ผู้เขียน : พราวพิศุทธิ์ เตียงพลกรัง
ช่างภาพ : ณัฐกิตติ์ มีสกุล

คริสต์ ฮอด ท่าแร่
พิธีมิสซาจัดขึ้นที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลแห่งท่าแร่ นอกจากมิสซาในทุกวัน วันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาก็จะมีการประกอบพีธีกรรม เช่น วันอีสเตอร์ วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

4 เมษายน 2564 วันสมโภชปัสกา

“สุขสันต์วันปัสกา แด่พี่น้องพระสงฆ์นักบวช และบรรดาคริสตชนที่รักทุกๆ คน”เสียงประกาศสาส์นอำนวยพรของพระอัครสังฆราช อันตน วีระเดช ใจเสรี ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง จากยูทูบ (YouTube) ดังขึ้นจากโทรศัพท์ของฉัน

วันสมโภชปัสกาหรือเป็นที่รู้จักในนามวันอีสเตอร์จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการคืนชีพของพระเยซูหลังจากถูกตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์ไปแล้ว 3 วัน วันนี้เวลา 06.00 น. มีการทำพิธีในอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ซึ่งเป็นโบสถ์สำคัญของหมู่บ้านท่าแร่ ชาวบ้านตั้งใจแต่งตัวสวยงามมาวัดเพื่อเฉลิมฉลองและเข้าเทศกาลแห่งความสุขไปตลอด 50 วันต่อจากนี้ หลังจากที่ผ่านช่วงมหาพรตมาได้

ภายในโบสถ์เก้าอี้ของคริสตชนถูกตกแต่งด้วยเครื่องเรือนไม้สีน้ำตาลเข้ม ส่วนที่เป็นของพระสงฆ์หรือบาทหลวงเป็นเก้าอี้สีทองเบาะนั่งสีแดงมีลวดลายประดับแบบตะวันตก มีรูปปั้นแม่มารีอยู่ด้านขวาเบื้องหน้าของที่นั่งคริสตชน ระหว่างทำพิธีมีการมอบแผ่นปังศักดิ์สิทธิ์ที่หมายถึงพระวรกายของพระเจ้าให้แก่คริสตชนที่มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยประเมินผ่านสายตาคาดว่าแตะหลักพันคน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นผ่านการถ่ายทอดสดพิธีผ่าน Facebook Live ของสื่อมวลคาทอลิกชนอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่จัดทำการถ่ายทอดทุกพิธีที่เกิดขึ้นภายในโบสถ์ให้คนภายนอกและคริสตชนที่ห่างไกลบ้านได้รับรู้เรื่องราวและเหมือนได้ร่วมพิธีไปด้วย

คุณอาจสงสัยว่าชุมชนคาทอลิกนี้อยู่ที่ไหนในประเทศ หรือคุณอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของ “ท่าแร่” มาบ้าง

ใช่แล้วที่นี่คือชุมชนท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ทางภาคอีสานของประเทศไทย เมื่อก่อนเคยโด่งดังเรื่องบริโภคเนื้อสุนัข แต่ปัจจุบันไม่มีวัฒนธรรมการกินนี้ให้เห็นแล้ว เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของสากลและมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์เข้ามา ถ้าพบถือว่าผิดกฎหมายทันที มันจึงค่อยๆ หายไปและยากที่เกิดขึ้นอีก

ที่นี่โด่งดังจากศาสนา ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะ “เทศกาลแห่ดาว” ในวันคริสต์มาสจัดขึ้นเพียงแค่ที่นี่ที่เดียวในโลก และจัดมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ถ้าคุณเคยเห็นมาแล้วมิใช่เรื่องแปลก เพราะคลิปเทศกาลแห่ดาวมีให้เห็นตามโลกอินเทอร์เน็ตยาวเป็นหางว่าว แต่พอมาอยู่ในพื้นที่จริงๆ แม้จะมิใช่เทศกาล ฉันก็รู้สึกตื่นเต้นอยู่ดีที่มองไปแล้วเห็นดวงดาวประดับประดาอยู่ในทุกๆ บ้านที่เป็นคาทอลิก ถ้าจะให้นับ ไม่มีบ้านไหนเลยที่ไม่มีดาว

