กลางเดือนมกราคม 2564 ชาวบ้านจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้ออกเดินเท้าเข้าป่าใหญ่ เป้าหมายคือพื้นที่อันเคยเป็นบ้านเกิดและถิ่นทำมาหากินดั้งเดิม เรียกกันในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงว่าป่า “ใจแผ่นดิน” หรือ “หมู่บ้านบางกลอยบน” –พื้นที่ซึ่งพวกเขาเคยถูกหน่วยงานด้านความมั่นคงบังคับให้อพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ผิดแผกแตกต่าง ผิดที่ผิดทาง ทั้งขาดแคลนที่ทำกินอันจำเป็นต่อการผลิตอาหาร ไม่สามารถประกอบพิธีกรรมหรือดำรงวิถีชีวิตตามวิถีดั้งเดิมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจเดินทางกลับถิ่นที่จากมา กระทั่งปี 2554 ภายใต้ยุทธการตะนาวศรีเจ้าหน้าที่รัฐได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในป่าใจแผ่นดิน เผาทรัพย์สิน ที่พัก และยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนร่วมร้อยหลัง กลุ่มชาติพันธุ์ถูกกดดันให้ลงมาอยู่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่างอีกครั้ง –เพื่อที่จะพบว่าพื้นที่อันถูกจัดสรรไว้รองรับยังคงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพเหมือนเช่นเคย

ระหว่างทางนั้นเอง ปรากฎข่าวเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีเจ้าหน้าที่รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างต่อศาลปกครองของปู่คออี้-โคอิ มีมิ ผู้อาวุโสแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ความตายและการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ผู้นำชาวกระเหรี่ยงที่ถูกทำให้หายสาบสูญ

ล่าสุด กลางเดือนมกราคม 2564 ท่ามกลางสถาณการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วสังคมไทย ความอัดอั้นตันใจ ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต อาจเป็นหนึ่งในฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตัดสินใจเดินเท้าเข้าป่า–หวนหาพื้นที่ซึ่งพวกเขาถูกสั่งให้อพยพลงมาเมื่อร่วมยี่สิบปีก่อนอีกครั้ง

ขอขอบคุณ : เสวนาสาธารณะออนไลน์ “จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์” วันที่ 21 มกราคม 2564 จัดโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส The Active และภาคีเครือข่าย

บนเส้นทางสู่ “ใจแผ่นดิน” เมื่อชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยจะกลับบ้าน

(1)

การขึ้นไปข้างบนมันเป็นฟางเส้นสุดท้าย”

พฤ โอโดเชา
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านป่าคาใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

“วิถีข้างบนใช้พื้นที่น้อย แต่เป็นการหมุนเวียนที่ดูเหมือนเยอะ เพื่อไม่ให้มีหญ้า ไม่ให้มีศัตรูพืช และไม่ให้เมล็ดพันธุ์กลายพันธุ์ เพื่อให้ดินฟื้นโดยไม่ต้องใช้ยา แนวคิดของคนข้างล่างทำเกษตรแบบใหม่ ที่เอาชาวบ้านลงไปก็ให้ทำเกษตรแปลงเล็กๆ ปลูกพืชขาย แล้วก็ซื้อข้าวกิน ทำนาขั้นบันได คนที่เติบโตในเมืองเขาคิดแค่นั้น เห็นแค่นั้น โครงการปิดทองหลังพระก็เลยไปส่งเสริม จะทำลำเหมืองให้ ให้ชาวบ้านขุดนาขั้นบันได ชาวบ้านก็ไปลงแรงขุด แต่ที่จัดสรรให้เป็นก้อนหิน รถแมคโครยังขุดไม่ได้ ถึงแปลงไหนขุดได้ก็ทำนาไม่ได้เพราะน้ำไม่ไหล มีชาวบ้านไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่ได้ทำนา แล้วถึงมีนาข้าวก็ไม่พอกิน

“ล่าสุดปี 2563 คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ไปจัดสรร ไปดูแปลงที่ไม่มีต้นไม่ใหญ่หรือเครือพุ่มเลื้อย จัดสรรที่ให้ 20 กว่าแปลง แต่เขาให้เปิดได้แค่ไม่กี่ราย ไม่กล้าให้ชาวบ้านทั้งหมดเปิดแปลง เพราะกลัวคนข้างนอกจะว่า

“เวลาพาชาวบ้านไปดูพื้นที่ต่างๆ อย่างทุ่งนาทางภาคเหนือ มันไม่ใช่นาอย่างเดียวหรือสวนอย่างเดียว เรามีสวนหลังบ้าน มีผืนป่าที่เข้าไปใช้ประโยชน์ เลี้ยงสัตว์ มีปัจจัยหลายอย่างทำให้พวกผมอยู่ในป่า ไม่ว่าอมก๋อย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน อยู่ได้เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง คือชาวบ้านต้องมีทั้งไร่ ทั้งนา และป่าด้วย

“ชาวบ้านที่อยู่ข้างบนสามารถวางแผนการกิน อยู่กับธรรมชาติยังไงไม่ต้องไปขึ้นกับการตลาดที่ควบคุมไม่ได้ พอลงมาให้ข้าวสารชาวบ้านไม่กี่กิโล แป๊บเดียวก็หมด กว่าจะไปหางาน หาเงินมาซื้อข้าวกินมันก็ลำบาก ย้ายคนข้างบนมาก็มาแย่งที่คนข้างล่าง บางกลอยล่าง โป่งลึก ทั้งหมดเดือดร้อน ก็อยากให้ช่วยเหลืออย่างมีกลไก และช่วยเหลือเรื่องข้าวก่อน ส่วนที่อยู่ข้างบนอยากให้มีกองทุนเฉพาะของเขา

“รูปธรรมที่เราพยายามทำมานานแล้ว คือการตีวงเขตพื้นที่ป่าของเรา ย่อยลงมาคือพื้นที่ทำกิน ไร่หมุนเวียน นา สวน รัฐต้องยอมรับวิถีองค์รวมแบบนี้ แต่เขาคิดแค่ว่าที่ดินมีโฉนดไหม เขาไม่ได้สนใจเลยว่าก็ที่ดินมันอยู่ในเขตป่า ทั้งป่าสงวน ทั้งอุทยาน มันพัวพันไปหมดจนชาวบ้านอยู่ด้วยตัวเองแทบไม่ได้ ก็ต้องคลายล็อกนี้ แล้วมีเครื่องมือส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง พวกเรามีต้นทุนอยู่แล้ว ผมไม่ได้จะกลับไปอยู่ในยุคล้านปี แต่เราคิดว่าอะไรที่ดีเราก็เอาไว้ อันใหม่อันไหนดีก็เอามา แต่ต้องไม่ทำลายอันเก่า เช่น ไม่ทำลายตัดตอนศักยภาพของชาวบ้าน ภาพรวมของกะเหรี่ยงทั้งหมดต้องการความมั่นคงทางกฎหมาย กติกา และสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยมากขึ้น

“ผมกลัวการให้ข่าวของอุทยานฯ มาก เช่น บอกว่าไม่เจอชาวบ้าน บอกว่าเจอกระท่อม บอกว่าเจอซากสัตว์ การให้ข่าวแบบนี้อาจทำให้เกิดความรุนแรงและทำให้คนเข้าใจผิด ชาวบ้านที่ขึ้นไปตอนนี้ก็ลำบากมากครับ เขาต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกตอนนี้ ให้ทันฝนและกินในเดือนพฤศจิกายน การขึ้นไปข้างบนมันเป็นฟางเส้นสุดท้าย เป็นตัวเลือกสุดท้ายว่าเขารอดกว่าอยู่ข้างล่างแน่นอน”

bangkloy02

(2)

โควิดเปิดแผลในสังคม”

นพ.โกมาตร จึงเถียรทรัพย์
ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเรื้อรัง โยงใยกับหลายเรื่อง ทำให้เป็นปัญหาที่แก้ยาก ผมอยากเท้าความให้เห็นว่าเวลามีปัญหา สังคมส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจ หนักกว่านั้นก็มีอคติผสมเข้าไป ภาพเหมารวมของพี่น้องชาติพันธุ์ โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตที่ราบสูง มันผูกโยงอยู่กับภาพจำที่สังคมประนาม สร้างขึ้นมาตั้งแต่สามสิบสี่สิบหรือห้าสิบปีที่แล้ว มีสามเรื่องคือหนึ่ง ภาพจำว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า สองเข้าเมืองผิดกฎหมาย และสามค้ายาเสพติด มีภาพเหมารวมแบบนี้ติดหน้าผาก ฉะนั้นเวลามีปัญหาสาธารณชนส่วนหนึ่งก็จะมีความรู้สึกว่า เราจะไปช่วยคนเหล่านี้ทำไมในเมื่อเขาสร้างปัญหาให้เรา

“ภาพเหมารวมทั้งสาม ชาวกระเหรี่ยงที่บางกลอยเขาทำลายป่ามั๊ยครับ งานวิจัยจำนวนมากระบุว่าการทำไร่หมุนเวียนหรือที่สมัยก่อนเรียกว่าไร่เลื่อนลอย ที่บอกว่าเขาตัดไม้ไปทั่ว เลื่อนลอยไปเรื่อย จริงๆ มันไม่ใช่ มันเป็นวิถีที่ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพด้วยซ้ำไป หลายประเทศศึกษาว่าการทำไร่หมุนเวียนทำให้รักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ได้ หลากหลายเสียยิ่งกว่าป่าที่เราเอามาดูแลหรือสัมปทานเพื่อให้คนมาปลูกป่า ฉะนั้นเรื่องตัดไม้ทำลายป่ามันไม่ใช่ มายาคติที่บอกว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นพ่อค้าที่จะไปตัดไม่ทำลายป่าก็อยู่กับป่าไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นต้องดูว่าใคร มีวิถียังไง ส่วนเรื่องค้ายาเสพติด เรื่องเข้าเมืองผิดกฏหมาย ไม่มีประเด็นเลยครับในกรณีนี้

“กรณีที่เกิดขึ้นแม้จะยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนาน แต่ปะทุขึ้นอีกครั้งในสถานการณ์โควิด ตรงนี้สำคัญในแง่ว่าโควิดเป็นตัวเปิดแผลในสังคม ถ้าหากมีแผลเรื้อรังอยู่ที่ไหนมันจะปรากฏให้เราเห็น

“พี่น้องชาติพันธุ์ที่บางกลอยวิถีชีวิตแต่เดิมเขาไม่มีความเสี่ยงกับโรคเหล่านี้ ในทางมนุษยวิทยากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในลักษณะแยกตัวออกจากสังคมเมืองหรือสังคมที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องสุขาภิบาล มีการสะสมของแหล่งโรค กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จะไม่ค่อยมีโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้น ถ้าเราไปศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันตก โรคที่คนผิวขาวเป็นอยู่โดยธรรมดา เช่นออกหัด พอไปตั้งอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือ โรคง่ายๆ เหล่านี้ก็กลับไปติดเชื้อในหมู่ชนพื้นเมืองแล้วล้มตาย เขาจะมีภุมิคุ้มกันเรื่องบางเรื่องดีกว่าคนเมือง แต่มีโอกาศที่ภูมิคุ้มกันจะเป็นจุดอ่อนทำให้เขาติดโรคได้

“เมื่อเขาถูกย้ายลงมา เผชิญชะตากรรมมายี่สิบปี ทนทุกข์ขนาดไหน เราก็ยากที่จะไปรับรู้ แต่จากเรื่องราวที่เล่ามาก็จะเห็นได้อยู่ แล้วพอเกิดสถานการโควิดขึ้นมันเป็นฟางเส้นสุดท้าย การที่เขากลับขึ้นไปก็เพื่อความอยู่รอด กลับไปสู่ที่ที่เขาเห็นว่าปลอดภัย อยู่ที่นี่เขาจะกินอะไร งานการก็เริ่มไม่มีให้ทำเพราะกิจการด้านเศรษฐกิจต่างๆ ก็ลดลง ไหนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ถ้าเกิดป่วยขึ้นมายิ่งลำบากหนักไปขนาดไหน

“การย้ายกลับไปที่บ้านซึ่งปลอดภัยกว่าที่ที่เขาอยู่ในปัจจุบันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ ถ้าพวกเราเคยไปป่วยต่างประเทศจะรู้ดีว่าทำไมเราอยากกลับประเทศไทย ประเทศไทยไม่ได้มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่มันเลิศล้ำ แต่คนเจ็บคนป่วยอยากจะกลับบ้าน ผมคิดว่าถ้าเป็นเรา เราก็คงกลับ กลับไปอยู่ที่ที่เราคิดว่าปลอดภัย กลับไปอยู่ที่ที่เราสามารถหาอาหารให้ลูกเรารับประทานได้ ถ้าเราได้ศึกษาเรื่องราวของคนท้องถิ่น เมื่อเจ็บป่วยเขาจะกลับบ้าน เพราะบ้านคือที่ที่ปลอดภัย

“ข้อมูลในเชิงหลักฐานไม่มีข้อที่จะโต้แย้งอะไรอีกแล้ว มันเหลือแต่เพียงเรื่องมนุษยธรรม ว่าเราจะมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้รึเปล่า กับเด็กๆ ที่เขาอยู่อย่างยากลำบาก

“ฉะนั้นเรื่องนี้มันมาถึงตรงจุดที่ปัญหาของบางกลอยตั้งคำถามกับสำนึกของสังคมไทยวาเราจะอยู่ร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์ในฐานะที่มีศักดิศรีความเป็นมนุษย์เสมอกัน มีความอาทรต่อความทุกข์ของกันและกันได้มั๊ย

“ยี่สิบปีของการทดลองนำเขาลงมาสู่บางกลอยใหม่มันไม่เวิร์ค เขายืนยันด้วยการกลับไปหาผืนแผ่นดินที่ปลอดภัยของเขา แล้วเขาได้ส่งสัญญาณปลุกเร้าสำนึกของเราขึ้นมาใหม่ว่ารัฐควรปฏิบัติต่อเขาอย่างไร”

[ภาพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)]

bangkloy03

(3)

เจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายมามากแล้ว”

สุรพงษ์ กองจันทึก
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เอาเขาลงมาแล้วจัดการไม่ดี บอกว่าจะให้ที่ก็ไม่ให้หรือให้ไม่เพียงพอ หรือที่ที่ให้ไม่ใช่ที่ทำมาหากิน อ้างว่าเป็นที่ทำมาหากิน แต่ไม่ใช่ครับ พื้นที่แห้ง ขุดไม่ได้ ทำมาหากินอะไรไม่ได้ มีโครงการเข้ามาช่วยอ้างว่าจะทำนาขั้นบันได แต่ขุดแล้วน้ำไม่มา เมื่อไม่มีน้ำก็เพาะปลูกไม่ได้ ชาวบ้านบอกว่าหลอกเขามา จะกลับไปอยู่บ้านเดิม นี่คือที่มาที่ไปของปัญหา

“เราต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการย้ายชาวบ้านออกจากป่า แต่เป็นการบังคับชาวบ้านให้มาอยู่อีกที่หนึ่งภายในป่าเหมือนกัน ซึ่งไม่มีกฏหมายที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่อุทยานสามารถให้ที่ชาวบ้านอยู่ได้ 47 ไร่ ไม่มีครับ ไร่หนึ่งก็ไม่ได้ ตารางนิ้วหนึ่งก็ไม่ได้ ตามกฎหมายนะ ฉะนั้นการดำเนินงานที่ผ่านมานั้นผิดหมด

“เมื่อผิดแล้วถามว่าทำยังไง ชาวบ้านเขาก็กลับไปที่เดิม หลังปี 2535 กลับไปเกือบหมด เพราะในรายงานการเผาบ้านชาวบ้านปี 2554 พบว่าบ้านชาวบ้านถูกเผาร่วมร้อยหลัง สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดบอกว่าชาวบ้านไม่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่คนบุกรุก ชาวบ้านเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ศาลบอกคือบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน ไม่ใช่บางกลอยล่าง แสดงว่าที่ชาวบ้านอยู่ทุกวันนี้ผิดกฎหมาย ที่ถูกคือบ้านบางกลอยบนเพราะข้างบนคือชุมชนดั้งเดิม ข้างล่างศาลไม่ได้บอกว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ฉะนั้นอยู่ไม่ได้

“เราอยากให้เจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายมามากแล้ว ผิดกันมาตลอด และศาลก็ตัดสินว่าผิด

“ผมอยากขยายความคำว่าพหุวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรมไม่ได้หมายความว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่หมายถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม คำว่าแตกต่าง เห็นต่าง กับคำว่าหลากหลายไม่เหมือนกัน คำว่าเห็นต่าง คิดต่าง หรือวัฒนธรรมต่างคือมีวัฒนธรรมหลักอยู่ แล้วสิ่งนี้ต่างจากของหลัก ต่างจากที่ทุกคนคิดกัน ซึ่งแนวโน้มสิ่งที่เห็นต่างอาจจะผิด มีแนวโน้มผิด เพราะไม่เหมือนเขา ฉะนั้นศัพท์ที่ควรใช้กันคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม

“เรามีความหลากหลายทางชีวภาพ คำนี้ใช้กันมานาน ทุกชีวิตมีคุณค่าหมด ไม่ได้บอกว่าชีวิตใครเหนือกว่าใคร วัฒนธรรมก็เช่นเดียวกัน ทุกวัฒนธรรมมีคุณค่าหมด และจำเป็นต้องหลากหลายด้วย

“วัฒนธรรมกับความคิดบางเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ความหลากหลายทางความคิดนำไปสู่ความเจริญของโลก ไม่ใช่คิดต่างนะ ต่อไปเราต้องเข้าใจว่าความหลากหลายเป็นเรื่องปรกติ

“เรื่องที่สอง เราจะช่วยเหลือชาวบ้านครั้งนี้ยังไง ทุกคนอยากเข้าไปช่วยเหลือ ผมเน้นครับ การช่วยเหลือไม่ใช่ไปเอาชาวบ้านกลับมา แล้วให้เป็นอยู่ที่ดีขึ้นยังไง จะหาที่ทำกินให้ยังไง จะเอาข้าวไปให้ชาวบ้านยังไง จะไปสร้างบ้านในโป่งลึก-บางกลอยล่างยังไง สิ่งที่ควรจะทำให้กับชาวบ้านคือต้องเคารพเค้า เขามีบ้านอยู่ข้างบน จะให้เขาอยู่ข้างบนตามเจตนารมณ์ของเขายังไง ชาวบ้านข้างล่างที่ยังไม่ได้ขึ้นไปข้างบนอยากขึ้นไป อุทยานจะพาพวกเขาไปส่งข้างบนยังไง ไม่ใช่ไปตามเขากลับมานะครับ

“ต้องเอาชาวบ้านที่ปัจจุบันเขาอยากกลับบ้านเดิม ตามคำพิพากษาของศาล ให้เขากลับบ้านได้ ถ้าเราเข้าใจสังคมร่วมกันแบบนี้ บอกให้ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน แล้วก็ทำในสิ่งที่เขาต้องการ คิดว่าเราสามารถเดินได้ในสังคมต่อๆ ไป”

bangkloy04

(4)

“อพยพมาแล้ว อยู่ไม่ได้ ยังถูกฆ่า”

สุนี ไชยรส
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

“เรื่องปู่คออี้เป็นเรื่องที่ทุกคนพอจะทราบ จากการที่ปู่ลุกขึ้นมาฟ้องศาลปกครอง แม้แต่นักศึกษาก็รับรู้เรื่องราวว่าคำเหล่านี้มันสะเทือนใจ ปู่บอกว่าฉันลืมตามาป่าก็อยู่ตรงนั้น น้ำนมหยดแรกที่ฉันดื่มก็อยู่ตรงนั้น นี่เป็นคำที่ง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่าปู่อยู่ในป่ามายาวนาน แล้วปู่อายุเป็นร้อยปีต้องไปฟ้องศาลปกครอง

“ปู่คออี้เกิดปี 2454 ตอนนั้นไม่มีกฏหมายที่ดินปี 2497 มีบางคนอ้างกฎหมายบอกว่าถ้าพวกนี้อยู่ในป่ามาก่อนทำไมไม่รู้จักไปหาเอกสารสิทธิ แต่ตอนที่กฏหมายที่ดินออกปู่อายุ 43 ปีแล้ว ตอนที่กฏหมายอุทยานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายรวมประกาศใช้ทั่วประเทศออก ไม่ใช่เฉพาะอุทยานฯ แก่งกระจานนะ คือปี 2504 ตอนนั้นปู่คออี้อายุ 50 ปี พอประกาศอุทยานฯ แก่งกระจานปี 2524 ปู่อายุ 70 ปี มันชัดยิ่งกว่าชัดว่าทำไมปู่และลูกหลานจึงมีสิทธิอย่างชอบธรรมที่จะอยู่ที่บ้านใจแผ่นดิน การไปอพยพเขาลงมาเป็นเรื่องผิด ความไม่ชอบธรรมครั้งนั้นไม่ใช่แค่การยึดที่ดิน การบังคับออกมา แต่ยังทำให้ปู่ต้องมาสู้คดีในศาลปกครอง

“เรายังต้องนึกถึงคดีบิลลี่ซึ่งถูกฆ่า หกปีผ่านมาแล้วก็เงียบกริบ กว่าจะทำให้เรื่องราวของบิลลี่ถูกเผยออกมาว่าเขาถูกอุ้มหาย ถูกทรมาน เข้าข่ายสิ่งที่พวกเราเรียกร้องกันอยู่ในปัจจุบัน อบต.บิลลี่ถูกบังคับหายทั้งที่เขาลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้ปู่ได้รับความชอบธรรม ตอนนั้นบิลลี่และภรรยาคือคุณมินอมีลูกเล็ก 5 คน นี่ก็ถือเป็นโศกนาฎกรรมใหญ่

“ต่อเนื่องมาถึงวันนี้มินอก็ยังต้องลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นธรรม คดีของบิลลี่จับแล้วปล่อย แล้วจะทำยังไงต่อ มีดีเอสไอเข้ามาเกี่ยวข้อง อัยการสูงสุดเขามาเกี่ยวข้อง แต่เราก็ยังไม่สามารถจัดการความยุติธรรมให้กับบิลลี่ นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ซ้อนเข้ามาอีกว่าอพยพมาแล้ว อยู่ไม่ได้ ยังถูกฆ่าตาย แล้วภรรยาก็ลุกขึ้นมาสู้ จากลูกเล็กๆ จนลูกโต วันนี้เขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม

“ความถูกต้องคือปู่คออี้และลูกหลานทั้งหมดถูกบังคับให้อพยพ เขาจึงมีสิทธิชอบธรรม เราต้องใช้คำว่าเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคำง่ายๆ เลยในรัฐธรรมนูญว่าเราต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อเขา ต้องเคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แล้วก็ดูแลเรื่องความยุติธรรม ควรจะจัดการด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนบังคับให้เกิดการอพยพที่ไม่ชอบธรรมครั้งนั้น แต่ตอนนี้เงียบไปเลย มันเหมือนกับพูดกันแต่เรื่องชาวบ้านจะกลับเข้าไป แต่ไม่มีใครถามว่าตอนอพยพลงมา ใครบ้างที่กระทำต่อชาวบ้านอย่างรุนแรง พวกเขาควรมีสิทธิเต็มที่ที่จะกลับบ้านคือบ้านใจแผ่นดิน

“มันจำเป็นต้องมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในเชิงวัฒนธรรม เชิงวิถีชีวิตที่เป็นรากเหง้า อย่างน้อยให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมืองเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิต ให้สามารถรื้อฟื้นสิ่งต่างๆ กระบวนการกำลังจะเริ่ม เจ้าหน้าที่อย่าตายตัวว่าอุทยานครอบแล้วจะขยับไม่ได้ ฟ้องแล้วจะขยับคดีไม่ได้

“กะเหรี่ยงไม่ได้ทำลายป่า วิถีชีวิตฟ้องชัดว่าถ้ากะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน ป่าอยู่ ต้นไม้ใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ยังไม่ต้องไปดูไร่หมุนเวียนของเขา สิ่งมีขีวิตในป่าก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

“ขอให้ยอมรับว่าการอพยพลงมานั้นผิด ชาวบ้านมีสิทธิชอบธรรมที่จะต้องกลับ คุณเอาเขามาแล้วเขาก็อยู่อย่างยากลำบาก ไม่มีแม้แต่ข้าวจะกิน ไม่มีที่ทำกิน สัญญาติไทยก็ยังไม่ได้ทุกคน ฉะนั้นยอมรับความเป็นจริงแล้วกลับมาแก้ไขปัญหา ใครจะมาใช้อำนาจต่อการอพยพกลับครั้งนี้ถือว่าไม่ชอบธรรม ช่วยกันสื่อสารออกไปว่าอย่าใช้ความรุนแรงนะ คุณต้องยอมให้เขากลับไปใช้สิทธิอันชอบธรรม ควรจะสนับสนุนด้วยซ้ำให้เขากลับไป”