เรื่อง : ณภัทร เวชชศาสตร์

Seaspiracy เป็นภาพยนตร์สารคดีความยาว 1 ชั่วโมง 29 นาที ที่เพิ่งออกฉายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 บนช่องทาง Netflix โดยเนื้อหาโดยรวมคือการนำเสนอด้านมืดของอุตสาหกรรมการประมงเกือบทั่วทุกมุมโลก

อยากช่วยทะเล ต้องเลิกกินปลา จริงหรือลวงกับสารคดี Seaspiracy ?

เรื่องย่อ : ผู้กำกับชาวอังกฤษ Ali Tribizi วัย 27 ปี เปิดโปงอุตสาหกรรมการล่าโลมาใน ไทจิ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลว่าโลมาเป็นภัยต่อการจับปลาทูน่า ต่อมาก็พูดถึงเรื่องปัญหาการรณรงค์ขยะทะเลขององค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ เช่นการออกแคมเปญแบนหลอดพลาสติกที่ท้ายสุดมีเพียง 0.03% เมื่อเทียบกับขยะทั้งหมด ขณะที่ขยะพลาสติกที่มีมากที่สุดก็คือเครื่องมือประมง ซึ่งมีมากกว่า 46% ในแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) และพาตั้งคำถามว่าทำไมองค์กรอนุรักษ์ชื่อดังๆ ถึงไม่พูดเรื่องพวกนี้

เขาตั้งข้อสรุปว่าแท้จริงแล้ว องค์กรและบริษัทต่างๆ ร่วมมือกันทุจริตผ่านตราสินค้าที่ให้การรับรองอาหารทะเล เช่น ตรา MSC – Marine Stewardship Council (ให้การรับรองการประมงยั่งยืน) ตรา ASC – Aquaculture Stewardship Council (ให้การรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยั่งยืน) และตรา Dolphin safe ที่ไม่สามารถการันตีว่าท้ายสุดปลาทูน่าที่จับมาจะไม่มีโลมาติดมาด้วย

Ali สรุปว่าการประมงอย่างยั่งยืนไม่มีอยู่จริง หรือแม้แต่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture) ที่เหมือนจะเป็นทางออก ก็ก่อสารพิษและผลเสียต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล มากกว่านั้นยังมีการบังคับใช้แรงงานมนุษย์อย่างโหดเหี้ยมในอุตสาหกรรมประมง โดยมีประเทศไทยเป็นตัวอย่าง

บทสรุปที่ผู้กำกับทิ้งท้ายไว้ให้กับคนดู คือ “เพื่อเป็นการช่วยทะเล ทางเลือกที่ถูกหลักศีลธรรมมีเพียงอย่างเดียวคือเลิกกินปลา”

ยอมรับว่าภาพยนตร์ได้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะผ่านบทสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำงานอนุรักษ์ อย่าง Slyvia Earle และ Cullum Roberts หรือแม้แต่ Christina Hicks อีกทั้งด้วยฝีมือการร้อยเรียงเรื่องผสมผสานกับการใส่ดราม่า ทำให้ภาพยนตร์ชิ้นนี้ดึงดูดผู้ชมให้ดูได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

หลังจากสารคดี Seaspriracy เข้าฉายเพียงไม่ถึงสัปดาห์ ก็ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายจนทยานติดอันดับ Top 10 ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ สร้างแรงตระหนักรู้และจูงใจให้หลายคนเลิกสนับสนุนการบริโภคสัตว์น้ำ

แต่ก็เกิดเสียงค้านจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะฝั่งองค์กรอิสระ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ทำงานด้านนี้โดยตรง ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง หรือแม้แต่นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเห็นว่าสารคดีเรื่องนี้นำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน มีการให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์เก่าผสมกับทฤษฏีสมคบคิด ตั้งข้อสรุปง่ายเกินไป หรือยัดเยียดนัยยะแอบแฝงเรื่อง Veganism (กลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในทุกรูปแบบ) ปัญหาจรรยาบรรณของคนทำสื่อ หรือแม้แต่ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่แลดูให้คนเอเชียเป็นผู้ร้าย คนผิวสีเป็นเหยื่อ และคนขาวเป็นฮีโร่

จึงอยากชวนผู้อ่านให้มารับฟังข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์จริงในงานอนุรักษ์ คือ

ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี

และ ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและช่างภาพสารคดี

เพื่อสร้างความเข้าใจกับปัญหาการประมงที่ถูกต้องและชัดเจนกับคำถามที่เกิดขึ้นในสารคดี Seaspiracy

seaspiracy01 1
seaspiracy01 2

1. “ปลาจะหมดไปจากมหาสมุทรภายในปี ค.. 2048” ?

