหม้ดอยหลวง เช้าวันต่อมาจึงขับรถไปดูใกล้ๆ ว่าเกิดเหตุตรงไหนบ้าง บริเวณนั้นเป็นเนินภูเขา หน้าถ้ำ ขนาดว่าเวลานั้นสายแล้วราว ๘-๙ โมง ผมเอามืออังแดดยังเห็นเป็นแสงสีเหลืองอย่างกับไฟ ๑๐ วัตต์ นั่นเป็นเพราะฝุ่นควันหนามาก ยิ่งวันที่ ๓๑ มีนาคม ไฟไหม้ดอยหลวงทั้งวันทั้งคืน จนวันที่ ๑ เมษายน ถึงมีเจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยจากหน่วยดับไฟป่าของกรมป่าไม้มาพร้อมอุปกรณ์ที่มีแค่ไม้ตบไฟ ไม่มีเครื่องเป่าลมดับไฟอะไรเลย ข้าวปลาอาหารมื้อเที่ยงก็ไม่ได้พกกันมา ผมจึงโทรบอกทีมงานที่ค่ายเยาวชนเชียงดาวให้ช่วยจัดหาข้าวเหนียวและไก่ที่มีขายในตลาดเชียงดาวมาได้ ๘๐ ห่อ แจกเจ้าหน้าที่”

savefire02

ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิงและผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาวเล่าในวันที่เราพบกันเมื่อปีที่แล้ว ขณะขออนุญาตค้นรูปเหตุการณ์ไฟป่าแถวบ้านในตำบลเชียงดาวที่เขากับลูกชายบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์

กวาดตาเจอหลายอัลบั้มที่ตั้งชื่อง่ายๆ ตามบริเวณเกิดเหตุ อย่างไฟป่าเมืองงาย ไฟไหม้ดอยหลวง ไฟไหม้ดอยหลวงหน้าบ้าน ไฟป่าผาปล่อง เดินป่าหน้าแล้ง ฯลฯ

“ผมมีโอกาสทำงานกับป่ามานานจึงพอรู้โครงสร้างและเข้าใจหน้าที่ของป่าแต่ละส่วน อย่างดอยหลวงเชียงดาวถ้าเราจะวางโครงสร้างแบบทรงพีระมิดก็สามารถแบ่งได้ ๔ ส่วน ตามลักษณะความสูงของภูเขาและระดับน้ำทะเล ป่าด้านบนสุดของภูเขาหินปูนเป็น ‘สังคมพืชกึ่งอัลไพล์’ ที่มีพวกพืชไม้แคระ บริเวณยอดดอยนี้ถ้าไม่มีใครตั้งใจจุดไฟเผาก็มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ เพราะไม่มีพืชพรรณไม้ใหญ่อย่างไผ่มาเสียดสีแน่ หากจะมีก็เหลือเพียงฟ้าผ่า ส่วนที่ถัดลงมาจากสังคมพืชกึ่งอัลไพล์คือต่ำกว่าระดับ ๒,๐๐๐ เมตร เป็นระบบนิเวศทุ่งหญ้าที่กำลังฟื้นตัวเป็น ‘ป่าดิบเขา’ บริเวณนี้จะมีความชื้นอยู่แล้วฉะนั้นโอกาสที่ไฟจะไหม้เองโดยธรรมชาติจึงแทบไม่มีเหมือนกัน ส่วนระดับที่อยู่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ เมตรลงมา ที่เรียกว่า ‘ป่าเบญจพรรณในที่สูง’ บริเวณนี้จะเป็นพวกป่าไม้สน ไม้เกี๊ยะ ซึ่งมีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยเนื่องจากพืชเหล่านี้มีน้ำมันจึงง่ายต่อการติดไฟ และสุดท้ายคือส่วนที่ผมเปรียบว่าเป็นฐานพิระมิดจะอยู่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า ๘๐๐ เมตรลงมาเป็น ‘ป่าเบญจพรรณ’ ที่มีไม้ไผ่ ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ แพร่กระจายอยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างกว้างจนเป็นลักษณะเด่นของดอยหลวง บริเวณนี้ก็เกิดไฟไหม้ง่ายเช่นเดียวกับบริเวณที่อยู่ต่ำลงมาเป็น ‘ป่าเต็งรัง’ ที่มีไม้จำพวกไม้ตึง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง ขึ้นเป็นหย่อมบริเวณสันดอย แต่ปรกติแล้วพอไหม้เข้าไปถึงบริเวณหุบเขาหรือป่าดิบชื้นซึ่งมีความเขียวขจีชุ่มชื้นไฟก็จะดับเอง”

savefire03 savefire03 2 savefire03 3

ชายนักอนุรักษ์-อดีตเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชวนสังเกตว่าสถานการณ์ไฟไหม้ป่าภาคเหนือในระยะหลังต่างจากสมัยก่อนที่เคยมีจุดเริ่มจากการเผาพืชที่แปลงเกษตรของชุมชน

