เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร
ภาพ : ศิริรักษ์ วงศ์ซิ้ม

ท่ามกลางแดดอันร้อนระอุในเดือนเมษายน 2557 ฉันยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ในดงมวลมหาชน เหงื่อไหลไคลย้อยลงมาถึงช่วงกลางตัว พลางยกแขนขึ้นดูนาฬิกาอย่างร้อนรน

กำลังจะสายแล้วเราฉันรู้สึกเป็นกังวล เพราะยืนรอมาร่วมครึ่งชั่วโมงแล้ว และไม่รู้ว่าจะต้องรอไปอีกนานแค่ไหน แต่ในที่สุดรถคันจิ๋วก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้ามาที่ป้าย

บรื้น บรื้น บรื้น…

ควันดำพวยพุ่งพร้อมเสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นจากสามล้อสองแถว บรรทุกผู้โดยสารเกือบเต็มคันรถ จอดเทียบทางเท้าเมื่อมีคนโบก ฉันในชุดนักศึกษาก้าวขึ้นท้ายรถเติมที่สุดท้ายให้เต็ม นั่งคุดคู้ มือหนึ่งปิดจมูกแน่นเพราะกลิ่นควัน อีกมือต้องโหนราวจับไว้เพื่อป้องกันการกระชากของรถ

ทำไมเราต้องเสียพลังงานและเวลาชีวิตไปกับการเดินทางขนาดนี้เนี่ยฉันตั้งคำถามกับตัวเองและรู้สึกละเหี่ยใจกับทางเลือกในการเดินทางที่มีอยู่

Muvmi : Move เมืองด้วยตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า
first mile และ last mile ยังคงเป็นจุดอ่อนที่แก้ไม่ตกของระบบขนส่งสาธารณะไทย มูฟมีเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องโหว่นี้ ลดปัญหาการเดินทางจากตรอกซอกซอย แม้เดินทางเป็นกลุ่มใหญ่ มูฟมีสามารถนั่งได้ถึงหกคน โดยสามารถแจ้งได้เมื่อกดเรียกรถ

นาทีทอง

สิบหกนาที คือระยะเวลาในอุดมคติที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางต่อเที่ยว

จากการวิจัยของแพทริเซีย มอคห์ทาเรียน วิศวกรจราจรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิส บอกว่า คนส่วนใหญ่ต้องการใช้เวลาเพียง 16 นาทีในการเดินทาง ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรูปแบบใดก็ตาม โดยมีรายงานเพิ่มเติมว่า ระดับความพึงพอใจในชีวิตของคนที่ใช้เวลาเดินทางนานกว่านั้นตกฮวบ

แต่สิ่งนี้ก็แทบจะเกิดขึ้นได้ยากในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เว้นเสียว่าคุณจะมีที่อาศัยใกล้กับโรงเรียนหรือที่ทำงาน จนกลายเป็นผู้โชคดีที่ไม่ต้องใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมง

เพราะอะไรไม่ต้องสืบ ก็กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 ของเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลกจากการสำรวจมานักต่อนัก แม้คุณจะมีรถยนต์ส่วนตัวขับไปถึงที่หมายก็ไม่ช่วยให้ 16 นาทีนั้นเป็นไปได้ ตรงกันข้ามมันเป็นตัวการสำคัญยิ่งที่ทำให้เราติดชะงักอยู่บนท้องถนนมากขึ้นเป็นหลักชั่วโมง

และหากคุณไม่ใช่คนที่อยู่ติดแนวรถไฟฟ้า แถมที่ทำงานก็ไม่ได้ติดแนวรถไฟฟ้า การเดินทางไปทำงานแต่ละวันมันคือ…นรกชัดๆ

กว่าจะออกจากซอยบ้านที่ลึกเป็นกิโลเพื่อออกมาขึ้นรถสาธารณะ ก็ไม่แปลกและก็ไม่ผิด ถ้าวันนี้คุณเลือกที่จะขับรถแทน

แต่ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่านี้สะดวกกว่านี้ เป็นใครก็คงยอมสละรถส่วนตัวบ้างในบางครั้ง ว่าไหมล่ะ

ทุกเช้าฉันต้องออกไปรอรถหน้าปากซอย กะเวลาเผื่อวันไหนรอรถนาน เพราะสามล้อสองแถวตัวดีที่มาไม่เคยตรงเวลาสักครั้ง ฉันมีทางเลือกอยู่สี่แบบในการเดินทาง

หนึ่ง สามล้อสองแถวต่อเรือข้ามฟาก…ราคาสมเหตุสมผล แต่เวลาไม่แน่นอน
สอง รถเมล์ต่อเดียวถึง…ราคาสมเหตุสมผล แต่เวลาไม่แน่นอนและอ้อม
สาม แท็กซี่ต่อเดียวถึง…ราคาสูงและอ้อม
สี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อเรือข้ามฟาก…ราคาสูง แต่เร็ว