tarrae02
ลำพร สารธิยากุล สร้างสรรค์ดวงดาวตลอดทั้งปีเพื่อเทศกาลแห่ดาว ภายในบ้านมีรูปพระเยซูและพระแม่มารีย์ เหมือนเช่นบ้านคริสตชนหลังอื่นๆ
tarrae03
ครูลำพรสาธิตการทำดาว ทำชิ้นต่อชิ้น ใช้ไม้ไผ่มาสานขึ้นรูปดาว ห่อด้วยกระดาษแก้วสีแดง เสร็จแล้วจะนำไปเก็บไว้ในที่มืดเพื่อป้องกันไม่ให้กระดาษมีสีซีดจางลง

ดวงดาว ของฝากจากท่าแร่

ในวันคริสต์มาสที่ท่าแร่ คริสตชนก็เหมือนดาวดวงเล็กๆ ที่ไม่ว่ารวมกลุ่มกันเมื่อใดก็จะทำให้บนดินสวยงามระยิบระยับเหมือนกับดาวบนท้องฟ้าเมื่อนั้น

ทำไมต้องเป็นดาว แล้วทำไมดาวจึงได้รับการประดับอยู่เหนือต้นคริสต์มาส คุณอาจเคยได้ยินมาบ้างเรื่องดวงดาวแห่งเบธเลเฮม ที่บรรดาโหราจารย์ได้ติดตามดาวประหลาดดวงหนึ่งเพื่อไปพบสถานที่ประสูติของพระเยซูเจ้าที่เบธเลเฮม และถือกันว่าดวงดาวคือสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระเยซู บ้างว่าเป็นตำนาน แต่หลายที่ก็พิสูจน์หาหลักฐานการเกิดของพระเยซูมายืนยันได้ ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปริศนา แต่ดวงดาวก็ยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไปในวันคริสต์มาสที่จะรวมใจของคริสตชนท่าแร่ให้มาเฉลิมฉลองปลายปีร่วมกัน

ขณะที่ยืนอยู่ที่หน้าบ้านของ ลำพร สารธิยากุล คนในพื้นที่แนะนำให้รู้จักเธอในนาม “ครูลำพร คนทำดาว” ฉันยกมือสวัสดีทักทายและมาขอดูวิธีทำดาวจากเธอ เธอเป็นกันเองในรูปแบบของคุณครูวัยเกษียณราชการ พูดคุยกับแขกได้อย่างฉะฉานและสอดแทรกมุกตลกเพื่อคลายความแปลกหน้า เธอเล่าถึงเทศกาลแห่ดาวอย่างไม่มีติดขัด เพราะเป็นคนท้องถิ่นตั้งแต่เกิด

“เป็นประเพณีที่ทุกคนยินดี มีชีวิตชีวา เพราะเราได้ต้อนรับพระกุมารเยซูเจ้า” เธอนั่งอยู่บนแคร่ไม้ไผ่หน้าบ้าน พูดไปพลางประดิษฐ์ดาวไป เธออยู่กันสามคนรวมสามีและแม่ของเธอที่ต้องดูแลใกล้ชิด เพราะท่านอายุมากแล้ว แน่นอนว่าที่บ้านประดับตกแต่งไปด้วยดาวที่เธอประดิษฐ์เองกับมือ

“สองปีที่แล้วขายดาวได้ 7 หมื่นกว่าบาท!” เธอเล่าเสียงดังปนหัวเราะ และพาเดินชมดาวในบ้าน มีทั้งขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าตัวคน เธอบอกว่าดาวของเธอสวยไม่เหมือนใคร เพราะพยายามจับคู่สี คิดลวดลายใหม่ๆ ออกมาให้คนไม่เบื่อ

เธอเริ่มทำดาวตั้งแต่ต้นปีเพื่อให้พอขายในวันคริสต์มาส เพราะคนที่มางานมีจำนวนมากจนเดินแบบไหล่เบียดไหล่ แต่เมื่อเจอภาวะโควิด-19 รายได้ก็ลดลง แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะนี่เป็นเพียงงานเสริมของเธอเท่านั้น และทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านักท่องเที่ยวไม่ใช่จุดหลักที่เขาให้ความสนใจ แต่เป็นชุมชนของตนต่างหากที่อยากดูแลรักษาประเพณีเอาไว้ ไม่ให้ความศรัทธาลดลงจากเมื่อก่อน

