๏ นักสิทธิวิทยา     ถือคทาธนูศร
กินรินแลกินร     รำฟ้อนร่อนรา
๏ ห่านหงษ์หลงเกษม     อยู่ห้องเหมคูหา
พระฤๅษีชีป่า     หาบผลาเลียบเนิน
๏ คนป่าทั้งม่าเหมี่ยว    ก็จูงกันเที่ยวดุ่มเดิน
ลอยลมชมเพลิน     พนมเนินแนวธาร

“บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องกากี” โดยสุนทรภู่

ประชากรแห่งหิมพานต์: Human of Himava - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 55

นอกจากบรรดาสัตว์นานาชนิดและเหล่าอมนุษย์แล้ว ในอาณาเขตป่าหิมพานต์ยังมีมนุษย์บางจำพวกอาศัยอยู่ด้วย จึงขอหยิบยกมาพูดถึงรวมกันไว้ตรงนี้ เผื่อใครจะพาคณะทัวร์ไปท่องเที่ยวทางนั้นจะได้อาศัยเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการบรรยาย

“นักสิทธิวิทยา” เป็นการเรียกพ่วงกันโดยหมายเอาเสียงคล้องจอง “นักสิทธิ” และ “วิทยาธร” แปลว่า “ผู้สำเร็จ” และ “ผู้ทรงไว้ซึ่งวิชา” หมายถึงวิชาเวทมนต์

ตามความรับรู้ของคนไทย นักสิทธิวิทยาธรดูเหมือนจะมีแต่ที่เป็นเพศชาย แถมยังดูท่าทางเป็น “เด็กแว๊น” หรือ “จิ๊กโก๋” ต่างตนต่างอยู่เป็นเอกเทศ เหาะร่อนไปมาได้ด้วยฤทธิ์ของเวทมนต์หรือไม่ก็ด้วยพลังของอาวุธประจำตัว (คือ “คทา-ธนู-ศร” ในบทเห่กล่อมข้างต้น) วันๆ ก็คงไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรในชีวิตเลยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเที่ยวเล่น นอกนั้นก็เป็นเรื่องทับเส้น แย่งหญิง ชิงนาง อะไรทำนองนั้น

ส่วนนักพรตที่เป็น “พระฤๅษีชีป่า” หรือ ““ฤๅษีชีไพร” ก็เป็นมนุษย์ธรรมดานี่เอง เพียงแต่ท่านออกบวชแสวงหาความวิเวก ถือศีลกินผักหญ้าผลไม้ป่าอยู่ท่ามกลางความรกชัฏแห่งหิมพานต์

to kill a spider

มีนิทานเกร็ดที่เล่ารวมไว้ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ว่าครั้งหนึ่งมีพระดาบสอาศัยอยู่ในศาลาใกล้กับถ้ำซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกินนร ตรงปากถ้ำนั้นมีแมงมุมใหญ่ชักใยอยู่คอยดักจับกินนรแล้วกัดหัวดูดเลือดเป็นอาหาร ขณะที่เผ่ากินนรตัวเล็ก ไม่มีกำลังวังชา และไม่มีน้ำใจอาจหาญจะไปต่อสู้กับสัตว์ร้ายได้ จึงพากันมาอ้อนวอนขอร้องพระดาบสให้ช่วยจัดการแมงมุมให้ที แต่ท่านตอบปฏิเสธเด็ดขาด อ้างตนว่าเป็นบรรพชิต ไม่อาจทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้

พวกกินนรจึงกลับไปวางแผนใหม่ คราวนี้ส่งนางกินรีวัยรุ่นชื่อรัตนาวดี มายั่วยวนจนดาบส “ตบะแตก” ลืมคติธรรมที่ตั้งมั่นไว้แต่เดิม ยอมบุกถ้ำ ลงมือตีแมงมุมจนตาย จากนั้นพระดาบสจึงอยู่กินกับนางรัตนาวดี มีลูกหลานสืบต่อมาตราบสิ้นอายุขัย

เคยพบนิทานเรื่องนี้เขียนเป็นภาพจิตรกรรมแทรกปนอยู่กับเรื่องอื่นๆ บนผนังอุโบสถวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งแม้จะเป็นวัดเก่ารุ่นกรุงศรีฯ แต่เฉพาะภาพวาดฝาผนัง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นทีหลัง คงในราวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงว่านิทานเรื่องนี้ต้องเป็นที่รู้จักกันดีไม่น้อย

อีกคำที่อาจดูแปลกหูแปลกตาบ้างคือ “ม่าเหมี่ยว” ซึ่งปรกติเราจะคุ้นหูกันแค่ในฐานะชื่อพันธุ์ชมพู่อย่างหนึ่ง ส่วนที่เป็นมนุษย์นั้น ดูเหมือนไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก นอกจากว่าพบมีปะปนอยู่ในฉากธรรมชาติของภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือลายรดน้ำที่วาดเป็นรูปป่าดงพงไพร มักเป็นภาพมนุษย์ชายหญิงเดินมาเป็นคู่ ตรงตามที่สุนทรภู่ท่านว่า “จูงกันเที่ยวเดินดุ่ม” โดยช่างนำเสนอให้มีรูปพรรณสัณฐานเป็นคนป่า ไม่สวมเสื้อผ้า แต่ก็ไม่ถึงกับเปลือยกาย ด้วยว่ายังนุ่งใบไม้ปิดของลับไว้

ไม่ปรากฏว่าพวกม่าเหมี่ยวนี้มีชุมชนหรือประกอบอาชีพอะไรแน่ เดาว่าอาจเป็นสมาชิกของชนเผ่าดั้งเดิม เก็บของป่าล่าสัตว์เล็กๆ น้อยๆ อย่างในภาพลายกำมะลอที่หอพระไตรปิฎก วัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ ก็เขียนรูปคู่ของม่าเหมี่ยวตัวผู้ตัวเมียกำลังช่วยกันหอบหิ้วผลหมากรากไม้ คงเอากลับไปกินยังแคมป์ที่พำนักอาศัยกระมัง ?