เมื่อเทียบทางเลือกทั้งหมดที่มี ฉันจึงมักเลือกนั่งสามล้อสองแถวและต่อเรือข้ามฟาก ซึ่งกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชีวิตนักศึกษาอย่างฉัน

สามล้อสองแถวก็คือรถสามล้อหรือตุ๊กตุ๊กดัดแปลง เปลี่ยนที่นั่งปรกติให้เป็นสองแถวเหมือนรถแดงเพื่อรับผู้โดยสารให้มากขึ้นและไม่ได้คิดเงินราคาเหมา แต่คิดเป็นรายหัว สายประจำของฉันคือศิริราช-วัดดงมูลเหล็ก-วัดอัมพวา ในราคา 8 บาทสำหรับตอนกลางวัน และ 10 บาทหลัง 1 ทุ่ม

คำนวณแล้วใน 1 วัน ฉันหมดเวลาไปกับการเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมง กับระยะทางแค่ไม่ถึง 5 กิโลเมตรด้วยซ้ำ

ไม่อยากจะคิดถึงคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาทั้งชีวิต ช่างสยดสยองเหลือเกิน แต่ฉันก็ทนทุกข์กับบริการขนส่งสาธารณะมาจนเข้าสู่วัยทำงาน ได้เห็นวันที่รถไฟฟ้า BTS แถวที่พักเก่าสร้างเสร็จ (สักที) และจนวันนี้ที่มีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าให้บริการในฐานะขนส่งมวลชน

ใช่ คุณอ่านถูกแล้ว…รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

muvmi2
การเดินทางแลกมาด้วยเวลาและค่าใช้จ่าย มูฟมีเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาระการเดินทางของผู้โดยสารในเขตเมืองหนาแน่น

ตรอก ซอก ซอย

ปี 2564 รถไฟฟ้าที่ได้ชื่อว่าเป็นระบบขนส่งหลัก (mass transit) ก็ทยอยสร้างเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้งาน รวมถึงสถานีใกล้กับที่พักเก่าฉันสมัยเรียนด้วย

แต่ไม่ว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จอีกกี่สายก็ไม่เคยแก้ปัญหารถติดได้เลย ที่เรามักพูดกันประจำช่วงรถไฟฟ้ากำลังสร้างก็ไม่เคยเป็นจริง–เดี๋ยวรถไฟฟ้าสร้างเสร็จรถก็ไม่ติดแล้ว

เรื่องโกหกคำโตนี้ตามหลอกหลอนและกักขังชีวิตคนในเมืองมาแล้วกี่ทศวรรษก็คร้านจะนับ แต่หากไปถามผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการการพัฒนาเมืองก็อาจค้นพบและเห็นภาพความจริงบางอย่าง

“โครงสร้างของเมืองไม่ได้ถูกคิดทุกสเกลไปด้วยกัน มันไม่สามารถที่จะมีรถไฟฟ้าแล้วจบ คนลงจากรถไฟฟ้าเสร็จไปยังไงต่อดีล่ะ ไม่รู้แล้ว เราจึงเห็นระบบขนส่งมวลชนเล็กๆ ระบบรองเกิดขึ้น”

คือคำสรุปจากดอกเตอร์พีรียา บุญชัยพฤกษ์ นักออกแบบชุมชนเมือง ที่เพิ่งกลับจากลอนดอนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหมาดๆ และหลังจากทำวิจัยเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างของเมือง ว่าเมืองมีความสามารถในการเข้าถึงอย่างไรได้บ้าง เธอก็ได้คำตอบว่าทำไมการมีรถไฟฟ้าถึงไม่ช่วยให้รถหายติด

คุณจะลองกางแผนที่…ไม่ใช่สิ เปิดกูเกิลแมปส์ดูตามไปพร้อมๆ กันก็ได้

“เพราะรถไฟฟ้าวิ่งอยู่แค่ถนนเส้นหลักๆ ของเมือง”

เธอเฉลย พร้อมอธิบายให้เห็นภาพถนนเส้นรองที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ซ้ำไม่เคยถูกจัดการให้เหมาะสมกับปัญหาที่มี คือจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางหลักเข้าไปยังตรอกซอกซอย ซึ่งเป็นที่อาศัยของคนจำนวนมาก

รถสามล้อคันสีฟ้าเหลืองส่งเสียงกระหึ่มเมื่อทะลุตัวเข้าไปในซอยแคบๆ เพื่อส่งผู้โดยสาร

“วินมอเตอร์ไซค์ รถกะป๊อ รถแดง พวกนี้จึงเกิดขึ้นมาเต็มไปหมดเพื่อแก้ปัญหา แต่มันไม่เคยถูกคิดเป็นระบบให้แต่ละชนิดสอดประสานกัน ทำให้เราไม่สามารถวางแผนชีวิตได้ แล้วก็ทำให้เราเสียพลังงานและเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์”

