เรื่องและภาพ : จิรวัฒน์ ตั้งจิตรเจริญ

ลมหายใจเล็กๆ ของคนและพระพุทธรูปลาวในกรุงเทพฯ
พระพุทธรูปลาวถูกปั้นขึ้นจากขี้ผึ้งสีเขียวอ่อนเป็นผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปศิลปะลาว-ล้านช้างหลาย ๆ องค์จากการดูผ่านรูปภาพของช่างปั้น และนำเอาเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปหลาย ๆ องค์มารวมกันให้กลายเป็นศิลปะในรูปแบบของตัวเอง

“ไผเฮ็ดหนอ ข้อยทำนี้ อีพ่อจะได้งามคือเก่า”

สิทธิโชค พาละพล เด็กหนุ่มรูปร่างสูง ทรงผมเกรียน อายุ 21 ปี นักเรียนศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวขึ้นลอยๆ พลางพูดไปขัดถูไปด้วยสำเนียงภาษาอีสานบ้านเกิด ระหว่างกำลังขัดถูพระพักตร์ขององค์พระพุทธปฏิมาอย่างตั้งใจด้วยสายตาที่มุ่งมั่น จ้องหารอยคราบชำรุดหรือสะเก็ดทองที่หลงเหลือ

สองมือที่ขยับขึ้น-ลง ขัดถูบนพระพักตร์ขององค์พระพุทธรูป “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” ด้วยแรงศรัทธา เผื่อหวังจะช่วยบรรเทาคราบทองคำเปลวที่ปิดทับบดบังความสวยงามของพระพักตร์

“หลวงพ่อสัมฤทธิ์” ถ้าว่ากันตามรูปแบบทางประวัติศาสตร์ศิลปะก็จัดเป็นพระพุทธปฏิมาในศิลปะลาวล้านช้างองค์หนึ่งจากจำนวนหลายต่อหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพฯ มีลักษณะของพระพักตร์ที่ออกเสี้ยม พระหนุแหลม พระขนงโก่งตวัดปลาย พระเนตรเหลือบมองต่ำไปด้านหน้า พระนาสิกโค้งงุ้มใหญ่บาน ปีกพระนาสิกกว้าง ฐานพระนาสิกตัดเรียบ ริมพระโอษฐ์ยิ้มตวัดขึ้นเป็นเส้นเชื่อมกับขอบพระนาสิกทั้งสองข้าง สะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางรูปแบบศิลปกรรมลาวล้านช้างชัดเจน แตกต่างจากพระพุทธรูปในสกุลช่างหรือศิลปะอื่นๆ

องค์หลวงพ่อมีประวัติว่าประดิษฐานอยู่เคียงคู่กับวัดมักกะสันหรือในอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดดิสหงษาราม” มาอย่างยาวนาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หรืออาจจะก่อนหน้านั้น ภายในศาลาที่สร้างขึ้นภายหลังจากอายุขององค์พระพุทธรูปก็นับเป็นเวลาหลายร้อยปี แวดล้อมด้วยมาลัยดอกไม้ที่มีผู้นำมาถวายและกระถางธูปหน้าองค์พระพุทธปฏิมากับสไบสีชมพูเข้มที่พระสงฆ์ลูกวัดผู้เฝ้าศาลาเล่าว่ามียายแก่ที่บ้านอยู่ละแวกวัดมักจะนำมาถวายและเปลี่ยนให้ทุกครั้งเมื่อเดินทางมาทำบุญที่วัด สร้างบรรยากาศที่ดูศักดิ์สิทธิ์ เข้มขลังให้กับ “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” เป็นอย่างมาก

