ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

เรื่องลึกลับน้ำบาดาล คุณค่าและความสำคัญของชั้นน้ำใต้ดิน
การไหลของน้ำบาดาลจะแผ่กระจายไปใต้พื้นดิน แตกต่างจากน้ำผิวดินที่ไหลไปได้ในเฉพาะส่วนที่เป็นแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง น้ำบาดาลอยู่ได้หลายชั้นที่ระดับความลึกตั้งแต่ ๑๕ เมตร หรือมากกว่า ๑,๐๐๐ เมตร

หากแบ่ง “น้ำ” ทั้งหมดบนโลกนี้ออกเป็น ๑๐๐ ส่วน จะประกอบด้วยน้ำเค็ม (หรือน้ำทะเล) มากถึง ๙๗ ส่วน ที่เหลืออีก ๓ ส่วนเป็นน้ำจืด

ในบรรดาน้ำจืดที่มีอยู่น้อยนิดเพียงร้อยละ ๓ หากคิดเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะแบ่งเป็นภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง ๗๐ เปอร์เซ็นต์

น้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ บ่อน้ำ ทะเลสาบ คลอง ๑ เปอร์เซ็นต์

ที่เหลืออีก ๒๙ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำใต้ดินหรือที่รู้จักกันในชื่อ “น้ำบาดาล” (ground water)

หากไม่นับภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งแล้วน้ำบาดาลจึงเป็นแหล่งน้ำจืดที่มีปริมาณมากที่สุดบนโลกของเรา

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แบ่งแหล่งน้ำในธรรมชาติออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ น้ำในบรรยากาศ (atmospheric water) น้ำผิวดิน (surface water) และน้ำใต้ดิน (subsurface water) น้ำแต่ละประเภทมีวงจรเกิดขึ้นเป็นวัฏจักร เรียกว่า “วัฏจักรน้ำ” (hydrologic cycle)

เมื่อน้ำผิวดินได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์จะระเหยเป็นไอลอยขึ้นสู่บรรยากาศ เมื่อลอยสูงถึงระดับที่มีอุณหภูมิต่ำพอเหมาะจะควบแน่นเป็นละอองน้ำ ก่อตัวกลายเป็นเมฆและตกลงเป็นฝน

หลังจากเม็ดฝนตกลงสู่พื้นโลก น้ำส่วนหนึ่งจะจับตัวกลายเป็นธารน้ำแข็งหรือหิมะ พบมากตามแถบขั้วโลกและภูเขาสูง น้ำส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำ ลําคลอง และไหลออกสู่ท้องทะเลและมหาสมุทร ส่วนหนึ่งจะถูกพืชดูดไปใช้และเกิดการคายน้ำ น้ำส่วนหนึ่งจะระเหยเป็นไอลอยขึ้นไปสู่บรรยากาศ

และมีน้ำอีกส่วนหนึ่งไหลซึมลงสู่เบื้องล่างกลายเป็นน้ำใต้ดิน

กำเนิดน้ำบาดาลเริ่มจากน้ำที่ไหลซึมลงใต้ดิน ถูกกักเก็บไว้ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ชั้นหิน ชั้นกรวด หรือชั้นตะกอน

น้ำที่ไหลลงสู่ใต้ดินส่วนหนึ่งจะไหลซึมอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดิน เรียกว่า “น้ำในดิน” (soil water) ซึ่งพืชสามารถดูดน้ำส่วนนี้ไปใช้ได้เลย เมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง น้ำในดินอาจถูกแสงแดดแผดเผาจนเหือดแห้ง ขณะที่น้ำที่เหลืออยู่อาจจะไหลซึมลึกลงไป แล้วถูกกักเก็บไว้ตามช่องว่างตามรอยแตกของชั้นหิน ชั้นตะกอนหรือชั้นกรวด กลายเป็น “น้ำใต้ดิน” (subsurface water)

เมื่อชั้นหิน ชั้นกรวดหรือชั้นตะกอนอิ่มตัวด้วยน้ำ หรือมีน้ำบรรจุอยู่เต็มช่องว่าง น้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในเขตอิ่มน้ำนี้จะเรียกว่า “น้ำบาดาล” (ground water) ซึ่งโดยนิยามแล้วเป็นกลุ่มย่อยของน้ำใต้ดิน

