มนัชยา กระโห้ทอง : เรื่อง
ญาดา คงเดชาเลิศ : ภาพ

สวนจำปีลุงพยุง ดอกผลแห่งความอุตสาหะ

หากอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่บ่งชี้ถึงเอกลักษณ์ ความโดดเด่น หรือความภาคภูมิใจของสถานที่แห่งนั้น ให้ลองสังเกตที่คำขวัญของสถานที่แห่งนั้นดู ถ้อยคำคล้องจองกะทัดรัดเพียงไม่กี่คำ แต่สามารถบอกเล่าให้เรารับรู้ได้อย่างไม่ยากเย็นเลยว่าสิ่งใดคือสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชน 

หนองแขมเลื่องลือคือกล้วยไม้ งามจับใจคือดอกพุทธรักษา พุทธคุณหลวงพ่อพระปุญญาฯ มากคุณค่าสิ่งประดิษฐ์ที่คิดทำ”

ประยูร วงค์พุทธคำ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมเขตหนองแขม กล่าวถึงคำขวัญของเขตหนองแขม  1 ใน 50 เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร ก่อนเล่าถึงสภาพแวดล้อมของชุมชนหนองแขมที่เดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมพอสังเขป  

จากคำขวัญจึงไม่น่าแปลกใจนัก หากหนองแขมจะเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชดอกเศรษฐกิจสำคัญอย่างกล้วยไม้และพุทธรักษา แต่เพราะเหตุใดชุมชนที่ขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไม้และดอกพุทธรักษาจึงกลายเป็นชุมชนที่มีเครือข่ายปลูกดอกจำปีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ 

payung01

ผู้ที่จะไขข้อข้องใจดังกล่าวได้อย่างถ่องแท้คงจะเป็น พยุง หนูแย้ม หรือลุงพยุง เกษตรกรผู้บุกเบิกเครือข่ายสวนจำปีขนาดใหญ่และผู้จัดตั้ง ”กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกจำปีหนองแขม” เครือข่ายที่มีอัตราส่งออกดอกจำปีเกินกว่าครึ่งในท้องตลาดประเทศไทย 

ชายวัยกลางคนผู้มีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มอยู่เป็นนิจ เล่าให้เราฟังถึงเหตุผลของการทำสวนจำปีในชุมชนหนองแขม ด้วยการเท้าความถึงจุดเริ่มต้นของการทำสวนจำปี ก่อนเล่าลุงพยุงถามพวกเราด้วยน้ำเสียงยั่วเย้าว่ามีใครในพวกเราตอนนี้ทำนาบ้างหรือเปล่า ก่อนจะพูดอย่างผู้มีประสบการณ์ทำการเกษตรมาทั้งชีวิตว่า “เพราะการทำนาน่ะมันลำบาก ปีไหนฝนดี น้ำดี เราถึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี”

แล้วเล่าต่ออีกว่า ชุมชนหนองแขมเดิมเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน ชาวบ้านต่างนิยมทำนากันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนที่ความเจริญจะย่างกรายเข้ามา ต้นไม้ใหญ่แข็งแรงถูกโค่นทิ้ง ท้องทุ่งนาถูกแทนที่ด้วยโรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ หมู่บ้านจัดสรร และถนนทุกสายที่ตัดผ่านต่างพากันมุ่งหน้าเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุง จึงทำให้ที่ดินมีราคาแพงขึ้นโดยปริยาย

ชาวหนองแขมต่างปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป บ้างเลิกทำนามาทำสวนผัก สวนส้ม หรือสวนมะลิ แต่สำหรับลุงพยุง ผู้รับช่วงการทำนาสืบต่อจากรุ่นพ่อแม่ เรียนรู้ถึงปัญหาเดิมๆ ของการทำเกษตรกรรมดี จึงใคร่ครวญคิดหาทางแก้ปัญหา จนกระทั่งตัดสินใจว่าจะปลูกพืชที่ให้ผลผลิตทุกวันและไม่ต้องดูแลรักษามากมายนัก

“ปลูกหนเดียว แต่เก็บได้ทุกวัน” ลุงพยุงเล่าพร้อมรอยยิ้มที่ระบายเต็มหน้า 

ลุงพยุงผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาทั้งชีวิต ตัดสินใจเปลี่ยนผืนดินจากพื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะกับการเพาะปลูกข้าว พืชสวน หรือพืชผัก ให้กลายเป็นผืนดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกพืชดอกอย่างจำปีโดยเฉพาะ 

payung02
payung03

แปรเปลี่ยนทิวทัศน์จากท้องทุ่งนาให้กลายเป็นทัศนียภาพที่งดงาม โดยยกคันดินขึ้นสูงประมาณ 1 เมตร ให้มีน้ำล้อมรอบระหว่างคันดิน จนทำให้ดูเผินๆ เหมือนว่ากลายเป็นคลองขนาดเล็กที่มีสวนจำปีขนาบอยู่ทั้งสองด้าน แต่ละร่องคันดินจะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร เพื่อให้เรือสามารถแล่นผ่านได้สะดวก 

โดยเหตุผลที่ต้องยกคันดินพร้อมทั้งปล่อยน้ำไปหล่อเลี้ยงจนเต็ม ลุงพยุงอธิบายว่าก็เพื่อให้ต้นจำปีที่ชอบความชื้นได้อยู่กับน้ำ ส่วนการยกร่องคันดินก็ทำเพื่อไม่ให้น้ำขังที่รากเวลาที่ฝนตกจนทำให้รากของต้นจำปีเน่า 

