พู่กัน เรืองเวส : เรื่อง
ธนภัทร สนธยาสาระ : ภาพ

“หนองแขม” ดินแดนจำปีเบ่งบาน

“คิดจะขึ้นภูเขา มองยอดเขาที่อยู่ลิบๆ แล้วเรามีกำลังใจแค่ไหน บางทีขึ้นไปแค่ครึ่งทางก็ลง แต่เรารู้ไหม ข้างบนยอดมีอะไรเกิดขึ้น เราต้องปีนให้ถึงก่อน พอเราถึงยอดแล้วมองลงมา เราจะเห็นได้ทั่วเลยว่าอะไรคืออะไร” ลุงพยุง หนูแย้ม กรรมการสหกรณ์การเกษตรหนองแขมบางขุนเทียน จำกัด พูดถึงความพยายามที่ทุ่มให้ “ดอกจำปี” ดอกไม้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับครอบครัวหนูแย้มมาตลอดให้ฉันฟัง        

“หนองแขม” ชุมชนที่ฉันมาเยือนวันนี้ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม เดิมทีแล้วผู้คนที่นี่มักจะมีอาชีพเกษตรกรกันเป็นหลัก สังคมโดยทั่วไปมีลักษณะแบบสังคมชนบท มีความใกล้ชิดและพึ่งพากันสูง จนถึงตอนนี้ คุณช้าง-ประยูร วงศ์พุทธคำ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตหนองแขม เอง ก็ยังยืนยันว่า หนองแขมเป็นอีกชุมชนที่มีความเหนียวแน่นกลมเกลียว ไม่ว่าจะจัดงานบุญหรืองานอะไร ก็มักจะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในท้องที่เป็นอย่างดี

ทุกวันนี้ชุมชนเมืองขยายตัวมาถึงหนองแขมแล้ว พื้นที่ที่เคยทำการเกษตรจึงถูกกว้านซื้อไปสร้างอาคารต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรรที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ  ชาวบ้านจึงต้องทำเกษตรในพื้นที่ที่แคบลง พากันทดลองปลูกพืชต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและขนาดพื้นที่ที่มี

ลุงพยุงเป็นชาวหนองแขมโดยกำเนิด จึงได้คลุกคลีกับการทำนามาตั้งแต่จำความได้ เมื่อความเจริญเข้ามาถึงหนองแขม ลุงก็ค่อยๆ ปรับตัวในการทำเกษตรไปเรื่อยๆ จากเดิมที่ทำนา ก็ผันตัวมาปลูกส้มเขียวหวาน จากนั้นก็มาทำสวนผัก มาปลูกดอกรัก ดอกมะลิ จนมาลงตัวที่การปลูกจำปีในปี 2536

“จำปีเป็นดอกไม้ที่ปลูกง่าย ลงทุนครั้งเดียว เก็บกินได้ยาวๆ จะน้อยจะมากก็มีเก็บทุกวัน” ลุงพยุงพูดถึงจำปี ดอกไม้ที่ลุงเลือกปลูก

เช้าวันนี้ที่สวนจำปีของลุงพยุง อากาศเริ่มจะเย็นลงด้วยใกล้จะเข้าหน้าหนาวเต็มที ฉันรู้สึกสดชื่นและหายใจได้อย่างเต็มปอด นั่งฟังลุงพยุงเจ้าของสวนเล่าถึงเส้นทางการปลูกจำปีของลุงด้วยท่าทีคล่องแคล่ว