การไหลของน้ำบาดาลจะแผ่กระจายไปใต้พื้นดินทั่วทุกพื้นที่อย่างกว้างขวาง แตกต่างจากน้ำผิวดินที่ไหลไปได้ในเฉพาะส่วนที่เป็นแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เท่านั้น ลึกลงไปใต้ผิวดิน น้ำบาดาลอยู่ได้หลายชั้นที่ระดับความลึกตั้งแต่ ๑๕ เมตรหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ เมตร

ทั้งนี้ ระดับบนสุดของน้ำบาดาลเป็นพื้นผิวหรือแนวระดับที่อยู่ในเขตไม่อิ่มน้ำ (unsaturated zone) บริเวณนี้ทั้งน้ำและอากาศยังสามารถถ่ายเทได้ แรงดันของน้ำในชั้นหินหรือชั้นตะกอนบริเวณนี้จึงเท่ากับแรงดันของบรรยากาศ

ส่วนที่ลึกลงไปจากระดับน้ำใต้ดิน เรียกว่าเขตอิ่มน้ำ (saturated zone) เป็นส่วนที่มีแต่น้ำ และเป็นส่วนของน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินที่แท้จริง แรงดันของน้ำในชั้นนี้จะมากขึ้นเนื่องจากน้ำถูกกดทับ จนอาจทำให้เกิดน้ำพุหรือน้ำพุ่งขึ้นไปบนอากาศสูงๆ

badarn02
badarn03
น้ำบาดาลเกิดจากน้ำไหลซึมลงใต้ดิน ถูกกักเก็บไว้ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ชั้นหิน ชั้นกรวดหรือชั้นตะกอน หากไม่นับภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง น้ำบาดาลจะเป็นแหล่งน้ำจืดที่มีปริมาณมากที่สุดบนโลก

ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใช้น้ำบาดาลของมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อใด และเกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหนในโลก แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคที่แห้งแล้ง

ที่เอเชียกลาง สถานที่ตั้งของประเทศอียิปต์และอิหร่านในปัจจุบัน มีร่องรอยของสิ่งก่อสร้างที่น่าจะเกี่ยวข้องกับน้ำบาดาล เรียกว่า Kanat

Kanat เป็นระบบอุโมงค์ส่งน้ำเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร ประเมินอายุได้ประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ถูกขุดขึ้นตามแนวชั้นรอยเลื่อนของชั้นหินหรือชั้นทรายที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาลบริเวณเชิงเขา ลาดไปตามสภาพภูมิประเทศ เพื่อให้น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ระหว่างทางมีการสร้างปล่องที่สามารถตักหรือสูบน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้เป็นระยะ

Kanat ที่เมืองเตหะรานมีความยาว ๘-๑๖ ไมล์ จุดลึกสุดมีความลึกประมาณ ๑๕๐ เมตร เอื้อประโยชน์ด้านกสิกรรมและอุปโภคบริโภคให้กับผู้คนมากถึง ๒๗๕,๕๐๐ คน

ด้าน Kanat ที่เมืองเดซฟุลขุดไปตามแนวสันทรายใต้ดิน ลอดผ่านใต้ตัวเมือง บ้านเรือน และพื้นที่เกษตร นอกจากเพิ่มพื้นที่ชลประทานขนาดมหาศาล ยังทำให้เกิดระบบถ่ายเทความร้อน สร้างความเย็นชุ่มชื้นจากอุโมงค์ส่งน้ำ

เมื่อแรกเริ่มพัฒนาน้ำบาดาลในระบบ Kanat ใช้วิธีการ “ขุด” สำหรับวิธีการ “เจาะ” ซึ่งทันสมัยกว่าสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราวปี ค.ศ.๑๑๒๖ หรือ พ.ศ.๑๖๖๙ ตัวเครื่องเจาะทำจากไม้และไม้ไผ่ อาศัยไม้ไผ่เป็นก้านเจาะ ใช้แรงงานคนกระทุ้ง ใช้เวลาเจาะยาวนานถึง ๓ ช่วงอายุคน