“อย่างปี ๒๕๖๓ นี้ตอนแรกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมยังเกิดไฟไหม้อยู่รอบนอกป่าสงวนและไหม้ตามบริเวณที่อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน แต่พอช่วงกลางเดือนมาจนปลายเดือนมีนาคมกลับเป็นการไหม้ในป่าอนุรักษ์อย่างพื้นที่บนภูเขาสูงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไล่มาตั้งแต่ดอยอินทนนท์ ดอยสุเทพ ดอยเชียงดาว แม้ตอนนี้ไฟยังไม่ขึ้นไปถึงยอดดอยหลวงเชียงดาวแต่ก็ไหม้อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์อยู่ดี สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการเกิดเพลิงไหม้โดยมีใครเจตนาเข้าป่าไปจุดไฟเผา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการความขัดแย้งในเชิงนโยบายระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่ห้ามชาวบ้านทำธุรกิจที่พักลุกล้ำผืนป่าและห้ามชาวบ้านเข้าไปเก็บของป่าซึ่งสำหรับชาวบ้านที่ยากจนป่าเป็นทั้งแหล่งอาหารตามฤดูกาลของเขา ยังมีไม้ไผ่ ใบตอง อะไรอีกมากมายที่พวกเขาสามารถนำมากิน ใช้ ขาย พอถูกห้ามเข้าป่าโดยบังคับด้วยกฎหมายคนที่เสียผลประโยชน์จึงเกิดความไม่พอใจ สะสมความเคียดแค้นแล้วพอถึงหน้าแล้งก็ล้างแค้นโดยวิธีลักลอบเผาป่า เผาไปหลายๆ ที่เพื่อสร้างความเดือดร้อนคืนเจ้าหน้าที่บ้าง ซึ่งถ้าที่ไหนไม่เป็นข่าวใหญ่โตก็จะมีแต่เจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยหรือลูกจ้างรายวันทำหน้าที่เฝ้าระวัง ลาดตระเวนดับไฟ จนกว่าจะไหม้หนักเป็นข่าวใหญ่จึงจะมีผู้หลักผู้ใหญ่มีสื่อมวลชนให้ความสนใจจนเกิดเป็นการระดมความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ดับไฟหรืออาหารให้เจ้าหน้าที่ ทั้งที่ความจริงช่วงมีนาคมที่ผ่านมานี้เกิดไฟป่าทั่วภาคเหนือและเกิดขึ้นทุกวัน ในเชียงดาวเองก็ไหม้หลายแห่งกระจายกันไป ควบคุมได้บ้างไม่ได้บ้าง เจ้าหน้าที่ก็พยายามเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและกำชับชาวบ้านให้ช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลดอยหลวงเชียงดาวไว้อย่างดีที่สุด เพราะไม่มีใครอยากเห็นไฟไหม้บนยอดดอยหลวงอีกแล้ว”

savefire04 savefire04 2

เขาเสริมเหตุผลที่ไฟไหม้ดอยหลวงเชียงดาวเมื่อปีที่แล้วเป็นข่าวสะเทือนใจมากกว่าที่อื่น

“เพราะที่นี่เป็นถิ่นแพร่กระจายของพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ มีพืชพรรณหลากหลายที่เป็นพืชถิ่นเดียวไม่พบในแหล่งอื่นของประเทศ และมีสถานะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยเฉพาะกวางผาซึ่งใกล้สูญพันธุ์ หากไฟไหม้ชั้นบนสุดซึ่งไม่มีแหล่งน้ำเลยจะทำให้พืชพรรณต่างๆ ฟื้นตัวยาก ถึงฟื้นก็อาจไม่เหมือนเดิม”

ไฟป่าบนภูเขาหินปูนดอยเชียงดาวที่มีอายุ ๒๓๐-๒๕๐ ล้านปี

จึงเป็นความเสียหายทางระบบนิเวศครั้งใหญ่ที่ประเมินค่าไม่ได้

savefire05 9

savefire05 6

savefire05 2

savefire05 3

savefire05

savefire05 4 savefire05 5

savefire05 7 savefire05 8

:: ป่าปลูกมนุษย์ ::

“คนเมืองมีเครื่องฟอกอากาศ คนบ้านนอกมีแค่ขนจมูก”

สิ่งที่นิคมตั้งใจสะท้อนคือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ลึกลงไปคือความเข้าไม่ถึงหัวใจ เป็นปัญหาใหญ่กว่าไฟป่า PM 2.5 หรือไวรัสใด

“ครั้งหนึ่งที่ยืนมองไฟไหม้อยู่คนเดียวหน้าดอยหลวงเชียงดาว ผมก็เห็นแต่หมอกกับควันไฟ แต่พอถอยห่างออกมาแล้วได้เห็นท้องฟ้า เห็นดิน เห็นสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมทำให้ผมฉุกคิดในอีกแง่มุมว่าสิ่งที่เกิดก็เป็นดั่งการขับเคลื่อนของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราต้องเข้าใจและเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับธาตุทั้งสี่นั้น สิ่งต่างๆ ไม่ได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาบางปีก็แล้ง บางปีก็มีน้ำหลาก ดินถล่ม เกิดมรสุมพายุต่างๆ เพียงแต่วันนี้เรามองในมิติระยะใกล้จึงไม่เห็นความสมดุล”

ไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกปีก็เช่นกัน ถ้าเข้าใจสัจธรรมก็จะช่วยคลี่คลายความเครียดได้มากขึ้น

“ชาวบ้านเขาก็มีความจำเป็นต้องเผาไร่เพื่อยังชีพ พอถูกห้ามเผาก็หันมาใช้ยาฆ่าหญ้า มันก็จะซึมลงดิน ล่องลอยในอากาศ ไหลไปกับสายน้ำ เป็นปัญหามลพิษสะสมอีก หรือการสร้างมาตรการห้ามเผา ๖๐ วัน ให้ชาวบ้านอั้นไว้แทนที่จะได้ทยอยเผาก็กลายเป็นพอหมดระยะห้ามเขาก็จะเร่งเผาให้ทันก่อนฝนมา โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องปลูกข้าวไร่ พอเจอปีที่แล้งจัดต่อเนื่อง ความชื้นที่สะสมไว้หมด ไฟป่าจึงรุนแรงมาก แต่ถ้าสามารถควบคุมไม่ให้ขยายขอบเขตไปที่อื่นได้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร”

ประสาคนเมืองยังสงสัย หากเข้าใจก็ต้องยอมรับการเกิดไฟป่าทุกปี

แล้วก็ต้องทำแนวกันไฟ ปลูกป่าทุกปีเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือ

แต่คนพื้นที่ยิ้ม คล้ายพยายามเข้าใจคนเมืองที่ห่างไกลวิถีกสิกรรม

“จะรักษาดอยหลวงเชียงดาวจำเป็นต้องรักษาป่าที่อยู่รายรอบด้วย”

อดีตหัวหน้าโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในยุคบุกเบิกฟื้นฟู “เขาแผงม้า” จากเขาหัวโล้นให้กลับมาเป็นบ้านของกระทิงชี้ความเข้าใจ

“ที่เชียงดาวมีชาวชุมชนอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์ฯ หลายกลุ่มมีจิตสำนึกรักษาป่าอยู่แล้วเพราะพวกเขาก็ได้ประโยชน์จากป่าอุดมสมบูรณ์ การป้องกันปัญหาในช่วงที่ไม่เกิดวิกฤตจึงต้องอาศัยวิธีทำงานร่วมกับชุมชน ชาวบ้านเขาทำเกษตรเลี้ยงสัตว์ย่อมรู้ดีว่าในชุมชนมีร่องน้ำอยู่ตรงไหน ร่องน้ำไหนที่แล้งน้ำก็ต้องนำกล้วยป่าไปปลูกเสริมรอบพื้นที่ ใช้คุณสมบัติของต้นกล้วยช่วยกักน้ำและคายความชื้น ทั้งจากน้ำในแอ่งและน้ำในอากาศ ทุกปีผมจะพาเยาวชนลูกหลานพวกเขาปลูกกล้วยน้ำว้าคั่นไร่ของชาวบ้านกับพื้นที่ป่ายาวตลอดแนวตีนดอย เป็นแนวกันไฟในตัว เวลาปรกติก็ได้กินใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเมื่อเกิดการเผาไร่ ไฟจะไหม้แค่ต้นกล้วยแล้วหยุด ไม่ลามเข้าป่า การทำงานร่วมกับชาวบ้านมันได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ชาวบ้านคือผู้ให้ข้อมูลชุมชนที่ดีและเต็มใจเป็นอาสาสมัคร จะรักษาดอยหลวงเชียงดาวจึงไม่อาจดูแลเฉพาะพื้นที่สำคัญบางส่วนได้ ต้องรักษาผืนป่าชุมชนที่รายล้อมดอยหลวงด้วย”

savefire06

และบางทีสิ่งที่แก้ไขยากกว่า อาจคือทัศนคติของคนภายนอก

“ทุกปีผมยังจัดกิจกรรมเปิดรับอาสาสมัครไปเก็บขยะที่ตกค้างอยู่บริเวณอ่างสลุง ยอดดอย กิ่วลม ปี ๒๕๖๑ ได้ขยะ ๑๗๒ กิโลกรัม ปลายปีตอนปิดฤดูกาลท่องเที่ยวผมจึงทำหนังสือขออนุญาตหัวหน้าเขตอีกเพื่อนำจิตอาสา ๓๐ กว่าคนไปเก็บขยะมาได้ ๑๖๓ กิโลกรัม ที่ได้มากขนาดนี้เพราะแหล่งขยะที่ผมพาไปเก็บไม่ใช่แค่สองข้างทางขึ้นภูเขา แต่เป็นขยะที่ได้จากการขุดคุ้ย ลองนึกภาพบนดอยหลวงที่มากไปด้วยพุ่มไม้ใบหญ้า โขดหิน ร่องหลุมต่างๆ นั่นล่ะคือพื้นที่ของขยะตกค้างที่พวกเราไปขุดแคะออกมา แรกๆ จิตอาสาบางคนก็รังเกียจขยะโสมมบางอย่างและก่นด่าคนทิ้ง ผมจึงให้พวกเขาลองเปลี่ยนทัศนะใหม่ว่าไม่ต้องโกรธเกลียดคนทิ้งเพราะอย่างไรก็ทิ้