จังหวัดสกลนครมีแผนประชาสัมพันธ์ประเพณีแห่ดาวให้ผู้คนมาเที่ยวชมมากขึ้น ทางชุมชนยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาจากทุกภาค เพียงแต่อนุญาตให้เข้าชมได้ถึงวันที่ 23 ธันวาคมเท่านั้น เพราะวันที่ 24-25 ธันวาคม จะสงวนให้เฉพาะชาวคริสตังเข้ามิสซาและเป็นการเฉลิมฉลองภายในชุมชน

ลูกหลานที่ออกไปทำงานก็จะกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา และบาทหลวงที่ไปบวชประจำวัดที่อื่นยังสามารถกลับมาฉลองที่บ้านในวันพิเศษเช่นนี้ได้ สามารถจิบไวน์ได้เพื่อการเฉลิมฉลอง ซึ่งมีความแตกต่างจากศาสนาพุทธที่พระสงฆ์ไม่สามารถทำได้ แต่บาทหลวงเองก็ต้องอยู่ในขอบเขตของการรับผิดชอบหน้าที่และกลับวัดในเวลาที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน

ของฝากประจำท่าแร่อาจมิใช่ผ้าย้อมครามสกลที่โด่งดัง แต่กลับเป็นดวงดาวประดิษฐ์จากคนในชุมชน ที่ซ่อนความสามัคคีเอาไว้ภายใต้ดวงดาวนั่นเอง

tarrae04
เมื่อศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน จึงเห็นภาพเด็กๆ และบรรยากาศแห่งความสุขบริเวณรอบๆ โบสถ์อัครเทวดามีคาแอล
tarrae05
ผู้คนหลากหลายวัยในชุมชนท่าแร่มาทำกิจกรรมพร้อมเพรียงกันที่โบสถ์ในวันอาทิตย์

Smart Community แบบท่าแร่

smart community คือชุมชนที่มีการจัดการที่ดีจากพิธีแห่ดาวและพิธีทางศาสนาอื่นๆ คนในชุมชนมีความร่วมใจและแก้ปัญหาร่วมกันเป็นอย่างมาก รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมกันใช้สารสนเทศในการพัฒนาชุมชน โดยมีแกนหลักในการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของประชาชนมิสซัง และหน่วยงานรัฐ

……………………………………

กระเป๋าสัมภาระที่หนักอึ้งของฉันถูกวางลงบนพื้นบ้านของกำนัน มีผู้หญิงวัยกลางคนยิ้มรับกับการมาพักของแขกแปลกหน้า เธอให้การต้อนรับไปพร้อมกับไกวเปลเลี้ยงหลาน

“เปิดแอร์เป็นมั้ยล่ะ” กำนันและภรรยาเคาะห้องที่ฉันนอนอยู่ ทั้งสองเข้ามาถามด้วยรอยยิ้มแบบผู้ใหญ่ใจดีในตำราเรียนชั้นประถมฯ

“ไม่เป็นเลยค่ะ” ฉันพูดปนหัวเราะ กำนันไม่แปลกใจ เพราะไม่ได้ยินเสียงแอร์ดังออกมาจากห้อง แอร์เป็นแอร์รุ่นเก่าหน้าตาประหลาด อาจมีอายุมากกว่าอายุของฉันเสียอีก แต่ให้ความเย็นไม่แพ้แอร์ยุคปัจจุบันเลย ต้องขอบคุณกำนันและแอร์ตัวนั้นที่ทำให้คืนแรกที่ท่าแร่ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป

“ท่าแร่เป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท” หลายคนในชุมชนบอก และจากที่เดินสำรวจก็เห็นด้วยว่าจริงอย่างที่เขาพูด ภายนอกอาจคิดว่าจะมากไปด้วยประเพณีแบบชาวคริสต์ แต่ที่นี่ยังมีการทำบุญกองข้าวหรือบุญคูนลานซึ่งเป็นฮีตเดือนยี่ของชาวอีสาน เป็นบุญที่มีความสำคัญต่อความเชื่อของชาวนาว่าจะช่วยอุดหนุนเพิ่มพูนให้ได้ข้าวมากขึ้นทุกๆ ปี ถือเป็นการเสริมกำลังใจในการเริ่มทำนาตั้งแต่ต้นปี เพราะอาชีพหลักของคนที่นี่ก็ยังคงเป็นการทำนา