ระดับน้ำใต้ดินสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามฤดูกาล ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ใหลซึมลงไป โดยมีแนวโน้มว่าช่วงฤดูฝนปริมาณน้ำใต้ดินจะมาก ฤดูแล้งปริมาณน้ำใต้ดินจะน้อย

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำฝนที่ไหลซึมลงไปเก็บกักอยู่ในแหล่งน้ำบาดาล (groundwater recharge) จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพทางธรณีวิทยา ความสามารถในการกักเก็บน้ำของชั้นหินใต้ดิน รอยแตก รอยเลื่อน โพรงหรือช่องว่าง มีการศึกษาว่าในประเทศไทย…

– มีพื้นที่รองรับด้วยหินร่วน (unconsolidated rocks) เช่น กรวด ทรายหรือดินเหนียว ประมาณ ๑๐๑,๒๔๐ ตารางกิโลเมตรหรือร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ประเทศ

– มีพื้นที่รองรับด้วยหินแข็ง (consolidated rocks) ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่หินแข็งอุ้มน้ำมาก ประมาณ ๑๒๓,๖๕๔ ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ ๒๔, พื้นที่หินแข็งอุ้มน้ำปานกลางประมาณ ๑๗๐,๙๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ ๓๓ และพื้นที่หินแข็งอุ้มน้ำน้อยประมาณ ๑๑๗,๐๓๖ ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ ๒๓

มีการศึกษาว่าบริเวณหินร่วนน้ำฝนจะไหลซึมลงสู่แหล่งน้ำบาดาลได้ประมาณร้อยละ ๑๐

บริเวณที่เป็นหินแข็งอุ้มน้ำมาก ประมาณร้อยละ ๕ หินแข็งอุ้มน้ำปานกลางประมาณร้อยละ ๓ และหินแข็งอุ้มน้ำน้อยประมาณร้อยละ ๒

ด้วยสัดส่วนตัวเลขข้างต้น ปริมาณการไหลซึมของน้ำฝนลงสู่แหล่งน้ำบาดาลทั่วประเทศ จะเท่ากับ ๓๘,๐๐๐-๗๒,๙๘๗ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ ๕ ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมดที่ตกลงมา

badarn04
บ่อน้ำที่เห็นอาจเป็นบ่อน้ำบาดาลระดับตื้น ความลึกไม่เกิน ๑๕ เมตร และบ่อน้ำบาดาลระดับลึก ที่ต้องเจาะบ่อน้ำบาดาล

อ้างอิงตามแผนปฏิบัติราชการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลระยะ ๕ ปี (วาระแรก ๓ ปี พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕) ประเทศไทยมีแอ่งน้ำบาดาลทั้งหมด ๒๗ แอ่ง แหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ที่สำคัญมี ๕ พื้นที่ ได้แก่ ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนใต้หรือที่ราบลุ่มภาคกลาง, ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนเหนือ, ที่ราบลุ่มแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน, ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้

แอ่งน้ำบาดาลทั่วประเทศไทยมีปริมาณการกักเก็บในชั้นน้ำบาดาลรวมกันประมาณ ๑.๑๓ ล้านล้านลูกบาศก์เมตร มีศักยภาพที่จะนำขึ้นมาใช้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำบาดาลที่มีอยู่ ปีละประมาณ ๔๕,๓๘๕ ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ เมษายน ๒๕๖๐)

อย่างไรก็ตาม การนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มีข้อจำกัดเรื่องความคุ้มทุน เนื่องจากมีค่าใช้จ่าย คือ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาในการสูบน้ำ อีกทั้งก่อนเจาะบ่อน้ำบาดาลต้องสำรวจเพื่อหาจุดเจาะที่จะได้น้ำบาดาลที่มีปริมาณและคุณภาพดี โดยเฉพาะพื้นที่หินแข็งและน้ำเค็มที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการค่อนข้างสูง

