จาก “จะนะ” ถึง “อีอีซี” ฉีกกฎหมายผังเมือง เปลี่ยนสีเขียวเป็นม่วงเพื่อการพัฒนา

ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต บริเวณเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ จังหวัดสงขลา ปรับประเภทผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงในพื้นที่ตำบลนาทับ สะกอม และตลิ่งชัน (ที่มา : ประกาศ ศอ.บต. เรื่อง เชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา)

“จะนะ”

“การเคลื่อนตัวของเกลียวคลื่นกลางกรุงของลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” อันหมายถึงการเดินทางไกลจากถิ่นฐานบ้านเกิดมากรุงเทพมหานคร เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๓ ซึ่งอนุมัติในหลักการให้ใช้พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองต้นแบบ “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และเป็น “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” ของ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ยะห์ ผู้เรียกตัวเองว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” รวมถึงภาคประชาชนในนามเครือข่ายปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น โดยทั้งหมดเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการหลายแห่ง อาทิ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร, กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำให้ประเด็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างได้รับความสนใจจากผู้คน

โครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” มีจุดเริ่มต้นจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ลงมติให้พัฒนาพื้นที่ ๑๖,๗๕๓ ไร่ ใน ๓ ตำบลของอำเภอจะนะ คือ นาทับ สะกอม และตลิ่งชัน ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ วางแผนเปลี่ยนพื้นที่ชายทะเลฝั่งอ่าวไทยเป็นเขตอุตสาหกรรม ภายใต้งบประมาณ ๑๘,๖๘๐ ล้านบาท มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ผลักดันโครงการและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น

เวทีรอบแรกกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ ต้องเลื่อนเนื่องจากภาคประชาชนคัดค้านว่าขาดการประชาสัมพันธ์โครงการให้คนทั่วไปได้รับรู้ และเกิดขึ้นในยามที่สังคมไทยดำรงอยู่ภายใต้การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจควบคุมการร่วมกลุ่มการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ต่อมา ศอ.บต.ประกาศจัดเวทีรอบใหม่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เป็นเหตุให้ไครียะห์และภาคประชาชนต้องเดินทางเข้าเมืองหลวง นำข้อร้องเรียนมายื่นให้ถึงผู้บริหารประเทศในส่วนกลาง เช่น ให้ตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วม ที่มีภาคประชาชนและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนใต้

แนวคิดเรื่อง “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ” หรือ “โครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” เป็นประเด็นละเอียดที่ต้องใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างรอบด้าน เพราะเป็นโครงการใหญ่ระดับชาติ มีขนาดการใช้พื้นที่จำนวนมากรองจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่สำคัญคือโครงการนี้จะเปลี่ยนฐานทรัพยากรของคนท้องถิ่นให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรม จะเกิดขึ้นได้ต้องเปลี่ยนประเภทผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง

chana02

ผังเมืองรวมชุมชนจะนะที่ใช้ประกอบการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ ศาลาประชาคมอำเภอจะนะ (หลังใหม่) ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เกือบทั้งหมดเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ที่มา : www.chana-urbanplan.com/wp-content/uploads/2019/06/I1.jpg)

“ผังเมือง”

ทุกวันนี้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ในแต่ละจังหวัดจะกำหนดประเภทผังเมืองไว้ แบ่งตามโซน ไล่ตามสี

สีเป็นตัวกำหนดว่าจะก่อสร้างหรือพัฒนาโครงการอะไรบนที่ดินได้บ้าง ภายในหมู่บ้านหรือข้างๆ บ้านจะมีนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานคัดแยกขยะ บ่อทิ้งขยะ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ มาตั้งได้หรือไม่ ถ้าได้จะมีขนาดแค่ไหน เป็นสัดส่วนต่อพื้นที่เท่าไหร่ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย สามารถสรุปได้ดังนี้

สีแดง คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
สีม่วง คือ ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า
สีเขียว คือ ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว คือ ที่ดินประเภทอนุรักษป่าไม้
สีน้ำตาลอ่อน คือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
สีเหลือง คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
สีส้ม คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
สีน้ำตาล คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
สีเทา คือ ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา

แต่เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่ใน ๓ ตำบลของอำเภอจะนะมีประเภทผังเมืองเป็นสีเขียว คือ ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม หากต้องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมต้องปรับกฎหมายผังเมืองบริเวณดังกล่าวเป็นสีม่วง คือ ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า

นี่เป็นเหตุผลที่ไครียะห์ ระหมันยะ และภาคประชาชนตัดสินใจเดินทางไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง

เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews รายงานว่า ไครียะห์ต้องการสอบถามกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าการเปลี่ยนผังเมืองกรณีจะนะเป็นอำนาจหน้าที่ของใคร และอยู่ในขอบเขตของ ศอ.บต. หรือไม่

