เรื่องและภาพ : พศิน รัตนเดชตระกูล

มันนิ ซาไก

ในสมัยเด็กๆ ผมชอบดูรายการสารคดีเป็นชีวิตจิตใจ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รายการนําเสนอเรื่องราวของชนเผ่าซาไก หลังจากเห็นชนเผ่านี้ผ่านจอทีวีเป็นครั้งแรก ผมถามตัวเองว่า บนโลกมีคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ด้วยหรือ คนที่อยู่ในป่าจริงๆ เสื้อผ้าก็ไม่ใส่ ความรู้สึกของผมตอนนั้นเต็มไปด้วยความหลงใหลและคำถามมากมายที่ผมต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับพวกเขาว่า มีที่มาอย่างไรและใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง

ผมค้นหาข้อมูลมาระยะหนึ่งก็พบว่า ชาวมันนิ หรือที่คนไทยเรียกเงาะป่าซาไก เป็นชาวพื้นเมืองในพื้นที่ป่าภาคใต้ของไทย ปัจจุบันอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด บริเวณจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา มันนิจะอาศัยอยู่ใน ”ทับ” ลักษณะเป็นกระท่อมขนาดเล็กสร้างด้วยไม้และใช้ใบตองมุงหลังคา โดยนิยมก่อกองไฟเพื่อให้ความอบอุ่นในกระท่อมตลอดเวลา

วินาทีที่ผมก้าวเท้าเข้าไปในหมู่บ้านของชนเผ่ามันนิ ซาไก ภาพที่เห็นคือ มีเด็กคนหนึ่งใส่กางเกงขาสั้นสีชมพู ไม่ใส่รองเท้า มายืนรอผมตรงทางเข้าหมู่บ้านแล้วก็จ้องมองผม

sakai02
sakai03

สายตาคู่นั้นคงเต็มไปด้วยความสงสัยว่า เจ้านี่เป็นใคร มาทำอะไรในหมู่บ้านฉัน

ผมหอบเสบียงที่ซื้อมาบริจาคติดตัวมาด้วย เช่นข้าวโพดและหัวมัน เพราะชาวมันนิยังเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม ของกินและของใช้ส่วนใหญ่หามาจากในป่า บางคนก็ไม่ใส่เสื้อผ้า สิ่งเหล่านี้แสดงถึงตัวตนของชาวมันนิอย่างแท้จริง มันเป็นความรู้สึกตื้นตันใจที่ได้มีโอกาสพบเจอพวกเขา เพราะทำให้ผมเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น โลกที่สื่อดิจิทัลและอีกหลายๆ สิ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ชาวมันนิใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาหาได้จากในป่ามาใช้เพื่อดำรงชีวิตในแต่ละวัน

ผมมีโอกาสพูดคุยกับครูณัฐ ครูจิตอาสาที่มาสอนหนังสือให้ชนเผ่ามันนิเป็นคนแรก ครูณัฐสอนวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์พื้นฐานให้พวกเขามาประมาณ 2 ปี

ผมถามครูณัฐว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่มาสอนหนังสือที่หมู่บ้านซาไกแห่งนี้

sakai04
sakai05

“ครูจำได้ว่าครั้งแรกที่เดินเข้ามาบริเวณหมู่บ้าน ทุกคนวิ่งเข้าไปหลบในบ้านของตัวเองหมดเลย เพราะเขากลัวและไม่รู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน หลังจากนั้ันเราก็พยายามเข้ามาหาพวกเขาทุกวันจนเขารู้สึกชินกับเรา แต่ทุกครั้งที่เราเดินเข้าไปในหมู่บ้าน สายตาของเด็กๆ เหล่านั้นที่จ้องมองมาที่เราเต็มไปด้วยความสงสัย เพราะพวกเด็กๆ ไม่มีโอกาสไปโรงเรียน และขาดโอกาสในด้านอื่นๆ ด้วย เราเลยตัดสินใจเป็นครูอาสาสอนหนังสือให้พวกเขา ครูเปรียบพวกเขาเสมือนพี่น้อง ไม่ได้คิดแค่ว่าเขาเป็นเพียงชนเผ่าเผ่าหนึ่ง เราเคารพและนับถือวิถีชีวิตและตัวตนที่พวกเขาเป็น พวกเขาจึงควรที่จะได้รับโอกาสเหล่านั้นและครูก็มีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสให้พวกเขา เป็นความสุขที่ครูไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ แต่ครูมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือพวกเขา” ครูณัฐกล่าว

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ จากเดิมที่ชาวมันนิไม่เคยมีเสื้อใส่ ปัจจุบันหลังจากเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้คนมากขึ้น การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้คนนำสิ่งของมาบริจาค อาทิเช่น เสื้อผ้า เครื่องครัวและสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมเข้าใจการใช้ชีวิตแบบ“พอเพียง” มากขึ้น สำหรับผมการอยู่อย่างพอเพียงควรจะเป็นชีวิตที่เรียบงาย มีความพอประมาณและมีเหตุผล ความพอประมาณคือความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไป โดยต้องไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ชาวมันนิดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกหลายๆ อย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้โลกภายนอกสามารถเข้าถึงชาวมันนิได้มากขึ้น แต่ชาวมันนิก็ยังคงยึดถือประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่าตนเอง

นั่นแสดงถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของชาวมันนิ ซึ่งแฝงด้วยความสวยงามอยู่ภายใน

sakai06
sakai07
sakai08

บางคนมีกำลังมากพอที่จะใช้จ่ายสิ่งต่างๆ แต่ชีวิตกลับเต็มไปด้วยความทุกข์ ในทางกลับกัน บางคนมีสิ่งที่อยู่ในความครอบครองน้อย แต่ชีวิตกลับมีความสุข เพราะเขาไม่ยึดติดกับสิ่งใดมากเกินไป มนุษย์เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะและสภาพแวดล้อมต่างกัน แต่สำหรับผม ไม่ว่าเราจะเกิดมาอยู่ในฐานะไหน เราเข้าใจดีหรือยังว่า จุดมุ่งหมายและความต้องการในชีวิตเราคืออะไร แล้วสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อคนรอบข้างเราอย่างไร หน้าที่ของมนุษย์ที่ดีไม่ใช่แค่รักคนในครอบครัว แต่ต้องคิดถึงคนรอบข้างด้วย ส่วนในเรื่องจริยธรรมก็อยู่ที่เรามองเห็นตัวเองว่าเป็นมนุษย์ที่ดีหรือไม่ จริยธรรมเกิดจากสติ เมื่อเราทำดีแล้วเราจึงมีความรู้และปัญญา การที่เราเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนในครอบครัว คนรอบข้างก็จะทำตามเราเพราะคิดว่านั่นคือสิ่งที่ดี คนทุกคนล้วนมีคุณค่า ถ้าทุกคนทำแต่สิ่งดีๆได้ ชีวิตเราก็จะมีแต่เรื่องดีๆ