เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด ภาพ : สุรศักดฺ เทศขจร

ชายหนุ่มกลัวเวลากลางคืนที่สุด ไม่ใช่เพราะกลัวความมืด หากแต่กลัวการนอนไม่หลับซึ่งเป็นความทรมานที่เขาต้องพบในทุกค่ำคืน แม้พยายามเท่าไรก็ไม่สามารถข่มตานอนหลับได้อย่างใจนึก . บังเอิญหลายวันก่อนเขามีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “หลับไม่ดี มีทางแก้” เนื้อหาบอกเล่าถึงวิธีแก้อาการนอนไม่หลับอยู่มากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีที่เรียบง่ายและใช้ได้ผลพอสมควร

วิธีหนึ่งที่มีอยู่ในหนังสือ คือการนอนแช่ในน้ำร้อนไม่เกิน 15 นาที ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายผ่อนคลาย เมื่อร่างกายสบายขึ้น ความเครียดทางกายลดลง ก็จะนอนหลับได้ง่ายขึ้นราวกับมีเวทมนตร์

ชายหนุ่มรู้สึกตงิดๆ อยู่ในใจอย่างไรบอกไม่ถูก แต่พลบค่ำของวันนั้นเขาก็ต้มน้ำร้อนจนเดือดปุดๆ แล้วเทลงไปในกะละมังใบโตพอให้ตัวเองลงไปนอนแช่ได้ จากนั้นเติมน้ำเย็นลงผสมเล็กน้อย อุณหภูมิของน้ำจึงไม่ถึงกับร้อนมากนัก แล้วเขาก็เอาเท้าจุ่มลงไปทีละข้าง และค่อยๆ ทิ้งตัวลงจนร่างกายทุกส่วนจมอยู่ใต้น้ำ ยกเว้นศีรษะที่ต้องโผล่ขึ้นมาเพื่อหายใจ .

เขาหลับตาลงแล้วพยายามนึกถึงคำแนะนำในหนังสือที่ว่าให้เก็บแขนและขาอยู่ใต้น้ำ ถ้านอนไม่สบายก็อาจใช้หมอนรองคอช่วยพยุงให้ศีรษะพ้นน้ำ และทำตัวให้ผ่อนคลาย ไม่ต้องคิดกังวลอะไรทั้งสิ้น

แต่การทำอย่างที่หนังสือบอกไม่ง่ายอย่างที่คิด อาจเป็นเพราะชายหนุ่มยังใหม่เกินไปสำหรับเรื่องนี้ เขารู้สึกว่ากำลังถูกกัดแทะผิวหนังอยู่ มันแสบๆ คันๆ เหมือนตอนโดนมดแดงกัด อย่างไรก็ดีชายหนุ่มยังคงฝืนทนต่อไป และเมื่ออุณหภูมิของน้ำเริ่มเย็นลง ทุกสิ่งก็แปรผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาสบายตัวขึ้น ราวกับร่างกายไร้น้ำหนัก เบาหวิวไม่ต่างจากสำลีในอากาศ

ครบ 15 นาทีเขาลุกออกจากกะละมัง เช็ดตัวจนแห้ง แล้วเข้านอนทันที

ค่ำคืนนั้นเขาหลับได้เร็วขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

หนังสืออธิบายว่า ความร้อนจะทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายคลายเครียด สมองจะได้รับออกซิเจนไปเลี้ยงน้อยกว่าปกติ ระหว่างที่นอนอยู่ในน้ำอุ่น สมองจึงอ่อนล้าลงและอยากพัก นั่นคือกลยุทธ์เหนี่ยวนำให้นอนหลับได้เร็วกว่าปกติ

ข้อควรระวังก็คือ เมื่อใดที่อยู่ในที่ร้อน ร่างกายจะสั่งให้ผิวหนังขยายตัว เพื่อเอาเลือดไปหล่อเลี้ยงผิวไว้ ซึ่งหมายความว่า หัวใจ ปอด ตับ ลำไส้ และสมอง จะมีเลือดไปเลี้ยงน้อยกว่าปกติ ดังนั้นจึงไม่ควรนอนแช่น้ำร้อนนานๆ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

อย่างไรก็ดีวิธีบำบัดความเครียดไม่ได้มีแค่การนอนแช่น้ำอุ่นเท่านั้น การนอนแช่น้ำเย็นก็ช่วยให้ร่างกายคลายเครียดได้ดีไม่น้อยไปกว่ากัน

มนุษย์รู้จักใช้น้ำรักษาโรคมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว และยังคงใช้สืบเนื่องมาจนยุคปัจจุบัน เช่นในอดีต ฮิปโปเครติส (Hippocrates, 460-375 BC) แพทย์ชาวกรีก ใช้การแช่น้ำร้อนและน้ำเย็นบำบัดโรคในกลุ่มอาการปวดตามกล้ามเนื้อ ข้อ ดีซ่าน และอัมพาต ส่วนชาวโรมันเลือกใช้การแช่น้ำร้อนในสถานที่อาบน้ำตามน้ำพุร้อนต่างๆ เป็นวิธีบำบัดจิตใจ หรือแม้แต่ในฝั่งเอเชียอย่างชาวญี่ปุ่น ก็เลือกวิธีแช่น้ำพุร้อนเพื่อเยียวยารักษาบาดแผลจากการสู้รบ หรือชาวอินเดียก็มีการใช้น้ำรักษาสุขภาพตามการแพทย์อายุรเวท