แล้ว ภารกิจของเราคือทำดอยหลวงให้สะอาดเพื่อช่วยเหลือธรรมชาติ สัตว์ป่า ต้นน้ำ เมื่อเราเชื่อกันว่าน้ำที่ไหลหลากจากดอยหลวงคือน้ำศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเรามีส่วนทำให้แหล่งน้ำสะอาดก็เป็นกุศล พอวิธีคิดเปลี่ยนเขาจะรู้สึกอยากเก็บขยะให้ได้เยอะๆ มันช่วยให้พวกเขาเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น”

savefire07 2 savefire07

และแม้เหตุการณ์ไฟไหม้ดอยหลวงเชียงดาวปี ๒๕๖๒ สงบลง

นิคมยังจัดกิจกรรมปลูกป่าต่อเนื่องที่ป่าชุมชนบ้านป่าบงขนาด ๑,๓๐๐ ไร่

บริเวณนั้นมีแนวเขตติดกับผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งที่ผ่านมามักถูกลักลอบตัดไม้ บุกรุกแผ้วถางให้เกิดไฟไหม้ทุกปีจนกลายเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ชาวชุมชนจึงร่วมกันขอเป็นผู้ฟื้นฟูอีกครั้งและได้รับสถานะทางกฎหมายให้เป็นป่าสงวนที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ชาวบ้านป่าบงในตำบลแม่นะของอำเภอเชียงดาวจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ตั้งอยู่ไม่ห่างจากที่ทำการของค่ายเยาวชนเชียงดาวนัก

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีผู้สนใจหลากวัยหลายอาชีพจากทั่วประเทศมาร่วม มีชาวบ้าน ๕๐-๖๐ คน จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ กล้าไม้ และปลูกบางส่วนรอ โดยมีนิคม-เจ้าบ้านนำปลูกจิตสำนึกพร้อมฝังความรู้

“ไม้ที่เราจะปลูกวันนี้เป็นไม้ยืนต้นพื้นถิ่น อย่างขี้เหล็ก มะกอกป่า สมอภิเภก ไว้เป็นที่สะสมอาหารและกักเก็บน้ำให้สัตว์ป่า รู้ไหมครับสมอภิเภกนี่อายุยืนมาก เราตายและเกิดใหม่ ๓ ครั้ง ถ้าเราได้เกิดน่ะนะ ต้นสมอภิเภกก็ยังอยู่ คนปกาเกอะญอใช้เปลือกไม้ย้อมผ้า เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ลูกสมอภิเภกก็เป็นอาหารให้พวกสัตว์กินพืชผลไม้ มีทั้งพวกสัตว์ป่าอย่างกระรอก กระแต และสัตว์เลี้ยงอย่างวัว ควาย ฉะนั้นการปลูกวันนี้เราต้องการคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ผมอยากให้ทุกคนบรรจงวางกล้าไม้ลงดินให้ตั้งตรงไม่ต้องรีบร้อน”

savefire08 savefire08 2

ชายผู้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าแห่งความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากว่าครึ่งชีวิต ชวนให้เราเดินตามไปดูเมล็ดพันธุ์หนึ่งที่กำลังงอกต้นอ่อนอยู่บนผืนดินที่เพิ่งผ่านเพลิงมาไม่นาน ยังปรากฏเถ้าถ่านและสัมผัสได้ถึงกลิ่นความเสียหายแม้เริ่มเจือจาง

“นี่คือต้นมะกอกป่า ผลที่เราใส่ในส้มตำนั่นล่ะ ปรกติแล้วในแต่ละปีหากเกิดไฟป่าในระดับที่ไม่มากเกินไปจะมีข้อดีตรงเป็นการกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์เปลือกหนาได้แทงราก บริเวณนี้มีเมล็ดที่กำลังงอกต้นใหม่เพื่อจะเป็นป่าในอนาคตหลายชนิดเลย อย่างต้นเสี้ยวป่าก็คือตัวอย่างสะท้อนสภาพป่าที่มีการปรับตัว เห็นได้ชัดว่าต้นเสี้ยวนี้มีอายุประมาณ ๑ ปี และถูกไฟไหม้ไปแล้ว แต่ด้วยระบบรากที่แข็งแรงมากทำให้ยังแตกหน่อขึ้นได้อีกแม้ลำต้นจะไหม้ตายไป มันคือการฟื้นตัวของป่าธรรมชาติน่ะ”

