เรื่องและภาพ : Saw Eh Ku Htoo

รัฐกะเหรี่ยง ถ้าพม่าเขาไม่อยากมีเพื่อน ก็มาบอมบ์ที่นี่เลย!
karen burma02

การเดินทางของผมเริ่มต้นหลังจากตัดสินใจลาออกจากงาน​ ตั้งใจจะลงสนามเก็บข้อมูลเพื่อจะเริ่มเขียนวิทยา​นิพนธ์​ให้เสร็จ

แต่ทว่าชีวิตก็มักมีอะไรที่ไม่คาดคิดเข้ามาเสมอ​

โควิด19 ครั้งใหม่นี้กระจายตัวเร็ว ทำให้​อัตรา​ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน หมู่บ้านที่ผมตั้งใจจะไปเก็บข้อมูล​ มีชาวบ้านส่วนหนึ่งติดเชื้อโควิด 19 ส่งผลให้หมู่บ้าน​ไม่อนุญาต​ให้คนนอกเข้าหมู่บ้าน​ ผมจึงไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้

เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูบานอื่นก็เปิดรอเสมอ

เกือบเดือนเศษที่ผมมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อเรียนรู้และรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสู้รบที่ก่อตัวมากว่า 7 ทศวรรษ​

เรื่องราวหลากหลายที่ผมได้พูดคุยระหว่างการเดินทาง สร้างความตระหนักในคุณค่าของชีวิตที่อยู่ระหว่างการสู้รบ​

karen burma03
karen burma04

1.

“ถ้าพม่าเขาอยู่คนเดียวแล้วมีความสุขและไม่อยากมีเพื่อน ก็มาบอมบ์ที่นี่เลย”

คำพูดของหญิงชาวกะเหรี่ยงวัย 60 ต้นๆ ที่ไม่ได้ไปนอนหลุมหลบภัยในเวลากลางคืน แต่ยังคงเลือกที่จะนอนอยู่บนบ้าน ทั้งที่พื้นที่ชุมชนเสี่ยงต่อชีวิต เพราะไม่รู้ว่าจะถูกโจมตีทางอากาศจากกองทัพเผด็จการทหารเมียนมาอีกเมื่อไหร่

เธอเล่าให้ผมฟังว่า ตั้งแต่จำความได้ เกือบทั้งชีวิตของเธอต้องอยู่กับการวิ่งหนีเสมอ

มีปีหนึ่งที่เธอมีลูกหัวปีท้ายปี ทหารพม่าบุกใกล้พื้นที่ที่เธอลงหลักปักฐาน เธอต้องแบกลูกเล็กทั้งสองหนี คนน้องอยู่ด้านหน้ากำลังดูดนมจากเต้า ส่วนอีกคนแบกไว้ด้านหลัง

เธอวิ่งหนีสุดชีวิตไปกว่าสามวัน พอถึงจุดที่เธอคิดว่าปลอดภัยแล้ว เมื่อแก้มัดผ้าลูกชายทั้งสอง ปรากฏว่าลูกชายที่อยู่บนหลังหมดลมหายใจไปแล้ว

เธอพูดด้วยน้ำเสียงเศร้าว่า เธอสูญเสียลูกไปจากการหนี ป่วยขณะซ่อนตัวในป่า และเสียลูกจากการขาดสารอาหารรวมแล้วกว่า 5 คน

ชีวิตของเธอผ่านความทุกข์ระทมกับการวิ่งหนีพม่ามาทุกรูปแบบ

ตอนนี้ลูกที่ยังมีชีวิตรอดก็โตกันหมด เธอเองหมดห่วงแล้ว

เธอบอกความในใจว่า เวลาล่วงเลยมากว่า 60 ปีแล้ว ถ้าเธอเปรียบเสมือนคนทำงานคนหนึ่ง ตอนนี้คงถึงเวลาเกษียน เธอไม่อยากวิ่งหนีแล้ว ถ้ามันถึงเวลาของเธอแล้วจริงๆ​ เธอก็จะรอมันตรงนี้แหล่ะ

เราพูดคุยกันอยู่หลายชั่วโมง ก่อนผมจะเอนตัวลงนอนบนเสื่อภายใต้บ้านไม้ไผ่ขนาดกลางที่มุงด้วยใบตองตึงของเธอด้วยความเหนื่อย หลังจากที่ผม​และเพื่อน​ๆ​ เดินทางมากว่าสามวัน จนมาได้รับคำเชิญอย่างกัลยาณมิตรจากเธอให้มานอนที่บ้านในสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนานี้

