ขณะเขียนบทบรรณาธิการฉบับนี้ ผมไม่รู้ว่านิตยสารฉบับที่ ๔๒๒ จะจัดพิมพ์ออกมาเมื่อไร ระหว่างต้นเดือนพฤษภาคมกับปลายเดือนพฤษภาคม แต่ที่แน่ ๆ คือนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๖๓ จะได้รับการบันทึกในประวัติการทำนิตยสาร สารคดี ว่าเป็นฉบับ “เว้นวรรค” และจะไม่มีปรากฏอยู่บนชั้นหนังสือใด ๆ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้เกิดมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ประเทศ บวกกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนการทำงานอยู่กับบ้าน WFH – work from home ลดการเดินทาง ลดการพบปะผู้คน เพื่อร่วมกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

WFH - จากบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 422

พวกเราชาวนิตยสาร สารคดี ส่วนใหญ่จึงต้อง WFH เช่นกัน ยกเว้นฝ่ายตลาดหนังสือออนไลน์ที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาสำนักงานเพื่อจัดการกับออร์เดอร์และจัดส่งหนังสือให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน

work from home คาดกันว่าจะกลายเป็น new normal โดยเฉพาะสำหรับพนักงานหรือลูกจ้างที่ปรกติต้องเดินทางจากบ้านไปยังสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะในภาคบริการหรือภาคการผลิต

สำหรับคนในเมืองอีกจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว บ้านคือที่ทำงานอยู่แล้ว อย่างร้านค้าร้านอาหารตามห้องแถวหรือย่านตลาดที่มีชั้นล่างเป็นหน้าร้าน ส่วนชั้นบนคือที่พักอาศัย ชุมชนชาวเกษตร บ้านกับไร่นาสวนกลมกลืนอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน อาชีพเกษตรส่วนใหญ่คือการทำงานอยู่บ้านโดยอัตโนมัติ ส่วนเกษตรอุตสาหกรรมคงต่างออกไป คล้ายลูกจ้างแรงงานกับโรงงานเสียมากกว่า

ยิ่งเราย้อนอดีตไปมากเท่าไร พื้นที่ของบ้านกับที่ทำงานก็ดูจะซ้อนทับสนิทกันมากขึ้นเท่านั้น

เพราะที่ดินนั้นมีราคา การครอบครองที่ดินเพื่อทำมาหากินกับอยู่อาศัยด้วยจึงเป็นเรื่องปรกติของคนส่วนใหญ่มานานแล้ว คนมีฐานะหรือร่ำรวยขึ้นมาจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้เป็นเจ้าที่ดินหลายแห่ง

ทว่าขณะที่คนทั่วโลกถูกกักตัวให้อยู่บ้านและ work from home เหตุเพราะไวรัสโควิด-๑๙ นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกมาเตือนว่า สาเหตุแท้จริงที่ทำให้โรคระบาดใหม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์มนุษย์ช่วงไม่กี่สิบปีนี้ ก็เพราะเราได้ทำลาย “บ้าน” ของสัตว์ป่าพังพินาศ

โรคซาร์ส อีโบลา เมอร์ส ฯลฯ สืบต้นตอย้อนเหตุเกี่ยวพันกับการทำลายป่าธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่ามาทำการเกษตรหรืออุตสาหกรรม และการล่าสัตว์ป่าอย่างหนัก ซึ่งทั้งหมดคือการพังทลายของสมดุลในระบบนิเวศ

ป่าธรรมชาติเป็น home ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ซึ่งคำว่ามากในที่นี้ ความสำคัญอยู่ที่จำนวนของชนิด ซึ่งหมายถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ

การมีสัตว์ต่างชนิดจำนวนมากอยู่ในระบบเป็นเหมือนตัวควบคุมไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ให้แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน บางชนิดไวรัสอาจไปอาศัยเป็นบ้านได้ แต่อีกหลายชนิดไวรัสก็ไปอยู่ไม่ได้

แต่เมื่อสมดุลพังทลาย เหลือเพียงสัตว์บางชนิดเท่านั้นที่อยู่รอด สัตว์ไม่กี่ชนิดนี้จะกลายเป็นพาหะอันยอดเยี่ยมของไวรัสบางชนิดให้เพิ่มจำนวน เพราะสัตว์ที่สามารถรอดพ้นหายนะจากบ้านเก่า มักเป็นพวกที่แพร่ขยายพันธุ์จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปรับตัวอาศัยอยู่ใกล้กับมนุษย์ที่รุกล้ำเข้ามา

ตัวอย่างที่พอจะยกมาหากใครจำได้ คือสมัยเริ่มการปฏิวัติเขียวขยายพื้นที่ทำนาเพื่อปลูกข้าวส่งออก ตามท้องทุ่งเกษตรที่บุกเบิกขยายแปลงเกิดการล่าการจับงูจำนวนมากที่เคยอยู่ในธรรมชาติ ผลย้อนกลับคือการ
แพร่ระบาดจำนวนมหาศาลของหนู เข้ากัดกินพืชผลเกษตรจนเสียหาย เพราะไม่มีสัตว์ผู้ล่าอย่างงูคอยควบคุม

แต่ครั้งนี้สิ่งที่แพร่ระบาดมันเล็กจิ๋วเกินกว่าจะมีวิธีใด ๆ ไล่จับ และทำให้มนุษย์ตายได้

โรคระบาดใหม่จึงไม่ใช่แค่ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าในตลาดมืดของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งครั้งต่อไปอาจหวยออกที่ประเทศใดก็ได้ และประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

นี่เป็นปัญหาระดับโลกของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนักธรรมชาติวิทยาและนักอนุรักษ์ทั้งหลายต่างคอยเตือนมาเรื่อย ๆ แต่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน เพราะมองไม่เห็นมหันตภัยที่ซ่อนอยู่

สัตว์และชีวิตนานาในธรรมชาติทั้งหลายต่าง work from home กันอยู่ทุกวันมานานแล้ว

ขณะที่เรากำลัง WFH ลองคิดสักหน่อยว่าดั้งเดิมบ้านของเราทับซ้อนบน home ของใคร

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com