เขาชี้การเชื่อมโยงเรื่องความรู้และการจัดการตัวเองของธรรมชาติ

แล้วนำทางไปดูต้นหมากเม่าป่าหลังถูกไฟไหม้ คนถิ่นเหนือนิยมเก็บใบไปทำแกงใส่เห็ดถอบ ยังริดใบหมากเม่าส่งให้เราลองชิมรสที่ออกเปรี้ยวนิดๆ และมีกลิ่นหอมคล้ายผลมะกอก

“ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณหลังถูกไฟไหม้อาจจะสูญเสียเนื้อไม้ แต่เป็นโอกาสที่พืชพรรณหลายชนิดจะได้ผลิตอาหารและยาทั้งพืชผัก ผลไม้ ให้สัตว์ป่าเล็กๆ อย่างตัวนิ่ม มด แมง แมลง ถ้าต้นทุนมันยังอยู่ ปีหน้ามันก็จะออกมาอีก หากเราจะประเมินค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ใช่เนื้อไม้ สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่ามีมูลค่าไม่แพ้ไม้ท่อนนี่ครับ เมื่อก่อนผมจึงคิดว่าในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ อาจปล่อยให้ถูกไฟไหม้บ้างก็ได้ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องแบ่งเป็นแปลง เลือกเวลาเผาตอนเช้าหรือตอนเย็นและต้องมีคนเฝ้าระวัง ถ้าเราเผาเพียงปีละ ๒-๓ ครั้ง เชื้อเพลิงจะไม่สะสม ไฟไหม้แต่ละครั้งก็จะไม่รุนแรงจนเกิดความเสียหายมาก แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าวิธีคิดแบบนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ควรมีพื้นที่ใดเกิดไฟป่าทั้งนั้นเพราะมันนำไปสู่ปัญหา PM 2.5”

savefire09 savefire09 2

ชายผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญวันที่ดอยหลวงเชียงดาวหายใจเป็นเพลิง ชวนให้คนเมืองระลึกถึงป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ผู้ให้กำเนิดสายน้ำแม่ปิงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วแนะนำให้เราเลือกกล้าไม้ที่ชอบสักต้น นำไปปลูกร่วมกับจิตอาสาที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ

แม้ยังไม่แน่ว่าที่ลงแรงปลูกป่า-ทำแนวกันไฟอยู่นี้จะเกิดผลดีจริงหรือ

แต่อย่างน้อย ขณะที่เรากำลังคิดวิธีปลูกป่า ป่าก็กำลังปลูกวิธีคิดเรา

savefire10

:: #SAVE นักพิทักษ์ “ปอด” ::

ปีที่แล้วมีเรื่องราวของชายจิตอาสาคนหนึ่งเป็นข่าวดัง

คือชาวบ้านที่อาสาเฝ้าระวังไฟป่าและช่วยดับไฟให้ดอยหลวงเชียงดาวมาหลายวัน กระทั่งวันหนึ่งขณะเกิดเหตุการณ์ใหญ่ เขาเห็นว่าไฟจากด้านบนภูเขากำลังไล่ลงมาด้านล่างจึงจะใช้หลักการ “ไฟชนไฟ” โดยจุดไฟจากข้างล่างขึ้นไปให้ชนกับไฟข้างบนที่กำลังไล่ลงมา หวังดับไฟให้จบรวดเดียวในคืนนั้น แต่เรื่องไม่เป็นอย่างที่คิด เมื่อชาวบ้านคนนั้นถูกจับไปดำเนินคดีและชาวบ้านที่เหลือได้ระดมทุนเสียค่าปรับให้ด้วยเชื่อในเจตนาดี เกิดเป็นข่าวปากต่อปากออกไปว่าเป็นเพราะคืนนั้นมีนักข่าวและเจ้าหน้าที่รัฐระดับหัวหน้ามากันเยอะ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเชือดไก่ให้ลิงดู

“ช่วงนั้นภาพชาวบ้านจุดไฟเผาแปลงเกษตรหรือผืนป่าเป็นจำเลยของสังคมอยู่แล้ว เมื่อภาพข่าวนั้นเผยแพร่ออกไปเพิ่มจึงยิ่งเป็นการตอกย้ำ อันที่จริงเรื่องหลักการ ‘ไฟชนไฟ’ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การที่ใครจะใช้หลักการนี้เขาต้องรู้จักภูมิประเทศ รู้จักทิศทางของไฟ ซึ่งชาวบ้านเขาหาอยู่หากินกับป่ามาทั้งชีวิตจึงรู้จักสภาพป่าเป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้ไฟไหม้ป่าเชียงดาวบริเวณด้านหลังค่ายเยาวชนฯ ผมรีบขึ้นไปที่เกิดเหตุก็เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว ยังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้หลักการจุดไฟชนไฟเหมือนกันเพราะด้านบนดอยหลวงกำลังลุกไหม้ลงมาด้านล่าง การที่ชาวบ้านจุดไฟจากข้างล่างขึ้นไปชนอีกจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่ผิดเพราะอาจเกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ตรงกลางได้”

savefire11 savefire11 2

เมื่อปากต่อปากส่งข่าวกันไปแบบให้ใจความไม่ครบ จึงเป็นการบั่นทอนชาวบ้านผู้ประสงค์ดี

“ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นยังมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ค้นบ้านชาวบ้านเจอเนื้อเลียงผาอยู่ในตู้เย็นอีก นักข่าวก็ไปนำเสนอว่าชาวบ้านถ้ำอาศัยสถานการณ์ไฟป่าบุกรุกยิงสัตว์ในป่าสงวน แม้เจ้าของบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าลีซูและเป็นเจ้าของรีสอร์ทฟ้าสวยระเบียงดาวจะอธิบายว่ามีคนล่าแล้วแบ่งกินกันไปก่อนค่อยนำส่วนที่เหลือมาขายให้เขา ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังถูกจับในข้อหามีซากสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง เจ้าหน้าที่เองก็ไปบุกจับคนล่านะแต่ไม่ทันแล้ว เหมือนเขารู้และไหวตัวทันเลยหนีไปก่อน ยึดมาได้แค่ของกลางพวกอาวุธล่าสัตว์ แต่ผมว่าคนที่จะยิงเลียงผาได้มันต้องมีปืนกระบอกยาวสิ เพราะต้องยิงกันข้ามยอดดอยเลยนะ และถ้ายิงโดนสัตว์
ตกลงเขาก็ต้องตามลงไปเก็บ ผมเองยังเคยพบปลอกกระสุนอยู่ตามดอยสามพี่น้อง ดอยพีระมิด”

แม้เวลานั้นภาพของชาวบ้านจะกลายเป็นผู้ร้ายเสียมาก ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ยอมจำนนต่อการทำดี

“มีคนตั้งใจช่วยเหลือเหตุการณ์ไฟป่าอยู่หลายกลุ่ม อย่างเครือข่ายกลุ่มรักดอยหลวงเชียงดาว กลุ่มม่วนใจ๋ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว พวกเขาช่วยระดมทุนได้ ๒-๓ ล้านบาท ซื้อเครื่องเป่าลมให้เจ้าหน้าที่นำขึ้นไปใช้ดับไฟป่าได้ ๗๐ เครื่อง แต่กลายเป็นว่าเครื่องนี้ไปกระจุกอยู่กับเจ้าหน้าที่หมด จิตอาสาชาวบ้านที่อยู่รอบดอยหลวงจึงใช้เพียงอุปกรณ์ตามบ้านดับไฟไปตามสภาพ เพราะชาวบ้านไม่กล้าไปยืมเจ้าหน้าที่ อีกอย่างระยะทางระหว่างตัวชุมชนกับสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวอยู่ไกลกัน”

หลายวันที่ฝังตัวอยู่ในเมืองเล็กแสนสงบ มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับ สุรศักดิ์ เก่งกล้า เจ้าของ “โกโก้ โฮม” รีสอร์ทขนาดเล็กในตัวเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มม่วนใจ๋ (กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว) อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่เป็นดั่งธารน้ำใจดับไฟให้ดอยหลวง

savefire12

เขาเล่าถึงโมงยามที่ภาครัฐเมินเฉยต่อปัญหา ซ้ำยังปกปิดข้อมูลเท็จจริง ทำให้ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาสร้างเครือข่าย “เรารักดอยหลวงเชียงดาว” ระดมทุนช่วยเหลือปัญหาไฟป่ากันเอง โดยอาศัยน้ำใจจากจิตอาสาและการสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศจนได้จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น

“เพราะที่ผมเห็นคือเจ้าหน้าที่และจิตอาสาที่ไปช่วยดับไฟต่างมีเพียงสิ่งพื้นฐานอย่างไม้ตบไฟ ถังดับไฟแบบสเปรย์ ผมเคยเห็นตอนเยาวชนในพื้นที่ไปทำกิจกรรมแนวกันไฟรอบบริเวณวัดถ้ำผาปล่อง ซึ่งทางวัดเขาใช้ ‘เครื่องเป่าลม’ เป็นเครื่องทุ่นแรงในการทำแนวกันไฟ โดยเป่าใบไม้ให้กระเจิงเพื่อเปิดทางเว้นระยะไว้ เป็นการจำกัดพื้นที่ของไฟป่าไม่ให้ลุกลามข้ามมาในเขตที่เราต้องการป้องกัน แต่ไม่ใช่เครื่องที่ผลิตมาเพื่อกิจกรรมนี้โดยตรงหรอกครับ เป็นการดัดแปลงจากเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้พ่นเมล็ดพันธุ์หรือพ่นปุ๋ยตามพื้นที่เกษตรนั่นละ ปรากฏว่าเป็นวิธีที่เกิดประสิทธิภาพมาก ช่วยลดการใช้แรงงานมนุษย์ ทำงานได้รวดเร็ว และสามารถช่วยป้องกันไฟป่าให้ทางวัดได้ทุกปี ผมจึงแนะนำให้เจ้าหน้าที่ใช้”

