ส.พลายน้อย

คำว่า “จิงโจ้” ในภาษาไทย มีความหมายหลายอย่าง เช่นเรียก แมลงตัวลีบ ขาหน้าสั้น ขาสองคู่หลังยาว เวลาวิ่งไปตามผิวน้ำ จึงดูโย่งเย่ง มักเรียกกันว่า จิงโจ้น้ำ อีกอย่างหนึ่ง เป็นสัตว์ขาหน้าสั้น ขาหลังยาว กระโดดไปได้ไกลๆ ตัวเมียมีถุงที่หน้าท้อง สำหรับใส่ลูก เรียกกันว่า แกงการู (Kangaroo) มีมากในออสเตรเลีย ที่เรามาเรียกว่า จิงโจ้ จะเป็นเพราะเห็น ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแบบ แมลงจิงโจ้ ที่เรารู้จักมาก่อน หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

มีคำร้องของ เด็กสมัยโบราณอยู่บทหนึ่งว่า

จิงโจ้เอยมาโย้สำเภาหมาไล่เห่า
จิงโจ้ตกน้ำหมาไล่ซ้ำจิงโจ้ดำหนี.
ได้กล้วยสองหวี.ทำขวัญจิงโจ้โห่ฮิ้วๆ

จิงโจ้ในบทร้องนี้ จะมีรูปร่างอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่เมื่อ พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนรูป จิงโจ้โย้สำเภา ตามคำร้องเล่น ของเด็กไว้ด้วย โดยเขียนเป็นรูป สัตว์ประหลาด หรือคนประหลาด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงรูปนี้ไว้ว่า

คำว่า จิงโจ้ ในภาษาไทย ใช้เรียกอะไรบ้าง
จิงโจ้โล้สำเภา ภาพปิดทองรดน้ำ ประดับอยู่ที่ เชิงบานหน้าต่าง พระอุโบสถ วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม
.ที่มาของภาพ พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม โดย ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๓๐

“การที่เอาคำเด็กร้องเล่น มาเขียนเป็นรูปภาพ ที่วัดพระเชตุพน คงเป็นพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแน่ และเมื่อเขียนรูปภาพแล้ว คงได้ทอดพระเนตร มิใช่รูปเขียนตามอำเภอใจช่าง ที่ช่างเขียนรูปจิงโจ้ หน้าเป็นมนุษย์ ตีนเป็นนกนั้น ต้องมีอะไรเป็นหลักฐานว่า รูปร่างจิงโจ้ เป็นเช่นนั้น”

ความจริงในสมัยโบราณ คงมี นกชนิดหนึ่งชื่อ จิงโจ้ เพราะมีกลอนว่า “กะลุมพู จับกะล้อพ้อ จิงโจ้ จับจิงจ้อ แล้วส่งเสียง” ช่างเขียน คงนึกรูปร่างจิงโจ้ไม่ออก แต่เมื่อมาโย้สำเภา ก็ต้องมีมือแบบคน แต่ชื่อเป็นนกจิงโจ้ จึงทำตีนเป็นนก

จิงโจ้ที่โย้สำเภา ในรูปเขียน ที่วัดพระเชตุพนฯ นั้น อยู่ทางหัวเรือ แต่ในตัวเรือ ที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ ก็ทำจิงโจ้ด้วยไม้ ไว้ใต้ท้องเรือ เป็นที่สอดเพลา ไม่ให้เพลาแกว่ง และเมื่อมีสวะ หรือสิ่งใดครูดใต้ท้องเรือมา ก็จะปะทะกับจิงโจ้ ลอยข้ามไป ไม่ถูกใบพัด ส่วนเรือที่ใช้หางเสือ เช่น เรือกระแชง ก็จะมีจิงโจ้ตัวเล็กๆ ติดที่ท้องเรือ ตรงกับปลายหางเสือ เป็นประโยชน์กันสวะ หรือเชือก ที่จะมาทำให้หางเสือเรือหลุดได้

ลักษณะของจิงโจ้ Kangaroo มีกระเป๋าที่ท้อง สำหรับใส่ลูก ฉะนั้นที่ท้องจึงดูใหญ่ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว เมื่อเห็นใครแต่งตัว แล้วท้องโต ก็จะทรงเปรียบกับ จิงโจ้ เช่น ในพระราชหัตถเลขา ตรัสเล่าถึงพวกแขก ไว้ตอนหนึ่งว่า “ขุนนางลังกา มาคอยรับ แต่งจิงโจ้ท้องโตเต็มที” คือแขกลังกา จะนุ่งผ้าหลายชั้น ทำให้ท้องโตออกมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัดพวกโขลนขึ้นเป็นทหาร แต่งตัวเสื้อแดง กางเกงแดง เสื้อมีชายยาวถึงเข่า หมวกแก๊ปสูง ในพระราชนิพนธ์ โคลงดั้น เรื่อง โสกันต์ ได้กล่าวถึงทหารจิงโจ้ว่า

จิงโจ้ยืนเรียบร้อยริมถนน
เสื้อจีบชายกระจายสุกจ้า
ถือปืนทั่วทุกคนพล่องแพล่ง
นายดาบเดินด้อมถ้าถ่องถนน
ขบวนเดินเป็นระเบียบคล้อยคลาไป
พิณพาทย์ทุกวงตีสนั่นก้อง
จิงโจ้เมื่อถึงใครคำนับ
เสียงจิงโจ้กัดร้องเร่าเร้ารุมระงม
soldier

พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งเรียกทหารหญิงครั้งนั้นว่า จิงโจ้ และได้เรียกต่อมาอีกนาน คำสั่งที่ใช้ บอกทหาร ก็แปลกกว่าทหารอื่นๆ คือแทนที่จะใช้ว่า วันทิยาวุธ ก็บอกว่า “จิงโจ้กัด” ดังที่กล่าวไว้ใน โคลงบาทสุดท้ายข้างต้น และแทนที่จะใช้ คำว่า บ่าอาวุธ ก็ใช้ว่า “จิงโจ้หยุด” และแทนที่จะ บอกว่า เรียบอาวุธ ก็สั่งว่า “จิงโจ้นอน” ดังนี้เป็นต้น