โครงการสำรวจน้ำบาดาลในประเทศไทยเริ่มอย่างเป็นทางการตั้ง พ.ศ.๒๔๙๗ ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่แห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ

ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น สังคมไทยเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคม ความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลก็ขยายตัวตาม มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินกว่าธรรมชาติจะเติมน้ำลงสู่แหล่งน้ำบาดาลได้เพียงพอ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังใช้น้ำบาดาลเกินขอบเขต คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การทรุดตัวของแผ่นดิน การแทรกซึมของน้ำทะเลสู่ชั้นน้ำบาดาลบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล รวมทั้งการปนเปื้อนของมลพิษในชั้นน้ำบาดาล

แม้ พรบ.น้ำบาดาล พ.ศ.๒๕๒๐ จะบังคับใช้เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการใช้ประโยชน์น้ำบาดาล แต่ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการน้ำบาดาล เพื่อให้มีการนำขึ้นมาใช้อย่างเหมาะสมก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทุกวันนี้ น้ำบาดาลยังปนเปื้อนจากแหล่งฝังกลบขยะ การทิ้งสารมลพิษอย่างไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ทำให้แหล่งน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนจากมลพิษไม่สามารถนำมาใช้ได้

การฟื้นฟูสภาพและคุณภาพน้ำบาดาลต้องใช้งบประมาณมหาศาลและระยะเวลานาน จึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อน

อ้างอิงตามแผนปฏิบัติราชการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลระยะ ๕ ปี (วาระแรก ๓ ปี พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕) การใช้น้ำบาดาลในประเทศไทยมีทั้งการใช้น้ำในด้านอุปโภคและบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยแบ่งน้ำบาดาลออกเป็น ๒ ระดับ คือ

น้ำบาดาลระดับตื้น ความลึกไม่เกิน ๑๕ เมตร จะมีการทำบ่อน้ำตื้นเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้

และน้ำบาดาลระดับลึก ที่ต้องเจาะบ่อน้ำบาดาล
ในปี ๒๕๕๗ ประเทศไทยมีบ่อน้ำบาดาลทั้งสิ้น ๑.๙๒ ล้านบ่อ เป็นบ่อน้ำบาดาลในส่วนภาครัฐและเอกชนที่สามารถใช้การได้มีจ้านวน ๑.๗ แสนบ่อ

ในแต่ละปีมีการนำน้ำบาดาลมาใช้ประมาณ ๑๔,๗๔๑ ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นการใช้ด้านการเกษตรมากที่สุดปีละ ๑๒,๗๔๑ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่ออุปโภคบริโภคปีละ ๑,๒๒๓ ล้านลูกบาศก์เมตร และใช้ในภาคอุตสาหกรรมปีละ ๗๗๗ ล้านลูกบาศก์เมตร

หากเปรียบเทียบกับตัวเลขในข้อ ๖ ที่ระบุว่า เรามีแอ่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพพัฒนาขึ้นมาใช้ได้โดยไม่กระทบต่อปริมาณน้ำบาดาลที่มีอยู่ได้รวมปีละ ๔๕,๓๘๕ ล้านลูกบาศก์เมตร จึงยังคงเหลือน้ำบาดาลกักเก็บอยู่ใต้ดินและสามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีกประมาณปีละ ๓๐,๖๔๕ ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ดี การสูบน้ำบาดาลมากเกินไปในบางพื้นที่ทำให้เกิดหลุมยุบ และมีบางกรณี

การเกิดหลุมยุบไม่ได้มีสาเหตุจากการสูบน้ำบาดาลโดยตรง ยกตัวอย่างหลุมยุบที่อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เกิดจากการทำเหมืองเกลือ ด้วยการเจาะบ่อลงไปในแหล่งเกลือหินและอัดน้ำจืดลงไปละลายเกลือหิน แล้วสูบขึ้นมานำเข้ากระบวนการผลิต ทำตามวิธีที่เรียกว่า “เหมืองละลาย”

