แพร่ เมืองเล็กไม่เคยไร้ “อุตสาหกรรมไม้สัก”
เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

ความเปลี่ยนแปลงคือความเที่ยงแท้ของทุกสรรพสิ่ง

เป็นสิ่งยืนยันชะตากรรมอาคารไม้เก่าแก่อายุ ๑๒๐ ปี ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด ที่เคยใช้เป็นสำนักงานในการประกอบธุรกิจไม้ในเมืองไทย และป่าสักอันสมบูรณ์สุดในไทย ที่บริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ริมแม่น้ำยม อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

ครั้งอดีตบริษัทต่างชาติเข้ามาทำไม้ และเมื่อสัมปทานไม้หมดลงก็ได้ฝากร่องรอยประวัติศาสตร์ให้เห็นเรื่อยมาผ่านสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าหลายหลัง มีอยู่ ๓ หลัง ที่เหลือรอดจากการถูกรื้อถอนและได้ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยเป็น “โรงเรียนการป่าไม้” ก่อนที่ภายหลังจะปรับเปลี่ยนเป็น “พิพิธภัณฑ์การป่าไม้” โดยแบ่งเป็น “พิพิธภัณฑ์ ๑” “พิพิธภัณฑ์ ๒” (หรือพิพิธภัณฑ์ไม้สัก) และ “พิพิธภัณฑ์ ๓”

กลางเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ปรากฏข่าวชวนใจหาย

เมื่อหนึ่งในอาคารที่เคยสร้างจากไม้สักในยุคนั้นถูกรื้อถอนทุบทำลายจนสิ้น สิ่งที่สูญเสียจึงไม่ใช่เพียงอาคารไม้เก่าแก่-มรดกของแผ่นดินที่เห็นกันมานาน แต่หมายรวมถึงหลักฐานคุณค่าของ “จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์การทำไม้แห่งสยาม”

สารคดี ฉบับ ๓๕๖ (ตุลาคม ๒๕๕๗) คอลัมน์โลกใบใหญ่ / ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เคยนำเสนอบทความเรื่อง แพร่ เมืองเล็กไม่เคยไร้ “อุตสาหกรรมไม้สัก” ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายสิ่งอย่างระดับประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิธีคิดที่สะท้อนว่าการอนุรักษ์สามารถเดินหน้าควบคู่กับพัฒนาได้

วาระนี้ ชวนย้อนรอยร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

แพร่ เมืองเล็กไม่เคยไร้ "อุตสาหกรรมไม้สัก"

…ถ้ามีป่าไม้ แต่ไม่รู้ “วิธีจัดการ” ให้เกิดประโยชน์คงเสียเปล่า…

ดูเหมือนเป็นแนวคิดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ไม้สัก” ในจังหวัดแพร่ยึดถือกันมาเกือบ ๑๔๐ ปี

“สมัยรัชกาลที่ ๕ คนไทยรู้แค่ป่าไม้สักบ้านเรามีค่า ส่วนชาวต่างชาติรู้ว่าจะทำป่าไม้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ปี ๒๔๓๘ รัฐบาลไทยจึงยืมตัวข้าราชการป่าไม้จากรัฐบาลอินเดียของอังกฤษมาฝึกอบรมให้แก่ข้าราชการไทย หวังนำความรู้มาสำรวจสถานการณ์ไม้สักในพื้นที่มณฑลพายัพ”

บุญส่ง วงศ์วาน ลูกหลานชาวแพร่โดยกำเนิด เล่าว่าสมัยนั้นล้านนายังไม่ใช่สยาม หลังได้พม่าเป็นเมืองขึ้นอังกฤษก็สำรวจพื้นที่จนรู้ว่าเมืองแพร่มีไม้สักอันทรงคุณค่าจึงอยากครอบครองล้านนาด้วย

“เพื่อไม่ให้ฝรั่งยึดดินแดน ปี ๒๔๔๒ กษัตริย์สยามจึงมีพระราชบัญญัติผนวกมณฑลพายัพเป็นส่วนหนึ่งของสยาม โดยใช้กุศโลบายแต่งงานสร้างเครือญาติ แต่ก็มีเจ้าเมืองเหนือบางพระองค์ไม่ยอม”

หนึ่งในนั้นคือ เจ้าพิริยเทพวงศ์ ผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๒๒