ความหลากหลายของตัวเลือกในการเดินทางคือข้อดี และการรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นจุดแข็งของบ้านเรา เพียงแต่ขาดการวางแผนอย่างรัดกุมและคิดให้รอบด้าน ก็เหมือนฟันเฟืองในเครื่องจักรกลที่ต่างคนต่างทำงาน และไม่สามารถขับเคลื่อนเฟืองวงใหญ่ให้หมุนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขน ส่ง

“มูฟมีมาแล้ว อยู่ย่านไหน ไปหรือกลับ เรียกมูฟมีมารับได้เลย”

สโลแกนท้ายรถตุ๊กตุ๊กคันหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็นระหว่างรอรถเมล์อยู่ที่ป้าย หน้าตาเหมือนสามล้อไม่มีผิด รอบคันมีตุ๊กตุ่นหน้าตาเป็นมิตร แถมไม่มีเสียงอีกต่างหาก

“มูฟมี” เหรอ ทำไมเหมือนตุ๊กตุ๊กเลยล่ะ

แต่ฉันก็คลายสงสัยเมื่อได้พบกับตี้-ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค เจ้าของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแบรนด์ Muvmi (มูฟมี) ร่วมกับพรรคพวกอีกสามคน คือ ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล และ ดร.เมธา เจียรดิฐ

แต่ละคนต่างทำหน้าที่ที่ตนถนัดและมีประสบการณ์มา ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหาร เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือแม้แต่ธุรกิจที่เป็นจุดแข็งและหน้าที่ของศุภพงษ์

มูฟมีคือธุรกิจรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่จะรับ-ส่งคุณจากสถานีรถไฟฟ้าให้ถึงที่หมายภายในย่าน ผ่านการเรียกแบบตามต้องการ (on-demand) บนแอปพลิเคชัน ทำให้เราสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เคยเข้าถึงได้ยากโดยที่ไม่ต้องมีรถส่วนตัว

“เป้าหมายแรกคือเราจะเสิร์ฟคนเดินทางจากบ้านไปขนส่งสาธารณะ และจากขนส่งสาธารณะไปออฟฟิศ หรือที่เรียกว่าทฤษฎี ‘ต่อแรกและต่อสุดท้าย (first and last mile)’ ด้วยรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า”

ฉันพยายามสรุปความจากที่เขารีบอธิบายให้ฟัง ฉบับเข้าใจง่ายที่สุด หลังจากฝ่ารถติดหน้าปากซอยอารีย์เข้ามาที่ออฟฟิศหลักบริเวณชุมชนคนสร้างสรรค์ ที่ชื่อว่า 33 สเปซ (33 Space)

บริการจากมูฟมีเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง เชื่อมต่อผู้คนจากชุมชนเข้าสู่เส้นทางหลัก และจากเส้นทางหลักกลับเข้าสู่ชุมชน กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจจะทำให้เส้นการเดินทางในแต่ละวันสะดุดน้อยลงและใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

ก็เพื่อ “ขน” คนจากระบบขนส่งหลัก มา “ส่ง” ยังถนนสายรองที่มีแต่ซอกซอย
และ “ขน” คนจากตรอกซอกซอย ไป “ส่ง” ที่ระบบขนส่งหลักอย่างรถไฟฟ้านั่นเอง

muvmi4
ตุ๊กตุ๊ก ภาพจำแห่งเมืองกรุงของใครหลายคน จอดเคียงกับมูฟมี ระบบขนส่งใหม่ที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางในกรุงเทพฯ เมืองหลวงอันตื่นตัว

ต่อแรกและต่อสุดท้าย

ทำไมถึงไม่นั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามาทำงานล่ะ

คำถามที่ฉันมักจะตั้งกับคนรอบๆ ตัว เพราะคิดว่าถ้าทุกคนใช้บริการรถสาธารณะหมด ปัญหารถติดก็คงจะคลี่คลาย แต่เท่าที่สำรวจมาแท้จริงแล้วบางคนก็ไม่ได้อยากเดินทางด้วยรถส่วนตัว

ถนนหนทางที่ไม่เป็นระเบียบ บ้านที่อยู่ในซอยลึก และรถสาธารณะที่เข้าไม่ถึงต่างหากที่ทำให้หลายคนตัดสินใจใช้รถส่วนตัว แม้รู้ทั้งรู้ว่าขับออกจากบ้านไปยังไงก็เจอรถติด

“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ใช้รถสาธารณะนะ ผมชอบขับรถ แต่การขับในกรุงเทพฯ ก็เป็นอะไรที่ทรมานมาก”

นักธุรกิจประจำแบรนด์มูฟมีเผยความในใจ เขาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองและสนใจเรื่องรถราเป็นพิเศษ จึงใช้เวลากับก๊วนเพื่อนอีกสามคนมานั่งคิดหาทางออกให้กับปัญหานี้ จนสร้างธุรกิจขนส่งสาธารณะขนาดย่อม (micro transit) ขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง ด้วยการใช้พาหนะที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมอย่างสามล้อตุ๊กตุ๊ก

