ณ เชิงเขาหิมพานต์มีสระน้ำเจ็ดสระซึ่งนับเป็น “มหาสระ” (สระใหญ่) ได้แก่อโนดาต กัณณมุณฑะ รถการะ ฉัททันตะ กุณาละ มันทากินี และสีหปปาตะ ซึ่ง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่า “น่าสนุกสบาย น่ารื่นเริงบันเทิงใจหนักหนา”

สระทุกแห่งมีขนาดและรูปร่างเท่ากันหมดเหมือนกันหมด คือเป็นบ่อผังกลม กว้างยาว ๕๐ โยชน์ และลึก ๕๐ โยชน์

ในจำนวนนี้ มหาสระที่มีชื่อเสียงคุ้นหูในวรรณคดีมากที่สุดคือ “อโนดาต”

สระอโนดาต - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 46

สระอโนดาตตั้งอยู่กลางหุบที่แวดล้อมด้วยภูเขาทั้งห้า ได้แก่ สุทัสสนะกูฏ (ภูเขาสุทัสสนะ) เป็นทองทั้งแท่ง จิตรกูฏ (ภูเขาจิตระ) เต็มไปด้วยรัตนะ คือแก้ว กาฬกูฏ (ภูเขากาฬะ) ล้วนแล้วไปด้วยนิล สีดังดอกอัญชัน (ม่วงเข้ม) คันธมาทนกูฏ (ภูเขาคันธมาทน์) ภายในภูเขาเต็มไปด้วยแก้วมุกดา และเป็นแหล่งว่านยาไม้หอมนานาพันธุ์

พอถึงคืนพระจันทร์ข้างแรมหรือ “คืนเดือนมืด” จะปรากฏแสงสว่างโพลงออกมาจากเขาคันธมาทน์ราวกับถ่านติดไฟ และมีเพิงผาหรือเงื้อมชะโงกเขาอันหนึ่งเรียกว่า “นันทมูล” เป็นที่ประทับของ “พระปัจเจกพุทธเจ้า” คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วมิได้สั่งสอนผู้ใดต่อ ก็จะเหาะมาประทับรวมกัน ณ เงื้อมเขานันทมูลแห่งนี้

ภูเขาลูกสุดท้ายในกลุ่มเขาที่ล้อมรอบสระอโนดาตอยู่ คือไกรลาสกูฏ (ภูเขาไกรลาส) สีเงินยวง

เขาลูกนี้มีความสำคัญคือเป็นที่ประทับของ “พระมเหศวร” (พระอิศวร/พระศิวะ) และพระอุมาภควดี เทพเจ้าของศาสนาฮินดู

ภูเขาทั้งห้า คือสุทัสสนะ จิตระ กาฬะ คันธมาทน์ และไกรลาส ล้วนมีถ้ำคดเคี้ยวอยู่ภายใน และมียอดเขารูปร่างเป็นประดุจ “ปากกา” เหมือนหัวของ “อีกา” ที่มีปากแหลมยื่นยาว เหมือนกันทั้งหมด ต่างกันแต่ความสูง โดยทั้งห้ายอด “เงื้อมน้อมเข้าหากัน ข้างนี้เงื้อมไป ข้างโน้นเงื้อมมา ปกปิดอโนดาตสระนั้นไว้”

เมื่อเป็นดังนั้น แสงรัศมีของพระอาทิตย์และพระจันทร์จึงไม่เคยส่องกระทบผิวน้ำของสระอโนดาตโดยตรงได้เลย ถึงอาจมีลำแสงเข้ามาได้บ้างก็แต่เพียงลอดเหลี่ยมเขาที่ซ้อนเหลื่อมกันอยู่เท่านั้น เมื่อสระอโนดาตไม่เคยถูกแดดเผา น้ำในสระจึงเย็นเยียบ รวมถึงไม่เคยเหือดแห้งไปเลย

รอบสระอโนดาตมีท่าน้ำสี่ท่าเป็นที่สรงสนานอาบน้ำสำหรับแต่ละเหล่าแต่ละพวก ไม่ปะปนกัน ท่าน้ำอันหนึ่งเฉพาะเทพบุตร อีกท่าน้ำหนึ่งสำหรับเทพธิดา ส่วนอีกสองท่า ในคัมภีร์หนึ่งว่าใช้สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าและฤๅษี แต่ในอีกคัมภีร์อธิบายว่าเป็นท่าน้ำของเหล่ายักษ์และพวกวิทยาธร

แม้ว่าภาพสระอโนดาตจะปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ในภาพจิตรกรรมไทย แต่ส่วนใหญ่จะวาดเป็นเพียงสระผังกลม โดยไม่ลงรายละเอียดให้เห็นท่าน้ำสี่ท่า เว้นแต่ในสมุดข่อยบางเล่ม

ทางด้านข้างของสระ มี “มุข” หรือ “ปากช่อง” สำหรับให้น้ำไหลออกอยู่สี่ทิศ เป็นต้นทางของแควน้ำสี่สายที่มีต้นน้ำจากสระอโนดาต

ด้านทิศตะวันออก ไหลผ่าน “สีหมุข” ปากช่องรูปราชสีห์ ผ่านแดนตะวันออกของป่าหิมพานต์ ถิ่นที่อยู่ของราชสีห์
ด้านตะวันตก มีน้ำไหลออกจาก “อัสมุข” ปากช่องรูปม้า ผ่านพื้นที่อาศัยของม้าสินธพ
ด้านเหนือมีน้ำไหลออกจาก “หัตถีมุข” ช่องรูปปากช้าง ไหลลงสู่แหล่งของโขลงช้าง
ด้านใต้ ไหลออกจากปากรูปโค เรียกว่า “อุสภมุข” คือมีสัณฐานดังปากโค ฝั่งแม่น้ำนั้นก็มีโคชุกชุม

แควน้ำทุกสายไหลเวียนขวาเลาะขอบสระอโนดาตก่อนอีกสามรอบ แล้วจึงไหลออกไปในทิศต่างๆ กระทั่งไปตกลงในมหาสมุทร

ที่สำคัญคือแควน้ำสายใต้ ซึ่งจะลงไปหล่อเลี้ยงชมพูทวีปซีกใต้อันเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ โดยเมื่อไหลไปกระทบภูผา สายน้ำจะพุ่งขึ้นบนอากาศสูง ๖๐ โยชน์ เป็นละอองฝอย เรียกว่า “อากาศคงคา”

คัมภีร์อธิบายไว้ด้วยว่าเมื่อถึงฤดูกาลจะมีลมประจำฤดูมาพัดอุ้มน้ำจากอากาศคงคาตรงนี้ ไปตกเป็นเม็ดฝนและลูกเห็บ