เมื่อเริ่มปลูกจำปี ลุงพยุงก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ อาศัยว่าเป็น “หมอดิน” หรือผู้รอบรู้เรื่องดินประจำหมู่บ้าน และความใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมของลุงเอง จนในที่สุดลุงก็มีเทคนิคการปลูกจำปีที่ค้นพบด้วยตนเองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดกิ่งให้ต้นเตี้ย แล้วดอกจะออกดกและเร็วมากกว่าปกติ หรือการทำให้ต้นจำปีแข็งแรง ด้วยการจำกัดปริมาณไส้เดือนด้วยวิธีที่ถูกต้องและไม่ใช้สารเคมีมากจนเกินไป

poogun01
poogun02

เวลาผ่านไป เมื่อเห็นว่าลุงพยุงปลูกต้นจำปีได้รุ่งเรือง เพื่อนบ้านละแวกนั้นจึงค่อยๆ หันมาปลูกจำปีด้วย จนมีสวนจำปีที่หนองแขมอยู่ทั้งหมดราว 600-800 ไร่ ซึ่งถือว่ากินพื้นที่กว่าครึ่งของสวนจำปีทั้งประเทศเลยทีเดียว

ปี 2542 เป็นช่วงที่ชาวหนองแขมปลูกจำปีกันมากมาย ทำให้จำปีล้นตลาดและราคาตกลงมาก ชาวหนองแขมผู้ปลูกจำปีจึงรวมกันตั้งเป็นกลุ่มอาชีพแปรรูปดอกจำปีเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สังกัดสหกรณ์การเกษตรหนองแขมบางขุนเทียน โดยมีศาลาสวนลุงพยุงเป็นพื้นที่ระดมสมองหลักของกลุ่ม แล้วหลังจากนั้น 3 ปี ลุงพยุงก็นำจำปี 400-500 ถุง ไปให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการวิจัย จนได้ออกมาเป็นหัวน้ำหอมจำปีขวดแรกของประเทศไทย ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแปรรูปดอกจำปีหนองแขมอย่างเป็นทางการ

จากหัวน้ำหอมขวดเล็กๆ ขวดนั้น ก็นำมาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ค่อยๆ ทยอยเกิดขึ้น เช่น โลชั่นทาผิว ครีมอาบน้ำ แชมพูสระผม โคโลญ สบู่ เกลือขัดผิว ลุงพยุงคิดว่าจำปีอยู่ในวรรณคดีไทยมาเป็นร้อยปี แต่กลับไม่มีใครเคยให้ใจจำปีเลย ลุงพยุงจึงอยากเป็นคนที่ให้ใจกับดอกไม้ที่สวยงามชนิดนี้

หลายครั้งที่คนรอบตัวมีข้อกังขา เพราะลุงพยุงพยายามทำอะไรที่ชาวบ้านเขาไม่เคยทำ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาก็ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน แต่ลุงก็ไม่เคยหวั่นไหวกับคำเหล่านั้น แต่พยายามทำเรื่อยๆ เท่าที่ลุงจะทำได้

“อย่างลุงน่ะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ความทะเยอทะยานลุงเยอะ” ลุงพยุงพูดแบบกลั้วหัวเราะ

ปัจจุบันลุงมั่นใจแล้วว่าผลิตภัณฑ์จากจำปีของลุงนั้นไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เดี๋ยวนี้ถ้าพูดถึงน้ำหอมจำปี ใครก็ต้องคิดถึงหนองแขม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการดิ้นรนของลุงและชาวหนองแขมทั้งสิ้น

แม้ในตอนแรกจำปีจะเป็นเพียงดอกไม้ที่ลุงทดลองปลูก แต่ถึงวันนี้ก็ผ่านมา 27 ปีแล้ว ที่ดอกไม้ชนิดนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของครอบครัวและชุมชนที่ลุงอาศัยอยู่

“จำปีเป็นชีวิตจิตใจของลุง เลี้ยงลูกจนโต จนส่งให้เรียนสูงๆ ก็ได้จำปีนี่แหละ”     

poogun03
“หนองแขม” ดินแดนจำปีเบ่งบาน

หลังจากคุยกับลุงพยุง พี่ติ๊ดตี่-สุธี หนูแย้ม ลูกชายคนเล็กของลุงพยุง ก็อาสาพายเรือสเตนเลสพาฉันและเพื่อนๆ เที่ยวชมตามร่องสวนจำปีด้วยลีลาวาจาที่สนุกสนาน พาให้เราหัวเราะกันไปตลอดทาง ไม่รู้ว่าพวกเราตัวหนักไปหรือเปล่า ฉันจึงรู้สึกว่าเรือจมลงน้ำไปมาก จนได้ใกล้ชิดกับเหล่าแมลงปอสีน้ำตาลที่บินต่ำๆ อยู่เหนือผืนน้ำ แม้ว่าต้นจำปีที่นี่จะไม่สูงนัก แต่เราก็ต้องเงยหน้ามองดอกจำปีกันจนเมื่อยคอ

