ปภาวี  ประชาโชติ : เรื่อง
สาธินี รุจิขจรเดช : ภาพ

กังฟู : ศิลปะการต่อสู้ที่เริ่มต้นด้วยจิตใจ

“จุดสูงสุดของการฝึกคือการไม่มี  และข้างในของการไม่มีนั้นก็มีสิ่งที่เราฝึก”

ประโยคดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ถูกถ่ายทอดส่งต่อในศิลปะการต่อสู้ที่ชื่อว่า “กังฟู” อาจารย์หวังหลิงฟงแห่ง Bankok wing chun กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น มีพลัง ขณะที่สายตาทอดมองไปข้างหน้าด้วยใบหน้าเรียบเฉย  ปากบอกเล่าเส้นทางแห่งการฝึกฝนวิทยายุทธ์ที่เคยผ่านมาหลายศาสตร์หลายแขนง  หนึ่งในนั้นคือมวยจีนหรือที่เราเรียกกันว่า “กังฟู”

kungfu1

-1-

กังฟู เป็นภาษาจีนกวางตุ้งที่หมายความว่าความสามารถอันมาจากการฝึกฝน  และเนื่องจากคำเรียกมวยจีนส่วนใหญ่ใช้คำว่ากังฟู  กังฟูจึงหมายถึงมวยจีนไปในตัว สมัยก่อนแต่ละถิ่นจะมีคำเรียกศิลปะการต่อสู้ของตัวเอง  แต่คำว่ากังฟูได้รับความนิยมมากกว่าจึงถูกใช้มาและเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน

กังฟูถูกคิดค้นโดยท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ ผู้เผยแพร่พุทธศาสนานิกายเซนและวางรากฐานมวยวัดเส้าหลินเป็นแห่งแรก  โดยมวยวัดเส้าหลินในช่วงแรกถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ความเหนื่อยล้าจากการนั่งสมาธิเป็นเวลานาน  ต่อมาเนื่องจากอยู่ในป่าก็จำเป็นต้องหัดเพลงอาวุธเพื่อป้องกันตัวจากสัตว์ร้าย เมื่อมีโอกาสแสดงฝีมือในวีรกรรมต่างๆ ทำให้วัดเส้าหลินได้รับการยอมรับมากๆ

ในยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนานิกายเซนได้เกิดเหตุร้ายขึ้น เมื่อถังอู่จงฮ่องเต้จับพระสึกจำนวน 260,000 รูป และยึดที่ดินมาทำนา  ยุคนั้นผู้คนบวชเป็นพระเยอะมากทำให้ขาดคนทำนา พระวัดเส้าหลินก็หนีไม่พ้นสถานการณ์ดังกล่าว ช่วงนั้นเองที่ตำรับตำราถูกทำลาย วัดระส่ำระสาย หลวงจีนสามเณรแยกย้ายไปคนละทาง

นอกจากพุทธศาสนานิกายเซนจากวัดเส้าหลินแล้ว ยังมีลัทธิเต๋าที่เขาบู๊ตึ๊ง โดยบู๊ตึ๊งจะอยู่ใต้แม่น้ำแยงซีเกียง  ส่วนเส้าหลินจะอยู่เหนือแม่น้ำแยงซีเกียง จึงมีวลีติดปากว่า “เหนือสรรเสริญเส้าหลิน ใต้สรรเสริญบู๊ตึ๊ง”

จะเห็นได้ว่าทั้งสองสำนักนี้มีรากฐานมาจากศาสนาเหมือนกัน คือพุทธศาสนานิกายเซน และลัทธิเต๋าของเล่าจื๊อ พุทธศาสนานิกายเซนจะมีหลักสอนที่คล้ายกับพุทธเถรวาทสายพระป่านั่นก็คือการไม่เชื่อเทพเจ้า เน้นปฏิบัติใช้ปัญญาและสมาธิจนเกิดการรู้แจ้ง แนวทางคล้ายกับพุทธเถรวาทคือการชำระล้างกิเลสและมุ่งสู่การหลุดพ้น  ส่วนลัทธิเต๋านั้นเป็นลัทธิที่เน้นจริยธรรมและปรัชญามากพอๆ กัน โดยเต๋านั้นจะมีหลักให้คนมักน้อยและเข้าหาธรรมชาติอย่างมีสมดุล

ด้วยอิทธิพลของความเชื่อที่แฝงมากับการถ่ายทอดเป็นกระบวนวิชา  ทำให้ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกกังฟูถูกคัดเลือกพอสมควร  หากเป็นเมื่อก่อนต้องรอให้หิมะเป็นสีแดง  ต้องผ่านการดูโหงวเฮ้ง ดูนิสัยจิตใจของผู้ที่ต้องการจะฝึก  เนื่องจากในสมัยก่อนกังฟูเปรียบเสมือนอาวุธยุทโธปกรณ์  หากอยู่ในมือของเหล่าร้ายก็จะเป็นภัยอย่างยิ่ง  ดังนั้นสมัยก่อนจึงค่อนข้างมีการระมัดระวังที่จะถ่ายทอดวิชา

kungfu2

-2-

อาจารย์ฟง“ผมไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นครูสอนหรอก  ในชีวิตนี้ผมคิดแค่ว่าอยากจะเรียนมวยให้ได้ทุกแขนง  แต่สุดท้ายครูคนที่ 14 ของผมได้มาบอกผมก่อนจะตายว่า ถ้าไม่ถ่ายทอดมันจะสูญหาย”

จากการฝึกเพื่อออกกำลังกายกับคุณพ่อตอนเด็กๆ ไปจนถึงการขวนขวายเอาเมื่อครั้งเป็นหนุ่มน้อย ชีวิตนี้มีครูอาจารย์อยู่หลายคน ด้วยใจรักในศิลปะการต่อสู้ ทำให้ หวังหลิงฟง ได้ทดลองเรียนมวยต่างๆ แรกเริ่มเป็นมวยกังฟู จากนั้นค่อยๆ เรียนรู้มวยไทยสายโบราณอย่างมวยนาคราชที่ปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นแล้ว  จากนั้นก็ได้ศึกษามวยไชยา เทควันโด ชิกุนโด ฯลฯ แต่สุดท้ายก็กลับมาเรียนมวยจีน จนกระทั่งจับพลัดจับผลูได้สอนคนที่เข้ามาใหม่ในฐานะศิษย์พี่ นั่นก็เป็นการฝึกประสบการณ์สอนตั้งแต่นั้นมา

“ในปัจจุบันกังฟูจริงๆ ไม่ค่อยมีสอนแล้ว ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นวูซู”

เขาอธิบายต่อว่า วูซูจริงๆ แล้วก็เป็นมวยจีนอย่างกังฟูนั่นแหละ เพียงแต่ว่าวูซูเป็นศิลปะที่ไม่เน้นการต่อสู้ แต่จะเน้นลีลา ท่วงท่าตีลังกาเป็นส่วนใหญ่  ส่วนกังฟูนั้นจะเป็นมวยจีนที่เน้นการต่อสู้จู่โจม และป้องกันตัว  

ด้วยความปรารถนาที่จะส่งต่อวิทยายุทธ์ เขาได้สอนลูกศิษย์อยู่ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตามบ้านหรือสวนสาธารณะ จนกระทั่งเจ้าของยิมได้ขอให้อาจารย์ฟงไปสอนที่ยิม  Bangkok wing chun โดยจะเน้นการสอนกังฟูหย่งชุนเป็นหลักตามชื่อสำนัก

kungfu3


-3-

หย่งชุนมีหลายตำนานกล่าวถึงต้นกำเนิดของหย่งชุนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ที่แน่ชัดก็คือหย่งชุนนั้นเกิดขึ้นจากผู้หญิง  ด้วยความที่เป็นมวยหมัดช่วงสั้นที่สู้ระยะประชิดแบบผู้หญิงก็ทำให้มวยหย่งชุนเป็นมวยอ่อน โดยจะเน้นองศาและความรวดเร็วในการตัดสินใจโจมตีคู่ต่อสู้ไปพร้อมๆ กับปกปิดจุดอ่อนของตัวเอง  สามารถจู่โจมไปพร้อมๆ กับสลายแรงของผู้ต่อสู้ ย่อมเป็นธรรมดาที่แรงผู้หญิงไม่อาจไปสู้แรงผู้ชายได้  ทางเดียวที่จะทำให้ผู้หญิงชนะได้ก็คือการโจมตีจุดสำคัญในจังหวะและองศาที่เหมาะสม  ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในฝึกฝนจนเกิดความแม่นยำ

คณิตศาสตร์  กลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ในหย่งชุนในสมัยก่อนยังไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าอะไร  แต่มันคือสิ่งที่อยู่ในกังฟู โดยเฉพาะหย่งชุนที่ผู้ใช้จะมีการวางตำแหน่งที่อยู่ต้อง  มีจุดศูนย์กลาง องศา การเข้ามุม สังเกตจากหุ่นไม้ที่ใช้ฝึกก็ทำมุมเป็นองศา เป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราได้รู้จักการโจมตีแบบมีหลักคณิตศาสตร์ในกระบวนท่า

เปรียบเทียบกังฟูหย่งชุนกับการสร้างบ้าน เราก็จะต้องมีการลงเสาเข็มวัดระดับน้ำ  มีการออกแบบแปลนก็ต้องมีการคำนวณถึงน้ำหนัก วัดระดับน้ำ หย่งชุนเช่นเดียวกันต้องมีตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดพลังงาน เห็นผลได้อย่างชัดเจนคือ “ถ้าเราทำถูก เหงื่อเราจะออก  ถ้าเหงื่อไม่ออกแสดงว่าเราไม่ได้อะไร” อาจารย์ฟงได้กล่าวขณะที่นักเรียนกำลังฝึก อาจารย์ฟงบอกอีกว่า วิชากังฟูมันยาก ต้องใช้ความอดทนมากๆ สามสิบคน อาจเหลือรอดคนที่จะได้วิชาไปจริงๆ คือหนึ่งคน

“ห้าหลักที่จะทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียน คือ 1. อดทน 2. ขยัน 3. พรสวรรค์ 4. ประสบการณ์ 5. ความรู้รอบตัวที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้”

นอกเหนือจากห้าข้อเหล่านั้น อาจารย์ฟงเพิ่มเติมว่าหัวใจในการฝึกจะต้องมีอาจารย์ที่แตกฉานในวิชาเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง  เพราะมิเช่นนั้นความรู้ที่นักเรียนได้ก็จะไม่แตกฉานไปด้วย

kungfu4
kungfu5


-4-

กังฟูกับธรรมะเป็นเรื่องเดียวกันดูเหมือนเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เมื่อกังฟูที่ได้ชื่อว่าศิลปะการต่อสู้กับธรรมะที่มักมีหลักว่าไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นที่ดูแล้วน่าจะทิศทางตรงกันข้าม  แต่เขาก็พูดออกมาด้วยน้ำเสียงธรรมดาว่า “กังฟูกับธรรมะเป็นเรื่องเดียวกัน”

เราอาจเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมก็จากภาพยนตร์ชีวประวัติของปรมาจารย์หย่งชุน “ยิปมัน” ที่ถือคุณธรรมเป็นอันดับต้นๆ เป็นคนอ่อนโยนชอบช่วยเหลือชาวบ้าน รักครอบครัว ใจดี อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมกับสังคม  

ในเส้นทางของการประลองหลายต่อหลายครั้ง แพ้ชนะนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ  เป็นเส้นทางที่สองข้างทางเต็มไปด้วยโลกธรรม ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ ชื่อเสียงเงินทอง เป็นไปได้ถ้าใครไปหลงกับสิ่งเหล่านั้นกังฟูก็อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ไปเพิ่มพูนอัตตาให้กับผู้เดินทางผ่าน  ดังนั้นผู้ที่ฝึกกังฟูนอกจากจะฝึกฝีมือแล้วยังต้องฝึกใจให้เข้มแข็งไม่ให้หลงไปกับสิ่งเหล่านั้น  เพราะจุดมุ่งหมายของการฝึกก็คือการฝึกจนเกิดความไม่มี ฝึกจนเกิดความว่างเปล่า

อาจารย์ฟงบอกว่า “กังฟูเป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของอารมณ์ สมาธิ สติ นำไปสู่การมีปัญญา”  

ด้วยความที่เป็นคนสนใจธรรมะทำให้เขาได้มีโอกาสไปสนทนาธรรมกับพระอยู่เสมอ “ปรกติเวลาพูดถึงคำว่าวิปัสสนาคนส่วนใหญ่จะนึกถึงการนั่งหลับตา เพ่งจิตให้สงบ  กังฟูก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่แทนที่จะนั่งหลับตาก็ใช้การเคลื่อนไหว รวมจิตใจให้เป็นหนึ่ง เป็นวิปัสสนาแบบเคลื่อนที่”

นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่าแท้จริงแล้วมวยทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสุดยอดวิชามวยนั้นๆ ถ้าฝึกได้ในระดับสูงมันก็จะคืนสู่สามัญ เพียงแต่ว่าสามัญในที่นี้ผู้ที่ฝึกถึงระดับสูงแล้วเท่านั้นที่จะรู้ว่ามันคืออะไร  บนโลกนี้จึงไม่มีสุดยอดแห่งมวย เพราะดีทุกอย่าง เรื่องท่าไม้ตายไม่ต้องพูดถึง เป็นสิ่งที่ไม่มีบนโลกใบนี้