ความคิดดีนี่

เหมือนกับที่อาจารย์พีรียากล่าวชมยานพาหนะชนิดนี้ว่าเป็นระบบการเดินทางที่มีศักยภาพสูง ด้วยความเป็นรถคันเล็กเข้าตรอกซอกซอยได้ เหมาะกับเมืองเช่นกรุงเทพฯ แถมหน้าตายังดูเป็นมิตรอีกต่างหาก

“ผมไม่ขึ้นรถไฟฟ้า เพราะไปถึงรถไฟฟ้าอาจจะง่าย แต่พอถึงปลายทางแล้วผมจะไปต่อยังไง มันไม่ต่อเนื่อง แล้วถ้าต้องเดินทางอีกสามสี่ที่ในพื้นที่นั้นๆ ก็ไม่สะดวก สู้เอารถไปทีเดียวเลยดีกว่า”

ส่วนฉันยังนับว่าโชคดีกว่าหลายคนที่อยู่บ้านในซอยลึก ต่อแรกจึงเป็นเพียงการเดินเท้าออกมาจากซอย แค่ต้องผ่านถนนเฉอะแฉะ ทางเท้าอันขรุขระ และข้ามถนนไปอีกฝั่งเพื่อจับรถเมล์ไปทำงาน

แต่นั่นก็ต้องใช้รถเมล์ถึงสองต่อด้วยกัน

muvmi5
ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ นักออกแบบชุมชนเมือง เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การอยู่เมืองหลวงที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและเปรียบเทียบให้เห็นปัญหาของกรุงเทพฯ

ตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า

แปดสิบกิโลเมตรคือจำนวนระยะทางที่ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าใช้วิ่งได้ต่อระยะการชาร์จเพียงครึ่งชั่วโมง คนขับรถอาจปล่อยให้รถได้ชาร์จไฟระหว่างเวลาพักเที่ยงก็สามารถให้บริการต่อได้ทันที

สิ่งที่ต่างจากภาพจำตุ๊กตุ๊กของเดิมคือเบาะที่นั่งที่ห้อยขาได้ไม่อึดอัดและหันหน้าเข้าหากัน และจอสั่งการที่อยู่ระหว่างพวงมาลัยของโชเฟอร์ จออัจฉริยะจะส่งข้อมูลให้คนขับเมื่อผู้โดยสารกดเรียกรถในแอปพลิเคชันบนมือถือ ผ่านหลังบ้านที่ใช้อัลกอริธึมคอยจัดการดึงข้อมูลผู้ใช้บริการจับคู่เข้าหากับรถคันที่ว่างและอยู่ใกล้ที่สุด เราจึงไม่สามารถโบกตุ๊กตุ๊กคันนี้ได้เหมือนตุ๊กตุ๊กทั่วไป หรือตุ๊กตุ๊กสามล้อที่ฉันเคยนั่งสมัยเรียน

ฉันยืนอยู่ข้างๆ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใจกลางสามย่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในหกพื้นที่ให้บริการของมูฟมี ด้วยความที่อยากทดลองด้วยตัวเองดูสักครั้ง จึงเรียกไปกินข้าวแถวถนนบรรทัดทอง ที่ปรกติไม่มีรถประจำทางวิ่งผ่านจากบริเวณนั้น

รถกำลังยุ่ง (Busy)

สถานะบนหน้าจอโทรศัพท์ขึ้นบอกระยะเวลาที่ใช้รอ 30 นาที คำนวณราคาตามระยะทาง พร้อมระบุป้ายทะเบียนรถคันที่เราจะได้ขึ้นและแปะหน้าพลขับมาให้ตรวจสอบเรียบร้อยหลังกดเรียกรถ

นานเหมือนกันนะเนี่ยแม้จะใช้เวลา แต่ก็เป็นการรอคอยอย่างมีจุดหมาย รถคันแล้วคันเล่าเลี้ยววนเข้ามารับผู้โดยสาร ฉันสังเกตการณ์ผู้โดยสารคนอื่นๆ เพื่อจะทำตามระบบไม่ให้ผิดเพี้ยน

ผู้หญิงคนหนึ่งหยิบสมาร์ตโฟนออกมาสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนขึ้นไปนั่งบนรถ เมื่อรถป้ายทะเบียน “สข 604” มาถึง ฉันทำตาม แล้วระบบก็ทำการบันทึกพร้อมส่งข้อมูล “คำสั่ง” ไปสู่หน้าจอของคนขับรถ

ข้อสังเกตอีกหนึ่งอย่างคือ ถ้าคุณกดเรียกรถแล้ว ระหว่างที่ยืนรอมัวแต่ก้มหน้ามองจอ (ที่ไม่ใช่ดูแอปฯ มูฟมี) แม้รถจะมาจอดอยู่ตรงหน้าแล้วคุณก็จะไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้ยินเสียงรถ