การพัฒนาประชากรให้มีความรู้คือสิ่งสำคัญสำหรับท่าแร่ แทบทุกบ้านจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีงานทำ จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้คือการเรียนคำสอนจากซิสเตอร์ นั่นเป็นหนึ่งในวิธีพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในพระคัมภีร์ และทำให้เด็กในหมู่บ้านอ่านออกเขียนได้ ช่วยลดภาระของพ่อแม่ในการเลี้ยงดู เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการศึกษา

ถ้าครูคนแรกคือพ่อแม่ ครูคนที่ 2 ของเด็กๆ ก็คือซิสเตอร์ สนามเด็กเล่นคือลานแถวโบสถ์ โดยที่พ่อแม่สามารถไว้วางใจได้ว่าลูกๆ จะมีความปลอดภัยถ้าฝากไว้กับซิสเตอร์

นอกเหนือจากด้านการศึกษา กำนันของหมู่บ้านท่าแร่ กำนันอัยการ จำปาราช มีนโยบายพัฒนาถนนเส้นกลางของหมู่บ้านให้เป็นถนนคนเดิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากงานประจำ พัฒนาโฮมสเตย์ให้ได้มาตรฐาน โดยเริ่มจากบ้านของกำนันเองก็มีห้องให้นักท่องเที่ยวพัก ค่าใช้จ่ายเพียง 200 บาทต่อคนต่อคืน พร้อมด้วยอาหารสองมื้อ

นอกจากนั้นในงานประจำปีต่างๆ ประชาชนและผู้นำชุมชนประสานงานกันอยู่เสมอผ่านการประชุมหมู่บ้าน มีการให้ประชาชนเข้าประชุมและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ แต่จุดสำคัญก็คือบาทหลวงที่จะสามารถรวมใจของทุกคนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในการพัฒนาต่างๆ

และถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านคาทอลิก แต่ท่าแร่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับหมู่บ้านรอบข้างที่นับถือศาสนาพุทธเลยแม้แต่น้อย พระคุณเจ้าของทางคริสต์ได้เข้าไปสานสัมพันธ์กับเจ้าอาวาสวัดพุทธอยู่เสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาศาสนสัมพันธ์ของบาทหลวงทุกคน เพื่อสานสัมพันธ์อันดีกับศาสนาอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม

การมีจิตวิญญาณเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคริสตังท่าแร่ (คำว่าคริสตังใช้เรียกชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) เมื่อทุกคนให้ความสำคัญกับการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า การดำเนินชีวิตจึงเป็นไปตามขนบที่ตั้งไว้ ความรักและเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ แต่ก็ไม่ทิ้งความเจริญและทันสมัยไป

tarrae06
ภาพศิลปะกระจกภายในโบสถ์แสดงถึงเทศกาลเพนเทคอสต์ นับ 50 วันหลังจากวันอีสเตอร์ ถือเป็นการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ลงมาประทับบนอัครทูตเพื่อเป็นกำลังในการประกาศข่าวดีต่อมวลมนุษย์ คริสตจักรโรมันคาทอลิกจึงถือวันนี้เป็นวันสมโภชพระจิตเจ้า และนับเป็นวันเกิดของคริสตจักรด้วย
tarrae07
บาทหลวงและเณรใส่เสื้อคลุมเพื่อเข้าทำพิธีมิสซาที่โบสถ์ตอนเช้า แสดงให้เห็นความสืบเนื่องของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นบาทหลวง

คนในไม่อยากออก คนนอกอยากเข้า

“ท่าแร่เมืองศาสนา พลังศรัทธาในพระเจ้า” ข้อความตรงทางเข้าอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล แสดงถึงความเชื่อของคนในชุมชน ซึ่ง 99 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวคริสตังอาศัยอยู่

ชาวบ้านในชุมชนส่วนมากคนมีไร่มีนาก็ทำอาชีพเกษตรกร บ้างก็ไปเป็นข้าราชการ บ้างทำกิจการค้าขายจนร่ำรวย ส่วนคนรุ่นลูกส่วนมากย้ายไปทำงานที่อื่น ไม่เข้ากรุงเทพฯ ก็ไปทำงานที่ต่างประเทศ

“บ้านข้าวฉันท์ชนก” เป็นร้านค้าอยู่ในหมู่บ้านท่าแร่ จำหน่ายข้าวพันธุ์พื้นบ้านอินทรีย์จากลุ่มเกษตรกร จุดเด่นคือข้าวหอมดอกฮัง นอกจากนั้นยังมีข้าวสาร ข้าวกล้อง ข้าวฮาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวต่างๆ เช่น สบู่ข้าวหอมดอกฮัง แชมพูข้าวหอมดอกฮัง เจ้าของร้านคือหนิง-ขวัญตา บุญโต คุณแม่ลูกสองที่ออกจากงานประจำมาทำอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัว

“ร้านมันมีโอกาสที่จะเติบโตได้ ถ้าท่าแร่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามนโยบายจังหวัด โอกาสน่าจะมีเยอะกว่าถนนเส้นรองลงไป” เธอตอบคำถามที่ว่าทำไมถึงเลือกมาลงหลักเปิดร้านและสร้างบ้านอยู่ที่นี่ทั้งๆ ที่นาของเธออยู่บ้านโคกสะอาด ทั้งนี้เพราะท่าแร่เป็นเหมือนตลาดท้องถิ่นที่เธอต้องการเข้ามาทำธุรกิจ

“ตอนแรกได้ยินถึงศาสนาคริสต์ว่าดี ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมานับถือคาทอลิกหรอก แต่พอจะแต่งงานกับคนคาทอลิกก็กลัวว่าถ้ามีลูก ลูกจะมาถามว่าทำไมแม่ไม่ไปโบสถ์” เธอเป็นสะใภ้พุทธที่แต่งงานเข้ามา หลังแต่งงานเธอต้องไปเรียนคำสอน 2-3 เดือน เพื่อรับศีลล้างบาปมาเป็นคาทอลิกอย่างเต็มตัว

ศีลล้างบาปเป็นการชำระหรือลบล้างบาปที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด คริสตังต้องผ่านพิธีนี้ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อเป็นการยืนยันว่าตนเองได้เข้ามาเป็นสมาชิกของศาสนาจักรแล้ว จึงจะสามารถรับศีลอื่นๆ ได้ และการรับศีลล้างบาปนี้สามารถทำได้เพียงแค่ครั้งเดียวตลอดชีวิต เป็นการยืนยันความเชื่อในพระคริสต์เจ้า

“พอล้างบาปแล้วก็ยังไม่กล้าไปใส่บาตร เพราะเราควรให้เกียรติในคำมั่นสัญญาว่าจะเชื่อ แต่กราบพระไหว้พระเราก็ต้องทำ มันเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ในสังคม” จากเคยเป็นพุทธชน เมื่อเปลี่ยนศาสนาเข้ามาแล้วยังมีปัจจัยทางสังคมมิติอื่นนอกเหนือจากความเชื่อ เช่นการร่วมพิธีต่างๆ ที่ต้องมีการกราบพระ เนื่องด้วยหน้าที่การงาน เพราะสามีของเธอรับราชการครู

“การฝึกลมหายเวลาเราไม่สบายใจหรือเครียดเราก็ยังใช้วิธีนั้น มาที่นี่เขาก็ให้นับสายประคำ ให้สวด มันก็ใช้วิธีการเดียวกันคือดึงความสนใจให้เราสนใจจุดนั้นจุดเดียว” เธอพูดถึงการทำสมาธิที่ไม่ได้ทิ้งจากศาสนาพุทธไป เพราะเธอเชื่อว่าการฝึกลมหายใจนั้นเป็นหลักสากลที่หลายๆ ศาสนาก็สอนเช่นเดียวกัน

