“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่าในบรรดาสัตว์สี่เท้า (จตุบาท) ไกรสรราชสีห์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษประหลาดกว่าอย่างอื่น ส่วนถ้าเป็นสัตว์สองเท้า (ทวิบาท) ย่อมต้องได้แก่ “นกการเวก”

ประชากรแห่งหิมพานต์: การเวก กรวิก - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 54

คัมภีร์พรรณนาว่านกการเวก (หรือ “กรวิก” หรือ “การวิก”) มีวิธีกินมะม่วงแห่งหิมพานต์ด้วยการ “จิกผลมะม่วงด้วยจะงอยปากแห่งตน แล้วก็ดื่มกินซึ่งน้ำแห่งผลมะม่วงนั้น” เมื่อได้ลิ้มรสน้ำมะม่วงเอร็ดอร่อยแล้วก็รู้สึกคึกคักจึงส่งเสียงร้อง “เปรียบประดุจบุคคลอันชำนาญปี่ แลเป่าปี่แก้ว สำเนียงนั้นแจ่มแจ้งจับจิต เสนาะสนั่นป่า” เสร็จแล้วก็โผบินขึ้นสู่ยอดไม้ คอยสดับรับฟังเสียงร้องของตัวเองที่สะท้อนก้องอยู่ในหุบเขานั้นต่ออีก

บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังต่างเคลิบเคลิ้มกับเสียงร้องของนกการเวกจนลืมตัวขาดสติ เสือที่ไล่จับกวางเป็นอาหารก็ยืนยกขาค้างราวกับรูปปั้น ส่วนกวางที่วิ่งหนีเสือก็ลืมความกลัว ยืนนิ่งเหม่อฟัง กระทั่งนกบนฟ้าและปลาในน้ำ ต่างก็เอาใจจดใจจ่อกับเสียงขับขานหวานแว่ว จนลอยตัวนิ่งไม่ไหวติง

อย่างไรก็ดี นกชื่อเดียวกันนี้อาจมีถิ่นที่อยู่อาศัยมากกว่าหนึ่งแห่งด้วย เพราะมีเขาสัตตบริภัณฑ์ทิวหนึ่งที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุชื่อ “กรวิก” หรือ “การวิก” ซึ่งคัมภีร์ให้คำอธิบายไว้ดังนี้

“มีนกการเวกอยู่เป็นอันมาก นกการเวกทั้งหลายสำเนียงไพเราะจับจิต ยังสัตว์ทั้งปวงให้ละเลิงหลงงงงวยด้วยสำเนียงแห่งตนนั้น ย่อมสำนักอาศัยอยู่ที่ภูเขานั้นโดยมาก”

ดังนั้นถ้ามีการทำคู่มือดูนก (Bird Guide) ระดับจักรวาล ก็ต้องระบายสีในแผนที่ว่านักดูนกอาจพบเห็นนกการเวกได้ ทั้งบนภูเขาวงแหวนชื่อกรวิก และในป่าหิมพานต์ของชมพูทวีป

นอกจากนั้นแล้ว บางครั้งบางคราวนกการเวกยังบินเข้ามาในชมพูทวีปส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้บ้าง (จึงอาจนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “นกอพยพ” ด้วย) ทั้งนี้เนื่องด้วยบุญญาธิการบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม เช่น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หรือพระเจ้าอโศกมหาราช นกวิเศษนี้ (รวมถึงนกจากหิมพานต์ชนิดอื่นๆ) จึงละทิ้งถิ่น มาขับร้องบำเรอท้าวพระยามหากษัตริย์แทน

“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่า

“อันว่านกทั้งหลายอันมีในป่า มีอาทิ คือนกกรวีก แลนกยูง แลนกกระเรียน แลนกกระเหว่าทั้งหลาย เทียรย่อมชวนกันมาฟ้อนรำตีปีกฉีกหาง แลร้องด้วยสรรพสำเนียงเสียงอันไพเราะ มาถวายแด่พระยาศรีธรรมาโศกราชทุกวันบ่มิได้ขาดแล นกฝูงนั้นเทียรย่อมฝูงนกอันอุดมแลมาแต่ป่าพระหิมพานต์โพ้นไส้”

ถ้าว่าตามคัมภีร์ เรารู้แล้วว่านกการเวกร้องเสียงไพเราะ แต่ยังมีปัญหาอีกข้อหนึ่งคือแล้วนกการเวกมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เคยมีจดหมายกราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ภายหลังรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ “บันทึกความรู้ต่างๆ”) ว่าท่านได้ให้เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ฯ สอบค้นตำราดูว่านกการเวกรูปร่างเป็นอย่างไร ปรากฏว่าพบหลายแบบ

ใน “สมุดภาพสัตว์หิมพานต์” เขียนไว้ให้มีหัว มือ และตีน เหมือนครุฑ มีปีกอยู่ที่สองข้างตะโพก แต่ขนหางคล้ายใบมะขาม ยาวอย่างขนนกยูง

ส่วน “สมุดภาพรอยพระพุทธบาท ฉบับวังหน้าในรัชกาลที่ ๓” เขียนรูปมีลักษณะคอยาว หัวเหมือนนกกระทุง ขนหางเป็นพวงเหมือนไก่ แต่มีขายาวเหมือนนกกะเรียน

ที่แตกต่างกันได้ขนาดนี้คงเดาได้ไม่ยากว่าเพราะนกการเวกเป็น “สัตว์หิมพานต์” ที่ไม่เคยมีใครเห็นตัว อีกทั้งในคัมภีร์ก็ไม่เคยอธิบายว่ารูปร่างมันเป็นอย่างไรแน่ ต่างคนจึงต่างนึกฝันกันไปตามจินตนาการ

แต่แม้เราอาจไม่เคยได้เห็นตัวนกการเวกเป็นๆ ในแดนมนุษย์ แต่มีมรดกอีกอย่างหนึ่งของนกการเวกที่ทิ้งไว้ให้เราเห็น คือ “ขี้”

ดังมีพลอยสีเขียวอมฟ้าชนิดหนึ่ง ในภาษาไทยเรียกกันว่า “พลอยขี้นกการเวก”

หรือที่ในภาษาฝรั่งเรียกว่า turquoise (เทอร์ควอยซ์-หินของพวกเติร์ก คือชาวตุรกี) นั่นเอง