“โอละน่อ…ออเฮาะ ออเฮาะ ออเฮาะ ออเฮาะ ออ…”
เสียงร้องขึ้นต้นเพลง ทั้งโชว์ระดับเสียง เทคนิคการเอื้อน การสั่นลูกคอ อันเป็นเอกลักษณ์ของหมอลำ
โอละนอ ได้ยินแล้วบางคนรู้สึกเหมือนว่าจะปลง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คล้ายคำว่าเออหนอ
ตามคำอธิบายของอาจารย์สนอง คลังพระศรี ซึ่งเขียนไว้ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม ๒๕๔๐ บอกที่มาของโอละนอ ว่ามาจากคำว่าโอนอ ซึ่งใช้เกริ่นขึ้นบทพูดในนิทานพื้นบ้านและวรรณกรรมของคนไทยภาคอีสานและลาว
“โอนอ แพงแสนสร้อย เสมอตาตนพี่ เฮียมเอย…” (จากนิทานเรื่อง “แดงนางไอ่”)
แต่จากโอนอ ผันแปรมาเป็นโอละนอตั้งแต่เมื่อไร ในบทความนี้ผู้เขียนไม่ได้ระบุไว้
น่าสนใจว่าการผันแปรเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าสะสมหรือขยายไปเรื่อย ๆ ก็อาจเปลี่ยนไปจนแตกต่างอย่างมากจากจุดเริ่มต้น
หมอลำพื้นบ้านที่มีแค่คนเป่าแคนกับคนร้อง เป็นวงสุดเรียบง่าย
วันนี้กลายเป็นเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ที่ประกอบด้วยการแสดงและนักแสดงแต่งตัวแพรวพราว ทั้งแสงสีเสียงอลังการ ปลุกเร้าความตื่นตาตื่นใจ
และจากการเล่าเรื่องราวความเชื่อในศาสนาตามงานบุญ กลายมาเป็นท่วงทำนองในวิถีชีวิตและจิตวิญญาณคนอีสาน ก่อนจะปรับโฉมเป็นงานแสดงเน้นความบันเทิงซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด เชื่อว่าถ้าหมอลำพื้นบ้านเมื่อหลายร้อยปีก่อนข้ามมิติเวลามาเห็นก็คงต้องตกตะลึงเช่นกัน แต่เขาน่าจะขึ้นเล่นเพลงหมอลำบนเวทีสมัยใหม่ได้แบบไม่เคอะเขิน ด้วยแนวทางเพลงที่ยังคงมีอะไรหลายอย่างร่วมกันพอสมควร
ต่างจากนักร้องรุ่นใหม่ที่สร้างความร่วมสมัยโดยนำหมอลำมาผสมกับดนตรีสากลตระกูลอื่น ที่เคยฟังอย่าง “รัสมี อีสานโซล” ซึ่งร้องในแนวดนตรีโซลและแจซ นำพาเสียงหมอลำให้เข้าถึงอารมณ์นักฟังเพลงชาวตะวันตกและคนรุ่นใหม่ จนมีคำเปรียบเปรยว่าฟังเพลงเธอแล้วเหมือน “นั่งกินส้มตำที่ลอนดอน”
ครั้งหนึ่งรัสมีเล่าว่าเคยถูกเหยียดหลังร้องเพลงในงานหนึ่งว่าเธอไม่ควรร้องเพลงหมอลำ เพราะเป็นเพลงของชนชั้นต่ำ (เธอไม่ได้เล่าว่าใครพูด แต่ก็บ่งบอกความจริงว่ามีคนเชื่อว่าตนเองเป็นชนชั้นสูง ?)
ขณะที่ก็มีคำวิจารณ์จากฝั่งครูหมอลำพื้นบ้านว่า เธอทำให้เพลงหมอลำสูญเสียความเป็นหมอลำ
เรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
ความพยายามนำหมอลำเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ คนฟังหน้าใหม่ นอกแผ่นดินอีสาน จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างหนึ่งของการผันแปรที่แตกต่างจากเวทีหมอลำร่วมสมัย
กลับมาที่คำถามว่าความเป็นหมอลำอยู่ที่ไหน
ทำให้นึกถึงคำถามคล้าย ๆ กันว่าความเป็นไทยอยู่ที่ไหน
ในความผันแปรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมมาตลอดเวลายาวนานที่เราได้ผสมผสานวัฒนธรรมจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในดินแดนนี้ร่วมกัน รวมทั้งนานาชาติทั้งใกล้และไกลที่เราเปิดรับด้วยความยินดี จะเริ่มนับความเป็นไทยที่จุดไหน เป็นไทยของชนชั้นไหน ถึงวันนี้แตกต่างจากเดิมอย่างไร แล้วจะใช้สิ่งไหนเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศ กางเกงลายช้าง หน้ากากผีตาโขน หรือปาท่องโก๋
“โอละน่อ…ออเฮาะ ออเฮาะ ออเฮาะ ออเฮาะ ออ…”
ลำนำหมอลำสะกดผู้ฟังด้วยการผันแปรเสียงสูง-ต่ำ สั้น-ยาว จากจุดเริ่มของคำสั้น ๆ ว่าโอนอ พาให้เริ่มเดินทางไปกับเรื่องเล่าใน
บทเพลง ไม่ใช่การปลง แต่เพื่อดำรงอยู่ในโลกที่เปลี่ยนไปเสมอ
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
- จากบทบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 469 เมษายน 2567
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine