เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร
ภาพ : ศิริรักษ์ วงศ์ซิ้ม

คน เป็ด ไข่ สายใยหนองแขม

ทันทีที่รถเลี้ยวเข้าซอยเพชรเกษม 110 ภาพทิวทัศน์สองข้างทางเรียงรายไปด้วยสวนกล้วยไม้ ตัดสลับไปกับบ้านพักอาศัย บอกให้รู้ว่าอยู่ในหนองแขม เขตทางทิศตะวันตกสุดของกรุงเทพฯ เพราะที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ที่สำคัญ จนมีคำขวัญประจำเขตที่ขึ้นต้นว่า “หนองแขมเลื่องลือคือกล้วยไม้” 

รถโยกเยกไปตามถนนลูกรังไม่ถึง 3 กิโลเมตรจากปากซอย ก็พาเรามาหยุดอยู่หน้าป้าย “วิรัชฟาร์มเห็ด” ฟาร์มเกษตรผสมผสานหนึ่งเดียวของเขตหนองแขมบนพื้นที่ขนาด 10 ไร่ ท่ามกลางสวนกล้วยไม้ที่ครอบคลุมกว่า 500 ไร่

วิรัช บัวคลี่ ชายวัยกลางคนอายุ 50 กว่าปีเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งนี้ เขาเดินออกมาต้อนรับพร้อมกับศรีภรรยานกเล็ก สันทัดด้วยหน้าตายิ้มแย้มสดใส เก้าอี้ที่จัดไว้เสร็จสรรพรอให้คณะเยี่ยมชมมาถึงเรียงรายใต้ต้นหูกวางและต้นไม้น้อยใหญ่ที่แผ่ให้ความร่มรื่น ให้ความรู้สึกราวอยู่ต่างจังหวัด แผงไข่เรียงตั้งกันเป็นระเบียบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากในฟาร์มที่ล้วนแล้วเป็นสินค้าอินทรีย์

konpedkai2

ไข่แลกเงิน

“วิรัชฟาร์มเห็ด”

ชื่อนี้มีที่มา ก่อนจะเลี้ยงเป็ดเขาทำโรงเพาะเห็ดอินทรีย์มาก่อน ตอนนี้ก็ยังคงทำอยู่ แต่สัดส่วนน้อยลง วิรัชนำเป็ดมาเลี้ยงเป็นล่ำเป็นสัน

กากีแคมป์เบลล์ (Khaki Campbell) เป็ดไข่สีน้ำตาลนำเข้าจากอังกฤษพันธุ์ยอดนิยมในประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าออกไข่ดกมากที่สุด คือสายพันธุ์เป็ดที่วิรัชเลือกเลี้ยง

ตอนเด็กเวลาไปโรงเรียนไม่มีเงิน ก็เข้าเล้าเป็ดล้วงเอาไข่ไปแลกเป็นเงินไปโรงเรียน วันไหนทำไข่แตกก็จะไม่มีเงินไปซื้อข้าวกลางวันกิน

วิรัชเล่าชีวิตวัยเด็กให้ฟังอย่างละเอียดด้วยน้ำเสียงดังฟังชัดก่อนพาไปเยี่ยมชมฝูงเป็ดที่ร้องแคว่กๆ ประกอบเรื่องเล่าของเขา  เราเชื่อมโยงความผูกพันของเด็กชายวิรัชกับไข่เป็ดที่มีมาแต่วัยเยาว์ผ่านเรื่องราวและน้ำเสียงที่เขาเปล่งออกมา ขณะรีบรุดไปที่สถานีปรุงอาหารเป็ดเมื่อรู้ว่าถึงเวลาอาหาร พร้อมลงมือสาธิตขั้นตอนการปรุงอาหารเป็ดออร์แกนิกเป็นอย่างไร

และอะไรที่ทำให้ไข่แดงมีสีสดน่ากินถึงเพียงนั้น

konpedkai3

ไข่ดีเพราะอาหาร

สูตร (ไม่) ลับอาหารเป็ดออร์แกนิกของที่นี่เป็นวัตถุดิบง่ายๆ ที่หาได้ทั่วไป แต่คุณค่าทางอาหารสูงปรี๊ด

เศษอาหาร รำข้าว กากถั่วเหลือง และหัวกุ้ง เป็นสี่ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เป็ดแข็งแรงและออกไข่คุณภาพดี โดยเฉพาะหัวกุ้ง ที่เป็นตัวทำให้ไข่แดงมีสีสันสดใส

วัตถุดิบเหล่านี้เป็นของเหลือทิ้งจากตลาดสด ที่เจ้าของฟาร์มติดต่อขอรับซื้อต่อเป็นประจำทุกเดือนในราคาสมเหตุผล

“อาหารเม็ดมันมีสารเคมีเจือปน เราทำฟาร์มอินทรีย์ก็เลยไม่ใช้ ผลดีของอาหารอินทรีย์คือ เป็ดจะไม่เป็นโรค แข็งแรง และต้นทุนต่ำ”

คนเลี้ยงเป็ดบอกเล่าข้อเท็จจริงของอาหารจากโรงงานอุตสาหกรรม และเน้นย้ำถึงข้อดีของอาหารอินทรีย์ที่เขาเลือกใช้

เมื่อส่วนผสมครบครันแล้ว วิรัชและลูกมือจับเทลงในถังผสมอาหารที่คิดค้นและดัดแปลงด้วยสองมือจากสิ่งของใกล้ตัว บวกกับพื้นฐานทักษะลูกเกษตรกรและความเข้าใจในกลไกของเครื่องไม้เครื่องมือเป็นทุนเดิม จึงสามารถเนรมิตถังผสมอาหารสไตล์ลูกทุ่งที่ใช้งานได้เหมาะมือแถมยังประหยัดต้นทุนอีกด้วย

“ตอนแรกก็ใช้มือคลุก แต่พอเป็ดเยอะเข้าก็คลุกไม่ไหว เลยไปหาซื้อโม่ปูน แต่มันแพงมาก คิดไปคิดมาก็เลยมาแปลงถังเหล็ก ใส่แกนสำหรับเคล้าเอาเอง”

อธิบายเสร็จเขาก็ปล่อยให้เครื่องคลุกเคล้าส่วนผสมทำงานด้วยพลังงานไฟฟ้า ไม่นานก็เสร็จพร้อมเสิร์ฟ

konpedkai4

คุณภาพคับไข่

เมื่อรถเข็นถังอาหารเคลื่อนตัวเข้าเล้า แม่เป็ดทั้ง 380 ชีวิตก็พากันยกฝูงเดินหนีกรูไปทิศทางเดียวกันอย่างระวังภัย แต่ทันทีที่รู้ว่าเป็นอาหาร พวกมันก็หมุนตัวกลับและแห่มาที่ถังอาหาร

วิรัชไล่เก็บไข่ที่กระจายอยู่ทั่วเล้าเหมือนกู้ระเบิดทีละฟอง พลางสาธยายเรื่องการวางไข่ว่าเป็ดบางตัวที่ไม่พิถีพิถันจะไข่ไว้เรี่ยราด แต่มักจะเป็นตำแหน่งเดิมเสมอ สำหรับบางตัวที่รู้งานก็จะไข่ในหลุมที่เจ้าของจัดไว้ให้

ปรกติเรามักเลือกซื้อไข่สีขาวสะอาด แต่วันนี้การเลือกไข่ของเราจะเปลี่ยนไป เพราะเจ้าของฟาร์มไข่เป็ดเผยเคล็ดลับให้ฟังจนหมดเปลือก

“สีของไข่เกี่ยวกับคุณภาพมาก ไข่สีเขียวแปลว่าเป็ดกินอาหารครบมันจะมีแร่ธาตุเยอะกว่าไข่สีขาว ลองสังเกตดู ไปซื้อไข่เป็ดที่ไหน ถ้าเห็นเปลือกไข่มีสีเขียวเยอะ แสดงว่าอาหารที่ฟาร์มนั้นสมบูรณ์”

