เผด็จการ - จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 433

คริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามเย็นระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นของโลกต่างปกครองโดยผู้นำเผด็จการ คล้ายคลึงกันโดยไม่ได้นัดหมาย

ไทยอยู่ภายใต้เผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประพาส ที่มาสะดุดด้วยเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ (ค.ศ.๑๙๗๓) 

แต่อำนาจเผด็จการก็กลับมาใหม่หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานมาถึงปัจจุบัน

ฟิลิปปินส์ อยู่ใต้อำนาจประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ที่ครองอำนาจอยู่นานถึง ๒๑ ปี (ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๘๖)

อินโดนีเซียอยู่ภายใต้เผด็จการซูฮาร์-โต ๓๒ ปี (ค.ศ. ๑๙๖๗-๒๐๐๘)

ประเทศแถบลาตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง หลายประเทศก็อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการไม่ต่างกันเท่าไรนัก

การคอร์รัปชันขนาดมโหฬารทั้งโดยส่วนตัว เครือญาติ และพวกพ้อง รวมถึงการสั่งกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นผักปลาเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้

ถือเป็นพิธีกรรมปรกติของท่านผู้นำในอำนาจสูงสุด

แม้ท่านผู้นำจะพยายามเอาใจประชาชนด้วยการพัฒนาประเทศ แต่ก็มักประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ  หลังจากเวลาผ่านไป สังคมภายใต้ระบอบเผด็จการก็มักพบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อรวมกับปัญหาเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดและคุกคาม ก็นำมาสู่การชุมนุมประท้วงต่อต้านเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนาน  หรือในอีกทางหนึ่งก็อาจถูกรัฐประหารซ้อนจากผู้นำคนใหม่ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากกว่า ซึ่งภายหลังก็อาจกลายเป็นเผด็จการอีก…แล้วระบอบเผด็จการก็วนเวียนเป็นวัฏจักร

เมื่อปี ๒๕๕๗ (ค.ศ. ๒๐๑๔) ช่วงที่เกิดอาหรับสปริง  Kostadis Papaioannou จาก The London School of Economics and Political Science กับ Jan Luiten van Zanden จาก Utrecht University ได้ร่วมกันทำวิจัย ศึกษาว่าการอยู่ในอำนาจนาน ๆ ของระบอบเผด็จการจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างไรบ้าง

งานวิจัยนี้ศึกษาระบอบเผด็จการในภูมิภาคตะวันออกใกล้ (Near East แถบคาบสมุทรอาหรับและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) แอฟริกาตอนเหนือ เอเชีย และลาตินอเมริกา ในช่วง ค.ศ. ๑๙๖๐-๒๐๐๙ ประมาณ ๑๐๐ ประเทศ ซึ่งมีทั้งเผด็จการโดยทหาร เผด็จการโดยผู้นำสูงสุด หรือกษัตริย์ หรือพรรคการเมืองเดียว ก็พบว่ายิ่งท่านผู้นำครองอำนาจนานขึ้น ๆ จาก ๔ ปี เป็น ๖, ๘, ๑๐-๑๒ ปี แนวโน้มอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดลงถึงขั้นติดลบได้

ปัญหาของท่านผู้นำที่แม้จะมีอำนาจสูงสุด แต่ก็ไม่สามารถใช้อำนาจทำให้ประเทศดีขึ้น  นักวิจัยสองคนนี้เรียกว่า “dictator effect”  ปัญหาแรกของท่านผู้นำคือแทนที่จะได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรือง แต่เขากลับได้ข่าวสารบิดเบือนที่มีแต่เรื่องดีและถูกใจ เพราะคนรอบตัว

รู้ว่าถ้าพูดความจริงก็อาจสร้างความไม่พอใจ หรือร้ายกว่านั้นคือกลายเป็นตัวเองมีความผิด เพราะทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย

อีกปัญหาหนึ่งของท่านผู้นำ คือการเสพติดอำนาจหรือสถานะการเป็น “ผู้ชนะ” เรื่องนี้เกี่ยวกับกลไกธรรมชาติในสมองของมนุษย์ที่เมื่อมีความสุขก็จะหลั่งสารโดปามีนหรือเทสโทสเตอโรนออกมาให้เสพติดพฤติกรรมที่มีความสุขแบบนั้นเรื่อย ๆ  เมื่อท่านผู้นำมีความสุขกับการใช้อำนาจสั่งทำโน่นทำนี่ได้ตามใจก็เกิดอาการเสพติด ภาคภูมิใจกับตัวเองจนเกินขีด ดูถูกและด้อยค่าคนอื่น ขาดความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ไม่ค่อยยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และปิดตัวเองจากข้อมูลใหม่ ๆ

แม้แต่ท่านผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เคยเป็นหัวหน้าพรรค หรือเป็นผู้นำทหารก็ตกหลุมการเสพติดอำนาจได้ทั้งสิ้น ผลลัพธ์ของ dictator effect คือท่านผู้นำจะเริ่มไม่เชื่อใจใครนอกจากคนในแวดล้อม ครอบครัว ที่คอยแต่พูดสิ่งที่เขาอยากได้ยิน และการตัดสินใจของเขาก็จะผิดพลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากการศึกษาความสัมพันธ์ระยะเวลาการครองอำนาจของเผด็จการกับค่าจีดีพีและอัตราเงินเฟ้อ พบว่ายิ่งอยู่ในอำนาจนาน อัตราการเติบโตของค่าจีดีพีก็ยิ่งลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้น

“อำนาจทำให้เสื่อม” หรือ Power Corrupts จึงอาจเป็นความจริงที่ทุกสังคมต้องยอมรับ และกลไกการเปลี่ยนแปลงผู้นำตามระยะเวลาที่เหมาะสมอย่างสันติในระบอบประชาธิปไตยก็อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

คอลัมน์ “จากบรรณาธิการ” สารคดี ฉบับที่ 433 เมษายน 2564