จิรวัฒน์ ตั้งจิตรเจริญ : เรื่อง
อรกาญจน์ เหรียญศิริวรรณ : ภาพ

สานใจผ่านสายใยในผ้าธุง บ้านบัวเจริญ
กลุ่มสตรีทอธุงผะเหวดบ้านบัวเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับพระมหาจีรศักดิ์ จิรสกฺโก ดำเนินกิจกรรมทอธุงด้วยความอุตสาหะในการสร้างสรรค์ผลงาน เข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ สร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน

“งูจะจกหำเด้อ”

เสียงของคุณแม่พระมหาจีรศักดิ์ จิรสกฺโก ตะโกนข้ามมาแต่บ้านฝั่งตรงข้าม เตือนแกมเย้าหยอกว่าถ้าหากผู้ชายปั่นไหมงูจะมาฉกเอาได้

ทำให้คิดไปในใจได้ว่า นี่สินะคงจะเป็นสาเหตุหนึ่งให้ไม่มีผู้ชายอีสานคนไหนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับผ้าและไหม อันรวมไปถึงสิ่งทออื่นๆ อย่างธุงด้วย

เว้นไว้แต่บุรุษเพศไม่กี่คนที่ตัวผมได้พบพานและรู้จักในการเก็บข้อมูลเรื่องธุงอีสาน บ้านบัวเจริญ ดังเช่นพระมหาจิรสกฺโก พระสงฆ์หนุ่มวัย 27 ปี ซึ่งเติบโตในทางสงฆ์ บวชเณรตั้งแต่ปี 2549 และบวชเป็นพระอีกครั้งในปี 2558 พื้นเพเป็นคนบ้านบัวเจริญมาตั้งแต่อดีต มีความสามารถในทางศิลปะ คุ้นเคยและเห็นธุงอีสานมาตั้งแต่วัยเยาว์ พระมหาจิรสกฺโกเป็นผู้เล่าและให้ข้อมูลว่าแต่เดิมนั้นธุงอีสานบ้านบัวเจริญมีความเป็นมาอย่างไร

“ตั้งแต่เด็กก็เห็นธุงแล้ว แต่ยังไม่เห็นในลักษณะการทอที่เยอะขนาดนี้ ตอนเด็กๆ เราก็เห็นคุณยายทอผ้า แต่จะเป็นผ้าไหม ส่วนธุงนั้นเป็นประเพณีที่ชาวบ้านมักจะทอถวายวัดในเทศกาลต่างๆ ไม่ได้ทอเยอะมาก ในหนึ่งงานก็อาจจะมีผ้าผืนสองผืน ซึ่งส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับประเพณีการอุทิศให้ผู้ล่วงลับและสัมพันธ์กับประเพณีเทศน์มหาชาติหรือประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้ เรื่องลวดลายที่ใช้มักจะเอาลายมาจากผ้าขิดหรือเอาลายมาจากหมอน โดยมีการทอสลับลายแบบอิสระ แต่จะเน้นความยาว และลายผาสาทหรือปราสาท ซึ่งเอาลายมาจากผาสาทผึ้ง ที่เป็นเครื่องอุทิศให้กับผู้ตาย สังเกตได้จากธุงลายเก่าๆ ที่ยังเก็บรักษาอยู่ที่วัด” พระมหาจิรสกฺโกเล่า ขณะนั่งอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านยกพื้นสูงสองชั้นทรงประยุกต์ของ หนูเทียม ยอดคำมี หรือ “ช่างวิ” อายุ 67 ปี ช่างทอธุงอีกคนของบ้านบัวเจริญ

อาจเพราะความสงสัย ปะปนด้วยความขลาดเขลา ไม่กล้าถามคำถามที่ดูจะแสดงความไม่รู้ของตนออกไป จึงขอสรุปใจความจากหนังสือ “ฮีตสิบสอง” ของ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุญผะเหวดในทางความเชื่อไว้ดังนี้