พี่ติ๊ดตี่ได้เห็นความรักและความพยายามที่ผู้เป็นพ่อทุ่มให้กับดอกจำปีมาตั้งแต่เด็กๆ พี่ติ๊ดตี่จึงเป็นคนรุ่นใหม่ชาวหนองแขมที่รักธรรมชาติ และอยากพาสวนจำปีแห่งนี้ให้ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้

“ตอนนี้ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี แล้วก็ศูนย์ดินปุ๋ยอยู่แล้ว ต่อไปก็อยากทำให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรมากขึ้น เบื้องต้นเราแพลนไว้ว่า อยากจะทำเป็นคาเฟ่ เป็นร้านอาหาร แต่มันต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าชอร์ตโควิดมาหนักมาก ชอร์ตไปหลายแสน” พี่ติ๊ดตี่พูดถึงอุปสรรคล่าสุดที่เข้ามาแบบติดตลก

อย่างหนึ่งที่ฉันรู้สึกว่าพี่ติ๊ดตี่ได้พ่อมาเต็มๆ ก็คือความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พี่ติ๊ดตี่บอกพวกเราว่า การทำเกษตรนั้นพยายามอย่าให้มันตายตัวจนเกินไป เราต้องพลิกแพลงได้ตลอด เขาคิดว่ารุ่นพ่อรุ่นลุงเขาก็ยังใช้รูปแบบเดิมๆ อยู่บ้าง ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ เขาจึงอยากจะปรับสิ่งต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัย นำเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้มากขึ้น

นอกจากพี่ติ๊ดตี่แล้ว ก็มีคนรุ่นใหม่ชาวหนองแขมคนอื่นๆ ที่สนใจพัฒนาไปพร้อมกัน แต่จำนวนก็ยังไม่มากนัก พี่ติ๊ดตี่บอกกับเราว่า ส่วนใหญ่พี่ติ๊ดตี่จะมีความคิดไม่ตรงกับคนอื่น เพราะบางคนก็อยากจะเดินตามรูปแบบเดิมมากกว่า พี่ติ๊ดตี่จึงคิดว่าตนต้องเป็น “ต้นแบบ” ลงมือทำให้คนอื่นดูเสียก่อน

poogun05
poogun06

ฉันถามพี่ติ๊ดตี่ต่อว่า จะทำยังอย่างไรหากอนาคตที่ดินผืนนี้จะถูกนายทุนมากว้านซื้อ

“นี่แหละประเด็นของเรา ใช่ เพราะตอนนี้เราตั้งว่าเป็นสวนเล็กในเมืองใหญ่ มันเลยเป็นโจทย์ยากอยู่ว่าเราจะทำยังไงไม่ให้นายทุนเข้ามาหาเรา ซึ่งเราต้องทำให้ของเราเข้มแข็ง” พี่ติ๊ดตี่พูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น

ฉันไม่รู้หรอกวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ฉันก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าชายหนุ่มทายาทสวนจำปีผู้มีความตั้งใจสูงอย่างพี่ติ๊ดตี่ จะทำให้สวนจำปีหนองแขม “เข้มแข็ง” ดังที่ว่า และพาให้ลูกหลานชาวหนองแขมคนอื่นๆ หันมาสนใจผลักดันการเกษตร อาชีพดั้งเดิมของพื้นที่นี้ ให้ยั่งยืนและเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ อย่างน้อยน้องมะขามและน้องมะม่วง หลานๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในสวน ก็คงซึมซับความตั้งใจของปู่และอาของพวกเขาไปได้ไม่มากก็น้อย