เป็ดที่วิรัชฟาร์มให้ผลผลิตวันละ 230 ฟอง เขาขนไข่ไปขายด้วยตัวเองกับภรรยาที่ตลาดใกล้เคียงพร้อมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในฟาร์มในราคาแสนเป็นมิตร

“เราไม่อยากชาร์จราคา สงสารคนกิน จะได้กินของมีคุณภาพแล้วก็ไม่แพงด้วย”

จากประสบการณ์ชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงวันที่เป็นเจ้าของฟาร์ม ทำให้เขาเข้าใจหัวอกผู้บริโภคได้ดี หากวันไหนขายไข่ไม่หมดเขาจะนำกลับมาดองเป็นไข่เค็ม ยืดอายุไข่ออกไปได้อีกและสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวเพิ่มอีกหนึ่งทาง

konpedkai5

เป็นเพื่อนกับเป็ด

“บางทีผมก็เดินดูเป็ดไปเรื่อย ชอบเลี้ยงเป็ด ชอบดูเวลามันกินอาหาร เวลามันเดิน ชอบตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

วิรัชรำพึงขณะเดินนำไปที่บึงน้ำที่ขุดไว้ ลูกเป็ดหลายสิบชีวิตกำลังลอยคออยู่เหนือผิวน้ำที่เต็มไปด้วยจอกแหน

ภาพวัยเด็กฉายอยู่ในดวงตาที่ทอดยาวขณะมองดูฝูงลูกเป็ดในน้ำ

เด็กชายคนที่ต้องเก็บไข่ไปแลกเงินไปโรงเรียนในวันนั้น เปลี่ยนเป็นชายวัยกลางคนที่ยืนอยู่ในฐานะเจ้าของฟาร์มเป็ดเต็มตัว สะท้อนชีวิตที่ผูกพันกับสัตว์ปีกชนิดนี้อย่างแยกไม่ขาด

“ต่อไปจะปลูกกระต๊อบ ถ้าไม่ใช่หน้าฝนตอนกลางคืนก็จะนอนเฝ้าเป็ดได้ อากาศเป็นธรรมชาติดี”

ถ้าเป็ดฟังภาษาคนรู้เรื่องคงบอกรักเจ้านายกันยกใหญ่ แต่เท่าที่ทำได้ มันก็แค่ร้องแคว่กๆ ตามประสาเป็ดเท่านั้น

รถเคลื่อนออกจากฟาร์ม เสียงเซ็งแซ่ของเป็ดค่อยๆ ไกลออกไป

ห่างจากความรวดเร็วและทันสมัยของรถไฟฟ้า MRT หลักสอง ไม่กี่กิโลเมตร ในเรือกสวนเขียวขจีมีฟาร์มออร์แกนิกแทรกอยู่ ซึ่งคนเลี้ยงเป็ดสองสามีภรรยายังคงก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป เพื่อให้มีผลผลิตคุณภาพดีไปขายที่ตลาดทุกวัน

konpedkai6

ไข่เค็มสูตรวิรัชฟาร์มเห็ดจากแม่เป็ดอารมณ์ดี
(ไข่ 10 ฟอง/ เกลือ 2 ขีด / น้ำ 1 ลิตร)

1. ล้างไข่ที่เพิ่งเก็บมาสดๆ ให้สะอาด โดยเลือกไข่เปลือกหนา ถ้าบางไปอาจจะร้าวและทำให้ไข่เน่าทั้งถัง
2. ต้มน้ำเกลือทิ้งไว้ให้เย็น
3. นำไข่ที่ล้างเปลือกสะอาดแล้วมาเรียงใส่ในถังดอง
4. ใช้ถุงน้ำทับไว้ไม่ให้ไข่ลอยขึ้นมาในระหว่างการดอง เพราะถ้าไข่ลอยจะเน่า
5. เทน้ำเกลือใส่ในถังตามสูตร
6. ใช้ถุงพลาสติกหุ้มครอบปากถัง แล้วเขียนวันที่เริ่มดองกำกับไว้กันลืม
7. ทิ้งไว้ 15 วัน จะได้ไข่ที่เค็มอร่อยกำลังดี (ถ้าชอบเค็มน้อย ลดวันลง)