เรื่องและภาพ : “ร. อาทิตย์อุทัย”
ข้าพเจ้าเดินไปยังท้องนาที่มีน้ำเจิ่งนอง มองไม่เห็นต้นข้าว เพราะเมื่อข้าวเริ่มงอก ฝนก็ตกแทบทุกวัน จนน้ำท่วมมิดยอดข้าว มหาบัณฑิตชาวนายืนมองน้ำเจิ่งนองด้วยดวงตาของคนที่เข้าใจโลกและชีวิต เขาเช่าที่ดินเพื่อทำนา 9 ไร่ ช่วงปีแรกปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ได้ข้าวมากสำหรับเขา แต่สำหรับชาวบ้านที่นี่หลายคนหัวเราะขบขัน พูดกันว่า เขาเป็นคนบ้าปลูกข้าวให้นกกิน เขาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยน้ำเสียงสุภาพ ไม่มีความโกรธเจือปน รอยยิ้มที่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยและสายตาที่มองไปข้างหน้าบอกเราว่า เขายังมีพลังเหลือเฟือกับชีวิตที่เลือกแล้ว ข้าพเจ้าจะพาผู้อ่านไปพบชายหนุ่มผู้ไม่เคยเศร้ากับวิถีชีวิตที่ตัวเองศรัทธา
โสวัฒน์ โลสูงเนิน เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ ครอบครัวมีอาชีพทำนา แต่เขาไม่เคยทำนาจริงจัง เพราะบวชเณรตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เพื่อเล่าเรียนหนังสือ กระทั่งอายุครบอุปสมบทจึงบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่รวม 16 พรรษา ระหว่างนั้นศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สอบได้เป็นมหาเปรียญ 4 ประโยค และเรียนต่อจนจบปริญญาตรีสาขาพุทธศาสน์ เอกปรัชญา เป็นอนุศาสนาจารย์
ก่อนสึกได้วางแผนชีวิตอย่างเป็นระบบ เข้าไปเรียนรู้วิชาชีพที่มูลนิธิพระดาบส วิชาชีพช่างไฟ ช่างไม้ ช่างประปา จนได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพหลายใบ แล้วออกมาทำงานหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ล่าสุดเป็นครูสอนที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี และเรียนรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรวิชาชีพครูที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ก่อนจะจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะศิลปศาสตร์ เอกไทยคดีศึกษา และสอบได้เป็นมหาบัณฑิต
แต่ด้วยความคิดที่จะดำเนินชีวิตอยู่กับวิถีธรรมชาติ ท้องไร่ท้องนา และอากาศบริสุทธิ์ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู เพื่อเป็นเกษตรกรอย่างสมบูรณ์ โดยเริ่มต้นจากที่ดินรกร้างในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ซึ่งมีไม้ใหญ่น้อยขึ้นสูงท่วมหัว กระถินป่า ต้นธูปฤาษี ต้นข่อย มะขามเทศ และอีกสารพัดชนิด จากนั้นทำการขุดร่องน้ำ ทำคันดินรอบที่ดินเพื่อเป็นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน
เขาเช่าที่ดิน 11 ไร่ แบ่งทำนา 9 ไร่ และอีก 2 ไร่ปลูกหญ้าเลี้ยงวัว โดยขนวัวเจ็ดตัวมาจากบ้านเกิด จังหวัดชัยภูมิ เขาไถนา หว่านข้าวด้วยมือ และถอนหญ้าเอง “ถอนไม่ได้มากหรอก แต่มีความสุข ส่วนที่หญ้าขึ้นก็ขึ้นไป เราต้องไม่หวังว่า เมื่อปลูกข้าว รัฐบาลต้องมาประกันราคาข้าวให้จึงจะอยู่ได้ เราต้องไม่ทุกข์เมื่อข้าวราคาตกต่ำ เราต้องมีกินก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นแบ่งปันให้ญาติ เพื่อนบ้าน ถ้าเหลือจึงแบ่งขาย” หลายคนมองว่าชีวิตแบบนี้ไม่มีจริง เขาฝันถึงภาพชีวิตกลางทุ่งนา เป็นเกษตรกรที่พึ่งพาตนเอง กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน และอยู่กับธรรมชาติอย่างฉลาด กลมกลืน จะไม่ใช้สารพิษทุกชนิด ยาฆ่าแมลง แม้แต่ปุ๋ยเคมี บนถนนดินมีหญ้าขึ้นเขียว มองตรงไปเห็นทุ่งนางดงาม แม้เมล็ดข้าวเริ่มเติบโตอยู่ในพงหญ้าหนารกก็ยังงดงาม
ข้าวไรซ์เบอร์รีซุกกออยู่เงียบสงบท่ามกลางสายลมแห่งท้องทุ่งที่พัดโชย หอมกลิ่นฤดูกาล ผีเสื้อบินวนตอมดอกผกากรองสีส้มสดริมทาง เจ้าของร้านค้าเรียกเขาลับหลังว่า ไอ้ดอกเตอร์ ผู้ใหญ่บ้านเองก็เคยพูดว่า โง่หรือเปล่าที่ทิ้งเงินเดือนครูมาไถนา ถ้าเป็นเขาไม่มีวันจะทำสิ่งโง่ๆ อย่างนี้เป็นอันขาด ข้าพเจ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรกับถ้อยคำเหล่านั้น เขาเงียบ ยิ้มเล็กน้อย บอกว่า ไม่ได้สนใจ คนเหล่านั้นมีสิทธิ์จะคิดจะพูดอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้กระทบอะไรเขาเลยแม้แต่น้อย เขาเข้าใจความคิดของทุกคน ชาวบ้านที่นี่ต่างหนีความยากจนซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามาจากท้องทุ่งที่ให้กำเนิดบรรพบุรุษของพวกเขา พวกเขายิ่งทำนายิ่งยากจน เขาไม่ได้ทุกข์กับเสียงหัวเราะเยาะ แต่จะทุกข์ก็ตอนวัวออกไปกินหญ้าในที่ดินของคนอื่นนี่แหละ เขาหัวเราะเบาๆ
วันนี้เขามีวัวฝูงเล็กๆ มีนาข้าว และผืนดินปราศจากสารพิษ อากาศสดสะอาด ยามเช้าแห่งท้องทุ่งงดงาม เมื่อเริ่มไถนาในฤดูฝน ผืนดินพลิกฟื้นคืนชีวิต มองไปเห็นฝูงนกกระยางสีขาวบินโฉบไปมา ก่อนเหยียดขาลงแตะผิวดินชุ่มฉ่ำ เขายังคงใช้ชีวิตเช่นนี้ท่ามกลางความแปลกแยกในสายตาของชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางกลุ่มเริ่มเดินเข้ามาพูดคุยกับเขาอย่างเป็นมิตรขึ้น
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เจ้าของนาเช่าเข้าใจว่า เขาทำนาไม่ได้ผลผลิต มีแต่กอหญ้าสูงท่วมหัว จะบอกเลิกสัญญาเช่า เขาจึงนำข้าวไรซ์เบอร์รีที่บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัมพร้อมโลโก้ “ไร่นาตามรอยพ่อ” สามถุงไปหา พร้อมถามถึงข่าวคราวที่ได้ยิน เจ้าของนาตอบว่า มีคนมาบอกอย่างนั้นจริง แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าเขาทำนาอย่างไรจึงตกลงให้เช่าต่อเป็นระยะเวลาตามกฎหมายคือ 6 ปี
แม้ปลูกข้าวจะไม่ได้ผลผลิตมากเหมือนคนที่ใส่ปุ๋ย หรือฉีดยาฆ่าหญ้า แต่ความสุขที่ได้รับกลับให้ผลผลิตต่อใจเต็มยิ่งกว่า อย่างน้อยก็ได้กินข้าวที่ปลูกเอง นอกจากนั้นเขายังปลูกข้าวโพด พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว รวมถึงไม้ผล ทั้งกล้วย ขนุน ฝรั่ง มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แต่ปลูกไว้กินและแบ่งปันก่อนเท่านั้น ตอนนี้พยายามปลูกทุเรียน เขาหัวเราะ “ความทุกข์อยู่คู่กับผมมานานมากจนเหมือนเพื่อนซี้” เขาบอกข้าพเจ้า “ทุกข์จนไม่รู้สึกทุกข์ ลำบากจนไม่รู้สึกว่าลำบาก อยู่อย่างกลมกลืนไปกับมัน” เขายิ้มอีก พอใจกับชีวิตแบบนี้ อยู่กับฝูงวัวที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่มีหัวอาหาร มีแต่หญ้าสดกลางทุ่งและกองฟางหอมกรุ่นให้เคี้ยวเอื้องอย่างมีความสุข
ข้าพเจ้าถามเรื่องที่นกมากินข้าวว่ารู้สึกอย่างไร เขาตอบว่า “ผมพยายามไล่นกหลายวิธีมาก เปิดวิทยุเสียงนกอินทรีก็แล้ว ใช้กระป๋องนมแขวนและคอยแกว่งให้มีเสียงดังก็แล้ว แต่นกจะบินพรึ่บหายไปแป๊บเดียว ก็กรูลงมาเป็นฝูงใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง มันเกิดตอนปลูกข้าวหอมปทุม ถ้าเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี นกจะไม่ค่อยกิน ปีนั้นได้ผลผลิตมากหน่อย แต่หอมปทุมนี่นกกินครึ่งหนึ่ง เหลือรอดปากนกมาเท่าไหร่ก็เท่านั้น นี่แหละชีวิตชาวนา”
ข้าพเจ้าเล่าคำพูดของชาวบ้านให้ฟังว่า เขาเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวให้นกกิน เขาเพียงยิ้ม “ไม่เป็นไร ผมมีความสุข ได้ยินเสียงกบเขียดร้องระงม เมื่อก่อนไม่มี ชาวนาคนก่อนใช้ยาเยอะมาก ตอนนี้อากาศก็บริสุทธิ์ ชีวิตไม่ได้ต้องการการปรุงแต่งมาก
ข้าพเจ้ายืนมองทุ่งนาที่น้ำเจิ่ง กอข้าวจมหายอยู่ใต้น้ำ ฝูงวัวเล็มหญ้าอยู่กลางทุ่ง เห็นดวงตาเปี่ยมสุขของมหาบัณฑิตที่ผันตัวเองมาเป็นชาวนาผู้ปลูกข้าวให้นกกิน ความสุขหาได้ไม่ยาก อยู่ที่ความพึงพอใจกับมัน หลายคนไม่อยากเป็นชาวนา และไม่เชื่อว่าอยากมีคนลำบากแบบชาวนา แต่มหาบัณฑิตเบื้องหน้าคือคำตอบว่า คนเรามีความแตกต่างกัน ทุกข์ สุขอยู่ที่เราคิดและเลือกด้วยตนเองอย่างแท้จริง