1.

ตลาดน้อย : เรื่องราวการเติบโตของชุมชนลับแลริมฝั่งเจ้าพระยา
มุมมองที่โดดเด่นของชุมชนตลาดน้อยในวันนี้คงหนีไม่พ้น street art สุดครีเอต ที่สร้างสรรค์ไว้บนกำแพงมากมาย โดยเฉพาะภาพลวดลายแบบจีน สะท้อนตัวตนของตลาดน้อยให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจอย่างง่ายดาย
2021taradnoi02
ผู้คนที่อาศัยที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ดังนั้นศาลเจ้าจึงถือเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคน และยังเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวเข้ามาชมความสวยงามอยู่เสมอ
2021taradnoi03
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลาดน้อยถือเป็นแหล่งร้านเซียงกงหรืออะไหล่รถยนต์ที่ใหญ่มากๆ แห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้
2021taradnoi04
“ณัฐ” และครอบครัว ถือเป็นตัวแทนของคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ที่นี่มานาน บางครั้งจะมาช่วยเพื่อนบ้านขายเครื่องดื่มให้นักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาถ่ายรูป street art และนิทรรศการภาพถ่ายแถวนั้น

อารัมภบท

16.45 น. (6/มี.ค./64)

ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีช้ำเฉาของยามเย็น ช่างเป็นวันเสาร์ที่ตลบอบอวลไปด้วยฝุ่นควันและประกายคราบน้ำมันเครื่องบนพื้นถนน

“เดี๋ยวนี้ตลาดน้อยดังใหญ่แล้ว” เสียงลือเสียงเล่าอ้างของคนพื้นถิ่นสัมพันธวงศ์เขาว่ากันมาเช่นนั้น

เลี้ยวซ้าย ตรงไป เลี้ยวขวา ไปข้างหน้าพอเจอทางแยกแล้วเลี้ยวขวาอีกที ฉันท่องจำคำบอกทางนั้นไว้แล้วออกเดิน…

ซอยวานิช 2 มีตรอกยิบย่อยมากเกินไปจนน่าสับสน แม้ว่าสุดท้ายแล้วทุกเส้นทางจะเชื่อมกันหมด แต่คงน่าเสียดายไม่น้อยหากจะพลาดสิ่งน่าสนใจในเส้นทางลับแลที่ไม่ได้เข้าไปสำรวจ ป้ายบอกทางชี้ไปขวามือขึ้นว่า “ตลาดน้อย” บ่งบอกว่าเรามาถูกทางแล้ว รายทางเข้าซอยศาลเจ้าโรงเกือกมีป้ายรายละเอียดของสถานที่แห่งนี้อยู่ประปราย บ้างเป็นแผ่นพับ บ้างเป็นป้ายใส่กรอบตั้งไว้ให้คนสัญจรได้แวะอ่านกัน

ตลาดน้อย แหล่งตลาดนัดค้าอะไหล่แห่งแรกในประเทศไทยตอนนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนไปแล้ว

ฉันไล่สำรวจกำแพงหลากรูปเขียนสี เห็นกรอบรูปถ่ายมากมายที่เรียงแขวนบนผนังกำแพงเล็กๆ ฉับพลันสายตาก็ไปสบกับชายวัยกลางคนท่าทางอารมณ์ดีคนหนึ่งเข้า เขาสวมเสื้อยืดสีเข้มกางเกงขาสั้น นั่งคุยกับกลุ่มผู้สูงวัยตรงร้านชำเรือนไม้ด้วยท่าทีคุ้นเคยอย่างออกรส ฉันเหลือบมองถังขายน้ำที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากเขาเท่าไรนัก หยิบน้ำกระเจี๊ยบขวดเท่าฝ่ามือขึ้นมาจ่ายเงิน แล้วนั่งลงข้างๆ เขา

“เป็นคนตลาดน้อยใช่ไหมคะ”