มูลเหตุของบุญผะเหวดจากเรื่องมาลัยหมื่นมาลัยแสนระบุว่า เมื่อพระมาลัยได้ขึ้นไปพบกับพระศรีอาริยเมตไตรย พระมาลัยได้ถามว่าหากมนุษย์อยากจะพบพระองค์จะทำอย่างไร พระศรีอาริย์จึงตอบกลับมาว่าให้ฟังเทศน์มหาชาติจบภายใน 1 วัน จึงจะได้พบท่าน พระมาลัยจึงได้นำความกลับมาบอกยังมนุษย์โลกให้ปฏิบัติสืบกันมา

แต่ในทางปฏิบัติ งานบุญใหญ่นี้มักจะจัดขึ้นในระหว่างออกพรรษา จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมแล้วแต่จะสะดวก ก่อนจัดงานนั้นทางบ้านและทางวัดจะตกลงกันให้เรียบร้อย ทางชาวบ้านจะมีการจัดเตรียมหาปัจจัยไทยทาน บอกกล่าวญาติพี่น้องบ้านใกล้บ้านไกล ส่วนทางวัดก็จะมีการรวบรวมหนังสือเทศน์มาใช้ในงานบุญนี้ เมื่อถึงวันสำคัญที่เรียกกันว่า “วันรวม” จะมีการประดับตกแต่งสถานที่ที่ใช้จัดงานและประกอบพิธีกรรมด้วยดอกไม้พวงมาลัยและข้าวของต่างๆ ซึ่งจะใช้ศาลาวัดเป็นหลัก อันรวมไปถึงการประดับธุงหรือธง

ดังนั้นธุงหรือผ้าทอลายผืนยาวที่ใช้ในงานบุญใหญ่ประจำเดือนสี่ในวัฒนธรรมลาว-อีสาน รูปร่างและรูปทรงคล้ายคลึงกับตุงในวัฒนธรรมภาคเหนือของประเทศไทยอันเป็นผลจากการมีวัฒนธรรมร่วมคล้ายคลึงกัน จึงเข้าไปมีส่วนในชีวิตและประเพณีของชาวบ้านบัวเจริญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในประเพณีสำคัญที่ผูกโยงกับความเชื่อทางพุทธศาสนา อันเป็นสิ่งที่ยึดเยี่ยวจิตใจของผู้คนมาแต่บรรพกาล เช่นเดียวกันกับชาวบ้านอีสานในหมู่บ้านอื่นๆ อีกมากมาย

แม้ประเพณีที่จัดขึ้นมาจะมีแนวทางที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “นำแนว” หรือว่ากันตามภาษาภาคกลางคือการทำตามแบบแผนที่ปฏิบัติกันมานานทั่วทั้งภูมิภาค แต่ในส่วนของรายละเอียดและความแตกต่าง คงพบเห็นได้จากลวดลายบนผืนผ้าธุงแต่ละหมู่บ้านที่แตกต่างกันไป

ดังที่พระมหาจิรสกฺโกได้เล่าเสริมให้ฟังว่า ลายผ้าธุงในละแวกบ้านบัวเจริญในอดีตนี้มีความแตกต่างกัน เป็นต้นว่าบ้านทุ่งเทิง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ จะมีภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับบุญผะเหวด แต่ของบ้านบัวเจริญจะไม่มี เป็นลวดลายพื้นๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

buachareon02
หนูเทียม ยอดคำมี ลูกหลานยายคูณ นวนอะนัน นำธุงต้นแบบของคุณยายมาถักทอ ชาวบ้านที่พบเห็นเกิดแรงบันดาลใจอยากทอเป็น จนเกิดการว่าจ้างทอธุงเป็นรายได้เสริมยามว่างจากทำไร่ทำนา
buachareon03
สมุดบัญชีว่าจ้างทอธุงของกลุ่มสตรีชุมชนบ้านบัวเจริญ มี หนูเทียม ยอดคำมี เป็นประธานกลุ่มคอยจดบันทึกข้อมูลลูกค้าและรายได้