ใช่แล้ว เพราะรถคันนี้เป็นระบบไฟฟ้าทั้งคันยังไงล่ะ

รถคันเล็กพาฉันเข้าซอยบริเวณจุฬาฯ เลี้ยวซ้ายที ขวาที ไม่นานก็ถึงจุดหมาย

ตลอดระยะทางสั้นๆ มีเพียงฉันและเพื่อนเป็นผู้โดยสาร ไม่มีผู้ใช้บริการคนไหนถูกจับคู่กับรถคันนี้อีก เราสองคนจึงนั่งแบบไม่ต้องเกรงใจใครนัก เหมือนตุ๊กตุ๊กแบบเดิมที่ไม่ต้องแบ่งที่นั่งกับใคร แต่เสียค่าบริการแบบรายบุคคล ไม่ใช่ราคาเหมา ไม่ต้องเสียเวลาต่อรองราคากับคนขับ แถมนั่งสบายและยังได้อารมณ์ของตุ๊กตุ๊กอยู่ด้วย

ขาลงฉันกล่าวขอบคุณคนขับรถ เขาหันมายิ้มให้ด้วยความสุภาพ ป้ายบนรถที่เขาเอามาติดไว้เองยังทำให้ฉันอมยิ้มไม่หาย เดาเอาว่าคงเป็นแผ่นป้ายที่เคยติดไว้ที่ตุ๊กตุ๊กคันเก่าแน่ๆ เหมือนเวลาเราเที่ยวอุทยานแห่งชาติแล้วเจอป้ายบอกให้กลับมาเที่ยวอีก

…คุณขึ้นรถ ผมดีใจ คุณลงไป ผมคิดถึง…

muvmi6
ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค เจ้าของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแบรนด์ Muvmi (มูฟมี)

พร้อมให้บริการในย่านคุณ

ครอบคลุมจุดสำคัญในพื้นที่และจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT เพื่อให้การเดินทางของคุณสะดวก ปลอดภัย และง่ายขึ้น!

นี่คือข้อความโฆษณาบนโบรชัวร์ที่เสียบอยู่บนรถทุกคันแสดงข้อมูลเบื้องต้นที่ควรรู้เกี่ยวกับมูฟมีไว้ครบถ้วน

มูฟมีให้คำนิยามตัวเองแบบกระชับผ่านกระดาษประชาสัมพันธ์ขนาด A5 ว่า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าวิ่งเฉพาะย่าน เรียกใช้ผ่านแอปฯ จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ใช้ระบบแชร์ริง ทางเดียวกันไปด้วยกันพร้อมด้วยแผนที่ในย่านที่ให้บริการ ปัจจุบันมีทั้งหมดหกย่าน คือ จุฬาฯ-สามย่าน อารีย์-ประดิพัทธ์ สุขุมวิท เกาะรัตนโกสินทร์ พหลโยธิน และเกษตร-บางเขนเป็นที่ล่าสุด

muvmi8
เบาะที่นั่งที่ได้รับการออกแบบใหม่ พัฒนาจากตุ๊กตุ๊กแบบเดิม ให้ลุกนั่งได้สะดวกสบาย

ชีวิตสามล้อ

แสงแดดยามสายเริ่มแผ่ความร้อน ยังดีที่มีลมพัดเอื่อยๆ เพราะอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้ฉันมีนัดกับ สมศักดิ์ วิรัชนีกรพันธ์ พนักงานขับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของมูฟมีประจำย่านรัตนโกสินทร์

เมื่อถึงเวลานัด เขาตีโค้งเข้ามาในลานจอดรถท่ามหาราชอย่างชำนาญการ ฉันยืนรออยู่ก่อนแล้ว

“สวัสดีครับ ขึ้นมาเลยครับ แต่เดี๋ยวผมขอชาร์จไฟสักครู่”

พนักงานขับรถในชุดเครื่องแบบสีฟ้าทักทายด้วยน้ำเสียงกันเอง พร้อมจอดเทียบข้างๆ แท่นชาร์จไฟ พลางเช็ดทำความสะอาดเบาะนั่งและเริ่มคุยกับฉัน

“สมัยก่อนผมก็ขับตุ๊กตุ๊กทั่วไปนี่แหละ แต่งรถซะสวยงามเลย ไว้รับต่างชาติ พอไม่มีพวกเขาก็จบเลย”

สมศักดิ์อวดภาพสามล้อคันเก่งที่จอดทิ้งไว้ที่อู่แถวประดิพัทธ์ เขาร่ายเส้นทางชีวิตของตัวเองตั้งแต่ทำอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ ขับรถตุ๊กตุ๊ก จนมาถึงพนักงานขับรถของมูฟมีด้วยการชักชวนของเพื่อนพ้องแก๊งสามล้อด้วยกันในวันที่โควิด-19 พรากนักท่องเที่ยวไป

อาชีพหาเช้ากินค่ำอย่างสมศักดิ์อยู่กับรถตุ๊กตุ๊กคู่ใจมากว่า 10 ปี เขาเชี่ยวชาญถนนหนทางแบบที่คนพื้นที่เป็น เมื่อมาเป็นพนักงานขับรถที่บริษัทจึงงัดทักษะวิชาดั้งเดิมมาใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อบริการลูกค้าให้ประทับใจ

