เรื่องและภาพ : เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ

ไทยเบิ้งโคกสลุง : สมาร์ตชุมชนบนความเรียบง่าย

แป๊น!

เสียงแตรรถทำเอาฉันกับเพื่อนที่กำลังข้ามถนนสะดุ้งโหยงสุดตัว

เมื่อหันกลับไปจึงพบ “พี่ยอดข้าว” เจ้าของโฮมสเตย์ในชุมชนโคกสลุงที่พวกเราได้ติดต่อไว้ พี่ยอดข้าวยิ้มให้และกวักมือเรียกเราให้ขึ้นรถกระบะทันที

ขณะที่กำลังโดยสารรถกระบะอยู่บนถนนเส้นหนึ่งในอำเภอพัฒนานิคม ที่ทอดยาวไปสู่ตำบลโคกสลุง สองข้างทางขนาบข้างไปด้วยทุ่งหญ้าแห้ง เห็นทิวเขาจางๆ อยู่ไกลลิบ ชวนให้สงสัยว่าชุมชนแห่งนี้มีความเป็นอยู่อย่างไร ท่ามกลางพื้นที่ร้อนระอุ จุดเด่นและอัตลักษณ์คืออะไร ทั้งดำรงอยู่และสืบสานต่อไปได้ด้วยสิ่งใด ภายใต้อำเภอที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

การเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบจึงเริ่มต้นขึ้น

.

“นี่นะ เดี๋ยวออกไปจะเจอวัดโคกสำราญ เลี้ยวขวา แล้วเลี้ยวซ้าย และซ้ายอีกทีจะเจอร้านก๋วยเตี๋ยว ให้แวะกินกันก่อนเด้อแล้วค่อยไปหาน้ามืดที่พิพิธภัณฑ์” พี่ยอดข้าวกล่าวด้วยสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ของ “ไทยเบิ้ง” พร้อมยื่นกระดาษแผนที่วาดมือด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินมาให้พวกเรา

พวกเราคงได้คำตอบในไม่ช้า…

koksalung01
koksalung03

ชุมชนไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง

“ไทยเบิ้งคือกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งของประเทศไทย ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์อย่างที่เคยกล่าวกัน” ประทีป อ่อนสลุง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนไทยเบิ้งกล่าว

ไทยเบิ้งมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นคือสำเนียงการพูดและการลงท้ายบางประโยคด้วยคำว่า “เบิ้ง” หรือ “เด้อ” ทั้งยังดำรงชีวิตด้วยวิถีเรียบง่าย สะพายย่ามจากการทอมือ รวมถึง “พริกกะเกลือ” เครื่องจิ้มรสโอชะที่มีอยู่ในทุกสำรับของคนไทยเบิ้ง

คุณประทีปเล่าต่อว่า ไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง ไทยดา คือกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันที่อาศัยอยู่ตั้งแต่แถบจังหวัดบุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ โคราช ชัยภูมิ ลงมาที่จังหวัดสระบุรี และจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีคนไทยเบิ้งกระจายอยู่ทั้งหมดห้าอำเภอ โดยในอำเภอพัฒนานิคม ตำบลโคกสลุง เป็นแหล่งที่ “คนไทยเบิ้ง” อาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดนี้ แต่ความพิเศษของชุมชนไทยเบิ้ง ณ โคกสลุง ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย

มองจากสายตา ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตแบบปรกติสุขธรรมดาตามนิยามคำว่าชุมชนแบบดั้งเดิม คือยังมีความเรียบง่าย มีวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และคนในชุมชนอยู่อย่างเป็นเครือญาติ ดำรงอยู่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

อาชีพหลักคือทำเกษตรกรรม ข้าราชการ และรับจ้างทั่วไป

ดูเหมือนว่าตำบลโคกสลุงจะเป็นตำบลเล็กๆ ธรรมดาทั่วไป แต่ความน่าสนใจกลับอยู่ในความธรรมดานี้เอง

ชุมชนนี้ยังสามารถรักษาคุณค่าของการเป็นชุมชนไทยเบิ้งในแบบดั้งเดิมได้ แม้ว่าจะเริ่มมีการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมา 20 ปีแล้วก็ตาม

เจอแล้วคำตอบแรกของพวกเรา

koksalung04
koksalung05

อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนา คือใจความสำคัญ

เมื่อฟังคุณประทีปเล่าที่มาของการพัฒนาชุมชนไทยเบิ้งที่ตำบลโคกสลุง อาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการต่อสู้เลยทีเดียว ในอดีตชุมชนแห่งนี้เคยถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กอปรกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนในชุมชนออกไปตั้งตัวนอกชุมชนของตนเอง ในขณะเดียวกันโคกสลุงกำลังจะถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมของจังหวัดอีกด้วย จึงได้มีการคัดค้านเกิดขึ้น พร้อมทั้งการพิสูจน์ตนเองของชุมชนว่า หากไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ ก็จะสร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนเองขึ้นมาเพื่อให้ชุมชนนี้เลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืน

การสร้างความหมายของชุมชนเข้มแข็งผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เน้นการฟื้นฟูสืบสานอัตลักษณ์คนไทยเบิ้งจึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน ภายหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลในขณะนั้นได้อนุมัติกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) เพื่ออุดหนุนชุมชนแต่ละแห่งให้เกิดนวัตกรรม คุณประทีปและทีมงานจึงได้ริเริ่มการเข้าโครงการและก่อตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง” ขึ้น ภายใต้แนวคิดของการอนุรักษ์สืบสาน

แก่นของความสมาร์ตของชุมชนแห่งนี้คือการยึดถือสี่หลักการในการพัฒนาชุมชน คือ อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนา ซึ่งขยายความในแต่ละส่วนได้ว่า การ “อนุรักษ์” คือการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ที่มีเรือนไทยฝาค้อเป็นจุดเด่น มีเครื่องเรือนต่างๆ จัดแสดง พร้อมๆ กับที่ “ฟื้นฟู” วัฒนธรรมพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาผ่านการตั้งตลาดขายอาหารและสิ่งของพื้นบ้านที่คนในชุมชนมองว่าล้าสมัยไปแล้ว เช่น พริกกะเกลือ ผ้าทอ ย่าม ของเล่นจักสาน เป็นต้น

ขณะเดียวกันในบางโอกาส ยังมีการละเล่นโบราณ เช่นการรำโทน โดยผู้เฒ่าผู้แก่ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อการ “สืบสาน” ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ ตระหนัก และเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ท้ายที่สุดคือการ “พัฒนา” ที่ชุมชนแห่งนี้จะเน้นการพัฒนาคนเพื่อกลับมาวนลูปเดิม คือการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาชุมชนแห่งนี้ต่อไป

แต่น่าเสียดาย ในช่วงที่พวกเราลงพื้นที่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดแสดงการละเล่นใดๆ รวมไปถึงตลาดวัฒนธรรม เพราะโรคระบาด COVID-19 หากอยากเห็นการทอผ้าด้วยกี่โบราณและของเล่นจักสานจึงต้องไปที่บ้านของป้าทุเรียนและลุงกะ พวกเราไม่รีรอที่จะไปพบแต่อย่างใด เมื่อได้เรียนรู้ก็ประทับใจในความใจดีของความเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ในความพร้อมส่งต่อภูมิปัญญาการทอผ้าของป้าทุเรียนและของเล่นจักสานของลุงกะ

พวกเราจึงได้สัมผัสคุณค่าของการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟูในเอกลักษณ์ดั้งเดิมของไทยเบิ้ง เห็นความสมาร์ตอีกหนึ่งจุดที่ไหวตัวทันว่า หากไม่มีกระบวนการส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้แก่คนรุ่นใหม่ ภูมิปัญญาที่ติดตัวอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลา

แต่ความสมาร์ตไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

koksalung06
koksalung07

Smart Community ในแบบของโคกสลุง

ชุมชนโคกสลุงยังเน้นย้ำอยู่ที่การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย อย่างไม่หยุดหย่อน สิ่งที่ชุมชนได้มาจึงไม่ได้เป็นเพียงแนวทางการพัฒนาชุมชนเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังเกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการต่างๆ สำหรับการผลิตความรู้ของคนในชุมชนให้คงอยู่และไม่เลือนหายไป

ย้อนกลับไปในปี 2550 ทีมงานเริ่มทำงานพัฒนาเด็กเยาวชน ปี 2552 ชุมชนเริ่มเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุน เพื่อส่งต่อและเสริมเยาวชนในพื้นที่ของตัวเองให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ทั้งยังกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ต่อชุมชนอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามสร้างเครื่องมือเพื่อให้ชุมชนดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน กระบวนการเพื่อส่งเสริมเยาวชนเหล่านี้ทำให้คนในชุมชนได้ลงมือทำไปพร้อมกับเยาวชน กลายเป็นการบ่มเพาะ มีค่ายต่างๆ เกิดขึ้น

การท่องเที่ยวชุมชนจึงไม่ใช่เพียงเป้าหมายของการพัฒนา แต่เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาคนในชุมชน ซึ่งมีประสิทธิภาพที่สุดในยุคนี้

koksalung08
koksalung09

จากการใช้ชีวิต ณ ชุมชนนี้ 2 วัน 1 คืน คนในชุมชนที่พวกเราได้สัมผัสต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากให้การท่องเที่ยวมาทำลายชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม หลงลืมอัตลักษณ์ของไทยเบิ้ง หากแต่คาดหวังว่าคุณค่าและวิถีของการท่องเที่ยวและชุมชนต้องสมดุลกัน ต้องส่งเสริมรายได้ของคนในชุมชน ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ชุมชนแตกแยกกัน

ดังนั้นด้วยแนวคิดดังที่กล่าวมา ส่งผลให้ชุมชนไทยเบิ้ง ณ โคกสลุง คือหนึ่งในเก้าชุมชนที่โดดเด่นเรื่องชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในระดับประเทศ เป็นอีกเครื่องหมายการันตีของการพัฒนาชุมชนที่มาถูกทาง ไม่มีสิ่งใดเลือนหายไปทั้งวัฒนธรรม ชุมชน องค์ความรู้ และ “คน” สะท้อนให้เห็นถึงความสมาร์ตและเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริง

คำถามของพวกเราที่ตั้งไว้ตั้งแต่โดยสารรถเข้ามาจึงได้คำตอบแจ่มแจ้ง