เอกลักษณ์บนลวดลายและความเปลี่ยนแปลงบนผ้าธุง

“ลวดลายในปัจจุบันนี้เอามาจากต่างถิ่นอีกทีหนึ่ง คุณยายขิ่ง ไชยพุฒ พื้นเพเป็นคนบ้านบัวเจริญ แกย้ายไปอยู่ครบุรี แกไปได้แบบลายธุงนั้นมาจากจังหวัดศรีสะเกษ แกเลยทอเองแล้วนำธุงกลับมาถวายที่บัวเจริญ ยายอาตมาเป็นญาติกันไปเห็นเข้าจึงนำมาเป็นแบบมาทอต่ออีกทีหนึ่ง โดยมีการเพิ่มเติมต่อยอดเข้าไปตามนิสัยของคุณยายที่ไม่ค่อยชอบทำตามเท่าใดนัก ชอบที่จะคิดไปทำไปเอง จึงพัฒนามาเรื่อยจนเป็นรูปแบบปัจจุบัน”

คำกล่าวสั้นๆ ของพระมหาจิรสกฺโกคงเป็นการเกริ่นนำที่ดีที่สุดสำหรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ของลวดลายบนผ้าธุงที่มาถึงบ้านบัวเจริญ สอดรับกับข้อเขียนของนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมอีสานอีกท่านหนึ่งอย่าง วีณา วีสเพ็ญ ผู้เคยทำวิจัยในเรื่องธุงผะเหวดอีสาน ระบุว่า ธุงของบ้านบัวเจริญนั้นมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เริ่มทอธุงในชุมชนจากลายขิด ต่อมาจึงมีการเรียนรู้เพิ่มเติมจากแบบธุงซึ่งมาจากภายนอก นำไปสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาลวดลายขึ้นใหม่ เป็นรูปศาสนาคารวัตถุต่างๆ เช่น ลายพระพุทธรูปในมณฑป ลายประตูโขง ลายธรรมาสน์เทศน์เสาเดียว ลายหมากเบ็ง ทหาร คน ดอกไม้ ช้าง ม้า สีสันสดใส การสร้างสรรค์นี้มีช่างทอสูงอายุเป็นแม่แบบ มีที่ปรึกษาช่วยออกแบบลวดลายเป็นคนรุ่นใหม่ นับได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างสรรค์และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างพอเหมาะพอสมทีเดียว

หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปรากฏต่อสายตาผู้เขียนคงเป็นผ้าธุงหลายผืนและผ้าขิดที่ใช้พาดบ่าในงานบุญหรือในเวลาเข้าวัดวาอารามต่างๆ สีสันสวยงาม ลวดลายหลากหลายแตกต่างกัน ที่ส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ใช้ในงานเทศกาลบุญต่างๆ และส่วนหนึ่งมีไว้จำหน่าย หากมีใครต้องการซื้อผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก “ทุงอีสาน-ทุงบ้านบัวเจริญ อุบลราชธานี” ซึ่งพระมหาจิรสกฺโกท่านเป็นเสมือนคนจัดการและรับออร์เดอร์เอง หรือผ่านเบอร์ติดต่อนางหนูเทียมซึ่งจะมีลูกสาวที่อยู่กรุงเทพฯ เป็นคนรับสายปลายทางก็ได้เช่นกัน ทั้งธุงและผ้าขิดที่มีลวดลายสวยงามเหล่านี้ทั้งหมดเก็บรักษาอยู่ที่บ้านของนางหนูเทียมเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้า โดยหากสินค้าที่จำหน่ายได้นั้นเป็นของใครทอขึ้นมา คนนั้นก็จะได้รับเงินไป

กองธุงและขิดที่มีความหลากหลายบนลวดลายวางอยู่เบื้องหน้าส่วนหนึ่งนั้น เกิดจากการวางลายและออกแบบลายโดยพระมหาจิรสกฺโกที่มีความสามารถในเชิงงานศิลป์สูง ในที่นี้นับรวมไปถึงผ้าขิดซึ่งทางชุมชนจัดทำขึ้นมา ทั้งเพื่อจำหน่ายและใช้งานจริงด้วยตนเองส่วนหนึ่ง เนื่องจากลำพังความต้องการทางตลาดและแนวทางการใช้งานธุงนั้นจำเพาะเจาะจงมากกว่าผ้าขิด

หากจะเรียกสิ่งที่คุณยายคูณ นวนอะนัน คุณยายของพระมหาจิรสกฺโกทำ ว่าเป็นการ “เฮ็ดหา” หรือพูดอย่างภาษากลางว่าเป็นการแนวทางใหม่ๆ การทดลอง ก็คงไม่ผิดแต่ประการใด จะว่าไปมันก็สำเร็จผลในวงย่อยๆ ไปเรียบร้อย แต่การทดลองนี้จะได้ผลจริงหรือสัมฤทธิผลต่อระดับชุมชนบ้างหรือไม่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ

buachareon04
กิจวัตรยามเช้าของชาวบ้านบัวเจริญคือการใส่บาตร พระที่มาจากวัดโคกป่ากุงเจริญธรรมจำนวนสามรูป และวัดบัวเจริญจำนวนสองรูป
buachareon05
นอกจากอาชีพทอธุง ชาวบ้านในหมู่บ้านบัวเจริญบางส่วนเลี้ยงไหมเพื่อนำเส้นไหมที่ได้มาทอผ้า จำหน่ายเป็นรายได้เสริม

สานใจคนผ่านใยธุง

“ยายมาเริ่มทำธุงจริงจัง ปี 2558 เห็นยายคูณทำจึงอยากเฮ็ดลอง เพราะเห็นยายเขาทำแล้วมันสวย แล้วมีคนซื้อไปที่วัดเลยลองซื้ออุปกรณ์มาทำ แต่ก่อนกี่ก็ไม่มี ไปยืมเขามาทำ พอทำได้สักพักหนึ่งเลยไปเอากี่จากบ้านโนนคูณ ศรีสะเกษ กลับมาลองทำ พอทำไปได้สักพักก็ได้ลายใหม่ๆ มาจากพระมหาฯ ท่าน ยายคูณแกก็แต่งลายใหม่ๆ ไปเรื่อย มีรูปคน ปราสาท ก็เอาตัวอย่างมาทำดู”

เสียงของหนูเทียม ยอดคำมี อายุ 67 ปี หัวหน้าช่างทอธุงบ้านบัวเจริญ พื้นเพเป็นคนศรีสะเกษ อำเภอโนนคูณ ย้ายมาอยู่บ้านบัวเจริญตั้งแต่อายุได้ 22 ปี แต่มีทักษะในเรื่องสิ่งทออยู่บ้าง คงเป็นคำตอบที่สำคัญของผลสัมฤทธิ์ข้างต้น ว่าการทดลองหรือ “เฮ็ดหา” ของยายคูณผนวกกับการประสานงานของวางแผนลวดลายต่างๆ โดยพระมหาจิรสกฺโก ได้สร้างความสำเร็จเบื้องต้นในชุมชนขึ้นมาจริงๆ นอกเหนือจากใช้ในการบุญแล้ว ยังกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้สร้างสรรค์จากชุมชน สามารถขายได้และสร้างกำไรให้กับผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ แม้จะเป็นเงินทองที่ไม่ได้มากมายนัก ในราคา 1,000 บาทต่อ 1 เมตรเท่านั้น

ยังไม่นับเสียงอีกหลายต่อหลายเสียง เช่น บุตรษดี เสนคำสอน อายุ 64 ปี ช่างทอธุงอีกคนของบ้านบัวเจริญ หรือที่เรียกกันในหมู่บ้านว่ายายรำไพ พื้นเพเป็นคนบ้านหนองบัว ตำบลหนองไห อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี พอมีครอบครัวจึงย้ายมาอยู่ที่บัวเจริญ โดยแม่ย้ายมาก่อนแล้วจึงย้ายตามแม่มา ยายรำไพกล่าวกับเราขณะที่กำลัง “ตำหูก” ผ้าขิดที่มีผู้สั่งไว้อยู่ภายในบ้านของตนว่า

