เมืองหลวงพระบาง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เขื่อนหลวงพระบางจะอยู่ห่างจากบริเวณนี้ขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๒๕ กิโลเมตร บริเวณบ้านห้วยย้อ (หรือห้วยโง) เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง (ภาพ : องค์กรแม่น้ำนานาชาติ)

เมืองหลวงพระบาง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เขื่อนหลวงพระบางจะอยู่ห่างจากบริเวณนี้ขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๒๕ กิโลเมตร บริเวณบ้านห้วยย้อ (หรือห้วยโง) เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง (ภาพ : องค์กรแม่น้ำนานาชาติ)

คำถาม
เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓ จดหมายฉบับหนึ่งถูกเขียนขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง เป็นผู้เขียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงพลังงาน, ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่ทางเครือข่ายฯ เห็นว่ามีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศ เพื่อสอบถามถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และขอให้ทบทวนพิจารณาระงับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนแห่งนี้

เขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการเขื่อนลำดับที่ ๕ ที่รัฐบาลลาวเสนอก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ถัดจากเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย

ในฐานะประชาชนคนไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและมีเขตติดต่อกับลาว ทางเครือข่ายฯ อ้างว่าต้องเผชิญปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากการใช้งานเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรกที่เริ่มผลิตไฟฟ้าแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๒ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมปรากฏชัดตั้งแต่ช่วงทดลองผลิตไฟฟ้าเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ รุนแรงยิ่งขึ้นหลังผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ทั้งระดับน้ำผันผวน ปลาอพยพผิดฤดูกาล เกิดปรากฎการณ์โขงสีครามหรือน้ำขาดตะกอน

ทางเครือข่ายฯ ยังห่วงกังวลถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแขวงไซยะบุรี รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงประเทศไทย และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบด้านใดตามมาอีก เนื่องจากเห็นว่าเจ้าของโครงการเขื่อนขาดการศึกษาผลกระทบที่รอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนประเทศ

ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ฟ้องศาลปกครองของประเทศไทยกรณีเขื่อนไซยะบุรีและโครงการเขื่อนปากแบง เรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบข้ามพรมแดน เรียกร้องให้จัดทำข้อมูลผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรีขึ้นใหม่ รวมทั้งขอให้ชะลอการซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ทั้งสองคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง แต่ขณะเดียวกันกลับมีแผนการผลักดันโครงการเขื่อนหลวงพระบางขึ้นมาอีกหนึ่งโครงการ

ทางเครือข่ายฯ รู้สึกกังวลต่อปัญหาต่างๆ ข้างต้น เห็นว่าหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเป็นเป้าหมายของการรับซื้อไฟฟ้า จึงเขียนจดหมายถึงผู้บริหารหน่วยงาน สรุปได้ดังต่อไปนี้

๑. ขอให้ชี้แจงเกี่ยวกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นตลาดรับซื้อไฟฟ้า หากมีแผนจะรับซื้อขอให้จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ทางเครือข่ายฯ
๒. ขอให้พิจารณาระงับการทำสัญญาหรือลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง รวมทั้งเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก ด้วยเหตุผลดังนี้

๒.๑) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (๒๕๖๑-๒๕๘๐) หรือ PDP 2018 ระบุว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน ๕๖,๔๓๑ เมกะวัตต์ จะมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จำนวน ๕,๘๕๗ เมกะวัตต์ โดยเฉพาะลาว เป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งต่อประชาชนในเขตประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ แม้จะมีการกล่าวว่าพลังงานน้ำมีต้นทุนต่ำกว่าแหล่งพลังงานอื่น แต่ทราบกันดีว่า ต้นทุนที่แท้จริงและภาระที่ต้องจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่ได้ถูกคิดรวมในต้นทุนการผลิต
๒.๒) ความต้องการพลังงานที่ลดลงช่วงโรคระบาด COVID-19 ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมถึงปัจจุบัน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยลดลงอย่างมาก เนื่องจากภาครัฐประกาศมาตราการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจชะลอตัว จนทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยมีสูงเกินกว่า ๖๕ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีประเด็นวิพากษณ์วิจารณ์ทางสังคมเรื่องค่าไฟแพง ปัจจัยสำคัญอาจเกิดจากการซื้อขายไฟฟ้าด้วยสัญญาที่มีเงื่อนไข “Take or Pay” หรือ “ค่าความพร้อมจ่าย” ตลอดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ๒๕-๓๐ ปี ทำให้ประชาชนไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมากในอนาคต ไม่ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตาม

๓. กระทรวงพลังงานมีหน้าที่จัดหาพลังงานสำรองเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันปริมาณพลังสำรองของประเทศมีปริมาณสูงเกินกว่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐานสากล หากซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมาเพิ่มยิ่งจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่จำเป็น และเห็นว่ากระทรวงพลังงานกำลังพยายามจัดหาแหล่งพลังงานพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น แสงแดด สายลม การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำ มาตรการประหยัดพลังงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี มีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีสูง นำไปสู่การสร้างงาน พัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ อีกทั้งใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าเป็นทิศทางที่น่าส่งเสริมมากกว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ

ตอนท้ายของจดหมายทางเครือข่ายฯ เน้นย้ำว่าพลังงานไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบางไม่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงด้านพลังงาน การเดินหน้าโครงการมีแต่จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ทบทวนและชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง โดยขอให้ตอบกลับเป็นเอกสารภายในเวลา ๓๐ วัน หลังจากได้รับจดหมาย

luangprabang02

โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ระหว่างโครงการเขื่อนปากแบงกับเขื่อนไซยะบุรี (ภาพ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)

คำตอบ
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง ชี้แจงแผนการรับซื้อไฟฟ้า และการพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง
เนื้อความในจดหมายชี้แจงว่า กฟผ. ยังไม่ได้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และอธิบายรายละเอียดขั้นตอนกระบวนการว่าหากจะมีการซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวจะมีขั้นตอนดังนี้

๑. คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ, มีผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานเป็นเลขานุการ) จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี ๒๕๖๓-๒๕๘๐ หรือ PDP 2018 ให้กรอบระยะเวลาของแผนสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี โดยแผน PDP 2018 จะผ่านการพิจารณากลั่นกรองและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
๒. ตามที่ กพช. มีมติเห็นชอบแผย PDP 2018 เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ คณะรัฐมนตรีรับทราบมติ กพช. และถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ มีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านรวม ๓,๕๐๐ เมกกะวัตต์ ในปี ๒๕๖๙-๒๕๗๘
๓. การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เรียกย่อๆ ว่า คณะอนุกรรมการประสานฯ (มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ)
๔. คณะอนุกรรมการประสานฯ มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นหน่วยงานในการพิจารณาซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงฟ้าพลังน้ำจากลาว และ กกพ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (อนุกรรมการจัดหาฯ) ประกอบด้วยกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ๓ ท่าน ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ๑ ท่าน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ๕ ท่าน
๕. ปัจจุบันมีโครงการที่ตั้งอยู่บนลำน้ำโขงเสนอขายไฟฟ้าให้ประเทศไทยจำนวน ๔ โครงการ ได้แก่ โครงการปากแบง ปากลาย เซนาคาม และหลวงพระบาง

ทั้งนี้ ปัจจุบันขั้นตอนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในลาวอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการจัดหาฯ และทางกระทรวงพลังงานอาจทบทวนแผน PDP 2018 จากผลกระทบการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ความต้องการไฟฟ้าในประเทศไม่เป็นไปตามแผนเดิม

luangprabang03

สภาพแม่น้ำโขงบริเวณบ้านห้วยย้อ แขวงหลวงพระบาง (ภาพ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)

การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงต้องคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ

แต่อดีตกาลนานมาแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นแค่แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่เป็นแหล่งผลิตพลังงานความมั่นคงทางอาหารที่โอบอุ้มหล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านๆ คน

การรับซื้อไฟฟ้าในขณะที่ไฟฟ้าสำรองมีเกินเพียงพอ อาจทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าไม่ใยดีต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ปล่อยให้ไฟฟ้าได้มาจากคราบน้ำตาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน