เรื่องและภาพ : สุเจน กรรรพฤทธิ์
“ตอนนี้เราดูสถานการณ์วันต่อวัน ฉันคาดว่าไม่เกินสามวัน รีบกลับ ก่อนทุกอย่างจะปิดตัว และทุกอย่างจะหยุดนิ่ง”
ทามอรา ฟิชเชล (Thamora Fishel) ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์โปรแกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Southeast Asia Program, Cornell University-SEAP) บอกผมด้วยนำเสียงเรียบๆ ในขณะที่ผมได้แต่อึ้งกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปรายชั่วโมง
เธอแนะนำอย่างหนักแน่นว่า หากต้องป่วย เธออยากให้เราป่วยที่เมืองไทยโดยสำทับว่า “ฉันเคยไปอยู่เมืองไทย ฉันคิดว่าแพทย์ใน รพ.ไทย มีศักยภาพ พวกคุณน่าจะอุ่นใจกว่าอยู่ที่นี่โดยไม่มีหลักประกันอะไรรองรับเลย สถานการณ์แบบนี้ฉันอยากให้เราทุกคนกลับบ้านมากกว่าอยู่ไกลบ้าน”
ลางสังหรณ์บางอย่าง สำทับด้วยข้อมูลจาก นสพ. New York Times ก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า สหรัฐอเมริกากำลังจะเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภายในไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้ผมเชื่อทามอราว่าเธอห่วงเรามาก
ผมคุ้นเคยกับความรู้สึกนี้ มันคล้ายเมื่อครั้งหนึ่งที่ผมหลุดเข้าไปในเขตประกาศกฎอัยการศึกของ สปป.ลาว แล้วก็รู้สึกได้อย่างรุนแรงว่า เรากำลังจะเจออันตรายบางอย่างในทุกนาทีที่กำลังเดินเข้ามาหา
รีบทำภารกิจให้จบแล้วถอนตัว คือหนทางที่ดีที่สุด
“หน้ากาก” ในสายตาอเมริกันชน
ก่อนไปสหรัฐฯ ผมลังเลที่จะพกหน้ากากอนามัยไปใช้ในระหว่างที่ทำภารกิจเก็บข้อมูลในสหรัฐฯ เพื่อนำมาใช้งานกับสารคดีหลายเรื่องที่อยู่บนสายพานการผลิต
คนไทยหลายคน กระทั่งคนอเมริกันเองก็เตือนแบบเดียวกันว่า “อย่าใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ” ด้วยวัฒนธรรมอเมริกัน (ตามที่เจ้าถิ่นว่า) การใส่หน้ากากอนามัยหมายถึงคนใส่นั้นเป็น “ผู้ป่วย” และจะโดดเด่นเป็นที่จับตาในที่สาธารณะ ทั้งยังอาจชักนำไปสู่อันตรายโดยที่เราไม่คาดคิด เห็นได้จากข่าวการโจมตีคนเอเชียที่ใส่หน้ากากปรากฏขึ้นกระจายตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นที่ลอสแองเจลิส (มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ชายฝั่งตะวันตก) หรือนิวยอร์ก (มลรัฐนิวยอร์ก ชายฝั่งตะวันออก) ปรากฏอยู่เป็นระยะก่อนที่ผมจะไปถึงที่นั่น
New York Times รายงานว่ามีการโจมตีชาวเอเชียที่อยู่ในอเมริกาเป็นระยะโดยเรียกได้ว่ามีหลากหลายรูปแบบ และในบางกรณีมีลักษณะย้อนแย้งจนไม่น่าเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องการใส่หน้ากาก
รูปแบบแรกคือการ “โจมตีไปที่เชื้อชาติ” (Racism) โดยมุ่งไปที่คนเชื้อสายเอเชียที่สังเกตได้ง่ายจากหน้าตาและท่าทาง
๑๒ มีนาคม ๒๐๒๐ มีรายงานว่ามีสตรีวัย ๒๓ ปีเชื้อสายเอเชียคนหนึ่งถูกชกที่หน้าโดยผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ตะโกนข้อความเหยียดเชื้อชาติแล้วทำร้าย ก่อนจะหนีไป (nbcnews.com / ๑๒ มีนาคม ๒๐๒๐)
อีกสองกรณีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๐๒๐ ชายคนหนึ่งคุกคามชายชาวเอเชียวัย ๔๔ ปีกับลูกวัย ๑๐ ขวบ เขาถูกชายคนหนึ่งมาตะโกนใส่ว่า “หน้ากากของแกอยู่ไหน”