นอกจากต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำขังที่รากแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ถือเป็นศัตรูตัวร้ายของจำปีคือไส้เดือน เพราะดินที่หนองแขมเป็นดินเหนียวทำให้สามารถอุ้มน้ำได้ดี เมื่อถูกไส้เดือนชอนไช หากเป็นดินที่อื่นกิจวัตรของไส้เดือนถือเป็นการช่วยพรวนดิน แต่สำหรับดินเหนียวการกระทำดังกล่าวจะทำให้คันดินเกิดช่องว่างมากมาย เมื่อฝนตกน้ำจะขังอยู่ในรูพวกนั้น จนทำให้รู้ตัวอีกทีต้นจำปีก็รากเน่าเสียแล้ว แต่ลุงพยุงก็สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้กากชาหว่านใต้ลำต้นเพื่อทำให้ไส้เดือนตาย 

แน่นอนว่าหลังจากปรับผืนดินและปลูกจำปี สิ่งเดียวที่ครอบครัวหนูแย้มรอคอยคือการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละวัน จนกระทั่งสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ แม้ไม่มากมายแต่ก็ไม่ลำบาก 

หากแต่ชีวิตย่อมมีอุปสรรค ลุงพยุงเล่าว่า เมื่อแปลงข้างเคียงเห็นถึงผลผลิตของดอกจำปี จึงทำให้มีเกษตรกรหลายคนหันมานิยมปลูกดอกจำปี กระทั่งเกิดวิกฤตจำปีล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำอย่างมาก จนต้องเททิ้งไปเป็นคันๆ รถ  

ลุงพยุงพยายามคิดหาหนทางแก้ปัญหา โดยการเสนอความคิดให้แก่ชาวบ้านว่าเราลองเอาดอกจำปีไปสกัดเป็นหัวน้ำหอมดีหรือไม่ 

“ตอนนั้นพูดกับใคร เขาก็หาว่าบ้า” ลุงพยุงเล่าด้วยสีหน้าระลึกความหลัง

เพราะนอกจากจะไม่มีใครทราบถึงกรรมวิธีการสกัดแล้ว ยังไม่มีตลาดรองรับหากสามารถผลิตได้ ซึ่งลุงพยุงเล่าอย่างเชื่อมั่นและมีความหวังว่า ทำให้ตอนนั้นแม้แต่ลุงเองก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเอาไปขายใคร แต่พอถึงเวลาจริงๆ มันจะต้องมีหนทางของมัน 

payung04
payung05

ประจวบเหมาะกับทางเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ลงมาเก็บตัวอย่างดอกกล้วยไม้ไปวิจัยเพื่อสกัดเป็นน้ำหอม ลุงพยุงจึงได้เสนอให้ลองนำจำปีไปสกัดด้วยอีกชนิดหนึ่ง 

นานนับเดือนกว่าเจ้าขวดเล็กจิ๋วที่บรรจุหัวน้ำหอมไม่กี่ซีซีซึ่งสกัดได้จากดอกจำปีจะถูกส่งมาให้ลุงพยุง การรอคอยมีความหมาย เพราะหนทางของการกลั่นกลิ่นหอมจากดอกจำปีที่ใครเคยบอกกับลุงว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เข้าใกล้ความจริงขึ้นขั้นหนึ่ง 

จนทำให้ลุงพยุงสามารถแก้ไขปัญหาดอกจำปีที่ล้นตลาดด้วยการนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอม ช่วยพลิกฟื้นชีวิตชาวสวนจำปี โดยการรับซื้อดอกจำปีจากเครือข่ายชาวสวนจำปีกว่า 600 ไร่ ทำให้สามารถพยุงราคาของดอกจำปีไม่ให้ตกต่ำลงเมื่อถึงฤดูกาล

payung06

“ถ้าไม่อดทน ไม่มานะ ไม่ทดลองเองก็ไม่ได้” ลุงพยุงกล่าวขณะเล่าถึงกรรมวิธีการสกัดหัวน้ำหอม ที่ในแต่ละครั้งการสกัดหัวน้ำหอมเพียง 20-25 ซีซี จะต้องใช้ดอกจำปีมากถึง 3-4 หมื่นดอก ใช้ความร้อนนึ่งนานถึง 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้ความร้อนควบแน่นและให้น้ำมันหอมระเหยไหลออกมา 

เช่นเดียวกันกับสวนจำปีลุงพยุงที่ต้องใช้ประสบการณ์ทำเกษตรกรรมมากว่า 30 ปี ลองผิดลองถูกจนเหงื่อทุกหยาดหยดควบแน่นเป็นประสบการณ์ชีวิต กระทั่งได้ดอกผลมาเป็นสวนจำปีลุงพยุงและเครือข่ายสวนจำปีที่มีพื้นที่ในเครือข่ายมากกว่า 600 ไร่ มีส่วนแบ่งทางตลาดเกินกว่าครึ่งเหมือนดังเช่นในทุกวันนี้ 

แน่นอน หากมีใครถามเราว่าพืชดอกอีกชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนหนองแขม นอกเหนือจากกล้วยไม้และดอกพุทธรักษา เราจะนึกถึงอะไร คำตอบก็คงจะไม่พ้น “จำปี” จากสวนจำปีของลุงพยุงเป็นแน่แท้