“ครับ เป็นคนตลาดน้อยแท้ๆ เลยแหละ” เขาพยักหน้ารับ “อยากฟังเรื่องบ้านผมเหรอ”

คราวนี้เป็นฉันที่พยักหน้าบ้าง เขายิ้ม ไม่แสดงท่าทีแปลกใจอะไร พึมพำเสียงเบาว่ามีคนมาถามอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน

บทสนทนาของเราเริ่มขึ้นง่ายๆ อย่างนั้น

“ใครจะไปคิดว่าอยู่ๆ บ้านเราจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ผมยังจำภาพตอนเด็กๆ ที่วิ่งแก้ผ้าเล่นไล่จับในซอยร้างๆ นี่ได้อยู่เลย”

เสียงทุ้มแปร่งแฝงท่าทางขบขันอยู่ในทีของ “ณัฐ” ดังเป็นจังหวะเรียบเรื่อยสม่ำเสมอ เขาบอกว่าตัวเองเป็นชาวตลาดน้อยแต่กำเนิด แต่พอเรียนจบก็ออกไปหางานหาการทำต่างจังหวัด เพราะสมัยเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วย่านตลาดน้อยไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเนืองแน่นจนเกิดอาชีพหล่อเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนทุกวันนี้

“ตอนนั้นแม่ผมยังเปิดร้านขายข้าวแกงอยู่ ทำเสร็จก็เอาออกไปเร่ขายแถวเยาวราช ผมคิดหนักแน่นว่าตรอกซอยเรามันก็มีอยู่เท่านี้ ‘ผู้หญิงค้าขาย ผู้ชายเซียงกง’ ไม่เห็นจะก้าวหน้าไปไหน ไอ้ผมก็ไม่ชอบงานช่างยนต์ อะไหล่อะไรก็ไม่ใคร่จะสันทัด พอโตมาหน่อยก็คิดอย่างเดียวว่าจะไปจากบ้าน หางานดีๆ ทำ” ณัฐพูดไปยิ้มไปเมื่อนึกถึงวันวานขึ้นมา

เดี๋ยวนี้มีคนมาเที่ยวแถวนี้เยอะแล้ว ร้านค้า คาเฟ่ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด คิดอยากกลับมาทำงานที่บ้านบ้างไหม?

เขานิ่งไปสักพักก่อนจะส่ายหน้า ระบายยิ้มจนตาหยี

“ไม่ละครับ ผมอยู่จนเบื่อแล้ว” ฉันชะงักไปเล็กน้อย พี่ณัฐดูขบขันกับท่าทีนั้นก่อนจะว่าต่อ

“อันที่จริงผมตามข่าวมาตลอดว่ามีหลายๆ หน่วยงานเข้ามาพัฒนาชุมชนเก่าแก่ของเรา รวมถึงคนในพื้นที่เองด้วย ซึ่งผมก็ชอบนะ ผมเห็นดีด้วยที่ผนังปูนซีดๆ จะมีรูปวาดของน้องๆ นักศึกษามาแต่งแต้มให้น่ามองขึ้น มีไกด์นำเที่ยว มีกิจกรรมให้ทำ และมีหลายๆ คนที่อยากรู้วิถีชีวิตธรรมดาๆ ของเรา แต่ก็นั่นแหละ ผมคงชินกับวิถีชีวิตไกลบ้านไปแล้ว”

แล้วรู้สึกยังไงบ้าง ที่อยู่ๆ บ้านที่เคยสงบเงียบออกอย่างนั้นก็มีใครไม่รู้มาเดินเที่ยวเต็มไปหมด?

