ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

นิคมอุตสาหกรรมเจ้าปัญหากับสัญญาอันว่างเปล่า
พื้นที่สามตำบลของจะนะ คือ สะกอม ตลิ่งชัน นาทับ เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน ขณะที่รัฐบาลและบริษัทเอกชนกำลังเดินหน้าผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นที่นี่ (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔

ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนท้องถิ่นจากอำเภอจะนะ เดินทางจากบ้านเกิดชายฝั่งภาคใต้ จังหวัดสงขลา มายังกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามความคืบหน้าของ “คำสัญญา” ที่รัฐบาลเคยรับปากไว้

คำสัญญาเกี่ยวกับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่กำลังถูกผลักดันให้เกิดขึ้น ณ บ้านของเธอ ไครียะห์บอกว่าคำสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้กับเธอ มีสาระสำคัญดังนี้

  1. จะตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า
  2. จะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) จังหวัดสงขลา บนฐานศักยภาพและทรัพยากรท้องถิ่น โดยคณะผู้ศึกษาต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
  3. ยุติการดำเนินกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเอาไว้ก่อน จนกว่ากระบวนการในข้อ ๑) และ ๒) จะแล้วเสร็จ

ถึงแม้จะมีการดำเนินการไปบ้าง แต่ในภาพรวมเธอเห็นว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลง ข้อสำคัญคือรัฐบาลยังอนุญาตให้ ศอ.บต. และบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการเดินหน้าผลักดันโครงการต่อ โดยที่ไม่มีการศึกษา SEA ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบด้าน

ในฐานะลูกหลานของคนจะนะ เธอกลับขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อทวงถามความคืบหน้าของสัญญา เรียกร้องให้รัฐบาลแจ้งผลการตรวจสอบให้สาธารณะชนรับทราบ

ทุกๆ วัน เวลา ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. ไครียะห์เดินทางมานั่งรอฟังคำตอบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ก็มีเพียงความว่างเปล่า

nikomjana02
ผังเมืองเดิมที่ผ่านการรับฟังอย่างชอบธรรม ทุกฝ่ายยอมรับ กำลังจะถูกเปลี่ยนเพื่อเดินหน้าสร้างนิคมฯ (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

ปลายปี ๒๕๖๓

ช่วงระหว่างวันที่ ๑๐-๑๕ ธันวาคม ของปี ๒๕๖๓ ชาวบ้านจากหลายพื้นที่ของอำเภอจะนะ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการผลักดันโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ประมาณ ๕๐ คน เป็นตัวแทนของชาวบ้านที่เชื่อว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ ออกเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร

ปลายทางกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าเครือข่าย “จะนะรักษ์ถิ่น” คือทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์ “ยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมจะนะ หยุดสืบทอดมรดกอัปยศยุค คสช.”

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นกิจการของเอกชน ๒ บริษัท คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ใช้พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอำเภอจะนะกว่า ๑๖,๗๐๐ ไร่ รัฐบาลผลักดันโครงการนี้ผ่านการใช้อำนาจของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

สาเหตุที่ชื่อแถลงการณ์อ้างถึงการหยุดสืบทอดมรดกอัปยศยุค คสช. เพราะโครงการนี้อนุมัติทิ้งทวน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีตรีนักสุดท้ายในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขึ้นสู่อำนาจจากการทำรัฐประหาร

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเห็นว่าโครงการนี้มีความไม่ชอบธรรมหลายอย่าง ทั้งกระบวนการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา โดยมีความพยายามเปลี่ยนสีผังเมืองของตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ ที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน สภาพพื้นที่เป็นชายฝั่งทะเลอุดมสมบูรณ์ จากผังเมืองสีเขียวเป็นสีม่วง เพื่อรองรับการการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมเต็มตัว

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยังตั้งคำถามถึงการทำงานของ ศอ.บต. หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เข้ามามีบทบาท และเร่งรัดจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในช่วงที่มีสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 รัฐบาลบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งห้ามชุมนุมหมู่มาก เมื่อจัดการประชุมแล้วก็นำกำลังเจ้าหน้าที่มาการสกัดขัดขวางไม่ให้ผู้ที่มีความเห็นต่างจากเจ้าของโครงการเข้าร่วม

หลังยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นปักหลักบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลกตัดถนนพระรามที่ ๕ เพื่อรอฟังคำตอบ ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร

กะเย๊าะ ดาหมิ ชาวบ้านจากปากบาง ตำบลสะกอม กล่าวว่า “หมู่บ้านของเราเป็นแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่เขากลับจะเปลี่ยนสีผังเมือง ถ้าผังเมืองสีม่วงมาลง อุตสาหกรรมก็จะตามมา เราเลยต้องมารวมตัวกันอยู่ที่นี่”

กะเย๊าะทำประมงมาทั้งชีวิต เธอยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทะเลจะนะ “ถ้ามีทะเลเราทำมาหากินได้ ถ้าจับได้จาระเม็ดตัวหนึ่งก็ ๔๐๐-๕๐๐ บาท มีปู มีกุ้ง กุ้งกิโลละประมาณ ๕๐๐ กว่าบาท ถ้าเป็นปลาทูก็กิโลละร้อยกว่าบาท ถ้ามีเรือปูมาเราก็ไปช่วยปลดปู กิโลละสามบาท ปีหนึ่งเยอะมาก มีหอยมีปูสารพัด คำนวนไม่ถูกเหมือนกัน แล้วที่บ้านเรามีกุ้ง ปู ปลาส่งออกต่างประเทศด้วยนะ”