ผลจากการอัดน้ำจำนวนมากลงไปละลายเกลือทำให้เกิดโพรง เมื่อส่วนบนของโพรงเกลือถูกน้ำละลายความหนาของเกลือบางลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถรับน้ำหนักบนผิวดินได้ก็จะยุบตัวลงมา

ในพื้นที่อื่นๆ เช่น หินปูนซึ่งอยู่ใต้พื้นดิน เมื่อถูกน้ำซึ่งมีคุณสมบัติในการละลายได้ดี นานเข้าก็จะเกิดเป็นโพรง เป็นถ้ำใต้พื้นดิน ด้านบนของถ้ำจะถูกละลายบางลง เมื่อได้รับแรงกดทับหรือเกิดการเคลื่อนตัวของโลก ก็จะทำให้พื้นที่ด้านบนของถ้ำพังยุบลงมา

badarn05
คุณลักษณะของน้ำบาดาลตามเกณฑ์กำหนดที่เหมาะสมไม่ควรมีการปนเปื้อนของสารหนู ไซยาไนด์ ตะกั่ว ปรอท แคทเมียม ซิลีเนียม (ภาพ : กรมทรัพยากรน้ำบาดาล)

ไม่ใช่ทุกคนที่มีสิทธิขุดเจาะน้ำบาดาลได้ตามอำเภอใจ ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดหลักเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดเพิ่ม

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีภารกิจเสนอแนะจัดทำนโยบายและแผน และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำบาดาล รวมถึงการสำรวจ บริหารจัดการ พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู แก้ไขปัญหาเกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นเอกภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตเจาะและใช้น้ำบาดาลจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล และต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง จึงจะสามารถขอรับใบอนุญาตเจาะและใช้น้ำบาดาลได้ โดยผู้ออกใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทการใช้น้ำบาดาลและการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ.๒๕๕๖ และระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาออกใบอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ.๒๕๖๐

๑๐

การปนเปื้อนของน้ำใต้ดินเกิดจากหลายปัจจัย เช่น โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ผ่านการบำบัด การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช น้ำเสียที่มาจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์

สารมลพิษจะซึมผ่านผิวดินลงไปยังชั้นหินอุ้มน้ำ เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย เช่น ฟีนอล โครเมียม ปรอท สารหนู สารกัมมันตรังสี เป็นต้น

เมื่อปี ๒๕๖๑ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่บางพื้นที่มีแร่ธาตุหรือโลหะหนักสูง

โลหะที่พบทั่วไปในน้ำบาดาล คือ เหล็ก และแมงกานีส ทำให้ต้องมีระบบปรับปรุงน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีปัญหา

ผลการตรวจสอบน้ำบาดาลในภาคกลางและภาคตะวันออกพบฟลูออไรด์และโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และสารหนู มากกว่าภาคอื่นๆ

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบปัญหาน้ำบาดาลเค็มและมีไนเตรทสูง

ทางด้านภาคใต้มีปัญหน้ำกร่อยน้ำเค็มจากการลุกล้ำของน้ำทะเล

เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยองยังเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติภัยมลพิษและพบการลักลอบทิ้งหรือปล่อยของเสียต่างๆ ออกสู่สภาพแวดล้อมติดอันดับต้นๆ ของประเทศ

ช่วงปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อน้ำตื้นและน้ำบาดาลในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น ๖๕ บ่อ ประกอบด้วย ๑) บ่อน้ำบาดาลที่ขุดเจาะโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลตามหลักวิชาการสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ ๒) บ่อสังเกตการณ์ที่ใช้เฝ้าระวังการปนเปื้อนในพื้นที่โดยผู้ประกอบการ และ ๓) บ่อน้ำตื้นที่ประชาชนขุดเองเพื่อใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน

พบว่าโลหะหนักยังคงเป็นปัญหาหลักของการปนเปื้อนในน้ำบาดาลของพื้นที่ และพบสารมลพิษเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น โลหะหนักที่พบว่ามีอัตราส่วนการเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินในปริมาณสูง ได้แก่ เหล็ก แมงกานิส สารหนู แคดเมียม ตะกั่ว นิเกิล