ตั้งแต่มีการทิ้งระเบิดทางอากาศครั้งแรกในช่วงปลายเดือนมีนาคม (2564) เป็นระยะเวลากว่าเดือนเศษแล้วที่ทางรัฐบาลเมียนมาเพิ่มระดับความรุนแรงในการโจมตีพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงกองพลที่ 5 หลังจากที่ทำการรบภาคพื้นดินกันมาพักใหญ่ แต่ดูเหมือน​สถานการณ์​ไม่ดีขึ้น กองทัพเมียนมาจึงใช้ความได้เปรียบทางยุทโธปกรณ์โจมตีทางอากาศ ทิ้งบอมบ์และยิงชาวบ้านจากเครื่องบินเพื่อข่มขู่และสร้างความตระหนกให้ชาวกะเหรี่ยงในกองพล 5

แม้พื้นที่ในกองพล 5 จะมีภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ หินผา ถ้ำ และอยู่ใกล้แม่น้ำที่แบ่งเขตแดนระหว่างประเทศเมียนมาและไทยคือ “สาละวิน” หากแต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านเลือกสร้างชุมชนในพื้นที่ราบและใกล้แม่น้ำ จึงไม่อาจหลบรอดสายตาจากการโจมตีทางอากาศ

ชาวบ้านในพื้นที่กองพล 5 กว่า 200 ชุมชนต้องหลบหนีออกจากบ้านเพื่อไปหาที่หลบภัยใหม่เพื่อความปลอดภัยของชีวิต

karen burma05
karen burma06

2.

จากการเดินทาง ผมพบว่าชาวบ้านบางส่วนซ่อนตัวในป่า ทำตัวกลมกลืนเพื่อไม่ให้เป็นเป้าโจมตี บางส่วนเลือกข้ามแม่น้ำสาละวินไปยังอีกฝั่งของพื้นที่ (ไทย) ขณะที่บางส่วนยังคงตัดสินใจอยู่ในบ้านต่อ และพยายามใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติให้มากที่สุด

ชาวบ้านที่เลือกหลบซ่อนตัวในป่าเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว ไม่กล้าแม้แต่จะกลับเข้าบ้านอีกเพื่อหยิบข้าวของใช้เข้าป่าด้วย เพราะกังวลว่าจะถูกโจมตีทางอากาศอีก ส่วนหนึ่งเลือกที่จะหลบในหลุมหลบภัยที่ตนเองขุดไว้ บ้างก็ซ่อนตัวใต้หินใหญ่ และบางส่วนพยายามอำพรางตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกต

ชาวบ้านเกือบทั้งหมดต่างหลีกเลี่ยงการก่อไฟเพื่อไม่ให้เกิดควัน หรือแม้แต่ส่งเสียงเพื่อหลบซ่อนในพื้นที่อย่างปลอดภัย

“มาหลบกับเราที่นี่ได้ ถ่ายรูปได้ แต่ห้ามโพสต์หรือส่งให้ใครนะ ถึงแม้จะเป็นคนที่เชื่อใจมากๆ ก็ตาม”

เสียงพูดเบาๆ ที่หัวหน้าพยาบาลสนามบอกกับผมขณะที่ผมหยิบโทรศัพท์จากกระเป๋าสีขาวที่ผมชอบสะพายขึ้นมาถ่ายรูปผู้คนที่หลบซ่อนตัวจากเครื่องบินโจมตีและเครื่องบินโดรนที่ดังอยู่เป็นระลอกๆ

จากนั้นหัวหน้าพยายาบาลพูดต่ออีกว่า

“ก็เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ต้องการจะช่วยเป็นกระบอกเสียง กระจายข่าว หรือหาทางช่วยเหลือเรา แต่การแสดงจุดที่เราใช้หลบซ่อน หรือโพสต์รูปพื้นที่เรากำลังอำพรางตัวนั้นเป็นอันตรายต่อพวกเรามาก เพราะนอกจากภาพเหล่านี้จะไปสู่คนที่อยากจะช่วยเราแล้วมันจะไปหาคนที่จะโจมตีเราด้วย โดยเฉพาะทหารพม่า”

เขาอธิบายเสริมต่ออีกว่า “ที่กังวลเพราะภาพส่วนใหญ่บอกรูปพรรณสัณฐานของพื้นที่ป่าที่เราหลบกันได้ เพราะฉะนั้นอย่าโพสต์เลยนะ หรืออย่าส่งต่อด้วย ถ้าอยากช่วยเราก็ระลึกกันในคำอธิษฐาน เพื่อที่ให้เราสู้ และหลบกันอย่างปลอดภัยในที่นี้”

karen burma07
karen burma08

3.

ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งเลือกข้ามแม่น้ำสาละวินไปอีกฝั่งเพื่อแสวงหาที่พักพิงชั่วคราว

เต็นท์​สีฟ้าที่พึ่งพิงของชาวบ้านกว่าสองพันคนตั้งอยู่บนชายฝั่งอีกด้านของแม่น้ำสาละวิน ผู้หลบภัยในที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ผู้หญิง​ และผู้สูงอายุ​ที่ไม่อาจวิ่งหนีได้ไว ต่างรอวันหวนคืนสู่บ้านของตัวเอง

ในทุกๆ สามวันแต่ละครอบครัวจะต้องเดินทางกว่ากิโลไปรับอาหารที่เพื่อนร่วมโลกส่งความช่วยเหลือมาผ่านรัฐบาลไทย

“ทันทีที่เสียงระเบิดลงในหมู่บ้านฉัน สิ่งเดียวที่ฉันคว้าทันแล้ววิ่งหนีมาที่นี่​ คือ​ลูกชายวัยสามขวบของฉัน”

เธอเล่าทั้งน้ำตาว่า เธอไม่รู้เหมือนกันว่าเราไปทำอะไรให้เขา ทำไมเขาถึงไม่หยุดทำร้ายเธอและชาติพันธุ์ของเธอเสียที

ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่เธอแล้วที่ต้องวิ่งหนี อนาคตชีวิตเธอและลูกจะเป็นอย่างไรเธอยัง​ไม่แน่ใจ​ คงต้องหนีเหมือนคนอื่นๆ แต่วันนี้เธอและลูกต้องมีชีวิตรอด

เมื่อผมถามถึงสามี เธอเล่าว่าเขายังอยู่ในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านเพื่อรับใช้ชาติและจะส่งข่าวมาเมื่อหมู่บ้านเธอปลอดภัย

เธอเล่าต่ออีกว่าใกล้จะถึงหน้าเพาะปลูกพืชแล้ว พื้นที่นาของเธอถูกระเบิดลงไม่เหลือแม้แต่พื้นที่ให้ดำนาในปีนี้ หากจะกลับไปเตรียมแปลงใหม่ก็ยังไม่ได้ คงได้แต่ต้องพึ่งพิงของบริจาคไปก่อน และได้แต่หวังว่าการปะทะจะหยุดก่อนฤดูเพาะปลูกจะหมด เพราะไม่เช่นนั้นปีหน้าทั้งปีเธอไม่มีอาหารกินแน่นอน

karen burma09
karen burma10

4.

ชาวบ้านกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงเลือกจะอยู่ในหมู่บ้านและพยายามดำเนินชีวิตต่อไปให้ปกติ ถึงสถานการณ์จะไม่ปกติก็ตาม ผมมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านวัยกลางคนที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งบอมบ์ของพม่าตรงบ้านเธอเลย

เธอเล่าให้ฟังทั้งน้ำตา​ว่า​ คืนที่ทิ้งบอมบ์บ้านเธอ ภายในบ้านมีเธอ ลูกสาวสองคน หลานสาวหนึ่งคน และญาติที่เป็นทหารมานอน

ก่อนจะถูกทิ้งบอมบ์เพียงไม่กี่นาที หลานสาวเธออยากเข้าห้องน้ำแต่ไม่กล้าไปเลยขอให้เธอไปส่ง ลูกสาวของเธออีกคนขอตามออกไปด้วย

ทันทีที่ออกจากบ้าน ระเบิดก็ลงตรงบ้านเลย ญาติที่เป็นทหารเสียชีวิต ส่วนลูกสาวอีกคนอาการสาหัส ตอนนี้ส่งไปรักษาที่แม่สะเรียง

เธอบอกที่เลือกไม่ออกจากหมู่บ้านและขอนอนต่อบ้านญาติ เพราะเธอยังต้องทำไร่

เธอไม่รู้ว่าค่ารักษาพยาบาลลูกสาวจะเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เธอไม่รู้ว่าการปลูกข้าวจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และเหลือสำหรับขายเพื่อนำเงินมาจ่ายไหม แต่ถ้าเธอไม่อดทนทำ ครอบครัวเธอจะไม่มีชีวิตรอดแน่นอน

………………

เรื่องราวที่ผมได้พานพบและพูดคุยตลอดระยะการเดินทาง ไม่มีบทสนทนาไหนที่ไม่จุกอก

​ผมได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าผมจะช่วยอย่างไร​ ทำอย่างไร หรือแก้ไขแบบไหนเพื่อบรรเทาสถานการณ์นี้ แน่นอนผมทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากรับฟังแ​ละอธิษฐาน เพื่อหวังลึกๆ​ ว่า​จะทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง

ผมอยากส่งผ่านเรื่องเล่าจากการเดินทาง เพื่อให้คนอื่นเข้า​ใจ​สถานการณ์​ที่เกิดขึ้นในเขตกองพลที่ 5 อีกด้านหนึ่ง

อยากชวนมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นและตั้งถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น​ว่า เราควรให้มันเป็นไปอย่างนี้ หรือถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำสักอย่าง

เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้อยู่ในโลกนี้ โดยไม่ต้องวิ่งหนีอีกต่อไป