โชคดีที่เขารู้จักตัวแทนขายเครื่องพ่นนำเข้าจากญี่ปุ่น จึงได้รับอนุเคราะห์ให้ซื้อในราคาพิเศษ แล้วทันทีที่เปิดรับบริจาคก็มีผู้สนใจทั่วประเทศให้ความช่วยเหลือ จากที่จะซื้อ ๑๐ เครื่อง แบ่งให้ ๑๐ หน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับเรื่องไฟป่าในเขตพื้นที่เชียงดาวหน่วยละเครื่อง ก็เพิ่มจำนวนได้มากขึ้น

“เครื่องเป่าลมชุดแรกเดินทางมาถึงเชียงดาวในช่วงบ่ายของวันที่ ๓๑ มีนาคม เป็นเครื่องขนาดเล็ก ๓ เครื่อง ขนาดใหญ่ ๙ เครื่อง ทดลองสั่งมาเปรียบเทียบว่าแบบไหนตอบโจทย์การใช้งานในพื้นที่มากกว่า ตอนนั้นไฟป่ามาระลอกสองแล้วตรงบริเวณหน้าถ้ำ ควันหนามาก ทั้งทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัคร และหลายๆ หน่วยงานต่างมาลงพื้นที่ช่วยเหลือ เราจึงนำเครื่องเป่าลมไปช่วยทำแนวกันไฟ ต้องเดินขึ้นเขาไปชั่วโมงหนึ่งกว่าจะได้ทำ สรุปคือเครื่องใหญ่เหมาะแก่การใช้งานมากกว่า กำลังลมแรง และยิ่งใช้น้ำหนักยิ่งเบาเพราะมีแรงดันช่วยในการขับเคลื่อน จึงสั่งซื้อเครื่องใหญ่เพิ่มจนสินค้าที่มีพร้อมส่งหมดเกลี้ยง”

ความตื่นตัวของภาคประชาชนกลายเป็นข่าวใหญ่ ๒ เมษายน ๒๕๖๒ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงเดินทางยังมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ค่ายกาวิละ ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมผู้ปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ไม่ลืมสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจนข้าราชการท้องถิ่นรับนโยบายทำทุกวิธีเพื่อเร่งดับไฟป่าและลดหมอกควันให้ได้ภายใน ๗ วัน รวมถึงให้ทหารกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จัดกำลังพลเพิ่มเพื่อนอนในป่า-เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

“กำนันทั้ง ๗ ตำบลจึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมหมอกควันและไฟป่าขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ ให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง ๘๓ หมู่บ้าน ดูแลความเรียบร้อย หากหมู่บ้านใดมีการเผาเกิดขึ้นผู้ใหญ่บ้านต้องรับผิดชอบ ตอนแรกจึงจะมีนโยบายให้ต้องมีอาสาสมัครหมู่บ้านละ ๒๐ คน เป็นตัวแทนชุมชนคอยดับไฟ โดยเฉพาะชุมชนที่มีแนวเขตประชิดป่ายิ่งต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีค่าแรงตอบแทนให้ แต่หลังประกาศเพียงวันเดียวก็ต้องยกเลิกเพราะไม่มีงบประมาณ สุดท้ายจึงเป็นการตั้งศูนย์ประจำตำบลโดยมีอาสาสมัครแห่งละ ๑๐ คน”

ไม่เพียงเป็นการบังคับให้ประชาชนเป็นนักรบ ยังเป็นการบังคับรบโดยไม่ให้อาวุธป้องกันตน

“กลุ่มม่วนใจ๋จึงแบ่งเงินบริจาคที่ระดมมาไปช่วยเหลือค่าอาหารให้อาสาสมัครทั้ง ๗๐ คน มื้อละ ๕๐ บาทต่อคน เป็นเวลา ๑๕ วัน นับจากวันที่ ๔ เมษายนเป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็เปิดรับบริจาคอุปกรณ์ยังชีพในป่า อาหาร ยา โดยถามความต้องการของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานโดยตรง”

savefire13

เมื่อได้ข้อมูลสิ่งที่ต้องการชัดเจนอย่างอาหารสำเร็จรูปแบบซองพร้อมฉีกกิน (งดรับอาหารกระป๋องหรืออาหารใส่บรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมาก) ข้าวสาร (ควรเป็นข้าวขาวเพราะข้าวกล้องหุงยาก) ผงเกลือแร่แบบซองหรือเกลือหิมาลัย (งดรับสปอนเซอร์และของที่เป็นขวดแก้ว เพราะน้ำหนักเยอะ แบกยาก) เจลว่านหางจระเข้หรือเจลเย็น น้ำยาล้างตา น้ำตาเทียม หน้ากากช่วยบรรเทาฝุ่นควัน ฯลฯ กล่องพัสดุจำนวนมากที่หลายภาคีช่วยกันเปิดรับจึงหลั่งไหลมารวมกันที่สำนักงานของทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