“มันมีระบบการจัดการที่ชัดเจน คาทอลิกน่ะ” เธอเล่าถึงกระบวนการเรียนคำสอนของลูกสาว เด็กคริสตังต้องตื่นแต่เช้าล้างหน้าแปรงฟันเพื่อมาเรียนคำสอน โดยผู้สอนคือซิสเตอร์หรือนักบวชหญิง จากนั้นจึงจะเข้าเรียนตามหลักสูตรของโรงเรียนรัฐตามปรกติได้ ส่วนระบบการจัดการของชุมชนคาทอลิกก็จะมีการตรวจสอบโดยสภาภิบาลวัดที่เลือกกันจากเสียงของคนในชุมชนเป็นหลัก

“ผู้นำชุมชนต้องมีมาตรฐาน ถ้าไม่ได้มาตรฐาน ชาวบ้านเขาจะไม่เอา” สายสมร พุทธิไสย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาโพธิ์คุรุราษฎร์พัฒนา สามีของเธอพูดเสริม

สำหรับชาวท่าแร่ บาทหลวงคือผู้นำทางจิตวิญญาณโดยแท้จริง ท่านมีอิทธิพลต่อความเชื่อความศรัทธา และเป็นที่พึ่งพิงในทุกๆ เรื่องของชาวบ้าน ถ้าต้องการความร่วมมือจากชาวบ้านต้องติดต่อผ่านบาทหลวงก่อน เมื่อคุณพ่อท่านเห็นว่าสมควรชาวบ้านจึงจะให้ความร่วมมือด้วย

กว่าจะเป็นบาทหลวงได้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากศึกษาจนจบชั้นมัธยมฯ แล้ว ต้องสำเร็จปริญญาตรีทางด้านปรัชญา และปริญญาโททางด้านเทววิทยาด้วย จากสกลนครต้องไปศึกษาต่อที่จังหวัดนครปฐม ระหว่างนั้นต้องผ่านการแต่งตั้งในระดับต่างๆ ประกอบด้วยผู้อ่านพระคัมภีร์  ผู้ช่วยพิธีกรรม และสังฆานุกร (Deacon) จึงจะสามารถยื่นเรื่องไปหามุขนายกหรือบิชอปเพื่อขอบวชเป็นบาทหลวงได้

“บาทหลวงคือผู้นำทางจิตวิญญาณ ถ้าเพิ่นพูดครั้งเดียวคือมันจบเลย”เขาพูดทิ้งท้าย

tarrae08
สายสมร พุทธิไสย และ ขวัญตา บุญโต เจ้าของร้านบ้านข้าวฉันท์ชนกที่เพิ่งย้ายเข้ามาเปิดร้านที่ท่าแร่ได้ 2-3 ปี
tarrae09
มุมมองจากชั้น 2 ของร้านข้าวเปียกโบราณ สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสสร้างโดยช่างเวียดนาม มีดาวประดับบ้านแสดงถึงพระพร มองลงไปเห็นถนนเส้นหลักที่มีการวาดลวดลายให้เกิดเอกลักษณ์
tarrae10
ดวงดาว สัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระเยซู ถ้าหากได้มาชุมชนแห่งนี้ เราจะสังเกตเห็นดวงดาวที่ประดับประดาอยู่เต็มไปหมด เป็นอีกหนึ่งสัญญะทางความเชื่อที่สร้างภาพจำให้กับชุมชน

คิดฮอดท่าแร่

หลังจากฉันเข้าร่วมพิธีมิสซารอบที่ 3 เสร็จ เวลาใกล้เที่ยงอากาศร้อนร่วม 40 องศาเซลเซียส ฉันพาตัวเองมาที่ร้านอาหารใกล้ๆ โบสถ์ คือร้านข้าวเปียกโบราณ

“ข้าวเปียกหนึ่งที่ค่ะ” ฉันสั่งเมนูแนะนำของร้านไป เมื่ออาหารมาก็พบว่ามันคือสิ่งเดียวกับกวยจั๊บญวน หรือกวยจั๊บอุบลที่ทุกคนรู้จัก แต่ที่นี่เรียกกันว่าข้าวเปียก เส้นเหนียวนุ่ม น้ำซุปร้อนๆ กับหมูยอหั่น เติมพริกป่นเล็กน้อย ทำให้มื้อเที่ยงของฉันที่ท่าแร่ไม่จืดชืดเกินไป ฉันซดหมดเกลี้ยง!