“เจ้าเมืองแพร่ระดมชาวเงี้ยว (ช่างไม้ของอังกฤษจากพม่าที่เป็นแรงงานในแพร่) เป็นกำลังสำคัญสังหารข้าราชการสยามที่จะมายึดเมืองแพร่ เมื่อต่อต้านไม่สำเร็จฝ่ายเจ้าพิริยเทพวงศ์จึงกลายเป็นกบฏ”

maiprae2

แม้ประวัติศาสตร์การสู้รบของสองเมืองสยาม-แพร่ ต่างเป็นไปเพื่อปกป้อง-ครอบครองผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสัก แต่ที่สุดแล้ว “การป่าไม้สมัยใหม่” ก็เริ่มขึ้นที่แพร่ ในปี ๒๔๔๙

“บริษัท อีสท์ เอเชียติก จำกัด (จากเดนมาร์ก) ได้รับสัมปทานป่าไม้สักจากรัฐบาล พร้อมเช่าพื้นที่ ๖ ไร่ เพื่อสร้างอาคาร”

ชายวัย ๘๔ ปี กล่าวย้อนถึงการทำไม้สักในยุคนั้นว่าจะใช้วิธี “กานไม้” (ควั่นรอบต้นทั้งเปลือกและกระพี้) แล้วทิ้งไว้สัก ๒ ปี ให้ต้นไม้แห้งตายก่อนจึงค่อยตัดเพื่อลดน้ำหนัก แล้วจึงเลื่อย

“เครื่องมือสมัยนั้นมีเพียง ‘เลื่อยตัด’ สำหรับตัดไม้เป็นท่อน กับ ‘เลื่อยตั้ง’ ใช้ตัดไม้แผ่นหรือไม้สี่เหลี่ยมก่อนนำไปแปรรูป ต้นสักสมัยก่อนขนาดใหญ่มาก วงปีกว้างกว่าความยาวของเลื่อยเสียอีก จึงเลื่อยแถวโคนต้นไม่ได้ ต้องขัดห้างขึ้นไปจนได้ตำแหน่งค่อยกานไม้ กว่าจะได้แต่ละต้นใช้เวลาตัดราว ๕ ชั่วโมง”

การขนส่งจะใช้ช้างลากไม้ออกจากป่า พอเข้าเขตชุมชนจึงให้ควายหลายคู่ลากเกวียนบรรทุกไม้ไปยังร่องน้ำลึก แล้วล่องแพซุงตามลำน้ำปิง วัง ยม น่าน ไปรวมขายที่ด่านปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

กิจการป่าไม้ภาคเหนือโดยผู้ประกอบการต่างชาติดำเนินเรื่อยมากระทั่งปี ๒๔๕๘ รัฐบาลไทยจัดตั้ง “โรงเรียนสอนวิชาการป่าไม้” แห่งแรก เปิดสอนวิชาการป่าไม้เบื้องต้น หลักสูตร ๒ ปี ในแผนกยันตรศึกษา โรงเรียนข้าราชการพลเรือน วังใหม่สระปทุม ปรากฏว่า “ไม่มีผู้สนใจเรียน” จึงต้องยุบใน ๓ ปีถัดมา

ปี ๒๔๗๘ บริษัทอีสท์เอเชียติกฯ หมดสัญญาสัมปทานป่าไม้ จึงมอบสถานที่ให้กรมป่าไม้จัดตั้งเป็น “กองโรงเรียนป่าไม้” (รู้จักในชื่อ “โรงเรียนการป่าไม้”) ให้การศึกษาด้านวิชาการป่าไม้ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพแก่ข้าราชการกรมป่าไม้ระดับล่าง และบุคคลภายนอกที่จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๘

การถือกำเนิดของโรงเรียนการป่าไม้นับแต่ปีแรก (ปี ๒๔๗๙) มีนักศึกษาปีละ ๒๕ คน กระทั่งปี ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” สอนระดับอนุปริญญาหลักสูตร ๓ ปี เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในปี ๒๔๘๖ จึงยกฐานะเป็น “คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” แล้วย้ายสถานที่เรียนจากตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ไปที่บางเขน กรุงเทพฯ ในปี ๒๔๙๙ (รุ่นที่ ๑๙ จบหลักสูตร) ขยายหลักสูตรเป็นปริญญาตรี ๕ ปี รุ่นที่ ๒๐ ในปี ๒๕๐๐

“ผมเป็นนักศึกษาวนศาสตร์ รุ่น ๑๗ ก่อนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ย้ายไปบางเขน”