“กะเฮ็ดมาได้หลายปีแล้วเด้ สองสามปี เพราะว่าเฮ็ดนำแม่ใหญ่วิ พอเห็นก็อยากทำก็เลยทำกับเพิ่น บาดนี้ก็มีคนเฮ็ดหลาย เห็นว่ามันสวยดีเลยก็อยากลองทำดู และมีคนมาซื้อด้วยก็ได้เงินด้วย มันก็เลยได้ทำไปเรื่อยๆ ช่วงปี 2560 มีคนสั่งมาเยอะ เพราะเขาจะเอาไปขายในร้านเขา ยายก็เลยเริ่มเข้าไปช่วยทำด้วย เพราะว่ายายก็เฮ็ดทีหลังเพิ่น แม่ใหญ่คูณคือสิเริ่มเฮ็ดเถือแรก”

ข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์นี้คงชัดเจนว่าสิ่งที่คุณยายคูณ “เฮ็ดหา” จะสร้างสานสายใยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมไปถึงสร้างรายได้ผ่านธุงอีสานได้อย่างแน่นอน มิฉะนั้นคงไม่ถูกส่งผ่านมามือต่อมือ คนต่อคนเช่นนี้

คิดๆ ไปก็คล้ายกับเส้นใยบนผืนธุง ที่ถูกสร้างหรือถักทอขึ้นจากบุคคลเดียว หากแต่เมื่อถูกซ้ำและย้ำโดยการ “ตำ” หรือที่เรียกกันในภาษาช่างทอว่า “ตำหูก” อยู่บ่อยครั้งก็จะทำให้ใยผ้านั้นเกาะติดกันแน่นเหนียวเป็นเนื้อเดียวกันชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ ผู้คนที่เข้ามามีบทบาททั้งบุตรษดี หนูเทียม ยายคูณ รวมไปถึงคนที่มีส่วนร่วมอื่นๆ อีกมากมายภายในชุมชน ก็ล้วนแต่เป็นเส้นใยที่มัดสานเอาเนื้อใยเนื้อผ้าหรือโดยนัยคือชุมชน ให้เกาะติดกันสำเร็จจนเป็นผืนธุงบริบูรณ์

หากแต่ผู้บรรจงสร้างและถักทอผืนธุงก็แก่ชราไปตามวัย คนหนุ่มสาวก็เข้าเมืองไปทำงานกันหมด สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมในประเทศไทย จึงกล้ำกรายเข้ามาเป็นประเด็นปัญหา ไม่พ้นจะเข้ามาในพื้นแผ่นดินอีสานและบ้านบัวเจริญก็พานได้รับผลกระทบไปด้วย ผู้สานต่อจะเป็นใคร? เด็กรุ่นใหม่ใครจะมาสนใจธุงอีสานกัน? ต่อสายตาที่ปรากฏตรงหน้าก็มีเพียงหญิงสูงวัยและพระภิกษุทั้งสิ้น

buachareon06
วงจรชีวิตไหมแบ่งออกเป็นสี่ระยะ เริ่มต้นจากไข่ ฟักตัวกลายเป็นตัวหนอน กินใบหม่อนเป็นอาหาร เมื่อหนอนไหมเริ่มแก่ก็จะชักใยหุ้มตัวเองเป็นตัวดักแด้อยู่ในรัง จากดักแด้กลายเป็นผีเสื้อ ออกมาผสมพันธุ์และวางไข่ ไม่กี่วันก็ตาย
buachareon07
วัดโคกป่ากุงเจริญธรรม บ้านบัวเจริญ เป็นศูนย์รวมใจชาวบ้านที่ทอธุงนำมาถวายวัด และยังเป็นพื้นที่จัดงาน “บุญผะเหวด” หรือบุญมหาชาติ บุญประเพณีที่สำคัญยิ่งของชาวอีสาน