“ก็แปลกตาดีครับ แต่เป็นในแง่ที่ดีนะ แม่ผมละอย่างชอบเลยที่มีคนเข้ามาซื้อของถึงที่ ไม่ต้องขนไปขายไกลๆ ที่เห็นเปิดเป็นร้านชำเล็กๆ หน้าบ้านนี่ก็เพิ่งเปิดหลังจากสังเกตว่ามีคนมาเที่ยวกันนี่แหละ ผมดีใจแทนเด็กๆ รุ่นหลังที่ต่อไปงานการใกล้บ้านก็มีหลากหลายขึ้นเยอะแล้ว

“ให้พวกเขาได้ออกไปทำงานข้างนอกเพราะชอบจริงๆ ยังดีกว่าที่จะต้องออกไปเพราะรู้สึกว่าบ้านเราไม่มีอะไรเลย เหมือนคนรุ่นผม…”

ในน้ำเสียงนั้นไม่ได้ประชดประชัน ไม่เศร้าโศกให้กับอดีต เขาดูไม่ได้เสียดายมากมาย เพียงมองต่อไปในอนาคตเท่านั้น

ฉันเพียงพยักหน้ารับ ความคิดเห็นตรงไปตรงมาเรียบง่ายของชายวัยกลางคนคนนี้จบบทสนทนาของเราอย่างสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว หลังจากนั้นเราก็กล่าวลากันด้วยรอยยิ้มสดใส ฉันเป็นเหมือนนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง และเขาก็เป็นเจ้าถิ่นที่น่ารัก

ฉันเดินแกว่งปากกาในขณะที่แสงอาทิตย์กำลังลับฟ้าผ่านศาลเจ้าเก่าแก่ ผิวหินอ่อนของมันวับวาวระริก

ความเจริญของชุมชนตลาดน้อยแห่งนี้ถูกบอกเล่ามาว่ามีการประกอบสร้างผ่านหลายมือด้วยกัน คำว่า “แต่ก่อน” ชวนให้สงสัยว่าแล้วตอนนี้ต่างไปอย่างไร เหตุใดชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ถึงมีการพัฒนาขึ้นดังเช่นทุกวันนี้ได้ เมื่อประเมินคำถามกับวิธีการหาคำตอบในใจดังนี้แล้ว

ฉันก็พบว่าตัวเองมีรายชื่อของคนที่ต้องคุยด้วยอยู่เต็มไปหมด

2021taradnoi05
ภาพขณะพูดคุยกับ ตวงพร ปิตินานนท์ สถาปนิกกลุ่มปั้นเมือง ที่รวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชนตลาดน้อยและละแวกอื่นๆ ใกล้เคียง
2021taradnoi06
ตลาดน้อยเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน walk.in.th จากการสนับสนุนของ สสส. และกลุ่มชุมชนคนรักตลาดน้อย
2021taradnoi07
บรรยากาศภายในชุมชนที่รื่นรมย์ เป็นกันเองกับนักท่องเที่ยว
2021taradnoi08
อาคารเก่า “บ้านไทง้วนเองกี่” ได้รับการบูรณะตกแต่งเพิ่มเติม ใช้เป็นสถานที่จัด “ตลาดตะลักเกี้ยะ” ขึ้น
2021taradnoi09
การจัดตลาดตะลักเกี้ยะเพื่อให้คนในและนอกชุมชนมาค้าขายสินค้าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน

2.

หมายมั่นปั้นเมือง

13.30 น. (11/มี.ค./64)

มาตรงเวลาพอดี…

“การพัฒนาชุมชนนี่มันเรื่องใหญ่นะ แล้วเราก็อยู่ของเราอย่างนี้มาตั้งนานไม่เห็นจะเดือดร้อนตรงไหน”

รุ่งจันทร์ เฉลิมวิริยะ เลขานุการ “กลุ่มคนรักตลาดน้อย” เล่าถึงมุมมองในอดีตของผู้คนในย่านจีนเก่าแก่ที่ต่างดำรงชีวิตแบบปัจเจก ต่างคนต่างอยู่ต่างทำมาหากิน แม้ครัวเรือนห่างกันเพียงผนังกั้นก็ไม่ได้สื่อสารกันมากมาย พวกเขาในตอนนั้นมองว่าการจัดการชุมชนเป็นเรื่องวุ่นวาย ไกลตัว และไม่ได้เกิดประโยชน์มากมายนัก และถึงจะมีคนเล็งเห็นก็มีน้อยนิดเพียงหยิบมือจึงยังไม่เกิดการก่อร่างสร้างสิ่งใดเป็นรูปธรรมขึ้นมา สุดท้ายแล้วแนวคิดการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดก็ยังเป็นได้แค่แนวคิดต่อไป

แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย เมื่อทีมงาน “โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินแผนงานในหัวข้อ “การสร้างเมืองแห่งสุขภาวะ” ได้ก้าวเข้ามาฝังตัวทำงานร่วมกับคนในชุมชนในนามของกลุ่มสถาปนิกสายพัฒนาที่มีชื่อว่า “ปั้นเมือง”

“ในเวลานั้นถ้าย้อนไปก็น่าจะประมาณสัก 10 ปีได้ พื้นที่ย่านตลาดน้อยคนก็ยังไม่ได้รู้จักกันมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ก็จะรู้จักแค่เยาวราชแล้วก็ข้ามไปบางรักเลย แต่ว่าคนในรุ่นพ่อแม่เรา รุ่นอากงอาม่าก็จะรู้จักในแง่ที่ว่าเป็นย่านเก่าแก่ที่มีอาหารอร่อย เราก็เลยลงสำรวจพื้นที่กับทีมงานดู พบว่าย่านนี้เป็นแหล่งอยู่อาศัยที่น่าสนใจมาก คือมันเป็นชุมชนที่ยังมีคนอาศัยอยู่จริงๆ บางบ้านยังยึดถืออาชีพของบรรพบุรุษ ยังมีงานวัฒนธรรมเก่าๆ และมีบ้านโบราณที่ยังเก็บรักษาไว้หลายหลังด้วยกัน ซึ่งมันค่อนข้างจะคอนทราสต์กับบรรยากาศรอบๆ ของชุมชนเมือง”

ตวงพร ปิตินานนท์ สถาปนิกและหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของกลุ่มปั้นเมืองได้อธิบายความน่าสนใจของพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เช่นนั้น

“คิดยังไงกับการมาของพวกเขาหรือคะ” ฉันถามพาซื่อ รุ่งจันทร์กล่าวยิ้มๆ

“ตอนแรกก็งงๆ แต่เขาเป็นคนนอกที่เข้ากับคนในชุมชนได้ดี ทักทายไปมาหาสู่กันอยู่เป็นปีก็ได้ชวนชาวบ้านมานั่งจับวงคุยว่าชุมชนกำลังมีปัญหาอะไรไหม มีส่วนที่อยากแก้ไขหรือเปล่า ซึ่งปัญหามันมีอยู่แน่นอนแหละ คนเสนอเลยเต็มไปหมด แต่พอถามถึงวิธีแก้ก็เงียบกริบกันทั้งวง เราไม่รู้ว่าควรจัดการปัญหากันอย่างไร นอกจากบ่นไปว่ามันมีปัญหา จนกระทั่งเขามาชวนคิด ชวนทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา”

รุ่งจันทร์ยังบอกอีกว่า เมื่อครั้งก่อนราวๆ 5-6 ปีมาแล้วที่มีกิจกรรม “เดินทอดน่องท่องย่านจีน” จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ตัวเธอและคนในชุมชนแปลกใจมาก เมื่อมีคนนอกเข้ามาถ่ายรูปบ้านเก่าๆ ของชาวบ้าน ถามความเป็นมาของมันอย่างสนอกสนใจ ขนมหน้าปากซอยที่ซื้อกินกันอยู่ทุกวันจนเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นแล้วเหมือนของหายากที่ไม่เคยพบเจอที่ไหนมาก่อน เป็นตอนนั้นเองที่ชาวตลาดน้อยเริ่มตระหนักว่า นี่บ้านเรามีดีขนาดนี้เลยเหรอ