ในทรรศนะของลูกสาวแห่งทะเลจะนะ หากประเภทผังเมืองย่านบ้านเกิดของเธอถูกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงและมีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านน่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งจากการปล่อยน้ำเสีย ระบบนิเวศของท้องทะเลและชายหาดได้รับความเสียหาย จะมีเรือสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาในทะเลมากขึ้น อาชีพชาวประมงพื้นบ้านจะได้รับผลกระทบ ผู้คนบนฝั่งก็น่าจะได้รับผลกระทบจากมลพิษในดินและอากาศ

ไครียะห์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews ว่า “ผังเมืองสีเขียวนั้นมีความหมายกับชาวบ้านมาก เพราะว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นในการเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวทั้งหมด ๑๖,๗๕๓ ไร่ให้เป็นสีม่วง เพื่อที่จะมารองรับนิคมอุตสาหกรรม

“ในทางกฎหมายแล้วพื้นที่สีเขียวตรงนี้ไม่สามารถทำอุตสาหกรรมได้ ตอนนี้ชาวบ้านทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้วว่าจะร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่าจะไม่ให้เกิดผังเมืองสีม่วงขึ้น”

ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.๒๕๖๒ ผู้มีอำนาจหน้าที่จัดทำผังเมืองมี ๒ หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาล ฯลฯ อนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่า หากกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองกลาง และออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการจะผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการผังเมืองจังหวัด เมื่อผ่านการวิเคราะห์และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนจนได้ข้อยุติแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงจะมีอำนาจในการปรับประเภทผังเมือง

chana03

ประชาชนกลุ่มโยธะการักษ์ถิ่น ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ขึงป้ายผ้ารณรงค์มีข้อความเรียกร้องให้หยุดการกำหนดผังเมืองใหม่ในพื้นที่อีอีซี เมื่อช่วงกลางปี ๒๕๖๒

chana04

พื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ริมโค้งแม่น้ำบางปะกง เป็นระบบนิเวศสามน้ำ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคำสั่งยกเลิกผังเมืองเดิมเพื่อตอบสนองอีอีซี ล่าสุดเปลี่ยนประเภทผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

“อีอีซี”

การปรับประเภทผังเมืองเป็นเครื่องมือของรัฐและผู้ประกอบการในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทางการเกษตร ไม่ใช่แค่อำเภอจะนะกับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่ต้องปรับประเภทผังเมืองเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อ
กรณีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor – EEC) ก็เช่นกัน

ย้อนกลับไปในช่วงที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.๒๕๖๑ ยังไม่ประกาศ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การดำเนินงานต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ไม่ทันต่อความเร่งรีบรวบรัดทางนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจพิเศษตาม มาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๕๗ ออกคำสั่งเพื่อเร่งรัดผลักดันโครงการต่างๆ ให้ดำเนินการล่วงหน้าโดยไม่ติดขัด

หนึ่งในนั้น คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๔๗/๒๕๖๐ เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เนื้อหาสำคัญคือให้จัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ให้สอดคล้องนโยบายอีอีซี นำมาใช้แทนที่ผังเมืองเดิม ยกตัวอย่างเช่น

๑) ไม่ต้องนำกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาใช้บังคับในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
๒) ให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีอำนาจพิจารณาแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม
๓) เมื่อแผนผังที่จัดทำขึ้นได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย และ ครม.อนุมัติแล้ว ให้ยกเลิกผังเมืองรวมที่ประกาศใช้บังคับในพื้นที่อยู่ก่อน
๔) ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังที่ ครม.อนุมัติ ให้เสร็จภายใน ๑ ปี

อาจกล่าวได้ว่านี่คือคำสั่ง ยกเลิก หรือ “ฉีก” กฎหมายผังเมืองเดิม เขียนผังเมืองใหม่เพื่อเปลี่ยน ๓ จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่อีอีซีตามความต้องการ

ต่อมาปลายปี ๒๕๖๒ จึงมีประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.๒๕๖๒ ตามมา

พื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงเป็นตัวอย่างพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคำสั่งยกเลิกผังเมืองเดิม

จากชุมชนที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมน้ำบางปะกง ห่างจากชายฝั่งอ่าวไทยประมาณ ๒๐ กิโลเมตรตามลำน้ำ ทั่วท้องที่เป็นระบบนิเวศสามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มสลับกัน ชาวบ้านสามารถทำนาขาวังในช่วงน้ำจืด เพาะเลี้ยงสัตว์ในช่วงน้ำเค็มและน้ำกร่อย บางส่วนทำประมงพื้นบ้าน ด้วยมีแหล่งป่าจากผืนใหญ่ บางส่วนทำตับจากมุงหลังคาขายเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม ถือเป็นพื้นที่เกษตรชั้นดีที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารของผู้คนมากมาย

แม้มีรายงานการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุว่าพื้นที่ในตำบลเขาดินและบริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี และพื้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่ง ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงไม่มีความเหมาะสมในการใช้พื้นที่นี้ในการตั้งนิคมอุตสาหกรรม แต่ถึงที่สุดเมื่อมีประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินรองรับอีอีซี พื้นที่เขาดินแห่งนี้ได้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้ว