สองมือที่เคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วของสิทธิโชคช่างคล้ายกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เกิดขึ้นไม่นานในชั้นรับแขกขนาดเล็กๆ ของคอนโดฯ แห่งหนึ่งย่านปุณณวิถีที่สิทธิโชคอาศัยอยู่ร่วมกับคุณน้าของเขาที่นอนหลับอยู่บนห้องพัก แตกต่างกันแต่เพียงว่าสองมือของสิทธิโชคในช่วงก่อนนั้น เขาถือแท่งกรีดและด้ามเกลี่ย อุปกรณ์คู่กายของช่างปั้นทั้งหลาย บรรจงกรีดและปัดลงบนเนื้อขี้ผึ้งอย่างประณีต ด้วยความตั้งใจจะให้องค์พระพุทธรูปที่อยู่เบื้องหน้าของเขามีพุทธลักษณะงามดังพระพุทธรูปล้านช้างตามอุดมคติในความคิดของสิทธิโชค

laobuddha02
สิทธิโชค พาละพล หรือโชค อายุ 21 ปี นักเรียนศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี สมุทรปราการ ผู้เป็นเจ้าของผลงานปั้นพระพุทธรูปลาวองค์สีเขียวอ่อนกำลังจดจ่อกับงานปั้นชิ้นสำคัญของเขา
laobuddha03
เหล็กแท่งเล่มบางด้ามจับไม้ถนัดมือเป็นอุปกรณ์ที่โชคเลือกใช้ในการบรรจงกรีดชั้นตาขององค์พระพุทธรูปที่ถูกปั้นขึ้นจากขี้ผึ้ง

พื้นเพและจุดเริ่มของความสนใจพระพุทธรูปลาว

“ผมเป็นคนยโสธร บ้านอยู่ในอำเภอเมือง แถวค่ายทหารบดินทรเดชา ที่บ้านผมมีพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่ง เป็นพระศิลปะพื้นบ้านที่คนเฒ่าคนแก่ปั้นไว้ เราก็สงสัยว่าท่านปั้นไว้ มันน่าหลงใหลดี เราก็เลยคิดอยากปั้น คนเฒ่าคนแก่เขาปั้นไว้ไม่ได้สวยมาก แต่มันน่าศรัทธา งั้นเราลองปั้นดีกว่า แต่องค์แรกที่ปั้นไว้มันไม่สวย เลยทุบทิ้งไป พอมากรุงเทพฯ มันเริ่มเปิดกว้าง เราได้เห็นของเยอะขึ้น กระแสพระลาวก็กำลังเริ่มมา พระพุทธรูปลาวมีแต่สวยๆ ทั้งนั้น ผมก็ยิ่งสนใจใหญ่เลยครับ”

คำพูดแนะนำตัวและพื้นฐานที่มาของความสนใจของสิทธิโชคคงเป็นคำตอบในเบื้องต้นของความสงสัยว่าทำไมสิทธิโชคถึงมีความสนใจในการปั้นและสร้างพระพุทธรูปลาวขึ้นมา แม้ในยามที่ตนเองมาอยู่ไกลบ้านเกิดเช่นนี้ แต่ท่าทีและการแสดงออกทางวัฒนธรรมกลับดูแข็งแกร่งขึ้นในทิศทางตรงกันข้ามกับระยะทางที่ห่างไกลจากบ้านตนและแหล่งบันดาลใจทางศิลปะ

คำตอบของคำถามนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับคำตอบของช่างปั้นรุ่นเยาว์ชาวอีสาน ศิลปินฝีมือดีอีกคนจากกาฬสินธุ์ ทรัพย์ทวีคูณ เห็มสมัคร อายุ 22 ปี นักศึกษาเพาะช่างชั้นปี 4 สาขาประติมากรรมไทย เมื่อถามถึงสาเหตุของความสนใจในพระพุทธรูปลาว โดยเริ่มต้นเกิดความสนใจในพระพุทธรูปลาวเมื่อตนได้เดินทางเข้ามาศึกษาในรั้ววิทยาลัยและมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร

“แต่ก่อนมาที่นี่ ผมไม่เคยสนใจพระลาว มองแค่ว่ามันไม่สวย มันไม่ถูกส่วน แต่พอเรามาอยู่นี่ เรามาศึกษารูปแบบที่มันมีระบบตายตัว อย่างสุโขทัย-อยุธยา เรารู้สึกว่าเรากำลังตามหาอะไร มันเกิดคำถามว่าสิ่งที่เราเกิดมา ที่เราโตมา เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือจิตวิญญาณของเรา มันคือรากเหง้าบรรพชนของเรา คือแถบถิ่นอีสาน คืออารยธรรมของเราจริงๆ เรากลับไม่ไปศึกษา เรามาตามหาอะไร มันเลยเกิดอาการเบื่อ รูปแบบเดิมๆ รูปแบบที่มันตายตัว มันเกิดคำถามขึ้นเยอะ แต่พอเรามาศึกษาเราก็ภูมิใจ ไม่ใช่ว่ามันไม่สวย ทุกสิ่งมันมีคุณค่าในสิ่งที่เราทิ้งมันมา มันคือจิตวิญญาณตัวตนที่แท้จริงของเราตั้งแต่เราเกิดมา”

ทรัพย์ทวีคูณกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ผู้เขียนในห้องปั้นของวิทยาลัยเพาะช่าง ที่มีงานปั้นหลายชิ้นซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ บรรยากาศเพื่อนร่วมชั้นปีคนอื่นๆ ที่กำลังปั้นงานของตนอย่างขะมักเขม้น ตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งหนึ่งในงานปั้นที่ตั้งโดดเด่น แปลกตา และเป็นฉากหลังของการสัมภาษณ์คือ พระพุทธรูปนาคปรกลาวล้านช้าง ซึ่งทรัพย์ทวีคูณปั้นขึ้นมาเองกับมือเพื่อเป็นศิลปนิพนธ์ตัวจบการศึกษา โดยได้แบบมาจากพระพุทธรูปนาคปรกลาวล้านช้างที่เป็นพระพุทธรูปประธานโบราณภายในวิหารของวัดมโนภิรมย์ จังหวัดมุกดาหาร

วิธีคิดและพื้นฐานศิลป์ที่หลากหลายในงานปั้นพระพุทธรูปลาว

“พอเรามาปั้นพระลาว บางอย่างผมก็ใช้หลักที่ได้ศึกษามาจากการปั้นพระพุทธรูปสุโขทัย ปรับจากความเข้าใจเดิม แล้วมาจับอารมณ์ใบหน้าความรู้สึกต่างๆ ให้เป็นลาวมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ลาวร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรายังติดรูปแบบความเป็นสุโขทัยมา” ทรัพย์ทวีคูณกล่าวถึงวิธีการคิดและขั้นตอนในการเริ่มปั้นพระพุทธรูปลาว แม้จะดูไม่มีฐานให้ยึดมากนัก แต่องค์พระพุทธรูปที่ปั้นจากดินน้ำมันที่เขาได้สร้างขึ้นก็มีพื้นฐานมาจากระบบคิดทางศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้เข้ามาเรียนรู้ในกรุงเทพฯ และวิทยาลัยเพาะช่าง

คล้ายคลึงแต่ก็มีความแตกต่างกับสิทธิโชค ซึ่งปั้นพระจากขี้ผึ้งและไม่ได้เรียนในโรงเรียนด้านศิลปะอย่างทรัพย์ทวีคูณ แต่ก็อาศัยการจดจำและความรักความชอบ หมั่นฝึกฝนจนกระทั่งสามารถสร้างงานที่ได้รับการยอมรับ จนถึงขั้นมีคนที่สนใจติดต่อมาขอให้สอนปั้นบ้าง

“งานปั้นของผมอิสระจากทุกที่ที่ทำ เพราะที่อื่นเขาชอบมีแบบก่อน ไปส่งแบบแล้วค่อยปั้นๆ แต่ของผมเอาแบบหลายๆ ที่มายำๆ กัน ในความคิดในความชอบ ชอบหน้าตาแบบไหนก็ใส่ลงไป”

สิทธิโชคกล่าวเมื่อถามถึงเอกลักษณ์ในงานปั้นพระพุทธรูปลาวของเขา สะท้อนถึงกรอบคิดและวิธีการในการทำงานที่ไม่ได้อ้างอิงกับรูปแบบตั้งต้นดั้งเดิมอย่างทรัพย์ทวีคูณ แต่มีจุดร่วมคือการปรับใช้และเลือกรับให้เหมาะสม

สิทธิโชคพูดไปแล้วเปิดรูปให้ผู้เขียนดูว่างานที่เขาเอามาเป็นแบบนั้นมีต้นแบบจากอะไรบ้าง ทั้งลวดลายบนคันทวยหูช้างที่ประดับอยู่ตามสิมหรือโบสถ์ในภาคอีสาน และรูปลักษณ์หน้าตาพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่มีผู้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ก็ล้วนแต่เป็นแหล่งข้อมูลแบบพระพุทธรูปลาวชั้นดีที่เขาแสวงหาเอาได้จากความเพียรและการรู้จักคนในแวดวงผู้สนใจศิลปะลาวไปเรื่อยๆ

laobuddha04
กระเป๋าผ้าสีดำใบเล็กเต็มไปด้วยอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในงานประติมากรรม ยังคงมีร่องรอยของดินน้ำมันสีน้ำตาลติดอยู่ตามซอกเล็ก ๆ แสดงถึงความสามารถในการทำงานของพวกมันได้ดี

เจตจำนงร่วมบนฐานที่แตกต่าง

แม้จะมีความแตกต่างกันเพียงไร ทั้งการเรียนรู้ ขั้นตอน รวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ อย่างวัตถุดิบในการปั้น แต่จุดร่วมที่ยืนอยู่บนฐานเดียวกันคือ “เจตนา” ในการสร้างองค์พระพุทธปฏิมา

“ตอนนี้ถ้าผมปล่อยบูชาพระพุทธรูปลาวองค์ที่ผมปั้นนี้ได้ รายได้ก็จะนำไปบูรณะวัดที่บ้านผมทั้งหมดเลยครับ ผมไม่ได้ปั้นเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง” สิทธิโชคกล่าวถึงเจตนาของเขาในการปั้นพระพุทธรูปลาวขึ้นมา เช่นเดียวกับทรัพย์ทวีคูณที่แม้จะปั้นพระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้ขึ้นเพื่อเป็นศิลปนิพนธ์จบการศึกษา แต่หากมีใครศรัทธาอยากจะได้องค์พระไปหล่อต่อ เพื่อนำไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ ก็จะให้แบบไปได้เลยโดยไม่หวังผลกำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทน

“ผมอยากทำให้ศาสนาจริงๆ ผมไม่เคยคิดจะหากำไรอะไรจากพระที่ผมปั้นเลย” ทรัพย์ทวีคูณกล่าวในช่วงท้ายของการสนทนาก่อนจะลาจากกัน สะท้อนให้ผู้เขียนฉุกคิดและเห็นชัดเลยว่าในโลกทุนนิยมสมบูรณ์นี้ยังมีสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้อยู่จริงๆ แต่กลับเป็นศรัทธาในพระศาสนาและความรักในมรดกวัฒนธรรมบ้านเกิดที่เป็นแรงผลักดันให้สองมือของทั้งสองคนยังคงทำงานพุทธศิลป์ต่อไป

laobuddha05
โชคบรรจงเช็ดแผ่นทองคำเปลวที่ติดอยู่หน้าพระพักตร์ของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ออก ให้เห็นใบพระพักตร์อย่างชัดเจน พลางถ่ายรูปไปด้วยเพื่อเก็บภาพศิลปะพระพุทธรูปลาวไว้เป็นแรงบันดาลใจหรือต้นแบบในงานปั้นของตนเอง
laobuddha06
การพบกันครั้งแรกของโชคและวี หรือ ทรัพย์ทวีคูณ เห็มสมัคร อายุ 22 ปี นักศึกษาเพาะช่าง ชั้นปีที่ 4 สาขาประติมากรรมไทย ที่รู้จักกันผ่านกลุ่มคนปั้นพระพุทธรูปลาว ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของการปั้นพระพุทธรูปลาวอย่างถูกคอ

อนาคตที่คาดหวังของงานศิลป์ลาวกลางกรุงเทพฯ

คำถามมันดังก้องขึ้นในหัวของผู้เขียน จุดประกายความสงสัยให้เอ่ยถามว่า งานประณีตพุทธศิลป์ลาวจากสองมือของสิทธิโชคและทรัพย์ทวีคูณยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างไร ภายใต้ชีวิตและอนาคตของเขาทั้งสองที่ยังคงต้องอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็จนกว่าจะจบการศึกษาในสถาบันการเรียนของตนเองหรืออาจจะต้องทำงานประจำในกรุงเทพฯ

“หลักๆ ตอนนี้ผมก็ปั้นขี้ผึ้งไปก่อน ทำองค์เล็กๆ ไปก่อนครับ เล็กตามห้องครับ” สิทธิโชคพูดเชิงติดตลกร้ายพลางหัวเราะตามนิสัยที่เขาเป็นคนหัวเราะง่าย ยิ้มแย้ม ด้วยข้อจำกัดในการทำงานด้านสถานที่ในกรุงเทพฯ และความเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่มีบ้านอยู่อาศัยเป็นหลังๆ บนพื้นที่ที่มูลค่าและการพัฒนาก้าวกระโดดอย่างสูงชานกรุงเทพฯ ทำให้ที่ปั้นพระของเขาเป็นทั้งสถานที่อยู่อาศัยและโรงปั้นย่อมๆ บนห้องเล็กในคอนโดฯ ใหญ่

“แต่ในอนาคตก็คิดอยากจะกลับไปปั้นพระปูนที่บ้านตัวเอง และอยากจะสร้างพระปางมารวิชัยสะดุ้งกลับ ถวายหลวงปู่ล้วน จันทสาโร วัดศรีมงคลเหนือ จังหวัดมุกดาหาร” สิทธิโชคกล่าวเสริมท้ายประโยคไม่นานนัก เสมือนคิดถึงแผนที่วางไว้ในระยะไกลเกี่ยวกับงานปั้นพระพุทธรูปของเขาในอนาคต เช่นเดียวกับทรัพย์ทวีคูณที่แม้จะติดปัญหาเนื่องด้วยอาชีพที่คาดหวังในอนาคตจะเป็นช่างปั้นและศิลปิน ซึ่งในส่วนงานจ้างเป็นงานที่ต้องทำตามสั่ง แต่ในด้านความสนใจส่วนตัวทรัพย์ทวีคูณก็อยากจะปั้นพระลาวต่อไป และอยากจะหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธรูปให้มากยิ่งขึ้น

“ผมคิดว่าผมอยากทำพระพุทธรูปที่มีองค์ธรรมหรือองค์ความรู้เข้าไปจับ ช่างทุกวันนี้ที่ทำก็จะทำว่าสวยหรือไม่สวยเท่านั้น พระลาวก็รู้ว่าเป็นลาว ลาวแล้วยังไงต่อ มันมีความหมายอย่างไร ผมอยากเอาไปต่อยอดเรื่องคติเรื่องความหมายมากกว่า ส่วนในเรื่องงานจ้างก็ต้องทำ แต่ในเรื่องงานส่วนตัว ผมก็อยากจะสร้างพระพุทธรูปลาวต่อไป รูปแบบศิลปะอีสานเราก็เอามาจัดระบบใหม่ให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ดูแล้วอาจจะไม่เป็นลาวทั้งหมด 100% แต่มันก็ต้องมีกลิ่นอายความเป็นลาวอยู่” ทรัพย์ทวีคูณกล่าว

laobuddha07
ผลงานชั้นปีสุดท้ายของวี เป็นงานปั้นพระพุทธรูปลาว ที่มีต้นแบบมาจากพระเจ้าองค์หลวงซึ่งเป็นพระประธานสิม (พระอุโบสถ) ของวัดภูมโนรมย์ จังหวัดมุกดาหาร (องค์หน้าสุด) และหลวงพ่อนาคปรก วัดพระธาตุบังพวน หนองคาย (องค์หลังสุด)
laobuddha08
พระพุทธรูปลาวหรือหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่ที่วัดดิสหงษาราม (วัดมักกะสัน) เขตราชเทวี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในกรุงเทพที่ได้นำศิลปะพระพุทธรูปลาวเข้ามาตั้งเพื่อสักการะบูชาแสดงถึงลมลายใจเล็ก ๆ ของพระพุทธรูปลาวในกรุงเทพมหานครที่ยังคงอยู่

อัตลักษณ์และรากเหง้า สำนึกทางวัฒนธรรมลาว-อีสานที่แสดงผ่านฝีมือช่าง

ถ้าจะให้เปรียบเทียบแล้ว สำหรับผู้เขียนทั้งสิทธิโชคและทรัพย์ทวีคูณต่างมีจุดร่วมและจุดต่างด้วยพื้นเพที่แตกต่างกัน เสมือนแสงเทียนแต่ละแท่งที่มีความสั้นยาว-แสงสว่างในตนเองที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อได้รวมตัวกัน ช่างดูมีพลัง น่าค้นหา โดดเด่นและมีคุณค่าในตนเองท่ามกลางแสงเทียนของความเป็นพหุวัฒนธรรมและสังคมของการแสวงหาผลประโยชน์ในเมืองหลวงที่ผู้คนมากหน้าหลายตาต่างเข้ามาเพื่อหาผลกำไรอย่างกรุงเทพมหานคร

อาจจะเพราะระยะห่างระหว่างกรุงเทพฯ ที่พำนักและศึกษากับภาคอีสานบ้านของตนซึ่งไกลกันเป็นร้อยๆ กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดความต้องการคิดสร้างสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์ ภายใต้ความบีบคั้นหรือแรงกดจากวัฒนธรรมหลักหรือเปล่าไม่ทราบได้ แต่เห็นได้ชัดว่ามันได้ผนวกเข้ากับสำนึกในรากเหง้าทางวัฒนธรรมลาว-อีสานและพื้นฐานฝีมืองานช่างที่เกิดจากการเรียนรู้ตามระบบในโรงเรียนศิลปะอย่างทรัพย์ทวีคูณ หรือไม่ตามระบบนักผ่านเฟซบุ๊กและการฝึกฝนด้วยตนเองอย่างสิทธิโชค จึงกระตุ้นให้ก่อเกิดงานพุทธศิลป์ สืบต่อลมหายใจที่แผ่วเบาของพระพุทธรูปลาวให้บังเกิดขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง

แต่ชีวิตและลมหายใจนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไปหนอ? ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่รวดเร็ว ผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน จนผู้คนในเมืองใหญ่ปัจจุบันแทบจะไม่รับรู้ว่านี้คือรูปแบบลักษณะองค์พระพุทธรูปอย่างลาวที่เคยประดิษฐานอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมาก่อน

คงได้แต่หวังว่าในอนาคตอันใกล้ ตัวตน ชีวิต ลมหายใจของคนอีสานกลุ่มเล็กๆ ในกรุงเทพฯ ที่เลือกแสดงออกทางวัฒนธรรมด้วยงานพุทธศิลป์อันสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมคงจะชัดเจนขึ้นมา ดังเช่นพระพักตร์ของ “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” วัดมักกะสัน ซึ่งแจ่มแจ้งกระจ่างชัดขึ้นมา เมื่อสิทธิโชคขัดถวายให้จนสะอาดสดใส