ฝั่งตรงข้ามมีร้านขายของฝาก เมื่อถามดูก็พบว่าทั้งสองร้านเป็นญาติกัน และแทบทุกคนที่นี่ก็เป็นเครือญาติกันเกือบหมด เพราะอพยพมาด้วยกัน ภายในร้านมีของฝากทั้งที่เกี่ยวกับท่าแร่และเป็นเครื่องประดับทั่วไป เจ้าของร้านกำลังยุ่งตลอดวันเพราะมีลูกค้าเข้าไม่ขาดสาย

หน่อย-วารุณี ศรีวรพูล เจ้าของร้านขายของฝากประจำท่าแร่เป็นผู้หญิงวัยกลางคน รูปร่างสันทัด ผมยาวรวบไว้ข้างหลังเพื่อความสะดวกในการขายของ เธอกลับมาอยู่ที่บ้านของเธออย่างถาวรเพื่อดูแลคุณแม่ หลังจากไปอยู่ต่างประเทศมาหลายปี แต่ครอบครัวของเธอก็ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่นเพราะหลังจากเธอกลับมาเพียงไม่นานก็ติดสถานการณ์โควิด-19

“แต่ก่อนที่นี่ไม่ค่อยดังนะ เป็นหมู่บ้านเงียบๆ” เธอเล่าให้ฟังถึงชีวิตวัยเด็ก วิถีความเป็นอยู่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ความผูกพันที่เธอมีต่อท่าแร่ ส่วนฉันถามต่อว่าหมู่บ้านเริ่มดังจากอะไร

“หมา” เธอตอบสั้นๆ แต่สายตาเราเหมือนจะรู้กันว่าเธอหมายความว่าอะไร

“เมื่อก่อนที่นี่เขาขายหมา เพราะมีคนเวียดนามอพยพมาอยู่เยอะ เขานิยมกินหมา เปิดตลาดขายเลยนะ” เธออธิบายต่อถึงที่มา

“หลังๆ มาเขาก็ต่อต้าน ปัจจุบันไม่มี แต่คนต่างจังหวัดมาก็ไม่กล้ากินก๋วยเตี๋ยวนะ เขากลัว”

ฉันเคยได้ยินเรื่องพวกนี้มาบ้าง เพียงแต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันเกิดขึ้นที่นี่ ตรงนี้ที่ฉันยืนอยู่

“เมื่อก่อนแม่เนี่ยยังอาย ไม่กล้าบอกว่ามาจากท่าแร่” เธอพูดต่อ แต่ถึงอย่างนั้นปัจจุบันเธอก็ภูมิใจมากที่เป็นคนคริสตังท่าแร่ การกินเนื้อสุนัขก็หมดไป เธอสามารถพูดได้เต็มปากว่าเกิดมาจากที่นี่ จากนั้นเธอเล่าต่อไปถึงเรื่องการไปทำบุญที่ “สำนักชีลับ” ในโอกาสต่างๆ

“ถ้าจะเห็นหน้าเค้าเนี่ย ไม่ได้ ถ้าเราเห็นเค้า เค้าเห็นเรา เราก็บาป เขาก็บาป” เธอพูดถึงชีลับ

เกริ่นก่อนว่าชีลับคือหญิงสาววัยรุ่นถือครองพรหมจรรย์ที่สละชีวิตธรรมดาทางโลกเพื่อถวายตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ศาสนจักร และดำรงตนเป็น “เจ้าสาวของพระเจ้า” เพื่อสวดภาวนาให้แก่เพื่อนมนุษย์ อยู่หลังกำแพงวัด ไม่มีใครสามารถเห็นหน้าพวกเธอได้ นอกจากวันที่ 30 สิงหาคม ที่เป็นวันเฉลิมฉลอง เธอจึงจะแสดงตนออกมาพบหน้าค่าตากับคริสตชนทุกคน ในวันปรกติสามารถไปขอคำภาวนากับชีลับได้ที่วัดราชินีแห่งสันติภาพ ตำบลท่าแร่ จังหวัดสกลนคร