นูรี โต๊ะกาหวี ชาวบ้านจากบ้านบ่อโชน ซึ่งเดินมาร่วมชุมนุมอธิบายว่าโครงการนี้เป็นของบริษัทเอกชน ไม่ใช่โครงการรัฐ แต่รัฐทำหน้าที่ถางทางให้ เธอมองว่าที่ผ่านมารัฐทำทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้นายทุนจากต่างพื้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่บ้านของเธอ “ผลประโยชน์ไม่ได้เกิดกับชาวบ้านโดยตรง แต่ผลประโยชน์มันได้กับนายทุน นี่ไม่ใช่โครงการของรัฐโดยตรง รัฐเข้ามาถางทางเพื่อให้นายทุนเข้ามา ไม่นึกถึงชาวบ้านตาดำๆ ผู้เสียภาษี บ้างหรือ คิดแต่นายทุนอย่างเดียว มันต้องฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย”

การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นดำเนินไปจนถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ ก็มีผู้แทนจากรัฐบาล ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีมาเจรจา ทั้งสองฝ่าย คือ กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับผู้แทนรัฐบาล ตกลงทำบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู (MOU) เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๓

เนื้อหาสำคัญที่ชาวบ้านเรียกร้อง คือ รัฐบาลต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการ กระบวนการแก้ไขผังเมือง การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง EIA และ EHIA แต่ต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA บนฐานทรัพยากร ศักยภาพของระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจทั้งพื้นที่จังหวัดสงขลา ตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการอย่างเหมาะสม การศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต.เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

รุ่งขึ้น รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในหัวข้อ รายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นำผลการหารือไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยด่วน มีรายงานข่าวว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา​ผลกระทบ​ต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตจะนะดึงทั้งกลุ่มหนุนและกลุ่มต้านเข้ามาร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหา ในเบื้องต้นจะชะลอเรื่องการพิจารณาแก้ผังเมืองออกไปก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ขั้นตอนอื่นๆ ของโครงการต้องถูกชะลอตามไปด้วย

หลังชุมนุมต่อเนื่องมาเป็นวันที่หก เมื่อผู้แทนรัฐบาลกลับมาแจ้งผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงเดินทางกลับ ตั้งใจถ้ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงจะกลับมาอีก

nikomjana03
nikomjana04
nikomjana05
การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นช่วงปลายปี ๒๕๖๓ (ภาพ :ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
)

คืนวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๔

ร่วมสัปดาห์แล้วที่ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทวงคำสัญญาทุกเย็นเธอจะเดินทางมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อรอฟังคำตอบ

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ไครียะห์รู้แล้วว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่ได้จัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ตามที่ตกลงไว้ ในทางตรงข้ามกลับปล่อยให้เกิดการจัดเวทีเพื่อเดินหน้าโครงการโดยไม่ฟังเสียงผู้ที่จะได้รับผลกระทบ

ไครียะห์ไม่อยากเชื่อว่าโครงการเมกกะโปรเจกบนพื้นที่เกือบสองหมื่นไร่ มีข้อห่วงกังวลมากมาย จะถูกผลักดันให้เดินหน้าต่อโดยไม่มีการทำ SEA

ที่น่าเสียใจที่สุดคือการทำ SEA เป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยให้คำสัญญาเอาไว้เองมิใช่หรือ ?

หลังไครียะห์ออกมาเรียกร้องเพียงลำพังที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงตามมาสมทบ ประกาศตั้งหมู่บ้าน “ลูกเล จะนะรักษ์ถิ่น” ณ ทางเข้าประตู ๑ ทำเนียบรัฐบาล เตรียมปักหลักพักค้างเพื่อทวงถามถึงคำสัญญาในรอบปี

รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ให้สัมภาษณ์โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ว่า “พวกเราส่งสัญญาณเตือนมาแล้ว คือส่งน้องไครียะห์ขึ้นมา รัฐบาลเคยพูดกับพวกเราแล้วว่าการมาทำอะไรที่รัฐสภา หรือทำเนียบรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องวุ่นวาย หรือมากันจำนวนเยอะๆ มากันแค่สองสามคนก็ได้ มาแค่ตัวแทนก็ได้ แต่น้องมาอยู่ห้าวัน ยังไม่มีปรากฏการณ์อะไรเลย เรามาอยู่ก็คงจะเหมือนกัน เราก็เลยปักหลักสร้างหมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น”

ทางเครือข่ายเห็นว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง ภาพความหลอกลวง รวมถึงการทำงานของข้าราชการภายใต้การบริหารของรัฐบาล พฤติกรรมของ ศอ.บต. ที่ตั้งอยู่บนฐานผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมือง ไม่สนใจไยดีต่อข้อตกลงที่รับปากไว้

หนึ่งปีที่ผ่านไป ตำแหน่งสำคัญทางการเมืองบางตำแหน่งเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ชัดเจนว่าท่าทีของผู้แทนที่รัฐบาลแต่งตั้งให้เข้ามาคลี่คลายปัญหาเป็นอย่างไร ขณะที่อดีตนักการเมืองที่เคยลงมาคุยกับชาวบ้านระบุว่า หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งตนไม่สามารถสานงานต่อเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลายๆ เรื่อง รวมถึงปัญหาของพี่น้องชาวจะนะ ก็ไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก

กลางดึกคืนวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. ไม่กี่ชั่วโมงหลังชาวบ้านประกาศตั้งหมู่บ้านลูกเล จะนะรักษ์ถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล จับกุมตัวชาวบ้านไปที่สโมสรตำรวจถนนวิภาวดี

วันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องใช้ถนนเส้นที่ชาวบ้านปักหลักต่อสู้เพื่อเข้าสู่ทำเนียบ

การถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่าบันทึกตกลงจะมีเพียงความว่างเปล่า