สารคดีเรื่องนี้ระบุว่าจากการที่ทั่วโลกจับปลากว่า 2.7 ล้านล้านตัวต่อปี จะส่งผลให้ปลาหมดไปจากท้องทะเลในปี ค.ศ. 2048 ซึ่งอ้างจากงานวิจัยของ Boris Worm ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2006 แต่ความจริงในปี ค.ศ. 2009 Boris Worm ได้ออกมาชี้แจงและลบข้อมูลนี้ออกไปหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักแล้ว เนื่องด้วยสถานการณ์การประมงทั่วโลกไม่ได้แย่ขนาดนั้น และอัตราการฟื้นตัวของประชากรปลาก็ฟื้นตัวได้หากการประมงได้รับการควบคุม

“การสร้างแรงตระหนักรู้ให้แก่สังคมเป็นสิ่งที่ดี แต่การใช้ข้อมูลที่เก่า ข้อมูลที่ผิดเพี้ยน หรือจงใจเลือกเฉพาะข้อมูลด้านเดียว (Cherry picking) เพื่อสนับสนุนเรื่องของตัวเองที่จัดวางมาก่อนตามความเชื่อส่วนตัว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในงานสารคดี” ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ให้ความเห็น

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย เน้นว่าประเด็น overfishing ที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายน่านน้ำรอบโลกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่จริง หรือพูดง่ายๆ ก็คือการจับปลามากกว่าอัตราการฟื้นตัวของประชากรปลา

ตัวเลขล่าสุดจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) คือ 34.2% ของการทำประมงทั่วโลกที่จับเกินขนาด (overexploited)

ปัญหาคือหลาย ๆ ครั้งมักมีการอ้างอิงตัวเลขว่า 90% ของการประมงในโลกนั้นถูกจับเกินขนาดหรือ “เต็มขนาด” (overexploited or fully exploited) ซึ่งอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิด เพราะการจับ “เต็มขนาด” ไม่ได้แปลว่าไม่ดีเสมอไป แต่เป็นการจับในปริมาณที่เต็มขีดของความสามารถของระบบนิเวศในเขตพื้นที่นั้น ๆ โดยที่คนยังได้รับประโยชน์และประชากรปลายังอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพียงแต่หากจับปลามากกว่านั้นก็จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรสัตว์น้ำ

seaspiracy02 1
seaspiracy02 2

2. “การประมงอย่างยั่งยืนไม่มีอยู่จริง” ?

งานวิจัยของ Daniel Pauly นักวิทยาศาสตร์การประมง เปรียบเทียบปริมาณสัตว์น้ำที่มาจากประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ พบว่า การประมงพื้นบ้านนั้นผลิตอาหารทะเลมากกว่าครึ่งหนึ่งที่มนุษย์บริโภคทั้งหมดในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการประมงพื้นบ้านเป็นการทำประมงที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยกว่าประมงพาณิชย์ เช่น เรืออวนลาก ด้วยชนิดของเครื่องมือ ขนาดของเรือ ระยะเวลาการจับปลาที่ไม่ยาวนาน การจับสัตว์น้ำที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมาย (Bycatch) ที่น้อยกว่า

ดร. เพชร มโนปวิตร บอกว่าการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้บริเวณนั้นมีประชากรปลาเพิ่มขึ้นมากถึง 2-3 เท่าโดยเฉลี่ย ชุมชนประมงพื้นบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ อย่างเช่น เกาะ Apo ในประเทศฟิลิปปินส์​ อุทยานแห่งชาติ Cabo Pulmo ในบาฮาแคลิฟอร์เนียของประเทศเม็กซิโก เกาะ Misool ใน ราชาอัมพัตของประเทศอินโดนีเซีย

“อย่าง Misool แต่ก่อนเป็นพื้นที่ล่าปลาฉลาม จนฉลามแทบจะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ แต่ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจากมีการควบคุม ปลาฉลามก็ฟื้นกลับมา ซึ่งชาวบ้านเองปัจจุบันก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวไปด้วยอย่างเป็นกอบเป็นกำ”

(ชุมชนประมงพื้นบ้านในประเทศไทยก็มีการร่วมมือกันทำการประมงอย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนประมงพื้นบ้าน อ. ปะนาเระ จังหวัดปัตตานี หรือ ชุมชนอ่าวคั่นกระได ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการกำหนดเขตการทำประมง และทำซั้งกอ (บ้านปลา) เพื่อเพิ่มอัตราการฟื้นตัวของประชากรปลา)

แต่ก็ใช่ว่าการประมงเชิงพาณิชย์จะเป็นผู้ร้ายเสมอไป

ดร. เพชร มโนปวิตร บอกว่างานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว สรุปว่า ประมงที่จัดการด้วยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากร (Hilborn et al. 2020 Effective fisheries management instrumental in improving fish stock status)

เกือบครึ่งของพื้นที่ประมงพาณิชย์ที่มีการจัดการอย่างจริงจัง มีแนวโน้มการฟื้นตัวของประชากรปลาและสัตว์น้ำ และมีโอกาสเกิดการประมงอย่างยั่งยืนโดยรวมได้จริงภายในปี ค.ศ. 2050

ตัวอย่างการประมงล็อบสเตอร์ของรัฐเมนส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยประสบปัญหาการจับมากเกินไป จนต่อมาใช้ข้อมูลในการจัดการ โดยมีการควบคุม จำกัดจำนวนเรือ การออกใบอนุญาต ควบคุมขนาดสัตว์น้ำที่จับไม่ให้เล็กเกินไปหรือใหญ่เกินไป อีกทั้งยังไม่ให้จับตัวเมียที่มีไข่ ซึ่งเมื่อมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว ความยั่งยืนก็เกิดขึ้น

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ยกตัวอย่างการประมงพาณิชย์ที่จับปลาอย่างยั่งยืน เช่น ประเทศมัลดีฟส์มีกองเรือตกปลาทูน่าที่ใช้เครื่องมือเบ็ดตวัด (pole and line fishing) มีอัตราการจับติดสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย (bycatch) เพียง 0.65% เท่านั้น

หรือการจับฉลาม Gummy shark อย่างยั่งยืนของออสเตรเลีย ที่ควบคุมโควตาปริมาณการจับ และเลือกใช้เครื่องมือเหมาะสม อย่างเช่นเบ็ดราวน้ำลึก โดยมาจากงานศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับฉลาม ทั้งประชากร พฤติกรรมและรูปแบบการเคลื่อนที่ ทำให้ออสเตรเลียสามารถทำประมงฉลามที่จัดการยากได้อย่างยั่งยืน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำประมงปลาหิมะ (Patagonian toothfish) ในเขตพื้นที่ Southern Ocean ซึ่งเคยมีปัญหาอย่างมากในอดีต แต่เมื่อปรับเปลี่ยนวิธีการปล่อยเบ็ดราว การตระเวนน่านน้ำไล่จับผู้ลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย และควบคุมโควตาการจับอย่างจริงจัง ทำให้ปลาน้ำลึกที่สืบพันธุ์ได้ช้าสามารถฟื้นประชากรได้

“หัวใจสำคัญของทำการประมงอย่างยั่งยืนให้สำเร็จ คือการเลือกใช้เครื่องมือที่เจาะจงชนิดพันธุ์สัตว์ เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ที่ไม่ใช่เป้าหมาย (bycatch) การเลือกจับกลุ่มสัตว์น้ำในช่วงที่เหมาะสม การตรวจสอบประเมินสถานภาพประชากรปลาอย่างสม่ำเสมอ และการควบคุมปริมาณการจับที่จริงจัง ซึ่งต้องพึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วย” ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย สรุปแนวทางของการประมงอย่างยั่งยืนที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริง

seaspiracy03 1
seaspiracy03 2
seaspiracy03 3

3. “ทางเลือกที่ถูกหลักศีลธรรมมีเพียงอย่างเดียวคือเลิกกินปลา?

ภายหลังจากที่ภาพยนตร์ได้ออกฉาย ศ. Christina Hicks ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์อยู่ในเรื่องได้ออกมากล่าวผ่านช่องทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า

“มันน่าตกใจที่ได้เห็นตัวเองในหนังที่กล่าวว่าร้ายในอุตสาหกรรมที่รักและทุ่มเทให้ มีหลายอย่างที่อยากจะพูดเกี่ยวกับหนัง #Seaspiracy แต่คงจะไม่พูด แน่นอนว่าอุตสาหกรรมนี้มีปัญหา แต่ขณะเดียวก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ปลายังเป็นส่วนสำคัญในอาหารของพื้นที่ที่ขาดแคลน”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารทะเลเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันประชากรกว่า 3.3 พันล้านคนรอบโลกยังคงต้องพึ่งพาอาหารทะเลเป็นแหล่งโปรตีนหลัก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

มากกว่านั้นอุตสาหกรรมประมงในทั่วโลกได้มอบงานให้คนกว่าหลายร้อยล้านคน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในเชิงเศรษฐกิจกับประเทศที่อยู่ติดกับทะเล

หรือหากมองในแง่มุมการของ Carbon footprint แล้ว ปลาที่จับได้จากธรรมชาติมี Carbon footprint ที่น้อยกว่าพืชผักบางชนิดอีกด้วยซ้ำไป

คงจะเป็นเรื่องน่าตลกหากเราต้องเห็นชาวประมงพื้นบ้านผันตัวไปกินผักอย่างเดียว

seaspiracy04 1
seaspiracy04 2
seaspiracy04 3

4. “การใช้แรงงานทาส และอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทย” ?

หากย้อนไปเมื่อสมัย 5 ปีก่อนคำตอบก็คงเป็น “จริง” แต่ปัจจุบันภายหลังจากประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) เมื่อปี 2558 รัฐบาลก็ได้ออกมาตราการที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้ให้จำนวนเรือพาณิชย์ต้องจดทะเบียน และเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดเครื่องติดตามเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) เพื่อป้องกันการทำประมงนอกชายฝั่งหรือในเขตอนุรักษ์

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งที่เรือประมงพาณิชย์จะออกทำประมงจะต้องแจ้งการออกเรือประมง (Port In Port Out – PIPO) เพื่อป้องการการสูญหายของลูกเรือที่ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสมัยก่อน

นอกจากนี้หากใครได้ดูบทสัมภาษณ์ของลูกเรือไทยในสารคดีเรื่องนี้ ก็จะเกิดคำถามว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นลูกเรือจริงหรือเปล่า ?

เพราะปัจจุบันลูกเรือส่วนใหญ่ มักเป็นแรงงานข้ามชาติ จากพม่า หรือกัมพูชา ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เป็นวิศวกรประจำเรือก็เป็นไต๋

ยังไม่รวมถึงการใช้ภาพวิดีโอของประเทศฟิลิปปินส์มาแทนภาพภาคใต้ของประเทศไทย โดยอ้างว่าเป็นการปกปิดแหล่งข้อมูลเพื่อความปลอดภัยของลูกเรือ ทำให้ตั้งคำถามได้ถึงความน่าเชื่อถือ และการป้ายสีอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยให้ดูเป็นผู้ร้ายอย่างไร้ความรับผิดชอบ และยังดูไม่น่าเชื่อว่าผู้กำกับจะโดนตำรวจไล่จับเพียงเพราะสัมภาษณ์ลูกเรือไทยโดยไม่มีใบอนุญาต

