ใน “กฎหมายตราสามดวง” เล่าเท้าความเรื่องต้นกำเนิดคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันเป็นแม่บทแห่งกฎหมาย ว่าครั้งหนึ่ง มโนสารอำมาตย์ ตุลาการของพระเจ้ามหาสมมติราช เกิดพลาดพลั้งตัดสินคดีความไปโดยไม่เป็นธรรม เมื่อตระหนักรู้ความผิดของตนในภายหลัง เกิดอัปยศอดสูใจ จึงหนีไปออกบวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญเพียรภาวนาจนมีฤทธิ์ ต่อมาหวนระลึกถึงบุญคุณของเจ้านายเก่า คือพระเจ้ามหาสมมติราช จึงเหาะไปยัง “กำแพงจักรวาล” คือเขาจักรวาลที่เป็นขอบเขตนอกสุดของจักรวาล

อีกฟากหนึ่งของโลกันต์ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 73

“…เหนบาฬีคำถีร์พระธรรมสาตรอันคำภีรภาพเปนลายลักษณอักษรปรากฎิอยู่ในกำแพงจักรวาฬมีปะริมณฑลที่เท่ากายคชสาร มะโนสารฤๅษีจึงกำหนดบาฬีนั้นแม่นยำจำได้ แล้วกลับมาแต่งเปนคำภีร์พระธรรมสาตร…”

มโนสารฤๅษีจึงกลับมาเทศนาสั่งสอนพระเจ้ามหาสมมติราชให้ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมสืบมา ทางไทยเรา บางทีก็ออกนามของมโนสารฤๅษีว่า “พระมนู” จึงพลอยเรียกคัมภีร์ที่ท่านจดจำมาจากกำแพงจักรวาลว่า “พระมนูธรรมศาสตร์”

อยู่ไปอยู่มา คำว่า “มนู” ในภาษาไทย เลยใช้ในความหมายว่ากฎหมายไปด้วย ดังในราชทินนามชุด “ประเสริฐมนูกิจ-ประดิษฐ์มนูธรรม” อันกลายเป็นนามของถนนอยู่ในบัดนี้

ตามคัมภีร์โลกศาสตร์กล่าวว่าจักรวาลต่างๆ แต่ละจักรวาลล้วนมีองค์ประกอบพื้นฐานเหมือนกันหมด คือมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง มีทวีปสี่ตั้งอยู่ประจำทิศ ขอบรอบนอกสุดคือเขาจักรวาลซึ่งเป็นแนวเขาวงกลมล้อมรอบจักรวาล

เมื่อแต่ละจักรวาลอันมีผังรูปกลมตั้งประชิดต่อเนื่องไป “ไตรภูมิพระร่วง” จึงอุปมาว่าเหมือนเกวียนสามเล่มจอดชนกัน หรือไม่อีกทีก็คือบาตรพระสามใบคว่ำไว้ใกล้กัน ย่อมเกิดมีช่องว่างขึ้นตรงกลาง

หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบคนสมัยนี้ ก็ต้องว่าเหมือนสั่งพิซซ่าสามถาดใหญ่มาวางชนกันบนโต๊ะกินข้าว มุมที่บาตรพระ/พิซซ่า/จักรวาล มาแตะขอบกัน ย่อมเหลือพื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมฐานโค้ง

ณ ที่นั้นแหละคือที่ตั้งของโลกันตนรก นรกต่ำตมสุด ซึ่งอยู่ “นอก” จักรวาล

ด้วยว่าแสงพระอาทิตย์พระจันทร์ซึ่งโคจรอยู่ในระนาบยอดเขายุคันธรย่อมส่องแสงมาถึงเพียงด้านหน้าของเขาจักรวาลซึ่งสูงกว่าเขายุคันธร ดังนั้น โลกันตนรกที่อยู่ “หลังเขา”นอกจักรวาล จึงตกอยู่ในความมืดมนอย่างที่ “ไตรภูมิพระร่วง” อุปมาไว้ว่าเหมือนหลับตาในคืนเดือนมืด

นรกขุมนี้มิได้มีไฟลุกท่วม ไอร้อนคละคลุ้ง เสียงร้องไห้คร่ำครวญ เสียงอาวุธหอกดาบ หรือการลงทัณฑ์ต่างๆ เหมือนนรกขุมอื่น หากแต่คือสถานที่มืดมิด ยะเยือก และเงียบงัน

สัตว์นรกที่ไปเกิดในโลกันตนรก ล้วนมีร่างกายอันใหญ่โต เล็บมือเล็บเท้าแหลมคม เพื่อตีลังกาห้อยหัวยึดเกาะกับหน้าผากำแพงจักรวาลด้านนอก เหมือนค้างคาวเกาะอยู่บนผนังถ้ำ และเมื่อต่างตกอยู่ในความมืดจึงไม่มีตนใดมองเห็นเพื่อนร่วมชะตากรรม ต่างนึกเอาว่า “ฉันมาอยู่ที่นี้คนเดียว” ยิ่งไปกว่านั้น ทุกตนต่างหิวกระหายทุรนทุราย เมื่อใดที่ปีนป่ายตะเกียกตะกายไปพบสัตว์นรกอีกตัวหนึ่งที่กำลังห้อยโหนอยู่ดุจเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างนึกว่า “อาหารมาแล้ว!” จึงปรี่เข้าจับกินกันและกันเป็นอาหาร พอมือไม่เกาะผนังหน้าผาก็เลยพลาดพลั้งพลัดตกลงไป แล้วจ่อมจมและถูกย่อยสลายหายไปทันทีในทะเลน้ำกรดเบื้องล่างอันลึกไม่มีที่สิ้นสุด คัมภีร์อุปมาว่า “ดั่งก้อนอาจมซึ่งตกลงในน้ำ” หรืออึที่หล่นลงในชักโครกนั่นเอง

แล้วทันใดนั้นก็จะกลับมาเกิดใหม่เป็นสัตว์นรกปีนขึ้นไปห้อยหัวในความมืดมนอนธกาลอีกครั้ง วนเวียนกันไปไม่รู้จักจบจักสิ้น

ต่อเมื่อใดมีพระโพธิสัตว์ผู้จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาปฏิสนธิในครรภ์พุทธมารดา แล้วประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน เพียงในห้าวาระนี้เท่านั้น จะมีแสงสว่างจ้าเหมือนฟ้าแลบส่องวาบมาถึงขุมนรกอันมืดมิด ทำให้สัตว์นรกแห่งโลกันต์แลเห็นกันได้ครู่หนึ่ง ก่อนที่ทุกสิ่งจะหวนคืนสู่ความมืด เงียบ และหนาวเย็นดังเดิม

มานึกดูก็น่าแปลกใจเหมือนกัน ที่บนกำแพงจักรวาลด้านหนึ่งคือที่สถิตของ “พระมนูธรรมศาสตร์” หรือกฎหมายสูงสุด ส่วนด้านนอกกลับเป็นถิ่นที่อยู่ของภาคีสมาชิกแห่งโลกันตนรก เรียกได้ว่าอยู่ห่างกันนิดเดียวเท่านั้น