“ตอนนั้นไปส่งลูกค้าแถวเยาวราช ผมออกซ้ายวิ่งถนนมหาชัย ออกถนนบำรุงเมือง วิ่งจนไปถึงสวนมะลิ เลี้ยวเข้าซอยจนไปโผล่โรงพยาบาลกลาง เข้าซอยข้างป่อเต็กตึ๊ง ทะลุออกวัดมังกรฯ ข้างหลัง ถึงเลย”

สมศักดิ์คุยอย่างออกรสถึงความถนัดของตัวเอง เขามีแผนที่เกาะรัตนโกสินทร์อยู่ในหัวหมดแล้ว และแทบไม่ต้องพึ่งพาระบบนำทางอย่างจีพีเอสสักน้อย บวกกับการวิ่งบนเส้นทางที่ไม่ประจำทาง เขาจึงบริหารทักษะได้อย่างเต็มที่

ชายคนนี้อาจไม่ใช่คนนุ่มนวลนัก แต่แน่นอนว่าการบริการของเขาประทับใจผู้โดยสารทุกรูปแบบ จนบางเดือนถึงกับได้ขึ้นแท่นเป็นขวัญใจนักศึกษา จากคะแนนรีวิวการใช้บริการบนแอปพลิเคชันด้วย

“ก็คิดว่าคงทำจนไม่ไหว ถ้าบริษัทไม่ไล่ออกนะ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องขับแบบสมัยก่อนที่ต้องหาลูกค้าเอง มันเครียดนะ บางทีวน 2 ชั่วโมงยังไม่ได้คนเลย วิ่งแป๊บเดียวแก๊สก็หมดแล้ว”

สมศักดิ์ในวัย 55 ปี ยังคงเวียนกลับมาขับตุ๊กตุ๊กแบบดั้งเดิม ช่วงหลังเวลาเลิกงานหรือวันหยุด เหมือนพนักงานบางคนที่ออกมาขับสามล้อคู่ใจคันเดิมทั้งๆ ที่ยังสวมเสื้อพนักงานมูฟมี

เมื่อบอกลากันเขาหันหลังกลับ รูปยิ้มด้านหลังเสื้อส่งมาให้ฉัน แล้วฉันก็ยิ้มตอบ

muvmi10
ราคาที่เหมาะสมและความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่ระบบขนส่งสาธารณะควรจะเป็น

ก่อนสตาร์ตรถ

สาธารณะ (.) หมายถึง เพื่อประชาชนทั่วไป เพื่อคนส่วนรวม

แต่เดิมมูฟมีตั้งต้นผลิตฮาร์ดแวร์รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าด้วยตัวเอง แต่เมื่อคิดจะทำรถขนส่งสาธารณะ ทีมงานจึงต้องเลือกใช้ผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจ

“เพราะเรามองว่าถ้าจะทำรถสาธารณะ ความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1 พอเราต้องผลิตจำนวนเยอะจึงต้องใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญ”

สิทธิ์การผลิตและประกอบรถจึงตกเป็นของโรงงานผลิตชิ้นส่วนและรับจ้างประกอบรถอายุมากที่อยู่ในวงการมานานอย่างบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ที่มีผู้จัดการอย่าง วงศ์วริศ เผอิญโชค ทายาทรุ่นที่ 3 เป็นผู้ดูแล

วงศ์วริศในชุดเครื่องแบบพนักงานเสื้อโปโลสีขาวสะอาดปักชื่อบริษัทและสวมหมวกนิรภัยสีเหลืองสดเดินออกมาต้อนรับ เขาพร้อมแล้วที่จะพาฉันท่องสายพานผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

พนักงานสองคนยืนประจำการอยู่ที่สถานีประกอบรถ ตุ๊กตุ๊กสีขาวที่ยังประกอบไม่เสร็จเรียงกันอยู่สี่ห้าคัน เผยให้เห็นโครงสร้างด้านในของรถตุ๊กตุ๊ก ทุกอย่างดูโล่งสะอาดตา ด้านหลังรถบรรจุแบตเตอรี่ลิเทียมขนาด 7 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) รองรับระบบชาร์จไวหรือ fast charge ที่เป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนรถไฟฟ้า

เหมือนกับบริษัทสมาร์ตโฟนสมัยนี้ที่ต่างพัฒนาเทคโนโลยีให้ชาร์จแบตเตอรี่เร็วขึ้นเพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการชาร์จรถต่อครั้ง

“การที่เป็นรถไฟฟ้าทำให้ชิ้นส่วนน้อยลงก็จะทำให้มีพื้นที่มากขึ้น เหมาะสมกับการใช้งาน ขึ้นลงสะดวก ไม่อึดอัด แล้วก็จุคนได้มากขึ้น”

