ทำไมเราถึงพบจิงโจ้ในประเทศออสเตรเลียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

(คนรักจิงโจ้/ จ.ยะลา)

marsupials จิงโจ้กับออสเตรเลีย

นักสำรวจชาวตะวันตกที่เดินทางไปยังออสเตรเลียเพิ่งจะรู้จักจิงโจ้เมื่อ ๒๐๐ ปีมานี้เอง ประเทศออสเตรเลียและหมู่เกาะบริเวณข้างเคียงเป็นดินแดนที่เราจะพบสัตว์ประเภทที่มีกระเป๋าหน้าท้องอยู่มากที่สุด สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องเช่นนี้มีชื่อทางชีววิทยาว่า “marsupials” ซึ่งมาจากคำว่า “marsupium” ในภาษาละตินแปลว่า “กระเป๋า”

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพวกแรกปรากฏตัวขึ้นบนโลกตั้งแต่เมื่อ ๑๐๐ ล้านปีมาแล้วนั้นคือในยุคไดโนเสาร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนี้กลุ่มหนึ่งเป็นสัตว์ประเภทมีกระเป๋าหน้าท้องซึ่งเป็นที่ที่ลูกจะรับอาหารจากแม่ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกสัตว์ที่มีรก (placental) คือเลี้ยงลูกภายในครรภ์ของแม่

เมื่ออุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงไปในช่วงนั้น ไดโนเสาร์ก็ล้มหายตายจากไปจนหมด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลับเพิ่มจำนวนขึ้นแทนที่จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตผู้ครองโลก แต่สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกในครรภ์กลับมีพัฒนาการที่ดีกว่าพวกที่มีกระเป๋าหน้าท้อง เนื่องจากสมองของมันเหนือชั้นกว่า และเป็นไปได้ว่าลูกสัตว์ที่เจริญเติบโตอยู่ในท้องแม่นั้นจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าเจ้าตัวที่เติบโตอยู่ในกระเป๋าหน้าท้อง

สัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องหายสาบสูญไปจากหลายๆ ส่วนของโลก เนื่องจากไม่สามารถสู้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ได้ แต่เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในออสเตรเลียและอเมริกาใต้

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมื่อก่อนนี้ออสเตรเลียเชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเป็นในลักษณะของเกาะที่เรียงต่อกันหรือไม่ก็แยกจากกันเพียงแค่เป็นคอคอด พวกสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องก็เลยอพยพสู่ทวีปออสเตรเลีย ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นดินแดนที่ปลอดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น เมื่อดินแดนส่วนนี้แยกห่างจากกันจึงกลายเป็นว่าออสเตรเลียมีแต่สัตว์ประเภทนี้อยู่เท่านั้น พวกมันก็เลยสามารถรอดชีวิตและมีวิวัฒนาการมาเรื่อยจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในออสเตรเลียที่พบในปัจจุบันสันนิษฐานว่าเป็นสัตว์ที่มนุษย์นำเข้าไปภายหลังทั้งสิ้น