กังฟูคือการฝึกตั้งแต่จิตใจ  ฝึกการควบคุมอารมณ์ผ่านการเคลื่อนที่  เขาเล่าว่านักเรียนที่มาเรียนบอกว่าเมื่อก่อนเป็นคนอารมณ์ร้อน แต่เมื่อได้มาฝึกกังฟูก็รู้สึกว่าตัวเองใจเย็นขึ้น

นอกจากเรื่องของการฝึกจิตใจและการควบคุมอารมณ์แล้ว  ในแง่ของสุขภาพเขาก็พูดเสียงดังเลยว่า
“กังฟูถือเป็นยาอายุวัฒนะ”

เห็นจะเป็นจริงดังว่า เพราะเมื่อมองดูหน้าอาจารย์ฟงที่สดใสแม้วัยจะก้าวเข้าในวัยที่เรียกได้ว่าวัยชรา  แต่กาลเวลาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พรากทุกสิ่งกลับทิ้งความหนุ่มแน่นเอาไว้ให้เขาอย่างไม่สนใจอายุเลย  เขาเล่าว่า “ในสมัยก่อนที่สวนลุมฯ เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าจอมยุทธ์ที่มาจากจีน การที่จะสอนกังฟูเมื่อก่อนดูวุ่นวาย นอกจากจะดูนิสัยใจคอ ก็ต้องดูว่าเป็นเชื้อสายจีนไหม พูดจีนกลาง จีนกวางตุ้งได้ไหม เหตุผลหนึ่งก็คือมันจะมีตำรายาจีนพ่วงมากับวิชาเหล่านี้ เขาจึงต้องเลือกคนที่อ่านออกเขียนได้เพื่อที่จะถ่ายทอด”

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ “เน่ย  ชี่  จิง ” หมายถึงเลือดลมพลังภายในที่ไหลสู่ภายนอก  เมื่อระบบเลือดลมไหลเวียนดีก็ทำให้สุขภาพแข็งแรง  มันเหมือนกับว่ากังฟูนั้นไม่ได้มีไว้ต่อสู้กับศัตรูเท่านั้น  แต่ต้องต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับความแก่ชรา  ต่อสู้โรคภัย  ถ้อยคำที่เขาบอกว่า “กังฟูกับธรรมะเป็นเรื่องเดียวกัน” จึงเป็นภาพที่เห็นชัดเจนขึ้น

kungfu6
kungfu7

-5-

สิ่งที่ต้องแลกเป็นเรื่องที่ไม่อาจเถียงได้หากเราบอกว่า “ไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่เราได้มาฟรีๆ”  หากเราอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่อยากเข้าก็ต้องมุ่งมั่นทุ่มเท  เหมือนกันกับกังฟู  หากเราอยากสำเร็จในวิชากังฟูก็ต้องมีความอดทน ขยัน และที่สำคัญก็คือเรื่องของเวลา

เรามักได้ยินเสมอว่า “หากเราไม่เจ็บปวดเราก็จะไม่เติบโต” ประโยคนี้ใช้ได้กับวิชากังฟู  เนื่องจากระหว่างทางจะมีอาการปวดเมื่อย และอาจบาดเจ็บจากการฝึก คนที่จะฝึกได้ก็คงต้องเอาจริงและใช้ความพยายามอย่างมาก

ในชีวิตนี้เรามีการตั้งคำถามมากมาย ตั้งแต่ในคาบคณิตศาสตร์ว่าทำไมเราต้องเรียน มันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้สักเท่าไหร่กัน วิชากังฟูก็เช่นกัน  ด้วยวิชากังฟูเป็นวิชาการต่อสู้ที่ไม่ได้มีไว้ต่อสู้กับคนอื่นเพียงอย่างเดียว  จึงมักมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับวิชากังฟูว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่อยู่เสมอ  ผู้ที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดก็คือผู้ฝึกเอง เพราะบางสิ่งเราอาจไม่ได้เรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยตรง  แต่มันเป็นเหมือนการฝึกฝนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต
 
ขอบพระคุณ : อาจารย์หวังหลิงฟงแห่ง Bankok wing chun

เอกสารอ้างอิงฮ. ศุภวุฒิ จันทสาโร. เรื่องเล่ายุทธจักร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ยิปซี. 2561.