บุญส่งเปิดเผยอย่างภาคภูมิใจว่าสถานที่นี้คือ “จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์การทำไม้แห่งสยาม” ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายสิ่งอย่างระดับประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเรื่องราวที่ผ่านมาก็ยังไม่ตายจากแผ่นดิน

กรมป่าไม้เปิดโรงเรียนการป่าไม้แพร่ อีกครั้งในปี ๒๔๙๙ ช่วงแรกรับเฉพาะข้าราชการกรมป่าไม้เพื่ออบรมหลักสูตร (๒ ปี) ประกาศนียบัตรวิชาการป่าไม้ ปี ๒๕๐๔ จึงเปิดรับบุคคลภายนอกที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมฯ ปีที่ ๘ (สายวิทย์-คณิต)

และ “บุญส่ง วงศ์วาน” ศิษย์เก่ารุ่น ๑๗ ก็คือผู้อำนวยการโรงเรียนการป่าไม้ แพร่ ยุคสุดท้าย เริ่มงานในปี ๒๕๑๘ กระทั่งปิดตัวลงอย่างถาวรในปี ๒๕๓๖ รวมผู้จบการศึกษา ๓๖ รุ่น จำนวน ๖,๑๘๐ คน

maiprae3

เก้าปีต่อมาพื้นที่ซึ่งได้รับมอบจากบริษัทสัญชาติเดนมาร์กนั้นเปลี่ยนสถานะอีกครั้งเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมที่ ๑ (แพร่)” ภายใต้สังกัดกองฝึกอบรม กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ภายหลังสังกัดส่วนฝึกอบรม สำนักบริหารงานกลาง) โดยเปิดอบรมข้าราชการ พนักงาน และประชาชนเช่นเคย

ทั้งยังพ่วงฐานะ “พิพิธภัณฑ์การป่าไม้” เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมฟรี

“สมัยที่บริษัทอีสท์เอเชียติกฯ ยังอยู่ได้สร้างอาคารไว้หลายหลัง พอหมดสัญญาเช่ารัฐบาลจึงรื้อถอนอาคารที่ทรุดโทรม และเหลือไว้เพียงสามหลังจัดตั้งเป็นโรงเรียนการป่าไม้ ถึงตอนนี้ก็นับอายุล่วง ๑๐๐ ปีแล้ว”

พรศิริ เวียงเก่า นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์การป่าไม้ ศูนย์ฝึกอบรมที่ ๑ (แพร่) อธิบายเพิ่มว่าอาคารเหล่านี้แบ่งเป็น “พิพิธภัณฑ์ ๑” เดิมใช้เป็นที่ทำงานและที่พักของเจ้าหน้าที่บริษัทอีสท์เอเชียติกฯ และเป็นสโมสรนักศึกษาในยุคโรงเรียนการป่าไม้ ชั้นล่างสะสมป้ายชื่อโรงเรียนการป่าไม้ในยุคต่างๆ ชั้นบนจัดแสดงเรื่องราวของโรงเรียนการป่าไม้

ส่วน “พิพิธภัณฑ์ ๒” (หรือพิพิธภัณฑ์ไม้สัก) เดิมใช้เป็นที่ทำการของบริษัทฯ และเป็นห้องเรียนโรงเรียนการป่าไม้ ชั้นบนจัดแสดงประวัติและการทำไม้สักจังหวัดแพร่ (พร้อมหลักฐานน่าสนใจ เช่น ตัวอย่างสัญญาเช่าที่ดินระหว่างรัฐบาลสยามกับริษัทอีสท์เอเชียติก จำกัด ภาพการทำไม้ในอดีตของไทยในภาคเหนือซึ่งสถานกงสุลเดนมาร์กมอบให้)

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แกะสลักจากไม้สัก กระทั่งบ้านไม้จำลองที่นักศึกษาสร้างสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านภาคเหนือที่นิยมปลูกบ้านด้วยไม้สักทั้งหลังและเชื่อมต่อไม้ด้วยวิธีโบราณ คือไม่ตอกตะปู แต่ทำร่องไม้แล้วประสานให้ลงล็อก อาคารนี้สร้างจากไม้สักในยุคนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนเพียงบันไดขึ้นลงเรือน แสดงถึงความแข็งแรงของไม้สักไทยโบราณโดยแท้

สุดท้ายคือ “พิพิธภัณฑ์ ๓” เดิมเป็นที่พักผู้บริหารบริษัทฯ และผู้อำนวยการโรงเรียน จัดแสดงภาพการทำไม้สมัยเก่าขณะบริษัทฯ ตรวจงานป่าไม้ภาคเหนือ

พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวแสดงรากเหง้าว่าแพร่คือเมืองอุตสาหกรรมป่าไม้สักอันรุ่งเรือง

แม้กาลเวลาจะล่วงมานับร้อยปี คุณค่าของ “ไม้สัก แพร่” ก็ไม่เคยลดลง

maiprae4

“ปี ๒๕๔๗ ทางกรุงเทพฯ ออกสำรวจป่าภาคกลางและภาคเหนือเพื่อหาไม้สักไร้ตำหนิไปบูรณะเสาชิงช้า สุดท้ายก็พบทั้งหกต้นจากหลายอำเภอของจังหวัดแพร่”

สุวิทย์ ฟูคำ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า พร.๒๑ (แม่ปาน) สังกัดสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ ๓ สาขาแพร่ กรมป่าไม้ (นักศึกษารุ่นสุดท้ายของโรงเรียนการป่าไม้ แพร่ ปี ๒๕๓๖) บอกเล่า

“นอกจากจะมีความสูงถึง ๒๖ เมตร ขนาดรอบวงเกือบ ๔๐๐ เซนติเมตร ที่สำคัญต้องมีลักษณะ ‘ตรงเปลา’ คือลำต้นตรงเสมอกันตั้งแต่โคนถึงยอด ไม่มีกิ่งก้านแตกแขนงระหว่างลำต้น”

เขาขยายความว่า โอกาสที่จะพบต้นสักเช่นนี้มีน้อยนัก เพราะถ้าป่าโล่งต้นไม้ก็จะแตกกิ่ง ต้นที่ตรงเปลาจึงมาจากป่าอุดมสมบูรณ์ที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ด้วยพืชจำเป็นต้องแย่งกันเติบโตขึ้นไปรับแสงในที่สูง

“ที่เห็นจากเสาชิงช้าว่าใหญ่แล้ว ตอนยังไม่ผ่านกระบวนการกลึงมนนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก”

หัวหน้าหน่วยฯ ผู้ดูแลป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปาน และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่พวก เล่าต่อว่า หลังผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ไม้จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมตรวจสอบเนื้อไม้สัก พบว่ามีลักษณะพิเศษคือเนื้อและแก่นไม้ข้างในมีสีทอง (บางคนจึงเรียก ไม้สักทอง) ซึ่งไม่ใช่เพราะเป็นสายพันธุ์ใด แต่เกิดจากสารอาหารในบริเวณที่ต้นไม้ดูดซึม

ล่าสุด ปลายปี ๒๕๕๖ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เปิดแผนยกระดับเมืองไม้สักเป็น “เฟอร์นิเจอร์ซิตี้” อาศัยจุดแข็งที่จังหวัดมีพื้นที่ป่าปลูกไม้สักถึง ๑.๕ แสนไร่ (ทั้งขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรืออ.อ.ป. และของเอกชน) และตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรม “เฟอร์นิเจอร์” ไม้สัก ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อเพิ่มมูลค่าจาก ๕ พันล้านบาทต่อปี เป็น ๒ หมื่นล้านบาทในปี ๒๕๖๑ หากแผนนี้สำเร็จ รายได้ของคนแพร่และเศรษฐกิจประเทศไทยจะยิ่งทวี

ถึงอย่างนั้นหัวหน้าฯ สุวิทย์ยังกังวลว่าคุณภาพที่ได้อาจแตกต่างจากในอดีต

“ต้องยอมรับ คนสมัยก่อนเลือกตัดเฉพาะไม้สักอายุ ๑๐๐ ปีขึ้นไป รอให้ลำต้นมีเส้นรอบวงเกิน ๒๒๕ เซนติเมตร จะได้นำแก่นไม้ไปใช้ประโยชน์ เดี๋ยวนี้ขนาด ๑๐-๒๐ เซนติเมตร ต้นยังไม่ทันมีแก่นก็ตัดทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว”

การเร่งรัดผลผลิตจากธรรมชาติ จะใช่ “วิธีจัดการประโยชน์” อย่างถูกต้องหรือไม่ยังต้องรอดูต่อไป

ถึงอย่างไรลูกหลานชาวแพร่คงไม่ยอมให้เมือง “หม้อห้อมไม้สัก…” ไร้อุตสาหกรรมป่าไม้

เอื้อเฟื้อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล :

  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่
  • และกลุ่มสห+ภาพ