อย่างไรก็ตามก็ไม่อาจปฏิเสธว่าทุกวันนี้เราไม่มีปัญหาอยู่เลย

ดร. เพชร มโนปวิตร ให้ความเห็นว่าประเทศไทยยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกเยอะ เพราะการประมงของบ้านเราเป็นการจับปลาแบบไม่เลือก จับคราวละหลายชนิด การควบคุมจึงทำได้ยาก และข้อมูลพื้นฐานส่วนใหญ่ที่จำเป็นสำหรับการจัดการก็ยังขาดแคลนอยู่ เราจำเป็นต้องลงทุนกับงานวิจัยพื้นฐานมากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้น ไม่มีทางตอบคำถามสำคัญได้ว่า ยั่งยืน หรือไม่

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ประมงพาณิชย์เท่านั้น ประมงพื้นบ้านเองก็ต้องตอบคำถามเดียวกันให้ได้เช่นกัน

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย เสริมว่า อุตสาหกรรมการประมงในประเทศไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 แล้วหลังจากช่วง 20 ปีแรก อัตราการจับปลาในพื้นที่อ่าวไทยก็ร่วงลงมาถึง 90% คือจากเดิมที่ได้ปลา 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เหลือเพียงแค่ 20-30 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

ปัจจุบันอัตราการจับก็ยังลดลง คิดเป็น 86% ในฝั่งอันดามัน และ 96% ในฝั่งอ่าวไทย การประมงพาณิชย์บ้านเราจึงไม่ได้ยั่งยืนตั้งแต่แรกเริ่ม

ไม่นับปัญหาในการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น การขนถ่ายสัตว์น้ำผิดกฎหมายกลางทะเล หรือ การชักธงสะดวก (Flag of Convenience – FOC) หรือการปลอมแปลงธงชาติแล้วทำประมงอย่างผิดกฎหมาย เช่น เรือประมงเวียดนามชักธงประเทศไทยแล้วแอบเข้ามากอบโกยทรัพยากรในเขตน่านน้ำไทย

เรือที่ชักธงสะดวกส่วนใหญ่มักจะใช้แรงงานจากต่างประเทศ ทำให้บางครั้งกฎหมายการคุ้มครองแรงงานไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด อย่างในกรณีเมื่อปี 2562 ที่ทางการไทยต้องช่วยลูกเรือไทยกว่า 18 คนที่ทำงานอยู่บนเรือ Wadani 1 และ Wadani 2 แล้วถูกทอดทิ้งในทะเลโซมาเลีย

ส่วนแรงงานบนเรือ ก็ยังคงมีรายงานเหตุการณ์ลูกเรือถูกทำร้ายหรือปัญหาสวัสดิภาพความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างประเทศ (trans-national problem)

seaspiracy05

5. “ความหวังในอุตสาหกรรมการประมง” ?

ดร. เพชร มโนปวิตร ให้ความเห็นว่า “แนวทางสำคัญที่องค์กรอนุรักษ์หลายแห่งพยายามผลักดัน คือการทำ Smart Fishing ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีมาทำให้อุตสาหกรรมการประมงที่อยู่ในแดนสนธยา (Out of Sight Out of Mind) เกิดความโปร่งใส การปรับปรุงเครื่องมือให้มีผลกระทบน้อยลง โดยเฉพาะการแก้ปัญหา Bycatch หรือสัตว์น้ำพลอยได้ที่อาจเป็นสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์​ หรือตัวอ่อนสัตว์น้ำ

“เราหวังว่าในอนาคตแทนที่จะมีพื้นที่อนุรักษ์​หรือพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเป็นบริเวณเล็กๆ แล้วที่เหลือคือพื้นที่ที่ทำประมงได้หมด จะกลับเป็นมีพื้นที่กำหนดให้ทำประมงอย่างชัดเจน แล้วพื้นที่นอกเหนือจากนั้น คือพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ

“นั่นคงเป็นความฝันอันสูงสุดที่จะเป็นหลักประกันว่า อุตสาหกรรมประมงจะเกิดความยั่งยืน

“สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะสัตว์น้ำ (Aquaculture) ที่ในสารคดีโจมตี ก็มีความพยายามแก้ปัญหาอยู่ มีตัวอย่างการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิด ที่มีการจัดการของเสียได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มมีนวัตกรรมอาหารสัตว์ที่ใช้แหล่งโปรตีนอื่นๆ เช่นโปรตีนจากพืช โปรตีนจากหนอนแมลงวัน ซึ่งกินขยะเป็นอาหาร หรือแม้แต่สาหร่าย นอกจากนี้ยังมีแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน ที่จำลองการทำงานของระบบนิเวศ”

seaspiracy06 1
seaspiracy06 2

6. “เรามีส่วนช่วยในการรักษาทะเลได้อย่างไร”?

จากมุมมองของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย เขาบอกว่า

“ในการผลักดันและหาทางออกจำเป็นต้องพึ่งพาสองปัจจัยหลักไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนและภาคนโยบาย ในส่วนของประชาชนก็สามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่นการลดการสร้างขยะ การเลือกบริโภคสัตว์น้ำไม่ว่าจากชนิดพันธุ์หรือว่าเรื่องแหล่งที่มาหรือวิธีการจับปลา การลดการใช้พลังงาน เป็นต้น

“แต่ที่สำคัญคือ หากประชาชนให้ความสนใจอย่างจริงจังและออกมาเป็นเสียงมากพอ ก็สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายได้ด้วย เช่นการออกข้อบังคับทางกฎหมายในเรื่องการประมงหรือการใช้พื้นที่อุทยาน การขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas – MPAs) การสนับสนุนเรือประมงพื้นบ้าน การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้พลังงานทางเลือก หรือแม้กระทั้งนโยบายการแบนพลาสติค รวมทั้งการพัฒนาระบบจัดการขยะต่อไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องร่วมผลักดันต่อไป”

ส่วนมุมมองของ ดร. เพชร มโนปวิตร บอกว่า

“เราช่วยอนุรักษ์ทะเลได้ทุกๆ วัน โดยที่ยังไม่ต้องเลิกกินปลา เช่น ลดการสร้างขยะพลาสติก ท่องเที่ยวทะเลอย่างรับผิดชอบ เลือกรับประทานอาหารทะเลที่ยั่งยืน หลีกเลี่ยงสัตว์ทะเลที่ถูกคุกคาม ไม่กินหูฉลาม เนื้อฉลาม ครีบปลากระเบน ทูน่าครีบน้ำเงิน ปลานกแก้ว เลือกอาหารทะเลจากการทำประมงที่ได้มาตรฐานความยั่งยืน หรือประมงพื้นบ้านที่มีความรับผิดชอบ

“ไม่ว่าเราจะมีหน้าที่การงานอะไร ทุกคนมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ได้ทั้งสิ้น ลองศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจกับปัญหา ช่วยไลก์ ช่วยแชร์ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องด้านการอนุรักษ์กับคนรอบตัว เมื่อมีโอกาสก็เข้ามีส่วนร่วมกับกิจกรรมอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ หรือเป็นอาสาสมัครเก็บขยะชายหาด หากมีความพร้อมก็อาจช่วยบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ สมาคม หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการทำงานของคนทำงานอนุรักษ์แนวหน้า

“มหาสมุทรยังคงเป็นระบบนิเวศที่เป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญที่สุด แต่แน่นอนว่าเราต้องช่วยกันปกป้องมหาสมุทรให้มากกว่านี้”

………..

แม้สารคดี Seaspiracy จะเป็นภาพยนตร์ที่จุดประกายให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างก็จริง แต่การให้ข้อมูลที่บิดเบือนก็ได้ลดทอนและทำลายคุณค่าของงานไปโดยปริยาย

การอนุรักษ์ไม่ใช่การกำหนดกรอบหรือตีตราโดยกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติหรือบริบทสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ในแง่บริบทของพื้นที่และวัฒนธรรม

การสร้างความเข้าใจและสร้างความเท่าเทียมในสังคมยังคงเป็นสิ่งที่ขาดหาย ไม่ใช่คนผิวขาว คนผิวสี คนเอเชีย ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งที่เป็นฮีโร่ แต่เป็นทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมผลักดันและหาทางออกไปด้วยกันภายใต้ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกบิดเบือน เพื่อเป็นกลไกลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ชวนหาความรู้เพิ่มเติม

หนังสือแนะนำ

  • The Outlaw Ocean – Ian Urbina
  • Vinishing Fish: Shifting Baselines and the Future of Global Fisheries – Daniel Pauly
  • The Omnivore’s Dilemma – Michael Pollan
  • In Defense of Food – Michael Pollan
  • This Changes Everything: Capitalism vs the Climate – Naomi Klein

ภาพยนตร์สารคดีแนะนำ:

  • Sea of Shadows – National Geographic : อุตสาหกรรมกระเพาะปลากับการสูญพันธุ์ของโลมาวากีต้า
  • Chasing Coral – Jeff Orlowski : วิกฤตปะการัง
  • A Plastic Ocean – Craig Leesdon : ขยะพลาสติคในมหาสมุทร
  • The Cove – Louie Psihoyos : การล่าโลมาในเมืองไทจิญี่ปุ่น
  • Sharkwater – Rob Stewart : อุตสาหกรรมหูฉลามและการประมงฉลาม
  • The End of the Line – Rupert Murray : อุตสาหกรรมการประมง
  • Blackfish – Gabriela Cowperthwaite : วาฬและโลมาในสถานแสดงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
  • Blue Planet & Blue Planet II – BBC : สารคดีสัตว์โลกใต้น้ำ
  • Mission Blue – Fisher Stevens & Robert Nixon : ติดตามชีวิตของ Sylvia Earle นักวิทยศาสตร์ทางทะเล

อ้างอิง และ บทวิจารณ์ที่เกี่ยวข้อง

  • https://thaipublica.org/2021/04/living-in-the-anthropocene-01/
  • https://www.nytimes.com/2021/03/24/movies/seaspiracy-review.html?referringSource=articleShare&fbclid=IwAR1rPdqGkfloEYX0-mEoQBeHf70uo_yNf0ntC5wLbjVg2pJJxVBe8QlPQnE
  • https://www.theguardian.com/environment/2021/mar/31/seaspiracy-netflix-documentary-accused-of-misrepresentation-by-participants?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR3xHnfxcLan6THAvmYggysbaI44TAbo5fRuZY_dF-oPPpuiv_mQEYeTN-M
  • https://www.hakaimagazine.com/article-short/seaspiracy-harms-more-than-it-educates/?fbclid=IwAR1ZlOGfevc3A3yVG4Pa1ivGIAsUPBqXF1lEHCGsm8UiZwwUuAYeD2dQY3s
  • https://sustainablefisheries-uw.org/science-of-seaspiracy/
  • https://aboutseafood.com/press_release/nfi-rip-erroneous-2048-statistic/
  • https://www.eurekalert.org/pub_releases/2009-07/cpfs-nhf072409.php
  • https://www.iflscience.com/environment/scientists-and-marine-organizations-criticise-netflix-documentary-seaspiracy/?fbclid=IwAR2CAYScbtsq2lw7oYWz3f8B7cOMhSAcp0XRItpv9o_9Q8UiPiDR8P6a5ek
  • https://sustainablefisheries-uw.org/seafood-101/cost-of-food/
  • https://www.fishandfisheries.com/post/seaspiracy-examining-the-science-the-message-and-what-you-can-do-to-help-save-the-ocean?fbclid=IwAR35yL8hVQ1fSd9xUTlflFVqi986ojqGF4T2KJsmWL8vBTPd-r_3klWHWFs
  • https://www.vox.com/2021/4/13/22380637/seaspiracy-netflix-fact-check-fishing-ocean-plastic-veganism-vegetarianism?fbclid=IwAR2H99fwD0m1AZeFPXbwrVb05Lsygq_w0c7FLYocyLQBQ5FbYC6IRD3QN50
  • https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1467-2979.2011.00450.x
  • https://sustainablefisheries-uw.org/seafood-101/cost-of-food/
  • https://www.fisheries.go.th/marine/Deepsea/History.html
  • https://workpointtoday.com/15-17/