อนาคตในความคาดหวังของธุง บ้านบัวเจริญ

“แบบนี้มันไม่มีรุ่นเด็กมารับช่วงเลยใช่ไหมครับ” เป็นคำถามจากคนนอกอย่างผมที่เอ่ยถามไปยัง หนูเทียม ยอดคำมี แต่ได้คำตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “ไม่ นักศึกษามาจาก ม. อุบลฯ เขาก็มาเบิ่งเอาซื่อๆ แล้วก็ไป”

คำตอบสั้นๆ ของหนูเทียมชวนให้ทบทวนถึงหนทางแห่งความยั่งยืนที่ดูไม่แน่นอน รับกับทัศนะหรืออาจจะเป็นข้อเท็จจริงในความคิดของ รวินันท์ อนันต์ ช่างทอธุงอีกคนของหมู่บ้านบัวเจริญที่อายุได้เพียง 38 ปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอายุน้อยที่สุดของช่างทำธุง บ้านบัวเจริญ เคยเข้าไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาก่อน แต่มีเหตุให้ต้องกลับมาดูแลบ้านและครอบครัว กล่าวว่าคงยากที่จะทำให้คนรุ่นใหม่มาสนใจ

แล้วแบบนี้ธุงบ้านบัวเจริญจะดำเนินอยู่ต่อไปอย่างไร เมื่อทิศทางลมดูไม่เป็นใจเช่นนี้?

สายลมของความหวังไม่ได้หมดไป อย่างน้อยมันยังพัดอ่อนๆ อยู่ในโรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนา โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในบ้านทุ่งเทิง บ้านใกล้เรือนเคียงกับบ้านบัวเจริญ สายลมนั้นพัดเอื่อยผ่านหอประชุมใหญ่ของโรงเรียนที่เปิดโล่ง มีเพียงหลังคาปิดบังแสงแดดเอาไว้ พาให้ธุงที่โบกสะบัดอ่อนไหวไปตามแรงลม ทั้งธุงที่ประดับอยู่ในหอประชุมและปักยอดเสาไม้สูงอยู่ด้านนอก ผลงานการปักเสาของศิษย์เก่าโรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนาที่กลับมาร่วมงาน พร้อมกับเสียงพระภิกษุสงฆ์สวดมนต์ในงานรำลึกบูรพาจารย์ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี ภายในงานมีการนำธุงจากบ้านบัวเจริญมาแขวนประดับไว้ภายในงานด้วย สร้างบรรยากาศให้งานบุญเล็กๆ แห่งนี้เป็นความหวังที่จะเชื่อมโยงวัด-บ้าน-โรงเรียน เข้าด้วยกันอีกครั้ง

ข้อมูลต่างๆ ทั้งจากการสัมภาษณ์และสืบค้นเอกสารยิ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้อย่างชัดเจน อย่างข้อมูลในหนังสือ งานเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2562 จัดทำโดยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า มีการเชิญกลุ่มทอธุงผะเหวด บ้านบัวเจริญ ไปเป็นวิทยากรในการสอนทำธุงใยแมงมุมให้กับนักเรียนในโรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนา และนำผลงานธุงผะเหวดของกลุ่มทอธุงมาจัดแสดงในโรงเรียน ซึ่งอย่างน้อยนายพัสกร โสมา อายุ 18 ปี ศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนธรรมและสมาชิกชุมนุมไทสร้างสรรค์ ทว. ชุมนุมในความดูแลของครูสงวนศักดิ์ พาสง่า หัวหน้ากลุ่มงานโรงเรียนกับชุมชน ก็ได้รับรู้เรื่องนี้และยืนยันว่านักเรียนทุกคนในโรงเรียนสามารถทอธุงใยแมงมุมได้