การแพทย์แผนไทยมีการกล่าวถึงการใช้น้ำในตำราแพทย์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีการอาบแช่น้ำสมุนไพรต่างๆ และมีการใช้ลูกประคบสมุนไพรอบไอน้ำเพื่อประคบรักษาโรคต่างๆ ตลอดจนมีธรรมเนียมอยู่ไฟหลังคลอดแล้วลงอาบน้ำสมุนไพร

  • underwater02
  • underwater03
  • underwater04

หนังสือ “จดหมายเหตุลาลูแบร์” กล่าวว่า คนไทยชอบลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลองแล้วประแป้งตามตัว ซึ่งแสดงว่าลักษณะการใช้น้ำเพื่อสุขภาพของคนไทยก็มีมาช้านานแล้วเช่นกัน

ดังนั้นการนอนแช่น้ำนานๆ นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถรักษาสุขภาพได้ แต่จะจริงหรือไม่ ชายหนุ่มต้องพิสูจน์ให้รู้ด้วยตัวเอง

วันต่อมาเขามุ่งหน้าไปยังอ่างเก็บน้ำท้ายหมู่บ้านที่ตนอาศัย ซึ่งอยู่ติดกับเขาพนมรุ้ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะตั้งใจจะไปนอนแช่น้ำในอ่างเก็บน้ำนั้น (ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า อ่างถนนขาด) อ่างนี้อยู่ติดกับตีนเขาพอดี ก้นอ่างมีน้ำตื้นเหมาะจะนอนแช่ได้นานๆ

เมื่อไปถึงชายหนุ่มก็นอนเหยียดตัวลงในน้ำทันที อุณหภูมิของน้ำเย็นกว่าที่คิดไว้มาก เขานอนราบไปทั้งตัว โดยหนุนหัวบนรากต้นสมอที่อยู่ริมน้ำ จากนั้นจึงพยายามควบคุมลมหายใจให้อยู่ในสภาวะปกติมากที่สุด

สายตาชำเลืองเห็นคลื่นลูกเล็กไหวขึ้นลงแล้วกระเพื่อมเข้ากระทบฝั่ง ขณะที่เศษฝุ่นซึ่งฟุ้งขุ่นขึ้นจากท้องน้ำเมื่อครู่เริ่มจางลงจนมองเห็นผิวดินใต้น้ำชัดเจน

เศษใบไม้ที่ตกอยู่ริมน้ำเคลื่อนตัวเข้ามาหาชายหนุ่ม มันลอยลาดไปตามแรงสั่นของสายลมที่พัดเอื่อยอยู่บนผิวน้ำ ราวจะกล่อมให้สายน้ำหลับใหลด้วยเพลงแห่งการปัดเป่าอันนุ่มนวล เสียงนกร้องดังจิ๊บจั๊บแต่เบาๆ อยู่บนกิ่งไม้เป็นดังอีกเพลงบรรเลงกล่อม ห้วงเวลานั้นชายหนุ่มรู้สึกว่า ทุกสิ่งรอบตัวเงียบสงบ และจิตใจเขาก็ไร้ความกังวลใดๆ

ชั่วขณะถัดมาเขาสัมผัสได้ว่าร่างกายตนเองเริ่มซึมซับจิตวิญญาณแห่งสายน้ำบ้างแล้ว มันเป็นความรู้สึกเบาหวิวคล้ายก้อนเมฆล่องลอยอยู่กลางอากาศ เกิดเป็นความเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างตัวเขากับสายน้ำ เหมือนกับว่ากระแสน้ำและร่างกายเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน

แต่สิ่งไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ชายหนุ่มเผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว เขาไม่รู้ว่าหลับไปนานเท่าไร รู้แต่เพียงว่าลูกสมอที่ร่วงหล่นลงมาเมื่อครู่ได้ปลุกให้เขาตื่นขึ้น พร้อมกับความสดชื่นที่แปลกพิกล

เขาไม่ลุกขึ้นจากน้ำโดยทันที เพราะยังเพลิดเพลินอยู่กับการมองดูลูกปลาตัวเล็กๆ ที่เข้ามากัดแทะเศษคราบตะไคร่น้ำบนร่างกายเขาด้วยท่าทีกล้าๆ กลัวๆ ซึ่งเป็นภาพที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน . อีกชั่วครู่ผิวกายของชายหนุ่มเริ่มเหี่ยวย่น แม้จะมีความสุขมากเพียงใด ก็ถึงเวลาต้องลุกขึ้นจากน้ำแล้ว ก่อนเนื้อตัวเขาจะเปื่อยยุ่ยได้

เขากลับมาที่บ้านด้วยความรู้สึกแตกต่างจากเดิม เป็นอารมณ์ของการอิ่มเอิบอยู่ในใจ แต่ไม่อาจอธิบายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษรได้

ค่ำคืนนั้นชายหนุ่มหลับสบายยิ่งขึ้น หลับโดยไม่ฝัน เหมือนหลับตาไปวูบหนึ่งแล้วลืมตาขึ้นมาพบกับเช้าวันใหม่ เช้าที่สดใส เต็มไปด้วยเรี่ยวแรง พร้อมจะทำงานได้ตลอดทั้งวัน. . .

อ้างอิง

  • พญ. ลลิตา ธีระสิริ. (2549). หลับไม่ดี มีทางแก้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์รวมทรรศน์. –
  • พล.ร.ต. สุริยา ณ นคร, วรันยา พวงพงศ์. (2543). วิวัฒนาการของการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.baanjomyut.com/

มาร่วมกับเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยกันใน Parkใจ 

ดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี และนายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา