เรื่องและภาพ : นภธวัล ค่อยประเเสริฐ

เพลงสุดท้ายก่อนการเริ่มต้นใหม่

ดวงไฟริบหรี่ภายใต้แสงจันทร์ดูขมุกขมัวกว่าปรกติ น่าแปลกใจนิดหน่อยที่ผู้คนดูบางตาในค่ำคืนวันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2564 แม้ว่าอุณหภูมิในเมืองนี้จะลดต่ำลงจนเริ่มเย็นกำลังดี แต่เหล่านักดื่มตัวยงกลับปรากฏตัวน้อยกว่าปีก่อนๆ มาก บางทีพวกเขายังหยุดปีใหม่ไม่หนำใจกระมัง ทั้งที่บรรยากาศแบบนี้ในกรุงเทพฯ มีไม่บ่อยและน่าจะเป็นสวรรค์ของใครหลายๆ คนด้วยซ้ำ

“ผมว่าพรุ่งนี้ไม่น่ารอดแล้วพี่” พนักงานเสริฟร้านประจำที่ฉันเล่นดนตรีอยู่เปล่งเสียงแผ่วๆ คุยกับฉันด้วยแววตาหลากอารมณ์ที่ฉันไม่อาจนิยามได้ กลัว วิตกกังวล เศร้า หรือสิ้นหวัง กันแน่ ฉันได้แต่ถอนใจแล้วยิ้มให้เขา

“สู้ๆ นะน้อง เราต้องรอด”

lastsong02

ฉันพูดออกไปทั้งที่ไม่แน่ใจว่าพวกเราจะรอดจริงๆ หรือเปล่า แต่นี่ก็ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรกที่เราต้องเจอท่ามกลางสถานการณ์น่าวิตกจนสามารถสั่นคลอนอาชีพของพวกเราได้ อย่างน้อยเราก็เคยมีบทเรียนคอยเตือนสติว่าควรจัดการชีวิตตัวเองอย่างไรเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง “โรคระบาด” ไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งไหนคงเป็นจุดเปลี่ยนบางอย่างของมนุษยชาติ การปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ถูกแล้วล่ะ…ตอนนี้เราทุกคนติดอยู่บนดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะซึ่งกำลังเกิดโรคระบาดที่ควบคุมยาก ตอนฉันยังเด็กเคยเรียนมาว่าโลกของเราได้เผชิญโรคระบาดอื่นๆ มาก่อน สุดท้ายเราก็ผ่านมาได้ไม่ว่ามันจะคร่ากี่ชีวิต ทำลายการดำเนินชีวิตและระบบนิเวศ แต่ในที่สุดเราก็จะต้องผ่านมันไปได้หากทุกคนร่วมมือกัน เราต่างได้ยินผู้คนให้กำลังใจกันด้วยประโยคทำนองนี้ ทว่าสำหรับฉันการเกิดโรคระบาดครั้งนี้ไม่มีข้อสรุปใดชัดเจน บ้างก็ว่าเป็นโรคร้ายแรงมาก บ้างก็มองว่าหายได้เองไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามถ้าถามฉัน…ฉันก็คิดเหมือนใครอีกหลายคนว่าแค่อยากให้มันจบลงโดยเร็ว

ฉันตบบ่าน้องพนักงานคนนั้นหนึ่งครั้ง แล้วเดินไปที่เวที มีประโยคมากมายผุดขึ้นมาในห้วงความคิด

“ถ้าพรุ่งนี้ฉันไม่ได้เล่นดนตรีแบบที่กำลังจะทำตอนนี้แล้วล่ะ?”

“ถ้าเป็นแบบนั้นงานอื่นๆ ของฉันจะยังอยู่ใช่ไหม?”

ใช่…ฉันเองโชคดีที่มีหลายอาชีพ แต่ก็เป็นอาชีพอิสระทั้งหมด ถ้าจะนิยามความเสี่ยงของอาชีพตัวเองก็คงไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่า…การระหกระเหินบนทางเดินอิสระ…กระมัง

lastsong03

ฉันเริ่มบรรเลงเปียโนก่อนจะตามมาด้วยเสียงร้องของฉันและกลองไฟฟ้าที่เพื่อนตี ฉันกับเพื่อนเล่นดนตรีกันสองคนในร้านเล็กๆ ค่ำคืนนั้นมีลูกค้ามานั่งฟังพวกเราเพียงไม่กี่โต๊ะ แต่ฉันก็ยังรู้สึกดีใจที่พวกเขามาดูถึงแม้มันจะเสี่ยงต่อสถานการณ์โรคระบาด บางทีพวกเขาอาจคิดเหมือนน้องพนักงานคนนั้นก็ได้ มีข่าวปากต่อปากออกมามากมายว่าสถานบันเทิงจะถูกสั่งปิดตั้งแต่วันพรุ่งนี้ พวกเราจึงรอกลั่นกรองความจริงว่าสรุปแล้วพวกเราจะถูกพักงานหรือไม่ เอาจริงๆ ขณะอยู่บนเวทีฉันมีความคิดอื่นแทรกซ้อนตลอดเวลา แม้จะพยายามตั้งสมาธิกับงานตรงหน้า

ในที่สุดเวลางาน 1 ชั่วโมงกับอีก 30 นาทีในการเล่นดนตรีของฉันก็เดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย การแสดงกำลังจะจบลงในอีก 5 นาที “ฉันต้องร้องเพลงสุดท้ายแล้วสินะ”

เพลงสุดท้ายที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเล่นอีกเมื่อไร ฉันจึงตัดสินใจเลือกเพลงที่น่าจะให้กำลังใจทุกคน ณ ที่นั้นได้ไม่มากก็น้อย เพลงของศิลปินกมลา สุโกศล ซึ่งมีเนื้อเพลงตอนเริ่มท่อนฮุกว่า…อยู่ที่เรียนรู้อยู่ที่ยอมรับมัน…แล้วฉันก็นึกออก สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงก็คือ “เรียนรู้ที่จะเรียนรู้ และเรียนรู้ที่จะยอมรับ”

lastsong04

หลังจากวันนั้นพวกเราก็โดนพักงานจริงๆ ฉันนั่งคุยกับตัวเองอยู่ในห้องนอน พบว่าต่อจากนี้คงต้องเข้าสู่กระบวนการหาทางออกอีกครั้ง เมื่อรายได้หายไปเกือบครึ่งแต่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงอยู่เท่าเดิม J.K. Rowling (1965) กล่าวสุทรพจน์ในพิธีรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไว้สองประเด็นเกี่ยวกับ “ประโยชน์ทางอ้อมของความล้มเหลวและความสำคัญของจินตนาการ” เราจะพูดถึงเฉพาะประเด็นของความล้มเหลว แต่ละคนมีมาตรวัดความล้มเหลวต่างกัน เมื่อชีวิตต้องเผชิญความล้มเหลว เราอาจค้นพบบางอย่างในตัวเองที่ไม่เคยพบมาก่อน “คุณจะไม่มีวันรู้จักตัวเองอย่างแท้จริงหรือรู้จักความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ในชีวิตจนกว่าทั้งสองสิ่งนี้จะถูกทดสอบด้วยเคราะห์ร้าย”1

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แม้จะไม่ถึงกับเป็นความล้มเหลวในชีวิต แต่ฉันก็ได้ค้นพบบางอย่างในตัวเอง และเรื่องราวบางเรื่องในโลกที่ฉันไม่เคยรู้ก็ได้มีเวลาเรียนรู้ ฉันค้นพบมิตรภาพที่แท้และจัดวางมิตรภาพจอมปลอมออกไปอยู่วงนอก ฉันเริ่มฝึกวาดรูป ฝึกเต้น เรียนภาษาออนไลน์ ซ้อมดนตรีอย่างจริงจัง ฝึกทำอาหาร ปลูกพืชผักสวนครัว และอีกมากมายเกินกว่าที่ฉันจะประเมินตนเองได้ในช่วงที่งานล้นมือจนแทบไม่มีเวลาทำงานอดิเรกอื่น

lastsong05

หนึ่งในงานอดิเรกที่ฉันชอบที่สุดคือการเขียน เขียนนิยายบ้าง จดบันทึกบ้าง เพียงแค่ “อย่าเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้ แต่เขียนสิ่งที่คุณชอบ”2 ทำให้ฉันเขียนมาเรื่อยๆ แม้ไม่รู้ว่างานเขียนของตัวเองดีหรือไม่ รู้เพียงว่า “ความเปลี่ยนแปลงพาฉันมาอยู่จุดนี้” ฉันเชื่อว่าทุกๆ คนที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในครั้งนี้อาจค้นพบบางอย่างในตัวเองเช่นเดียวกัน และแน่นอนว่าอาจมีคนบางกลุ่มกำลังจมดิ่งกับความเศร้า ฉันเข้าใจ…ขอเป็นกำลังใจให้พวกคุณทุกคน ภาวนาให้เราผ่านมันไปได้ด้วยกัน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงฉันได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา รวมถึงเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นด้วยการอ่าน ทำให้ฉันยอมรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ยอมรับอดีต ยอมรับวัฏจักรและธรรมชาติ ยอมรับความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลง

ฉันแค่กำลังเรียนรู้นะ…บางอย่างอาจยังทำไม่ได้

ทุกๆ คนก็อย่าเพิ่งท้อ หากพยายามแล้วยังไม่เห็นผล จงทำต่อไปเถิด ถ้ามันเป็นหนทางแห่งความสุขที่ไม่เดือดร้อนใคร

สุดท้ายในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำหรับนักดนตรีกลางคืนแบบฉัน บางที…พระเจ้าอาจต้องการให้ฉันมีเวลาซ้อมดนตรีมากกว่าเดิมเพื่อรอการเริ่มต้นใหม่

lastsong06

เชิงอรรถ

1 Winston Churchill, สฤณี อาชวานันทกุล แปล, วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน (Never give in, Nerver give in ,Never, Never), หน้า 70-91 (กรุงเทพฯ : โอเพ่นโซไซตี้, 2561).

2 Austin Kleon, อาสยา ฐกัดกุล แปล, ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน (Steal Like an Artist), หน้า 53-56 (กรุงเทพฯ : วีเลิร์น, 2555).