ซึ่งฉันก็ได้เดินทางไปที่สำนักมาแล้วก่อนที่เธอจะเล่าให้ฟัง เราจะเขียนคำภาวนาที่ต้องการให้เหล่าภคินีช่วยสวดภาวนา แนบพร้อมกับเงินบริจาค ส่งไปยังตู้ที่เป็นทรงกระบอก หันหน้าเข้าหากับเธอ คั่นกลางด้วยตู้นั้นทำให้เราได้ยินเพียงแค่เสียงของกันและกัน เสียงของเธอเป็นวัยรุ่นตอนปลาย เราอาจมีอายุไล่เลี่ยกันในวัย 20 กว่าปี นั่นคือสิ่งที่ฉันจินตนาการ เพราะไม่สามารถจะมองเห็นเธอได้เลย

“ซิสเตอร์คะ หนูมาขอคำอวยพรจากซิสเตอร์ค่ะ” ฉันเปล่งออกไป เธอตอบกลับและอวยพรให้ แต่ฉันไม่สามารถเปิดเผยคำอวยให้ผู้อ่านรู้ได้ เพราะคำอวยพรนั้นเป็นความลับระหว่างซิสเตอร์ชีลับกับฉันเพียงสองคนเท่านั้น และเธอจะนำไปสวดมิสซาตอนเย็นให้ในทุกๆ คำอวยพร

วารุณีเล่าต่อว่าเธอเป็น “คริสตังนอน” หมายถึงการได้เข้าล้างบาปตั้งแต่เป็นทารกยังไม่สามารถยืนได้ ซึ่งพ่อแม่เป็นคนนำเธอเข้าพิธีตั้งแต่ยังเล็ก ส่วน “คริสตังยืน” หมายถึงคนที่ตัดสินใจเข้ารีตด้วยตนเองในวัยที่พ้นจากการเป็นทารกแล้ว

“เกิดมาก็ล้างบาปเลย เขาให้สวดเราก็สวด เกิดมาก็เป็นคริสต์กลมกลืนไปเลย ถามว่าภูมิใจไหม ก็ภูมิใจ”

ข้อมูลต่างๆ ที่เธอเล่าให้ฟังทำให้รู้สึกว่าเธอได้กลับบ้าน ที่เป็นบ้านของเธอจริงๆ บ้านที่เป็นราก ไม่ว่าเธอจะไปอยู่ที่ไหนในโลก เธอก็ต้องกลับมา “บ้าน” เพราะหัวใจของเธอเป็นคนท่าแร่

ฉันสัมผัสได้ถึงหัวใจของผู้คนที่นี่ ไม่ว่าจะเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ อยู่มาโดยตลอด หรือเพิ่งย้ายกลับมาอาศัยที่บ้าน ทุกคนต่างรักและหวงแหนวัฒนธรรมดั้งเดิมของท่าแร่ ความเป็นคาทอลิก และพร้อมจะรักษาจิตวิญญาณความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าให้คงอยู่อย่างเช่นที่เคยเป็นมา

“คนนอก” อย่างเราได้ย้อนกลับไปคิดถึงบ้าน อยากให้หมู่บ้านของเรามีความเป็นพี่น้อง เต็มไปด้วยความรัก ความเข้มแข็งและเหนียวแน่นอย่างท่าแร่

ถ้าเปรียบท่าแร่เป็นเพื่อนคนหนึ่ง เขาเติบโตมาจากการถูกต่อต้าน ทั้งจากทางภาครัฐในอดีตที่ไม่ยอมรับศาสนาคริสต์อย่างรุนแรงจนทำให้เกิดการขับไล่ และทั้งเรื่องวัฒนธรรมการกินเนื้อสุนัขที่ถูกดูหมิ่นจากใครหลายคน

จวบจนปัจจุบันที่เพื่อนคนนี้สามารถผ่านอุปสรรคที่ยากลำบากมา ทำให้เขาเป็นคนมีคุณภาพคนหนึ่งที่สามารถพัฒนาประเทศได้ จุดแข็งของเขาคือพัฒนาความรู้ความสามารถควบคู่ไปกับการดูแลรักษาจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์และมอบความรักให้แก่กัน ตามพระคัมภีร์ที่ระบุไว้ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”

รักและคิดฮอดท่าแร่