เรื่อง : วรรณพร กิจโชติตระการ
ภาพ : กวิน สิริจันทกุล
จบไปแล้วกับการสำรวจ ‘แมลง แมง เมือง’ ในกิจกรรม Parkใจ ในสวน ครั้งที่ 5 : แมลง แมง เมือง กับ Jade SketchDer เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
เจท อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง พาทุกคนสัมผัสความอัศจรรย์ของเพื่อนต่างสายพันธุ์อย่างแมลงและแมงมุม เรียนรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ที่มีต่อโลกของเรา ในสวนเบญจกิติ สวนป่าเชิงนิเวศกลางเมืองกรุงเทพฯ
เริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนแนะนำตัวและบอกเหตุผลที่ตัดสินใจมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ บางคนบอกว่าตนเองรู้เรื่องแมลงน้อยจึงอยากมาหาความรู้เพิ่มเติม บางคนก็สนใจแมลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“แมลงกับแมงต่างกันอย่างไร” หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่าแมลงมี 6 ขา ส่วนแมงมี 8 หรือมากกว่านั้น แต่คำถามเปิดหัวข้อการสนทนาก็จะพาให้ทุกคนเข้าสู่ช่วงต่อไปได้เสมอ เมื่อให้ผู้เข้าร่วมยกตัวอย่างแมลงและแมงที่รู้จัก ชื่อที่ได้รับการเสนอก็ค่อนข้างคุ้นหูอย่างแมลงปอ แมลงวัน ผีเสื้อ ยุง แมงมุม มด และนี่คือสิ่งมีชีวิตเบื้องต้นที่พวกเราเจอตลอดการเดินทางในวันนี้
เดินออกจากจุดเริ่มต้นไม่ทันไร คุณเจทเรียกทุกคนไปมุงดูหยากไย่ที่แมงมุมทำใยทิ้งเอาไว้บนหญ้าเตี้ยๆ ลักษณะเป็นแผ่นสีขาวทบกันจนเป็นโพรง แต่ไม่เจอตัวแมงมุม ถ้าเป็นทางภาคเหนือจะเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่าผีตากผ้าอ้อม หมายถึงการมาทำอะไรไว้ช่วงกลางคืน พอเช้ามาก็หายไป
ใยแมงมุมยังสามารถบอกชนิดและสภาพแวดล้อมได้อีกด้วย แมงมุมที่ทำใยแบบนี้มีกลุ่มแมงมุมใยกลม และแมงมุมหมาป่า บางตัวทำไว้รองน้ำค้าง บางตัวทำดักเหยื่อ เมื่อล่าเสร็จมันก็จะกินใยของตัวเอง เพราะเป็นโปรตีนที่ให้พลังงาน แต่ถ้ามันทิ้งใยเอาไว้ บางทีมันอาจจะกินเหยื่อจนอิ่มแล้วก็ได้ แปลว่าบริเวณนั้นมีอาหารเยอะ ถ้ามีใยแมงมุมตามพื้นหญ้ามาก ก็แสดงว่าแถวนั้นเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ ในระหว่างเดินสำรวจคุณเจทให้ความรู้เกี่ยวกับแมลงกับทุกๆ คน ตลอดทาง
หลังจากนั้นคุณเจทพาดูแมลงที่อาศัยอยู่ในน้ำ ด้วยการตักน้ำจากบ่อในแหล่งธรรมชาติมาเตรียมไว้ ก่อนจะใช้กระชอนช้อนสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ขึ้นมาใส่ในถัง
หลายคนอาจเคยเห็นเจ้าแมลงสี่ขายาวๆ ที่ชอบกระโดดไปมาอยู่บนผิวน้ำ มันคือ จิงโจ้น้ำ กินตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดที่ตกลงไปในน้ำ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกินศัตรูพืชที่เป็นตัวอ่อนระยะแรกได้ดีมากๆ
ตัวอ่อนของแมลงชีปะขาวก็อยู่ในน้ำด้วยเช่นกัน แมลงชนิดนี้ยังสามารถบอกคุณภาพน้ำได้เบื้องต้น เพราะเป็นแมลงที่มีความบอบบาง ไม่ทนทานต่อสารเคมี ดังน้ำแหล่งน้ำที่อยู่ จะเป็นน้ำนิ่งหรือน้ำไหลก็ได้ แต่ต้องไม่มีมลพิษ
ภายในสวนเบญจกิติมีตัวอ่อนของแมลงชีปะขาวให้เราพบได้เยอะเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งคือผลจากความพยายามรักษาแหล่งน้ำด้วยการบำบัดโดยเน้นหลัก Nature-based Solutions ใช้ต้นไม้ช่วยกรอกน้ำในแต่ละบ่อ ไม่ใช้สารเคมีในการดูแลธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้เห็นดอกไม้บานสะพรั่งเต็มสวน หรือความสมบูรณ์ตามมายาคติ สิ่งที่เราจะได้เห็นคือใบไม้มีรู มีรอยแมลงกัดแหว่ง ได้เห็นดอกบัวแห้งคาบึง เห็นต้นไม้ที่กำลังยืนต้นแห้งตาย สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติ คือฤดูกาล คือแหล่งอาหารของสัตว์น้อยใหญ่ คือที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่นอกเหนือจากมนุษย์
กิจกรรมดำเนินมาถึงตอนจบ จึงเข้าสู่ช่วงแลกเปลี่ยนความประทับใจ
“ไม่เคยมาเดินดูแมลง มันตัวเล็กมากๆ วันนี้มาดูถึงรู้ว่ามันมีเหตุผลอะไร ทำไมมันถึงมาอยู่ตรงนี้ เวลาไปเที่ยวธรรมชาติ ต่อไปคงใช้ความรู้ตรงนี้มาช่วย ทำให้ดื่มด่ำกับธรรมชาติมากขึ้น”
“เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์ ต้นไม้และสถานที่ รู้สึกว่าสายตาของเราละเอียดขึ้น เราเห็นความงามเล็กๆ ของแมงมุม แมลงปอ ดีใจที่ครั้งนี้มีเด็กมาด้วย น้องๆ ก็ตื่นตาตื่นใจ”
“รู้สึกเสียดายตัวเราที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์เยอะแยะ แต่เราไม่เคยรู้จัก วันนี้เราได้รู้จักมันมากขึ้น กระบวนการแบบนี้ถ้าไปอยู่ในพื้นที่ของเด็กที่ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ แต่ขาดความรู้ก็จะดี”
คุณเจทกล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อก่อนเวลาขับรถตอนกลางคืนที่ต่างจังหวัด จะมีแมลงชนกระจกรถเยอะเต็มไปหมด ถึงขั้นว่าต้องลงไปเช็ด แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีแล้ว.. มีคนทำนายเอาไว้ว่า อีก 50-60 ปีข้างหน้านี้แมลงจะสูญพันธุ์ไปหมดก็ได้…
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วม Park ใจ ในกิจกรรมรูปแบบอื่นหรือแลกเปลี่ยนเรื่องการสัมผัสธรรมชาติด้วยกัน สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ
กิจกรรมดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี เพจ Sarakadee Magazine และ Nairobroo – นายรอบรู้ นักเดินทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), และ มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์