๑๑

เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ในงานสัมมนา เรื่อง วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย : ความล้มเหลวจากการควบคุมมลพิษอุตสาหกรรม ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมว่า กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน อาทิ พรบ.โรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ มีช่องโหว่มาก ทำให้ไม่สามารถควบคุมและตรวจสอบการปล่อยมลพิษที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมได้ ตัวอย่างระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะบังคับใช้กับโรงงานขนาดใหญ่และไม่ได้ครอบคลุมกิจการอันตรายทุกประเภท โดยเฉพาะหากกิจการอันตรายนั้นมีกำลังการผลิตต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ต้องประเมินผลกระทบ นี่คือช่องโหว่แบบหนึ่ง

ปัจจุบันมี โรงงานคัดแยกและโรงงานรีไซเคิลของเสียทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย (โรงงานลำดับที่ ๑๐๕ และ ๑๐๖ ตามลำดับ) โรงงานทั้งสองประเภทนี้ไม่ว่ามีจะขนาดกำลังผลิตเท่าไหร่ก็ไม่อยู่ในข้อกำหนดที่จะต้องทำ EIA / EHIA ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มีเพียงการทำรายงานประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ เท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีเกณฑ์การประเมินผลกระทบที่ชัดเจนและครอบคลุม รายงานประเภทนี้ไม่มีมาตรการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและจึงไม่ต้องส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นช่องโหว่ที่ใหญ่มาก เนื่องจากการคัดแยกและการรีไซเคิลของเสียอันตรายเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนสารอันตรายในสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่มีการนำกากหรือน้ำเสียจากกระบวนการคัดแยกและการรีไซเคิลไปฝังกลบหรือทิ้งในที่ต่างๆ จะทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารมลพิษที่จะเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน ตัวอย่างเช่น การดำเนินกิจการของบริษัท แวกซ์การ์เบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่จังหวัดราชบุรี มีกิจการคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอันตรายและมีการฝังกากอันตรายในพื้นที่ลงงาน จนทำให้แหล่งน้ำบาดาลและห้วยน้ำพุปนเปื้อนสารอันตรายเป็นบริเวณกว้าง

ภายหลังปี พ.ศ.๒๕๖๒ หลังจากที่ พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้แล้ว การกำกับโรงงานเหล่านี้ยังย้ายจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และใช้พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นกฎหมายควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมาตรการกำกับและควบคุม โดยเฉพาะบทลงโทษเมื่อพบว่าผู้ประกอบการกระทำผิด จะไม่เข้มงวดและหนักเท่ากับ พ.ร.บ.โรงงาน

ปัญหาสำคัญอีกประการคือ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้โรงงานต้องรายงานชนิดและปริมาณของมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR : Pollutant Release and Transfer Register) ทั้งๆ ที่กฏหมายนี้จะเป็นหัวใจในการแก้ปัญหามลพิษและคุ้มครองสุขภาพกับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ากฎหมายอื่น รวมถึงจะช่วยให้การแก้ปัญหา PM2.5 มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายมากกว่า

เมื่อยังไม่มีกฎหมาย PRTR บังคับใช้ การแก้ปัญหามลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

เอกสารประกอบการเขียน

  1. แผนปฏิบัติราชการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลระยะ ๕ ปี (วาระแรก ๓ ปี พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เดือนกันยายน ๒๕๖๒
  1. น้ำบาดาล (groundwater) : แหล่งน้ำสำรอง เอกสารวิชาการอิเล็กทรอนิกส์สํานักวิชาการ สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าถึงจาก www.parliament.go.th/library
  1. การบริหารจัดการน้ำบาดาล โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สรุปและเรียบเรียงจากโครงการ “ติดตามข้อมูลนน้ำบาดาลสำหรับพื้นที่ด้านเหนือของที่ราบภาคกลางตอนล่าง และพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลของแบบจำลองน้ำบาดาล” โดย สุจริต คูณธนกุลวงศ์ และคณะ (๒๕๔๘)
  1. ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ๒๕๕๘-๒๕๕๙ มูลนิธิบูรณนิเวศ