“สายตาคนนอกกับคนในไม่เหมือนกัน ชาวบ้านที่นี่เห็นศาลเจ้า โรงกลึง หรือบ้านเก่าแก่มาตั้งแต่เกิด ไม่แปลกอะไรเลยถ้าพวกเขาจะคิดว่ามันธรรมดา เพราะเห็นมันจนเป็นปรกติ แต่ถ้ามีใครสักคนบอกเขาว่า เฮ้ย บ้านเธอเจ๋งจังเลย เหมือนที่เราก็รู้สึกว่าชุมชนของพวกเขาน่าสนใจ เรามองว่ามันจะเป็นการเปิดอีกมุมมองหนึ่งให้พวกเขา และเป็นการรีเช็กไปในตัวด้วยว่าถ้าถึงวันหนึ่งที่ชาวตลาดน้อยอยากลุกขึ้นมาจัดการอะไรสักอย่างกับชุมชนของตัวเอง มันจะสามารถไปในทิศทางไหนได้บ้าง”

ตวงพรได้ขยายความเป็นมาของกิจกรรมนั้น และเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในมุมมองการพัฒนาว่า จริงๆ แล้วเสน่ห์ของตลาดน้อยที่เธอเห็นอีกอย่างคือ การที่ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้มีคนอาศัยอยู่จริงๆ มันทำให้พวกเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน มีความผูกพันกับมัน

“เราคิดว่าการจะพัฒนาชุมชนนั้นเป็นเรื่องของหลายฝ่ายและต้องเกิดจากความต้องการของคนในชุมชนเอง แนวทางของเราไม่ใช่เอาโครงการมาโยนปึ้งลงตรงหน้าพวกเขาแล้วบอกว่าฉันจะทำอะไรให้คุณ แต่เป็นการถามพวกเขามากกว่าว่าอยากให้เราช่วยอะไรไหม คอยเป็นตัวกลางให้เขาเห็นแนวทางในอนาคตชัดขึ้น ถ้าโครงการไหนเราเสนอไปแล้วชาวบ้านบ้านไม่เอา ไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ทำ เราถือว่านั่นไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา” เธอย้ำหนักแน่น

จุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ชุมชนตลาดน้อยคือการได้ไปศึกษาการอนุรักษ์ย่านเก่าในปัตตานี ภูเก็ต และปีนัง (เมืองจอร์จทาวน์) เมื่อชาวชุมชนย่านจีนถิ่นไทยได้เห็นแบบแผนชุมชนอื่นๆ พวกเขาได้รับแนวคิดและแรงบันดาลใจมากมายที่คิดจะนำมาต่อยอดกับชุมชนของตัวเองบ้าง ซึ่งความตั้งใจนั้นทำให้เกิดกลุ่ม “คนรักตลาดน้อย” ขึ้นมา

“เราเชื่อว่าอะไรที่เขามีเราก็มี เขาทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้” รุ่งจันทร์กล่าวด้วยน้ำเสียงมั่นคง

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการของชุมชนลับแลแห่งนี้ จากนั้นทางทีมงานกลุ่มปั้นเมืองและชาวตลาดน้อยมีการจัดประชุมหารือกันสม่ำเสมอ จากต่างคนต่างอยู่ก็เริ่มหันหน้าเข้าหากัน มองเห็นอนาคตชุมชนร่วมกันเป็นภาพใหญ่ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

พวกเขาเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว คือการจัดประเพณีกินเจที่ศาลเจ้าโจวซือก๋ง ซึ่งปรกติก็จัดเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว หากแต่ปีนั้นคงเป็นความร่วมมือครั้งแรกในฐานะชุมชนผู้จัดงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างไหว้เจ้าแล้วกลับบ้านไป ซึ่งผลตอบรับก็บรรลุผลสำเร็จอย่างงดงาม จึงมีการจัดประชาสัมพันธ์งานประเพณีอื่นๆ ออกสู่สายตาคนนอกชุมชนมากขึ้น ทั้งงานไหว้พระจันทร์และตรุษจีน ความสำเร็จนั้นสร้างความมั่นใจให้คนในชุมชนขึ้นมากและมีกำลังใจในการพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองในด้านอื่นๆ เป็นลำดับ ทั้งการทำแผนที่ชุมชนและการสำรวจร้านรวงต่างๆ ในตรอกซอยตลอดพื้นที่ 1.45 กิโลเมตรนี้

เมื่อชาวตลาดน้อยสร้างตัวตนเป็นที่รู้จักในนามชุมชนสายวัฒนธรรมไทยจีนแล้วก็มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเข้ามาเยี่ยมเยือนมากขึ้น ตรงจุดนั้นเองที่ทำให้เกิดแนวคิดปรับปรุงภูมิทัศน์ของอาณาบริเวณโดยรอบ

“วันหนึ่งมีชาวบ้านเขาเสนอว่าน่าจะมีภาพวาดอยู่ตามกำแพงให้คนที่มาเยี่ยมเยียนได้รับรู้เรื่องราวของวิถีชุมชนตลาดน้อย เพราะหากจะเขียนไว้หรือติดป้ายประกาศก็จะมีกำแพงภาษากับชาวต่างชาติ เมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นความคิดที่ดี ทางกลุ่มปั้นเมืองก็ติดต่อรุ่นพี่รุ่นน้องและอาสาสมัครมาช่วยกันวาดภาพบนกำแพงศาลเจ้าโรงเกือกขึ้น ตอนแรกอาจไม่สวยถูกใจกันเท่าไรนักก็วาดทับและปรับปรุงกันจนมาเป็นกำแพงศิลปะอย่างที่เห็น ต่อมาก็มีการปรับปรุงบ้านเก่าหลายหลังเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ไว้” ตวงพรเล่าต่อราวกับว่ากำลังรำลึกถึงความหลัง ส่วนรุ่งจันทร์กลับไปก่อนแล้ว เพราะมีงานที่ต้องสานต่อเกี่ยวกับชุมชนเล็กๆ ที่กำลังพัฒนาแห่งนี้

“พอชุมชนเริ่มเป็นที่รู้จักในนามย่านสตรีตอาร์ตก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาขอจัดทัวร์ มีนักศึกษาเข้ามาขออนุญาตศึกษาทำโครงงานวิจัย พอพวกเขาเข้ามาก็มีคนรู้เรื่องราวทั้งเก่าใหม่ของที่นี่เพิ่มขึ้นเยอะ และทำให้ชุมชนมีรายได้ในตัวเอง”

ตวงพรกล่าวต่อไปว่า ชุมชนแห่งนี้เคยสงบเงียบมาก พอเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็อาจจะกระทบวิถีชีวิตเดิมอยู่บ้าง มีกระทบกระทั่งกันตามประสา ซึ่งก็ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ชุมชนยินดีจะเรียนรู้และปรับให้เข้ากับวิถีของตน

หากมีนักท่องเที่ยวมากเกินไปในแต่ละเทศกาล การไหว้ขอพรเทพเจ้าของพวกเขาคงไม่ราบรื่นนัก จึงต้องจำกัดจำนวนคน

หากมีทัวร์จักรยานเข้ามาเยอะแยะเกะกะทางสัญจรก็คงไม่สบายตาสบายใจกัน จึงต้องสร้างกฎกติการะหว่างกันให้เรียบร้อย