ชายคนนี้เดินตามเขาแล้วตะโกนใส่อยู่ตลอดเวลา ก่อนจะผลักเขาแล้วหลบหนีไป
ในวันเดียวกันตำรวจยังจับวัยรุ่นอายุ ๑๓ ปีที่ไปถีบคนเชื้อสายเอเชียล้มลงกับพื้นหลังจากตะโกนข้อความที่มีลักษณะเหยียดหยามทางเชื้อชาติ พูดถึงโคโรนาไวรัสก่อนจะหลบหนีไป
แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์ก ระบุว่าการกระทำนี้เป็นอาชญากรรมและขัดกับค่านิยมและรากฐานของนครนิวยอร์กที่เกิดขึ้นบน “ความหลากหลาย” ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับมหานครและมลรัฐแห่งนี้มานาน และเขารับไม่ได้อย่างสิ้นเชิงกับการกระทำดังกล่าว
ที่ย้อนแย้งกว่าคือ บางกรณีผู้ที่ดูถูกและคุกคามคนเอเชียยังเป็นคนผิวสี ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์ของอเมริกันคือกลุ่มคนที่ถูกคนผิวขาวเอารัดเอาเปรียบมาตลอด (งงสิครับ เหยียดในเหยียด)
พูดง่ายๆ จะใส่หรือไม่ใส่ ถ้าหน้าตาออกตี๋หมวยเอเชีย อาจซวยได้หมด
ไมเคิล เบรซี่ (Michael Bracey) นักวิจัยอิสระชาวอเมริกันที่ผมรู้จักในหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ หมายเลข ๒ (US National Archives and Records Administratiion II) แนะนำผมอย่างหนักแน่นว่า “คุณควรใส่เมื่อป่วยเท่านั้น ผมไม่มีปัญหา แต่ผมห่วงว่าคนอื่นจะไม่คิดแบบผม” ก่อนจะตบบ่าอวยพรให้ผมโชคดีก่อนจากกัน
ผมยังไม่สามารถหาโอกาสอ่านงานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการใส่หน้ากากอนามัย แต่สิ่งที่พบในการเดินทางชัดเจนมากว่า ชาวตะวันตก มีค่านิยมแตกต่างจากชาวเอเชียอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคนเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี วัฒนธรรมการใส่หน้ากากถือเป็นเรื่องที่รับรู้ว่าเป็นการป้องกันคนอื่น ป้องกันตนเองในสภาวะเกิดโรคระบาดหรือป่วยไข้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรังเกียจแต่อย่างใด
ดังนั้น ตลอดการเดินทางในสหรัฐฯ ผมกับแฟนเลือกที่จะเสี่ยงไม่ใส่หน้ากากอนามัย (แม้ว่าเราจะพกติดตัวมาจากเมืองไทยจำนวนหนึ่ง) แต่พยายามล้างมือให้บ่อยที่สุดด้วยเจลพกพาและเมื่อพบห้องน้ำเราก็จะพยายามเข้าไปล้างมือเสมอ
โชคดีของผมเรื่องเดียวคือ ในระหว่างที่ผมตระเวนสัญจรไปตามเมืองต่างๆ ในภาคตะวันออกของสหรัฐฯ จำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนั้นเรียกได้ว่ายังห่างกับตอนที่ผมลงมือเขียนบันทึกนี้อย่างลิบลับ (ตอนเขียนบันทึกนี้ สหรัฐฯ กลายเป็นอันดับหนึ่งของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไปเรียบร้อยแล้วป
(มีต่อตอนที่ ๒)
หมายเหตุ : สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนประจำกอง บก. นิตยสาร สารคดี เดินทางไปตระเวนตามหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ก่อนที่จะกลับเมืองไทยได้แบบฉิวเฉียดก่อนที่รัฐบาลไทยจะประกาศมาตรการเข้มงวดในการเข้าประเทศสำหรับคนไทย ซึ่งมีผลเสมือนกับการปิดประเทศ ปัจจุบัน เขากักตัวครบ ๑๔ วันแล้วในที่พัก (หลังเดินทางมาถึงเมืองไทย) และยังคงมอนิเตอร์อาการของตนเองแน่ใจว่าจะไม่ติดโควิด-19 |