“ถ้าเป็นไปได้ในภายหน้า ถ้าเราขึ้นทะเบียนปราชญ์ท้องถิ่นเสร็จหมด ในช่องเวลาเขาให้เขียนหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาได้ ก็จะเป็นผลดี ต้องรอดูว่าเขาจะปรับหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาอีกไหม แต่ถ้ามี หลักสูตรการทำธุงก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เอามาใช้ได้ เพราะว่าเรามีครูในท้องถิ่นอยู่แล้ว เราก็สามารถเชิญมาสอนได้ เชื่อว่าในอีกไม่นานหลักสูตรท้องถิ่นตรงนี้ก็จะเป็นรูปธรรมขึ้น ถ้าทำได้จริง วัฒนธรรมผ้าจะไม่ตายไปจากทุ่งเทิงหรือบัวเจริญได้เลย มันจะอยู่กับเด็กๆ ตลอดไป เพราะมันอยู่ในชีวิตของเขา แต่เขายังไม่มีเวลากับโอกาสที่จะไปทำ เพราะด้วยเวลาในการเรียนของเขา”

ครูสงวนศักดิ์กล่าวกับผู้เขียนในห้องพักครู ซึ่งเป็นห้องเก็บของที่ใช้ในงานรำลึกบูรพาจารย์และห้องศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นประจำโรงเรียนไปในตัว สะท้อนและตอกย้ำถึงความหวังแห่งสายลมที่แฝงอยู่ในเจตนาลึกๆ ของผู้เป็นคุณครู ที่จะพัดพาให้ธุงอีสาน บ้านบัวเจริญนั้นคงอยู่สืบไป ผนวกกับความตั้งใจจะสืบสานและส่งต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ในตัวเด็กๆ ผู้เป็นอนาคตของพื้นถิ่นบ้านบัวเจริญ-ทุ่งเทิง อันหมายรวมไปถึงอนาคตของชาติ คงรอคอยเพียงแต่การตอบรับที่เหมาะสมจากผู้มีอำนาจเท่านั้น เฉกเช่นที่ลมได้พัดพาธุงในหอประชุมใหญ่ให้โบกสะบัดนั่นเอง

buachareon08
แรงบันดาลใจที่ทำให้พระมหาจิรสกฺโกหันมาออกแบบลวดลายธุงให้กับกลุ่มสตรีในชุมชนบ้านบัวเจริญ มาจากการเฝ้ามองคุณยายทอธุงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเกิดความคิดที่ว่ามันสวยจึงอยากอนุรักษ์ไว้
buachareon10
เด็กๆ กลุ่มชุมนุมไทสร้างสรรค์ช่วยกันติดตั้งธุงประดับไว้บนเสาไม้ไผ่จำนวนสี่ต้นรอบหอประชุมของโรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนา เพื่อประกอบพิธีมาฆปุรณมีบูชา รำลึกถึงบูรพาจารย์ ปูชนียบุคคล ผู้ร่วมก่อตั้งสถานศึกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

กลายสภาพจากผืนผ้าสู่ความรับรู้ใหม่

“ผมได้เห็นธุงตั้งแต่สมัย ม.5 แล้วครับ จึงได้จัดพวกงานปัจฉิมให้รุ่นพี่ ก็ใช้ธุงประดับมาตั้งแต่ตอนนั้น อย่างแรกคือธุงมันเป็นของแถวบ้านเรา พอมันมาอยู่ในโรงเรียนมันก็แสดงถึงความเป็นพื้นถิ่นบ้านเรา ในอนาคตผมก็มีโปรเจกต์อยู่ว่าจะเอาแนวอีสาน เรื่องธุงอะไรแบบนี้ไปใส่งาน 2D อาจจะไม่ได้ใส่เป็นธีมหลัก แต่ใส่เป็นธีมเสริมให้ดูกลมกลืน เพราะว่าผมจะทำแนวชนบท”

ชายหนุ่มรูปร่างสูง ผมสั้น ชื่อ ประชา จารัตน์ อายุ 20 ปี อดีตนักเรียนโรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนาและประธานชุมนุมไทสร้างสรรค์ ทว. ปัจจุบันเป็นนักศึกษาเอกคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าว เมื่อเอ่ยถามถึงสิ่งที่ได้ไปจากธุงและวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานที่ได้ซึมซับไปจากโรงเรียน