“ชุมชนเป็นฝ่ายเลือกเสมอว่าต้องการอะไรสำหรับวิถีชีวิตของตัวเอง เราเน้นย้ำอยู่ตลอดว่าไม่ได้ต้องการให้ตลาดน้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่มีคนเข้าชมเป็นอาชีพหลัก เป้าหมายของเราคือการสร้างสรรค์เมืองแห่งสุขภาวะ ทั้งด้านรายได้ การมีส่วนร่วมของสังคม การสร้างพื้นที่สาธารณะ หรือการสร้าง active citizens ที่มีความเชื่อว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนกันต่อไปได้ และมันจะเกิดไม่ได้เลยหากคนในชุมชนไม่เอาด้วย”

ความเงียบพลันแทรกเข้ามาในบทสนทนาระหว่างเรา เป็นช่วงเวลาที่มีความคิดมากมายเกิดขึ้นในหัว ทำให้ฉันไม่มั่นใจว่ารู้สึกกังวลถึงวิถีชีวิตเก่าจะหายไปหรือแปลกใจที่ชุมชนปรับตัวได้ดี

สุดท้ายจึงยิงคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับความคิดนั้นออกไป

“คุณมีความสุขไหมคะกับการทำงานนี้ หมายถึงความสุขของการทำงานนี้คืออะไร”

ตวงพรนิ่งไปก่อนจะเอียงคอนิดๆ แล้วเปล่งเสียงตอบ

“เป็นคำถามที่ตอบยากอยู่นะ เราอาจไม่เคยถามตัวเองมาก่อนด้วย แต่มันไม่ใช่แนวคิดสวยๆ อย่างฉันดีใจที่สังคมดีมีความสุขหรอกนะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่ามันเป็นงานของเราและเราเต็มที่กับมัน เรามีเงินเดือนและมันไม่ใช่การทำบุญหรือบริจาคความคิด ซึ่งงานสถาปนิกชุมชนนี้ถ้าอยู่ในต่างประเทศก็คงไม่แปลกอะไร แต่พอมาอยู่ที่ไทยมันดูกลายเป็นงานที่เสียสละเฉยเลย ซึ่งเราแฮปปี้นะที่ได้ทำงานของเราตรงนี้ ได้เห็นผลผลิตที่ตั้งใจไว้ ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่เราผูกพัน แต่มันไม่เกี่ยวกับคุณความดีใดๆ เลย” เธอกล่าวย้ำ

ฉันพยักหน้า ไม่แน่ใจว่าได้คำตอบที่ต้องการหรือเปล่า แต่คิดว่าประโยคนี้ต้องมีความหมายที่คุณผู้อ่านได้ตีความต่อแน่ๆ จึงตวัดปลายปากกาจดลงมาฉะนี้

“ขอบคุณค่ะ”

การบอกลาของเราเรียบง่ายเช่นนั้นเอง

2021taradnoi10
สินค้าส่วนใหญ่ผลิตและขายเอง ร้านเสื้อยืดนี้เป็นหนึ่งในร้านสินค้า hand made โดยนั่งวาดลายเสื้อให้เห็นกันจริงๆ สัมผัสได้ถึงความใส่ใจในสินค้าทุกชิ้น
2021taradnoi11
ผู้อาวุโสคนนี้ชี้แผนที่ในภาพ street art และให้ข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว แสดงให้เห็นถึงน้ำใจและความสามารถในการสื่อสารเรื่องราวท้องถิ่นชองสมาชิกในชุมชน และพร้อมจะร่วมกันผลักดันให้ตลาดน้อยโดดเด่นขึ้นมาได้
2021taradnoi12
ทิพย์สุวรรณ ตั้งอมรสุขสันต์ (ขวา) เจ้าของร้าน House of Commons ที่ตั้งอยู่ในชุมชน ผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวไปตามตรอกซอย ถึงแม้เธอจะไม่ได้อยู่ที่นี่มานาน แต่ก็อาสาพาเราเดินสำรวจพร้อมให้ข้อมูลตามประสบการณ์ที่ประสบพบเจอ
2021taradnoi13
าพสะท้อนในกระจกคาเฟ่แห่งหนึ่งภายในตลาดน้อย เผยให้เห็นถึงเรื่องราวในชุมชนผ่านภาพถ่ายและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว

3.