ผู้จัดการหนุ่มเล่าประโยชน์ของยานพาหนะไฟฟ้า (electric vehicle, EV) ที่ไม่เพียงดีต่อสิ่งแวดล้อมในการช่วยลดมลภาวะบนท้องถนน แต่ยังสามารถช่วยปลดล็อกความเป็นไปได้ต่างๆ เช่น การออกแบบที่นั่งให้กว้างขวางขึ้น พื้นรถต่ำลงเพื่อการขึ้นลงที่สะดวก ระบบหลังบ้านที่สามารถควบคุมรถได้

ข้อดีอีกอย่างของการเป็นระบบไฟฟ้าคือ สามารถติดตามรถทุกคันได้ว่าคนขับรถอยู่ที่ไหน กำลังไปทางไหน หรือแม้แต่รถต้องการอะไร เช่น แบตเตอรี่ต่ำต้องชาร์จไฟ รถเริ่มมีปัญหาต้องส่งซ่อมบำรุง

ที่สำคัญคือเพื่อติดตามตำแหน่งของผู้ใช้บริการ เพื่อให้อัลกอริธึมสามารถจับคู่กับรถที่อยู่ใกล้ที่สุด

“เพราะแบบนี้เราจึงสามารถออกแบบเส้นทางวิ่งให้บริการได้ โดยคำนึงถึงระยะเวลาเดินทางเป็นสำคัญ”

อืม…ความสะดวกรวดเร็วนี่ละที่คนเมืองต้องการ ไม่มีใครอยากเสียเวลานานๆ ไปกับการเดินทางหรอก

ด้วยราคาภาษีจากการที่ไม่มีนโยบายภาครัฐสนับสนุน จึงทำให้หมวดรถไฟฟ้ายังมีราคาสูง แม้จะคุ้มค่าในระยะยาว แต่ก็ยังเป็นกำแพงให้หลายคน รวมถึงผู้ให้บริการรถขนส่งมวลชนไม่กล้าตัดสินใจเลือกใช้

ทั้งที่จริงก็มีหลักฐานชัดเจนอยู่ว่าดีต่อทั้งผู้ให้บริการเองและผู้ใช้บริการที่เป็นคนหมู่มากในประเทศอีกด้วย

muvmi12
จุดพักรถของมูฟมีกระจายตัวอยู่หลายแห่งเพื่อเป็นที่ให้คนขับเข้ามาพักรถและชาร์จแบตเตอรี่
muvmi13
วงศ์วริศ เผอิญโชค ทายาทรุ่นที่ 3 เป็นผู้ดูแลโรงงานผลิตชิ้นส่วนและรับจ้างประกอบรถยนต์ที่อยู่ในวงการมานานอย่างบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน)
muvmi14
ตรอก ซอก ซอย เอกลักษณ์และชีวิตของกรุงเทพฯ มูฟมีเข้าบริการถึงย่านที่หลากหลายทั้งในแนวรถไฟฟ้าและย่านเมืองเก่า

โลดแล่นบนท้องถนน

ฉันคือหนึ่งในคนที่ไม่ชอบใช้วันหยุดไปกับการเดินห้างสรรพสินค้า แต่คือการได้ออกไปหาอะไรกินหรือหากิจกรรมทำแถวบ้าน เกิดการใช้จ่ายภายในชุมชนและเงินก็ไม่ได้ไปลงอยู่ที่นายทุนอย่างเดียว

เชื่อว่าหลายคนคงคิดคล้ายๆ กัน…แต่แค่ทางเลือกมันน้อยเหลือเกิน

ฉันไม่ได้ต้องการรถส่วนตัว ฉันเพียงต้องการพาหนะที่สะดวกพร้อมให้ฉันได้เคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ที่อยากไป ในเวลาและราคาที่เหมาะสมเท่านั้นเอง

“มูฟมีเชื่อว่ารูปแบบการเดินทางที่เมืองควรจะเป็นต้องเป็น multi-mode คือมีการเดินทางหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง”

ฉันยังจำคำที่ผู้ร่วมก่อตั้งมูฟมีกล่าวไว้ได้แม่น

เพราะความหมายของเมืองคือความหลากหลาย ก็เหมือนป่าที่ต้องการความหลากหลายทางธรรมชาติที่ทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์และมีชีวิตชีวาที่สุด ทุกชีวิตต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ประสานกันอย่างเป็นระบบ เมืองก็เช่นกัน

“การทำให้เมืองหนาแน่นน้อยลงไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แต่การบริหารจัดการ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับปริมาณคนที่อยู่ด้วยมากกว่าคือความสมดุล”

คำว่าชุมชนเมืองคือจุดศูนย์รวมของทุกสิ่งอย่าง ความหนาแน่นจึงเป็นภาพของความเป็นเมือง

“ระบบขนส่งมวลชนทุกวันนี้มันก็ตอบสนองต่อโครงสร้างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นระบบเล็กๆ ทั้งหลายที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในเมืองของเราได้ ตราบใดที่เรายังไม่ได้ปรับโครงสร้างของเมืองเรา ระบบพวกนี้ก็ยังจำเป็น”

ลองคิดดูว่าชาวต่างชาติยังมองว่าบ้านเมืองเรามีเสน่ห์ ใครมาเที่ยวเมืองไทยร้อยละ 90 อยากสัมผัสประสบการณ์บนตุ๊กตุ๊กกันทั้งนั้น แต่ร้อยละ 100 ที่เคยขึ้นก็จะก่นด่า นี่เป็นเครื่องหมายที่คอยย้ำเตือนว่าอะไรที่เรามีมันดีอยู่แล้วและสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดได้เป็นอย่างดี เพียงต้องเพิ่มคุณภาพในการบริหารจัดการอีกสักหน่อย

หนังสือ Happy City เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง โดย ชาร์ลส์ มอนต์โกเมอรี ถูกปิดลง ฉันลุกขึ้นไปกดกริ่งรถเมล์เพื่อเตรียมลงป้ายถัดไป

ขณะที่ทั่วโลกพยายามพัฒนาบ้านเมืองให้สามารถเข้าถึงที่ต่างๆ ได้ในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับปารีสที่พยายามพลิกโฉมเมืองเข้าสู่ “เมือง 15 นาที” ทำให้สามารถเดินทางไปสถานที่ที่จำเป็นภายใน 15 นาที

มูฟมีก็กำลังเสนอทางเลือกเพื่อช่วยเชื่อมต่อให้คนเมืองได้สัมผัสกับการเดินทางที่ดีกว่าเดิม

สำหรับฉัน ถ้าการเดินทางสะดวกสบายเหมือนกับที่ชาร์ลส์เขียนเล่าในบท “เมืองเคลื่อนที่สะดวก 1” และ “เมืองเคลื่อนที่สะดวก 2” แล้ว รถส่วนตัวคงไม่จำเป็นเท่าไรสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง

และกรุงเทพฯ ก็คงเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกเป็นกองเลยละ

muvmi15
กรุงเทพฯ มีข้อดีและข้อเสียมากมาย ถ้าหนึ่งในนั้นคือปัญหาการเดินทาง หากร่วมกันแก้ไขได้ ก็นับว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ไม่น้อย

ก่อนจะมูฟไปไหน ลองดูวิธีเรียกใช้ “มูฟมี”

1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Muvmi และกดลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์
2. เติมเงินก่อน ชำระเงินได้สามช่องทาง คือ จ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด (จะได้เงินเพิ่มเข้ามา 3%) บัตรเครดิตหรือเดบิต และโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร (ค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง)
3. เลือกจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางที่ต้องการ (เลือกได้แค่เฉพาะในย่านนั้นๆ ไม่สามารถข้ามเขตได้)
4. เลือกจำนวนคนที่จะขึ้นด้วยกัน สูงสุดได้หกคน หากอยากได้ความเป็นส่วนตัว เลือกเหมารถก็ได้เช่นกัน
5. หลังจากกรอกข้อมูลครบถ้วนแอปพลิเคชันจะคำนวณค่าโดยสารให้อยู่ที่มุมขวาล่าง แล้วกดจองรถได้ทันที
6. ระบบจะส่งข้อมูลที่จำเป็นมาให้เรา ทั้งชื่อคนขับรถ ป้ายทะเบียนรถ และป้ายที่เราจะขึ้น ที่สำคัญคือระยะเวลาในการรอ
7. เมื่อรถมาถึงให้สแกนคิวอาร์โค้ดก่อนขึ้นรถเพื่อจ่ายค่าบริการ แล้วระบบจะส่งข้อมูลไปยังคนขับรถให้พาเราไปจุดหมายปลายทาง (หากมีคนเรียกให้ก็สามารถบอกเบอร์โทรศัพท์ของผู้เรียกกับโชเฟอร์ได้เลย)
8. สามารถให้คะแนนและแสดงความคิดเห็นกับการเดินทางหลังใช้บริการ
หมายเหตุ : เมื่อสมัครเข้ามาพร้อมใช้บริการเป็นครั้งแรก ทางมูฟมีจะเพิ่มเงินเป็นคูปองมาให้ในกระเป๋าเงินจำนวน 30 บาท ไว้ใช้สำหรับเที่ยวต่อไป

สัมภาษณ์

  • ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค (16 กุมภาพันธ์ 2564)
  • วงศ์วริศ เผอิญโชค ผู้จัดการบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) (26 กุมภาพันธ์ 2564)
  • สมศักดิ์ วิรัชนีกรพันธ์ พนักงานขับรถ Muvmi (20 กุมภาพันธ์ 2564)
  • ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (6 มีนาคม 2564)

เอกสารประกอบการเขียน

  • มอนต์โกเมอรี, ชาร์ลส์. Happy City. กรุงเทพฯ : broccoli, 2562.
  • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, ณัฐชานันท์ กล้าหาญ และณัฐกานต์ อมาตยกุล. กรุงเทพฯ: ขนส่งทำมือ. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, 2559.