จนตลอดเมษายน ๒๕๖๒ กลายเป็นเดือนแห่งการส่ง “น้ำใจ” ร่วมดับร้อน

มีโอกาสตามดูจิตอาสาง่วนกับการคัดแยกประเภทข้าวของที่ได้รับบริจาค เป็นจังหวะเดียวกับที่ สงกรานต์ จักษุ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว กลับจากปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน-สำรวจความเสียหายของทรัพยากรและสภาพเป็นอยู่ของสัตว์ป่าบนดอยหลวงเชียงดาว แวะเข้ามาทักทายและขอแบ่งอาหารเหลวให้พลังงานสูงที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว

 

savefire14

“ปัญหาสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่บนดอยหลวงคือเรื่องน้ำ พวกเราเข้าป่าที ๓ คืน ๔ วัน เดินทางหลายวันยิ่งต้องเตรียมพร้อม แต่จะขนไปมากก็ไม่สะดวก เพราะระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต้องเคลื่อนย้ายตามจุดต่างๆ อะไรที่ทดแทนได้จึงเป็นการดี อย่างอาหารจะทำอะไรกินทีก็ต้องใช้น้ำเยอะจึงจำเป็นต้องทดแทนด้วยการกินพาวเวอร์ เจล หรือเอนเนอร์จี บาร์ เห็นห่อแค่นี้ให้พลังงานดีมากเลยครับอิ่มไม่ต่างจากกินข้าวเลย ใช้เนื้อที่จัดเก็บน้อยด้วยไม่เป็นภาระระหว่างทาง ที่สำคัญคือเดินกินได้ กินแล้วไม่หนืดคอ ไม่ต้องดื่มน้ำตาม สะดวกกว่าพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเยอะเลยครับนั่นยังต้องเปลืองน้ำต้ม”

แล้วฟ้าหลังฝนก็กลับมาสดใส เมื่อห่าฝนและธารน้ำใจช่วยให้วิกฤติไฟป่าสิ้นสุด

กระทั่งฤดูแล้งเวียนมา ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๓ เฟซบุ๊ก นิคม พุทธา จึงเคลื่อนไหว

“ชาวบ้านแจ้งข่าวมาแต่เช้า นอนรมควันกันทั้งคืน สะดุ้งตื่นไฟยังไหม้อยู่ วันนี้ผมมีน้ำ อาหาร ยา หน้ากาก เครื่องเป่า ขึ้นไปช่วยครับ”

แม้ปีนี้ดอยสุเทพ-ปุยต้องผจญวิกฤตเพลิงหนักกว่า แต่ตราบที่ยังไม่เข้าฤดูฝนดอยหลวงเชียงดาวก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ เพราะไม่มีใครอยากให้ขยายวงกว้างจนยากควบคุมอย่างปีก่อน

ขณะเจ้าหน้าที่และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยเร่งสกัดทำแนวกันไฟฉุกเฉิน อีกด้านหนึ่งหนุ่มลีซู ผู้ใหญ่บ้านบ้านฟ้าสวยในตำบลเชียงดาวกำลังต่อสู้กับไฟป่าอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเร่งดับให้ได้ก่อนที่จะมืดค่ำและไฟจะลุกลามมากไปกว่าที่เป็นอยู่ นิคมจึงเข้าไปช่วย

“ผมช่วยอยู่สักพักยังทั้งแสบตา ร้อนผ่าว และสำลักควัน แต่แกมีหน้ากากบางแผ่นเดียวกับไม้ตีไฟ”

เวลานั้น “ปอดของคน” ตัวเล็กตัวน้อยในเชียงใหม่ต่างกำลังต่อสู้กับเปลวเพลิงที่ผลาญป่าทำลาย “ปอดของประเทศ” แต่ไม่เพียงถูกปกปิดจากหน่วยงานระดับจังหวัด ยังถูกกลบด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ (COVID-19) ที่รัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนกว่า

“ชาวเขาหลายหมู่บ้านบนภูเขาจึงพากันดูแลตนเอง ปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันคนนอกพื้นที่เอาเชื้อไวรัสเข้าหมู่บ้านเขา ขนาดเราจะเอาอุปกรณ์ต่างๆ อย่างหน้ากาก ข้าวปลาอาหาร หยูกยารักษาโรคไปให้พวกเขายังไม่รับเลย หากเกิดไฟป่าขึ้นจริงในช่วงสถานการณ์ COVID-19 แบบนี้ คงยากที่พวกเขาจะรับมือกันเองไหว ถ้าเกินกำลังพวกเขาก็จะใช้วิธีปล่อยให้ไหม้ไปก่อน ค่อยเป็นภาระของเจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟเอง”

นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลแทน “มดงาน” ตามพื้นที่ภูเขาต่างๆ ทั่วภาคเหนือ

savefire15

ทั้งที่ลมหายใจของภูเขาที่กำลังพวยพุ่งเป็นเปลวเพลิงก็เป็นเหตุให้เกิดควันพิษ

ทำลายภูมิคุ้มกันให้ต่ำลงจนหายใจเอาเชื้อ COVID-19 เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

แต่ยังเป็นอีกปีที่เจ้าหน้าที่-จิตอาสาดับไฟป่าขาดแคลนอุปกรณ์ #SAVE ชีวิต