คำตอบสั้นๆ แต่ก็พาให้คิดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมากมายของธุงบ้านบัวเจริญ อาจหมายถึงธุงอีสานในภาพรวมจะคงอยู่ต่อไป อาจจะไปอยู่บนแอนิเมชันหรืออาจจะไปอยู่กับศาสตร์และงานชิ้นประเภทอื่นๆ ก็เป็นไปได้ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นธุงบ้านบัวเจริญที่ไม่ใช่ผืนผ้า ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว หากแต่เคลื่อนคล้อย ส่งผ่านและต่อยอดความรู้ไปสู่ทิศทางที่เป็นไปได้อื่นๆ

ความหวังใหม่หรือความยั่งยืนของธุงอีสาน บ้านบัวเจริญ ได้เดินทางมาถึงแล้ว แบบคัดลอกหรือแรงบันดาลใจอย่างน้อยได้ถูกปลูกลงในใจของผู้คน

ภายใต้ภาวะที่ผู้คนวัยหนุ่มสาวจากชนบทไหลทะลักเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ มากกว่าพอใจจะอยู่อาศัยในบ้านเกิดเมืองนอนของตน เนื่องด้วยเงินทองตอบแทนที่ดีกว่าอยู่บ้านเกิด ปล่อยให้ผู้เฒ่าผู้แก่เลี้ยงลูก-ทำงานพื้นบ้านที่ได้เงินทองตอบแทนน้อยกว่าทำงานในเมืองหลายเท่า เมื่อธุงอีสาน บ้านบัวเจริญ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะคนไหลเข้ากรุงเทพฯ ก็ล้วนมีส่วนในเรื่องการคงอยู่ของต้นฉบับธุงอีสาน บ้านบัวเจริญ ที่จำเป็นต้องร่วมกันขบคิดถึงวิถีทางในอนาคตต่อไป

เรื่องนี้พระมหาจิรสกฺโกท่านคงทราบดีแก่ใจ เหมือนประโยคที่ท่านพูดความในใจสั้นๆ ระหว่างที่กำลังนั่งพูดคุยเล่นกันหน้าบ้านของยายคูณ ผู้เป็นยายของท่านมหาฯ เรื่องธุงอีสาน ในยามเย็นท้องฟ้าสีคล้ำ ก่อนผมจะอำลาจากหมู่บ้านบัวเจริญไป “ถ้าจะปล่อยให้อยู่เหมือนเดิมคงไม่ได้”

ข้อเท็จจริงไม่มากก็น้อยคงสะท้อนผ่านความพยายามของท่านทั้งในฐานะพระภิกษุคนหนึ่งที่ชาวบ้านเคารพนับถือและคนรุ่นใหม่ในสังคมที่พยายามจะรักษาผ้าทอธุง บ้านบัวเจริญ ให้สามารถคงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว เคียงคู่กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างทันท่วงที ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่ชาวบ้านบัวเจริญมิสามารถควบคุมได้ อย่างน้อยก็พอจะให้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ในอีสานใต้ที่ยังผลิตงานหัตถกรรมทำมือหายากอย่าง “ธุงอีสาน” สืบสานลมหายใจภายใต้ความเปลี่ยนแปลงตราบนานเท่านาน

ทุง” หรือ “ธุง”
ยังไม่มีข้อสรุปตายตัวในการสะกดรูปศัพท์ “ทุง” หรือ “ธุง” ในวัฒนธรรมอีสาน ภายในหมู่บ้านบัวเจริญเองใช้คำว่า ทุง เป็นหลัก เนื่องจากเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มทอธุงใช้คำสะกดว่า “ทุงอีสาน-ทุงบ้านบัวเจริญ อุบลราชธานี” หากแต่ในบทความนี้จะขออนุโลมใช้คำสะกดว่า ธุง เป็นหลักตลอดในบทความ

อ้างอิง

  • วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. ฮีตสิบสอง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2548.
  • วีณา วีสเพ็ญ. ธุงผะเหวดอีสาน : พุทธศิลป์แห่งพลังศรัทธา. มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน, 2562.
  • สถิตย์ เจ๊กมา (บรรณาธิการ). งานเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี พุทธศักราช 2562. มหาสารคาม : อภิชาติการพิมพ์, 2562.