ทิ้งท้าย

19.45 น.

กลับบ้านมืดค่ำอีกแล้ว…

ฉันตัดสินใจเตร็ดเตร่อยู่ต่ออีกหน่อย อยากรู้ว่าวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน อาจกลายเป็นย่านท่องเที่ยวที่มีห้างร้านเปิดแม้ยามดึกดื่น หรือจะยังคงใช้วิถีชีวิตเรียบง่ายกันอย่างเดิมอยู่

แต่ไม่ว่าเป็นอย่างไหนก็ได้ทั้งนั้น ฉันเป็นเพียงนักเดินทางผู้ใคร่รู้ ไม่ใช่ผู้ชี้วัดคุณภาพชุมชน ฉันเดินออกจากตรอกทางเดิม แหงนหน้ามองภาพวาดหลากสีที่ประดับทาบทับกำแพงไว้ จินตนาการถึงภาพกำแพงตอนยังไม่มีภาพวาด

นึกไม่ออก…

บางทีการเปลี่ยนแปลงคงเป็นเช่นนั้นเอง ตอนกำแพงยังเป็นปูนเปลือยเปล่าซีดมันก็ยังค้ำจุนสิ่งปลูกสร้างและไม่ได้ด้อยค่าตรงไหน แต่พอมีภาพมาวาดทับตอนนี้ปราการค้ำจุนแห่งนี้ก็มีสองหน้าที่ขึ้นมาแล้ว คือ เป็นทั้งสิ่งค้ำจุนอาคารโดยรอบและบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตลาดน้อยที่ดำรงอยู่มายาวนานหลายยุคสมัย กำแพงก็ยังไม่ได้ด้อยค่าลงตรงไหนอยู่ดี

ฉันเดินออกมาตรงเส้นทางเดิม ร้านขายของชำปิดแล้ว พี่ณัฐก็ไม่อยู่แล้ว คงกลับไปทำงานที่ต่างจังหวัด รายทางต่อมานักท่องเที่ยวก็ทยอยแยกย้าย พวกเขาคงกลับบ้าน ถัดมาไม่ถึง 10 เมตรมีบ้านสี่หลังเปิดไฟอยู่คล้ายจะเป็นร้านกาแฟเปิดใหม่

โรงกลึงเหล็กปิดแล้ว ร้านดังของชุมชนก็ปิดแล้ว…ตลาดน้อยตอนนี้คงดูเงียบคล้ายตอนยังไม่โด่งดังขึ้นมากระมัง

ฉับพลันก็มีรถเครื่องสามล้อคันหนึ่งแล่นเข้ามา ฉันเอนตัวหลบ คุณยายสูงวัยคนหนึ่งนั่งคร่อมที่นั่งคนขับ ภาพที่รถคันเก่ากับคนเก่าที่เคลื่อนผ่านผนังกราฟฟิตีและกรอบรูปหลากลายอันเป็นของประดับดูกลมกลืนเข้ากันได้อย่างประหลาด

ฉันปิดสมุดบันทึกลง คิดว่าชุมชนที่เอาแต่ใจใช้ชีวิตอย่างที่ตนต้องการได้นั้นก็เท่ดีเหมือนกัน

“ใครใคร่ย้ายออกก็ย้ายไป ใครใคร่อยู่ไซร้ ล้วนธำรงพัฒนา

จริงๆ คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ประโยคแรกเริ่มของพี่ณัฐที่ทำให้ฉันสนใจที่นี่

“ให้พวกเขาได้ออกไปทำงานข้างนอกเพราะชอบจริงๆ ยังดีกว่าที่จะต้องออกไปเพราะรู้สึกว่าบ้านเราไม่มีอะไรเลย เหมือนคนรุ่นผม…”

ตอนนี้ที่นี่มีอะไรตกทอดให้คนรุ่นหลังมากมายทีเดียว